BAB 2018

จะเป็นอย่างไร? เมื่องานศิลปะถูกจัดแสดงในวัด

BAB 2018
BAB 2018

จะเป็นอย่างไร? เมื่องานศิลปะถูกจัดแสดงในวัด

Bangkok Art Biennale 2018 (BAB 2018)

BAB 2018

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นของงานศิลปะล้วนมีที่มาจากความเชื่อและความศรัทธาเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากการค้นพบภาพวาดผนังถ้ำหรืองานประติมากรรมในสมัยก่อนที่มักจะมีความเชื่อทางด้านพิธีกรรมมาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น จวบจนความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นได้แปรเปลี่ยนเป็นความเชื่อทางด้านศาสนา “งานศิลปะ” จึงเข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดความเชื่อและความศรัทธาจนก่อให้เกิดผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ศาสนาไปโดยปริยาย

ล่าสุดกับ “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB2018) เทศกาลงานศิลปะระดับโลก ซึ่งในปีนี้ได้แวะเวียนมาจัดแสดงที่ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยได้รวบรวมเอาผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งของจากศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติกว่า 70 ชีวิตมาจัดแสดง ณ สถานที่สำคัญต่างๆ ในบ้านเรากว่า 20 จุด ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 กันแบบยาวๆ

ทั้งนี้สถานที่ที่จัดแสดงผลงานศิลปะก็มีตั้งแต่ใจกลางห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ย่านชุมชน ตลอดไปจนถึง “วัด” ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วทั้งโลก โดยวันนี้เราจึงไม่พลาดที่จะขอพาเพื่อนๆ ชาว Fav Forward ไปชมผลงานศิลปะสุดสร้างสรรค์จากงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกนำมาจัดแสดงภายในวัดกันครับ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

เริ่มต้นสถานที่จัดแสดงผลงานที่แรกกันด้วย “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันดีในนาม “วัดโพธิ์” โดยวัดโพธิ์นี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นวัดที่มีความงดงามและคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของประเทศ จึงทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่างอยากที่จะมาสัมผัสความงดงามนี้ด้วยตนเองกันดูสักครั้ง

จุดเด่นที่สำคัญๆ ของวัดโพธิ์จะมีตั้งแต่….

วิหารพระพุทธไสยาส
วิหารพระพุทธไสยาส / พระนอนวัดโพธิ์

วิหารพระพุทธไสยาส

“วิหารพระพุทธไสยาส” ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู” มีลักษณะเป็นพระนอนยาว 46 เมตรสูง 15 เมตร (ทำให้เรียกติดปากกันว่า พระนอนวัดโพธิ์) พระบาทแต่ละข้างจะกว้าง 1.5 เมตร ยาว 5 เมตร ภายในประดับด้วยลวดลายมุกและภาพมงคล 108 ประการ

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล , BAB 2018
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล

“พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล” นั้นมีลักษณะเป็นมหาเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่ 4 องค์ มีพระนามแตกต่างกันไปจากการพระราชทานพระนามขององค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่ “พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1) “พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิธาน” (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2) “พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร” (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3) และ “พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4)

รูปปั้นฤๅษีดัดตน
รูปปั้นฤๅษีดัดตน

รูปปั้นฤๅษีดัดตน

เมื่อพูดถึงวัดโพธิ์นอกจากความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว หลายๆ คนย่อมนึกถึงความโด่งดังของศิลปะการแพทย์แผนโบราณที่ส่งต่อมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนก่อให้เกิดเป็นภูมิปัญญาประจำชาติ  ทั้งนี้ “รูปปั้นฤๅษีดัดตน” นั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อแสดงออกถึงศิลปะการแพทย์แผนโบราณในท่วงท่าต่างๆ กว่า 80 ท่า (ปัจจุบันเหลือรูปปั้นอยู่ 24 ท่า)

