Bangkok Art Biannale 2018

เมื่องานศิลป์บุกไทยกับ 6 คนยิ่งใหญ่ที่สัมผัสได้ ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

Bangkok Art Biannale 2018
Bangkok Art Biannale 2018

เมื่องานศิลป์บุกไทยกับ 6 คนยิ่งใหญ่ที่สัมผัสได้ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 

อย่าตัดสินกันที่ความสวย แต่จงมองให้ลึกเข้าไปที่แก่นแท้ของความคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ “งานศิลปะ” สักชิ้นที่มีความหมายลึกล้ำสะท้อนสังคม ความคิดและวัฒนธรรมขนบประเพณีดั้งเดิม หรืออาจพาดำดิ่งไปสู่ก้นเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ได้

ถ้าคุณมีเวลา…เราอยากให้ใช้แต่ละวันมาชม เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ที่จัดอยู่รอบเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะ 6 ศิลปินนี้ที่อยากให้คุณลองไปเสพย์ผลงานพวกเขาดูสักครั้ง อาจทำให้เข้าใจโลกที่เป็นอยู่มากขึ้น

Yayoi Kusama

Inflatable Pumpkins Balloons

ขอเริ่มที่คุณป้าลายจุด Yayoi Kusama ผลงานอันยอดนิยมด้วยเอกลักษณ์ลายจุดบนวัตถุและสิ่งของต่างๆ ที่เกิดจากการทำซ้ำ ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจบนความสวยงามนั้นมาจากภาพสะท้อน การต่อต้านในเรื่องของเซ็กส์และการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ของคุณป้า Yayoi บ่อยครั้งที่เธอมักจะใช้ตาข่าย ฟักทอง และกระจก เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์งานศิลป์ของเธอ ดังจะเห็นได้จากงานศิลปะที่มีชื่อว่า Inflatable Pumpkins Balloons บอลลูนฟักทอง 14 ลูกถูกนำมาจัดแสดงโชว์ที่เซ็นทรัล เวิลด์ ให้ทุกคนได้ชื่นชมความงามห้อยระย้าจากเพดานด้านบนของห้างลงมา ประกอบกับพื้นที่โดยรอบ ตกแต่งด้วยลายจุดสีแดงเช่นกัน

ทำไมต้องเป็นฟักทอง?

เราว่าคำถามนี้หลายคนน่าจะอยากรู้  คุณป้า Yayoi เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Louisiana Channel ว่า “ฉันรักฟักทองเพราะรูปทรงตลกๆ และความรู้สึกอบอุ่นของมัน รวมทั้งคุณสมบัติและรูปทรงที่คล้ายกับมนุษย์”

เราสามารถพบเห็นรูปทรงฟักทองผ่านงานศิลปะได้ในงานของเธอนับย้อนหลังไปถึงทศวรรษที่ 1950s ในช่วงวัยหนุ่มสาวของเธอ คุณป้ายึดติดกับรูปแบบที่ไม่สม่ำเสมอของมัน แล้วผสมผสานรูปแบบธรรมชาติเข้ากับวัสดุที่ผลิตขึ้นในรูปแบบซ้ำๆ ผนวกกับอาการประสาทแสนแปรปรวนในการมองเห็นภาพซ้อนตั้งแต่อายุ 10 ปี ทำให้เกิดเป็นงานศิลป์ที่มีมูลค่าสูงไม่แพ้ชิ้นใดในโลก

เล่าให้ฟังสักนิดว่าวันงาน เราเห็นการทำงานของทีมงานของป้า Yayoi แล้วรู้สึกทึ่งในความละเอียดอ่อนของคนญี่ปุ่นกับการใส่ใจในทุกดีเทลไม่ปล่อยหลุดลอย บอลลูนที่เห็นลอยอยู่ ไม่ใช่แค่เป่าลมให้พองแล้วห้อยประดับไว้ แต่เกิดจากการเดินสายใส่ไฟ สร้างคานและตัวรองรับภายในจนกลายเป็นฟักทองชิ้นสวยที่ล่องลอยอยู่ในอากาศอย่างที่เห็น

Location: ชั้น G เซ็นทรัลเวิลด์

“I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin และ Red Pumpkin)

