10 วิธีเปลี่ยนความคิด… สู่การเป็น ‘คนคิดบวก’

ปัจจัยที่บันทอนกำลังใจของเรา ไม่ใช่ปัจจัยภายนอกอื่นใด แต่เป็น ‘ความคิด’ ของเราต่างหาก เพราะความคิดเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ค่อยขับเคลื่อนให้เราก้าวไปข้างหน้าหรือถอยหลังนั่นเอง ดังนั้นคนที่จะประสบความสำเร็จ มักเป็นคนที่มีความคิดที่แข็งแรง โดยเฉพาะ “ความคิดในด้านบวก” หรือที่เราเรียกว่า “คนคิดบวก”

หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าคนคิดบวกคือ คนโลกสวยที่ไม่เหลียวแลด้านลบหรือความเป็นจริง และอีกหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าคนคิดบวกคือคนที่หลอกตัวเอง แต่แท้จริงแล้วการคิดบวกเป็นการคิดเพื่อให้ตัวเราเข้าใจในสิ่งที่กำลังเป็นไปต่างหาก และการคิดบวกก็เป็นความคิดที่ช่วยขับเคลื่อนให้เรามีแรงที่จะสู้กับปัญหา เพราะการคิดบวกเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ตัวเราเองมีความสุข

อาการหดหู่หรือภาวะจิตตก มักเกิดจากความคิดด้านลบของตัวเอง ซึ่งสำหรับใครที่กำลังอยู่ในภาวะจิตตก วิธีที่จะช่วยลดความหดหู่คือการหันมาคิดบวก แต่จะทำอย่างไรถึงจะเป็นคนคิดบวกอย่างแท้จริง วันนี้เรามีวิธีปฏิบัติมาบอกกัน!

positive-thinking_02

01. ทบทวนสิ่งดีๆ ในชีวิต พร้อมให้รางวัลกับตัวเอง : คนที่อยู่ในภาวะจิตตก มักเกิดจากการที่คุณมีความคิดลบอยู่ในหัว ดังนั้นสำหรับคนจิตตกควรเริ่มจากการย้อนกลับไปทบทวนเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยการดูภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอสั้นๆ ในช่วงเวลาที่เราประทับใจหรือภูมิใจในวันเก่าๆ เช่น วันจบการศึกษาหรือรับปริญญาบัตร หรือความตื่นเต้นดีใจที่ได้งานครั้งแรก เป็นต้น

การทบทวนเรื่องราวดีๆ จะช่วยปรับความคิดร้ายให้จางหายไป ส่วนการให้รางวัลกับตัวเองก็เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกดีที่ช่วยนำพาความคิดของเราให้ไปทางบวก โดยรางวัลที่ว่านี้อาจจะเป็นของที่อยากได้สักชิ้น (แต่ต้องไม่เป็นของที่เกินความสามารถที่เราจะซื้อจ่ายได้) หรือจะเป็นการให้เวลากับตัวเองได้ไปทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น เวิร์คช็อปงานปั้น หรือการออกไปถ่ายรูปในสถานที่ต่างๆ ฯลฯ

02. เลิกบ่น : การบ่นเป็นการตอกย้ำความคิดด้านลบและยังตอกย้ำเรื่องราวแย่ๆ ที่ชวนให้คุณยิ่งคิดมาก ดังนั้นการจะหยุดความคิดด้านลบควรเลิกนิสัยชอบบ่น เพราะนอกจากจะทำให้เราดูไม่ดีในสายตาคนอื่นและทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีแล้ว หากคุณบ่นเป็นนิสัยยังทำให้ความคิดด้านลบเกาะติดคุณ ยากที่จะสลัดออกอีกด้วย

positive-thinking_03

03. ขอบคุณสิ่งรอบตัวและมอบคำอวยพร : อีกหนึ่งวิธีปรับจิตใจให้คิดบวกคือต้องรู้จักขอบคุณคนอื่น รวมทั้งการมอบคำอวยพรให้คนรอบข้างตามกาลเทศะและความจริง ซึ่งการมอบคำขอบคุณหรือคำอวยพรไม่เพียงแต่ทำให้คนอื่นมีความสุขเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นความสำคัญของตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้นอกจากคำขอบคุณและอวยพรแล้ว ยังรวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่นและการรู้จักให้อภัยคนอื่นด้วย

04. หยุดขึ้นต้นประโยคว่า “ทำไม” แล้วหันมาขึ้นต้นว่า “อย่างน้อย” แทน : ทำไม…เขาถึงทำกับเราแบบนี้, ทำไม…เราถึงซวยอยู่เรื่อย ฯลฯ คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม” เป็นบ่อเกิดของความคิดด้านลบ และเรื่องบางเรื่องยิ่งเราถามก็ยิ่งทำให้ความคิดของเราฟุ้งซ่าน ดังนั้นควรลดการถามว่าทำไมกับสิ่งรอบกาย แล้วให้หันมาถามตัวเองว่าทำไมสิ่งต่างๆ จะต้องเป็นอย่างที่เราต้องการ การหันกลับมาถามตัวเองก็เพื่อให้เราเข้าใจความต้องการของตัวเอง เพราะเมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว เราก็จะเกิดความผ่อนคลาย ส่งผลให้ความคิดด้านลบจางไปและความคิดด้านบวกเข้ามาแทนที่