ยักษ์วัดโพธิ์
ยักษ์วัดโพธิ์

ยักษ์วัดโพธิ์

“ยักษ์วัดโพธิ์” ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของวัดที่มีชื่อเสียงไปทั่วทั้งโลก โดยยักษ์วัดโพธิ์มีลักษณะเป็นรูปปั้นคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์มีสีกายทั้งแดงและเขียว ตั้งอยู่บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป

ผลงานจาก บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกจัดแสดงใน วัดโพธิ์ จะมีทั้งสิ้น 6 ชิ้นงานได้แก่

Paths of Faith (Thailand)

Artists: จิตต์สิงห์ สมบุญ (Jising Somboon)

Paths of Faith เป็นคอลเล็คชั่นเสื้อคลุมสีขาวที่ปักคำว่า ศรัทธา ในภาษาไทย อังกฤษ และจีนไว้กลางหลัง ซึ่งถูกจัดวางไว้ให้เหล่านักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม วิหารพระพุทธไสยาส ได้สวมใส่เข้าไปในพื้นที่

Zuo You He Che (China, France)

Artists: หวง หย่ง ผิง (Huang Yong Ping)

เป็นที่รู้กันดีว่าผลงานส่วนใหญ่ของ หวง หย่ง ผิง จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเชิงวัฒธรรมของจีนลงไปในชิ้นงาน ไม่เว้นแม้แต่ Zuo You He Che ประติมากรรมสัตว์ในจินตนาการที่คาบม้วนตำรายารักษาโรคไว้ในปาก สื่อถึงปัญญา ศรัทธาและการเยียวยารักษา ล้วนเป็นหนทางสู่ความสุขสงบของในทั้งศาสนาพุทธและปรัชญาจีนทั้งสิ้น

Knowledge in your Hands, Eyes and Minds (Thailand)

Artists: ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ (Phaptawan Suwannakudt)

Knowledge in your Hands, Eyes and Minds มีลักษณะเป็นชุดผลงานศิลปะสื่อผสม (มีทั้งภาพ กลิ่น เสียง) ตั้งอยู่ในกุฏิบริเวณสระจระเข้ของวัดโพธิ์ เนื้อหาบอกเล่าความสัมพันธ์กันของภูมิปัญญาด้านต่างๆ ทั้งทางการแพทย์ งานออกแบบ วรรณกรรม บทประพันธ์ การนวดสมุนไพร โหราศาสตร์ ไปจนถึงการสนทนากับอาสะสงฆ์อันเป็นการสื่อสารกับคนตายและโลกหลังความตาย

Sediments of Migration (Thailand)

Artists: ปานพรรณ ยอดมณี (Pannaphan Yodmanee)

Sediments of Migration เป็นงานจิตรกรรมลอยตัวที่ถูกวางเข้าคู่กับรูปปั้นฤาษีดัดตนและตุ๊กตาอับเฉาบริเวณเขามอในวัดโพธิ์ ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนฝาผนังในวัดแห่งนี้ โดยจะถ่ายทอดภาพการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างสยามและจีน การเดินทางแสวงบุญ ความแตกต่างด้านศรัทธา และชาติพันธุ์

A Shadow of Giving
A Shadow of Giving – Tawatchai Puntusawasdi

A Shadow of Giving (Thailand)

Artists: ธวัชชัย พันธ์สวัสดิ์ (Tawatchai Puntusawasdi)

A Shadow of Giving เป็นประติมากรรมเชิงทดลองที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนฝาผนังสองมิติในโรงทาน ที่เป็นสัญลักษณ์ของการมอบให้ ความไม่เห็นแก่ตัว และ ความเคารพ สำหรับศิลปิน ความเที่ยงตรงของมาตรวัด และหลักทางคณิตศาสตร์เป็นหนทางสู่ความสุข​​​​​​​

Tha Tien
Tha Tien – Sakarin Krue-on

Tha Tien (Thailand)

Artists: สาครินทร์ เครืออ่อน (Sakarin Krue-on)