อีกหนึ่งผลงานของคุณป้า Yayoi ที่ถูกจัดแสดงไว้ที่สยาม พารากอน ฟักทองลายจุดสีเงินบนพื้นผิวโมเสก บนความละเอียดอ่อนที่แฝงภาพสะท้อนอะไรบางอย่าง และอีกชิ้นในบริเวณเดียวกัน ฟักทองสีแดงลายจุดดำ ประติมากรรม “I Carry On Living With The Pumpkins” ที่ให้เข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิด

Location: แฟชั่น แกลเลอรี่ 3 ชั้น 1 สยามพารากอน

Aurèle Ricard

Lost Dog หรือ หมาหลง

มันแปลตรงตัวแบบนี้แหละ คุณไม่ได้เข้าใจผิด ถ้าสมมุตคุณเป็นคนหนึ่งที่รักสัตว์และเจอประกาศสุนัขหายแปะอยู่ที่กำแพง คุณจะรู้สึกอย่างไร ในใจเราก็คงคิดสงสารทั้งหมาและเจ้าของอยากให้พวกเขาเจอกันไวๆ แต่ถ้าหากลองไปนั่งแทนความรู้สึกของหมาดู ว่ามันจะรู้สึกหวาดกลัวและกังวลแค่ไหนกับสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย “หมาหลง” ก็เหมือนตัวแทนของคนในสังคมทุกวันนี้ ที่กำลังตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวายของโลกปัจจุบัน  หมาหลง ไม่เพียงสะท้อนถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสภาพสังคมที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ยังคงเหมือนตัวแทนความคิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งเสื่อมโทรมลงจากการบริโภคที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์

Lost Dog CO2 ประติมากรรมสุนัขขนาดใหญ่สูง 3.8 เมตรที่เป็นรูปร่างได้จากพืชมีส่วนช่วยในการลดมลพิษในอากาศอย่างเฟิร์นหรือพืชเถาเลื้อยอีกหลายชนิดกว่า 1,500 ต้น เจ้าหมาหลงเสมือนตัวแทนของมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษและความวุ่นวายของเมือง แม้ว่าหมาหลงจะยังคงหลงทางในความมืด แต่ยังคงสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้โดยเริ่มจากตัวเรา เพื่อพัฒนาอนาคตที่ดีให้กับเยาวชนรุ่นหลังตัอไป

Location: Mandarin Oriental, Bangkok

 

Choi Jeong Hwa

ใครๆ ก็ชอบบอลลูนหรือภาพ 3 มิติที่มีการเคลื่อนไหวให้องค์ประกอบของความมีชีวิต งานของชเว จอง ฮวา ทุกชิ้นคือตัวแทนของความสุขสะพรั่ง โดดเด่นในเรื่องการเล่นกับพื้นที่ และ การใช้รูปทรงชิ้นงานขนาดใหญ่ ที่ชวนให้มองตั้งแต่ระยะไกล นอกจากนี้เขายังมีมุมมองที่เฉียบคมในการหยิบเลือกวัสดุที่คาดไม่ถึงมาสร้างงานศิลปะ พร้อมกับการเลือกพื้นที่ตั้งผลงานให้เห็นเด่นเป็นสง่าในสถานที่เหมาะสม และผลงานที่เขานำมาแสดงครั้งนี้ได้แก่

ผลงาน Happy Happy Project: Fruit Tree 2017 และ Happy Happy Project:Breathing Flower 2016 ที่ BAB Box @ One Bangkok ตรงข้ามสวนลุมพินี ดอกไม้ขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวราวกับหายใจได้ และต้นไม้ที่ออกดอกออกผลเป็นผลไม้หลายชนิด ชเว บอกว่าเขาไม่มีคำจำกัดความใดๆ ที่จะอธิบายผลงานของเขา มันคือการเปิดกว้างให้ผู้ชมได้พิจารณากันตามประสบการณ์ของแต่ละคน ดังคำกล่าวประจำใจของเขา “Your heart is My art” หรือ “หัวใจของคุณคืองานศิลปะของผม”

Location: BAB Box @ One Bangkok

 