นอกจากการลดประโยคที่ขึ้นต้นว่าทำไมแล้ว เราขอแนะนำให้คุณหันมาขึ้นต้นประโยคว่า “อย่างน้อย” แทน เพราะการขึ้นต้นประโยคด้วยคำนี้ เป็นการปรับความคิดให้เรามองเห็นแง่งามของความทุกข์ จุดประกายความคิดด้านบวก และต้านความคิดด้านลบ อาทิ อย่างน้อย…เราก็ทำเต็มที่แล้ว เป็นต้น

positive-thinking_04

05. รู้เท่าทันความคิดด้านลบ เพิ่มอารมณ์ขัน : เมื่อใดที่คุณเริ่มคิดลบ ให้คุณเตือนตัวเองให้เร็วที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ จากนั้นให้คุณหันเหความคิดลบนั้นไปเรื่องอื่น หรือคุณจะหันมาตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้ว่าความคิดลบๆ เหล่านั้น เป็นความจริงมากน้อยเพียงใด มีเหตุผลอื่นที่มาหักล้างหรือคัดค้านได้ไหม แล้วความคิดด้านลบนั้นมีผลกระทบกับคุณอย่างไรบ้าง การหาเหตุและผลมาหักล้างความคิดด้านลบจะทำให้ตัวคุณเองรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง

นอกจาการฝึกให้รู้เท่าทันความคิดด้านลบด้วยการคิดวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียแล้ว อีกหนึ่งวิธีลดความคิดด้านลบคือการเพิ่มอารมณ์ขำขันให้ตัวเอง อารมณ์ขันที่ว่านี้ไม่ใช่การทำตัวตลกโปกฮาไปเรื่อยเปื่อย แต่เป็นการมองว่าความทุกข์เป็นบททดสอบบทหนึ่ง เป็นความท้าทายใหม่ๆ เมื่อคุณคิดแบบนี้หลายๆ ครั้งเข้าก็ทำให้คุณคิดบวกได้

06. อยู่ใกล้คนคิดบวก อยู่ไกลคนคิดลบ : เมื่อเราสนิทกับใครคนใดคนหนึ่ง เราจะเรียนแบบความคิดและนิสัยบางอย่างของคนๆ นั้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นการได้พูดคุยกับคนคิดบวก จะทำให้เราซึมซับวิธีการคิดบวกของคนๆ นั้นไปด้วย เช่นเดียวกันกับการอยู่ใกล้คนคิดลบ ความคิดด้านลบของคนอื่นก็สามารถแพร่กระจายและซึมซับสู่ความคิดเราได้เช่นกัน

positive-thinking_05

07. อ่านคำคม ข้อคิด และคิดถึงคนที่ลำบากมากกว่าเรา : คำคมหรือข้อคิดดีๆ เป็นตัวจุดประกายความคิดด้านบวกให้เราได้ เช่นเดียวกับการอ่านเรื่องราวของคนที่ลำบากหรือทุกข์ยาก แต่สามารถประสบความสำเร็จได้ ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจพร้อมผลักดันให้เราหันมาคิดบวกได้เช่นกัน แนะนำให้คุณจดข้อคิดหรือคำคมที่ประทับใจ แล้วแปะไว้บนโต๊ะหรือผนังที่เห็นง่ายๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเมื่อเรามีความคิดไม่ดี

08. ใช้ร่างกายดึงจิตใจ : จิตใจเชื่อมโยงกับร่างกาย ดังนั้นเมื่อจิตป่วยร่างกายจึงป่วยตาม ในทางกลับกันการกระทำต่างๆ ในร่างกายก็จะมีผลย้อนกลับไปยังจิตใจ ดังนั้นการแสดงท่าทางถึงกำลังใจหรือท่าทางของความสุขก็ช่วยให้เกิดความคิดบวกได้ เช่น การยิ้มให้ตัวเองหน้ากระจกจะช่วยลดความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ

positive-thinking_06

09. ร้องเพลง : เสียงเพลงเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยประโลมจิตใจที่เป็นทุกข์ได้ ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงเศร้าหรือเพลงต่างภาษาโดยเฉพาะเมื่อเราร้องหรือฮัมเพลงตามทำนองจะช่วยให้เราระบายความทุกข์ใจ ยิ่งเป็นเพลงสนุกจะทำให้เราโยกย้ายตามจังหวะ ลดอารมณ์ตึงเครียดได้อีกด้วย

10. ฝึกสมาธิ : การฝึกสมาธิเป็นวิธีเบสิกของการคลายทุกข์และการลดความคิดด้านลบที่หลายคนมักลืมคำนึงถึง คุณรู้หรือไม่ว่าความคิดด้านลบ มักจะจมอยู่กับเรื่องราวในอดีตและอนาคตที่ยังไม่มา ซึ่งการฝึกสมาธิไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม จะทำให้จิตใจของเรากลับมาอยู่กับความสุขในช่วงเวลาปัจจุบัน นอกจากนี้จิตที่มีสมาธิเป็น ‘จิตที่มีพลัง’ เป็นพลังที่คิดในเชิงสร้างสรรค์และคิดในด้านบวกมากกว่าจิตใจที่ฟุ้งซ่าน เมื่อเราไม่คิดฟุ้งซ่าน เราก็จะมีแต่ความคิดดีๆ ในด้านบวกเข้ามาแทนนั่นเอง

เรื่อง : Taliw
keyboard_arrow_up