“Tha Tien” คือภาพยนตร์เงียบประกอบเสียงดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนต์ “ท่าเตียน” (2516) โดย สมโพธิ แสงเดือนฉาย ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องระหว่างยักษ์กับนักรบโดยมีวัดโพธิ์กับวัดอรุณเป็นฉากหลัง เมื่อตกลงกันไม่ได้ การโต้เถียงก็นำไปสู่การต่อสู้ที่ทำให้ท่าเรือวัดโพธิ์พังราบเป็นหน้ากลอง (จัดแสดงในช่วง 16 – 20 ตุลาคม 2561 และ 22 – 24 พฤศจิกายน 2561 ที่วัดโพธิ์และวัดอรุณ)

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

เมื่อข้ามฟากจากบริเวณท่าเตียนอันเป็นที่ตั้งของวัดโพธิ์ไปยังท่าเรือวัดอรุณเราก็จะได้พบกับ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “วัดแจ้ง” และ “วัดอรุณ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่เดิมวัดอรุณนั้นถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยามีชื่อว่า “วัดมะกอก” ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “วัดแจ้ง” พร้อมขยายเขตพระราชฐานของตัวพระราชวังจนทำให้วัดแจ้งกลายเป็นวัดภายในพระราชวังเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ  จวบจนมีการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์และอัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถพร้อมกับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

จุดเด่นที่สำคัญๆ ของวัดอรุณจะมีตั้งแต่….

พระปรางค์วัดอรุณ
พระปรางค์วัดอรุณ

พระปรางค์วัดอรุณ

“พระปรางค์วัดอรุณ” เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทย ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รอง 4 ปรางค์ มีลักษณะเป็นองค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ และเบญจรงค์ลวดลายสวยงามจากจีน มีงานสถาปัตยกรรมกินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑประดับโดยรอบ นอกจากนี้พระปรางค์วัดอรุณยังถูกบูรณขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 2 จากเดิมสูงเพียง 16 เมตรกลายเป็น 81.85 เมตร จึงทำให้ประปรางค์วัดอรุณกลายเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในโลกไปโดยปริยาย

ยักษ์วัดแจ้ง
ยักษ์วัดแจ้ง

ยักษ์วัดแจ้ง

“ยักษ์วัดแจ้ง” ถือเป็นหนึ่งในรูปปั้นที่มีชื่อเสียงไม่แพ้ “ยักษ์วัดโพธิ์” โดยยักษ์วัดแจ้งจะมีลักษณะเป็นงานประติมากรรมยักษ์จากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์อย่าง “ยักษ์ทศกัณฐ์” (สีเขียว) และ “ยักษ์สหัสเดชะ” (สีขาว) ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสียืนตระหง่านเฝ้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ

ผลงานจาก บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกจัดแสดงใน วัดอรุณ จะมีทั้งสิ้น 2 ชิ้นงานได้แก่

Across the Universe and Beyond (Thailand)

Artists: สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ (Sanitas Pradittasnee)

Across the Universe and Beyond เป็นการนำคติที่ถูกหลงลืมของเขามอให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านการออกแบบพื้นที่และแสงจะทำให้ผู้ชมได้เพ่งอยู่กับตัวเองขณะก้าวเข้าไปในพื้นที่ และในชั่วขณะของความคงอยู่ ความไม่จีรังยั่งยืน และความว่างเปล่า งานศิลปะจัดวางชิ้นนี้จะเตือนใจให้เราตระหนักถึงตัวตนของเราว่าเราเป็นเพียงแค่อนุภาคในจักรวาลอันกว้างใหญ่

Giant Twins - Komkrit Tepthian
เครดิตภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

Giant Twins (Thailand)

Artists: คมกฤษ เทพเทียน (Komkrit Tepthian)

ด้วยแรงบันดาลใจจากรูปปั้นหินนักรบจีนโบราณและทวยเทพลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่จีนส่งมาให้สยาม งานศิลปะ Giant Twins ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จึงเป็นส่วนผสมระหว่างจีนกับสยาม ผ่านการดัดแปลงตำนานของฝาแฝดสยามอินจัน ด้วยการนำเอารูปร่างมหึมาของยักษาและลักษณะของนักรบจีนมาควบรวม เพื่อเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ไทย-จีน

หมายเหตุ: ผลงานยักษ์แฝดและครุฑวัดอรุณของศิลปิน จำเป็นต้องย้ายและจัดเก็บโดยทางวัดต้องใช้พื้นที่ในการจัดงาน “กฐินพระราชทาน” ผลงานจะกลับมาติดตั้งใหม่หลังวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ถัดจากวัดอรุณไปทางสะพานพระพุทธยอดฟ้าก็จะเป็น “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายที่มีการจัดแสดงผลงานไว้ภายใน โดยวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2371 จาก “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์” (ดิศ บุนนาค) เพื่อถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 3) ซึ่งทรงพระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส หรือเรียกกันสั้นๆ ในท้องถิ่นว่า “วัดรั้วเหล็ก”

จุดเด่นที่สำคัญๆ ของวัดวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารจะมีตั้งแต่….

วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์
วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์

วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์

“วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบทรงไทยกว้าง 16.99 เมตร ยาว 20.19 เมตร ภายในแบ่งออกเป็นวิหาร 5 ห้อง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย นามว่า “พระพุทธนาค” ซึ่งเป็นประพุทธรูปโบราณคู่กับ “พระศรีศากยมุนี” พระประธานในวิหารของวัดสุทัศนเทพวราราม

พระบรมธาตุมหาเจดีย์
พระบรมธาตุมหาเจดีย์

พระบรมธาตุมหาเจดีย์

“พระบรมธาตุมหาเจดีย์” มีลักษณะเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลมสูง 60.525 เมตร วัดความกว้างของฐานล่างได้ 162 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร สร้างขึ้นโดย “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์” และเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้พระบรมธาตุมหาเจดีย์จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ภายใน

อุทยานเขามอ
อุทยานเขามอ

อุทยานเขามอ

“อุทยานเขามอ” หรือคุ้นหูกันดีในนาม “เขาเต่า” ถือเป็นภูเขาจำลองขนาดเล็กที่ก่อตั้งด้วยศิลา ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด มีบันไดขึ้นสู่ยอดเขา บนยอดเขาเป็นที่ตั้งพระสถูปหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองสำหรับบรรจุพระพุทธรูปสำคัญไว้ภายใน นอกจากนี้บริเวณสระน้ำโดยรอบยังเต็มไปด้วยเต่าและตะพาบ จนทำให้เรียกติดปากกันว่า “เขาเต่า” หรือ “ภูเขาเต่า” เป็นต้นมา

ผลงานจาก บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกจัดแสดงใน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร จะมีทั้งสิ้น 6 ชิ้นงานได้แก่

Chat…Naa
Chat…Naa – Arnont Nongyao

Chat…Naa (Thailand)

Artists: อานนท์ นงเยาว์ (Arnont Nongyao)

ด้วยประสบการณ์ในการทำงานด้านศิลปะเสียงและภาพเคลื่อนไหวของศิลปิน จึงทำให้ Chat…Naa เป็นงานศิลปะเสียงจัดวาง ภาพเคลื่อนไหวทดลอง และการแสดงศิลปะเสียงทดลองที่สัมพันธ์แนบแน่นกับบริบทของคน วัตถุ สิ่งแวดล้อม และสังคมนั้นๆ

WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND? (Thailand)

Artists: นีโน่ สาระบุตร (Nino Sarabutra)

WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND? เป็นการโปรยเซรามิกหัวกะโหลกเนื้อขาวไม่เคลือบกว่า 125,000 ชิ้นบนทางเดินรอบเจดีย์องค์ประธานของวัด เพื่อสร้างสรรค์ให้กลายเป็นพื้นที่ที่จะกระตุ้นให้ผู้คนที่เดินบนทางนั้นได้ฉุกคิดว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต คุณจะทำความดีอะไรทิ้งไว้บนโลกใบนี้”

Zodiac Houses
Zodiac Houses – Montien Boonma

Zodiac Houses (Thailand)

Artists: มณเฑียร บุญมา (Montien Boonma)

Zodiac Houses เป็นประติมากรรมสไตล์ โกธิคสีดำที่เต็มไปด้วยการใช้สัญลักษณ์จักรราศี ที่มณเฑียรทำขึ้นมาเพื่อแสวงหาความสงบ การเกิดใหม่ และการติดต่อกับโลกหลังความตาย จะถูกนำมาตั้งในศาลาการเปรียญของวัดเพื่อเผชิญหน้ากับอาสนะสงฆ์อันเป็นการสื่อสารกับคนตายและโลกหลังความตาย

Sweet Boundary: In the Light Tube (Thailand)

Artists: กมล เผ่าสวัสดิ์ (Kamol Phaosavasdi)

ผลงานศิลปะจัดวาง “Sweet Boundary” ที่จัดแสดงที่วัดประยุรวงศาวาส มีที่มาจากการทำวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัดและพื้นที่ใกล้เคียง รั้วเหล็กที่ขึ้นรูปเป็นดาบ ธนู และหอก เป็นของนำเข้าจากอังกฤษในช่วงรัชกาลที่ 3 ที่ทางวัด แลกมาด้วยน้ำตาลในจำนวนเท่ากับน้ำหนักของรั้วเหล็กเหล่านี้ ผลงานชิ้นนี้ย้อนกลับไปพูดถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน ในช่วงที่ยังสามารถผูกขาดการค้าทางทะเลในภูมิภาค ก่อนสภาวะน้ำตาลล้นตลาดโลกและการมาถึงของชาติตะวันตก

Monuments of the Memory, the Golden Room
Monuments of the Memory, the Golden Room – Paolo Canevari

Monuments of the Memory, the Golden Room (Italy)

Artists: เปาโล คานีวาริ (Paolo Canevari)

Monuments of the Memory, the Golden Room เป็นงานจิตรกรรมสีทองที่ปราศจากเนื้อหา ภายในซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ความ ทรงจำ และการสวดภาวนาของทั้งศาสนาพุทธและคริสต์ ถูกจัดแสดงอยู่ภายในศาลาการเปรียญเช่นเดียวกัน

Turtle Religion (Thailand)

Artists: กฤช งามสม (Krit Ngamsom)

Turtle Religion จะตั้งอยู่ที่เขามอซึ่งเป็นบริเวณบ่อน้ำที่อุดมด้วยเต่าและปลาดุก โดยจะเป็นผลงานประติมากรรมเต่าเหล็ก ที่แบกวัตถุต่างๆ ไว้บนหลัง วัตถุเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงความกลมเกลียวกันของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ ผสมปนเปกันเป็นเนื้อเดียวในพื้นที่ย่านคลองสาน

ทั้งนี้นอกจาก 3 วัดที่ได้กล่าวมาข้างต้น เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ยังได้จัดแสดงผลงานศิลปะตามจุดสำคัญๆ ที่เป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” กว่า 20 จุดไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 นี้อีกด้วย

เทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018
เทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018

ชาว Fav Forward ที่สนใจ “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB2018) สามารถติดตามรายละเอียดความคืบหน้าได้ผ่านทางเว็บไซต์ Fav Forward, บ้านและสวน รวมไปถึงเว็บไซต์กลางของงานอย่าง bkkartbiennale ได้เลยครับ

#BangkokArtBiennale2018

#BAB2018


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก:

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คู่มือชมงานศิลป์ 101: ชมอย่างไรให้เป็นมืออาชีพ

กว่าจะมาเป็นโปรเจค “Pumpkins” ของ Yayoi Kusama

เมื่องานศิลป์บุกไทยกับ 6 คนยิ่งใหญ่ที่สัมผัสได้ ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

keyboard_arrow_up