เมื่อนั่งรถต่อมาอีกหน่อย ถึง เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ เรายังเจอผลงานขนาดใหญ่ของชเว คือ Robot ยักษ์สีดำดูน่าเกรงขาม และมงกูฏของโจ๊กเกอร์สีทองที่ทำหล่นไว้ เราไม่รู้ว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ แต่เชื่อว่าคุณจะได้สนุกกับการตีความจากผลงานทั้งสองอย่างแน่นอน นอกจากนี้เจ้า robot สีดำยังสามารถขยับขึ้นลงได้ เสมือนมันกำลังเหนื่อยล้าจากการทำงานและต้องการพักผ่อนในบางเวลา ตามแต่ที่คุณจะจินตนาการ

Location: Central Embassy

MARINA ABRAMOVIĆ

Standing Structures for Human Use (2017)

ความน่าสนใจของงาน MARINA ABRAMOVIĆ คือการแสดงเจตนารมณ์ภายใต้รูปแบบเพอร์ฟอร์มเล่นกับสภาวะของร่างกายและจิตวิญญาณมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธอนั้นมีหลายชิ้นงาน และชิ้นที่น่าสนใจหนึ่งในนั้นคือ Rhythm 10 (1973)

Rythm 10 คืองานแสดงเดี่ยวชิ้นแรกของเธอ ด้วยการเล่นเกมมีด หรือกล่าวคือการกางมือออกแล้วเอามีดแทงอย่างรวดเร็วตามช่องว่างระหว่างนิ้ว ขณะที่เล่นก็อัดเสียงจังหวะการปักมีดไปด้วย

เธอเตรียมมีดไว้ 20 เล่ม ทุกครั้งที่พลาดแทงโดนมือตัวเองมีดจะถูกเปลี่ยน พอครบ 20 เล่ม เธอก็เปิดเสียงที่อัดไว้และพยายามเล่นเกมส์นี้อีกครั้งให้ตรงตามจังหวะของเสียงเดิม (หลอนมั้ยล่ะ)

มารินาบอกว่าเธอไม่ได้อยากตายหรือบ้า ถึงแม้ว่างานเธอจะดูเสี่ยงชีวิตในหลายชิ้นก็ตาม แต่สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือการดูว่าพลังของร่างกายจะไปไกลได้แค่ไหนกัน ซึ่งที่สุดแล้วเธอค้นพบว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับร่างกาย แต่คือเรื่องของจิตใจ ที่จะทำให้เราพ้นขีดจำกัดต่างๆ ไปได้ และสำหรับเธอการขึ้นแสดงต่อหน้าผู้ชมคือการผลักขอบเขตของตัวเองให้สามารถทำในสิ่งที่ปกติทำไม่ได้นั่นเอง

ส่วนผลงานที่เธอนำมาร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ในกรุงเทพฯ คือผลงานศิลปะจัดวางเชิงตอบโต้ Standing Structures for Human Use (2017) งานนี้คนดูจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมและทำกิจกรรมเพื่อให้งานศิลปะชิ้นนี้บรรลุผลไปพร้อมกัน โดยวิธีการโต้ตอบกับมันคือให้ยืนคนละข้าง แล้วสื่อสารผ่านผลึกด้วยความ เงียบ นิ่ง มารีน่าเชื่อว่าถ้าจิตเรานิ่งพอ มันจะสามารถส่งพลังถึงกันได้

Location: BAB Box @ One Bangkok

Diluvium,Lee Bul

Lee Bul

Diluvium

ผลงานชิ้นนี้สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น และถูกกล่าวขวัญไปในวงกว้างภายใต้ชื่อ Diluvium ความน่าสนใจของศิลปะจัดวางโดยใช้แผ่นพลาสติกสีเงินสะท้อนแสง วางเรียงรายแสดงถึงความล้ำสมัยในโลกอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นจากเหล็กกล่องเชื่อมเข้าด้วยกันเป็นโครงสร้างชั่วคราว และหุ้มติดวัสดุกรุผิวโครงสร้างด้วยแผ่นพลาสติกสะท้อนแสง “Diluvium” เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า “ท่วม” หรือ “ทะลักจนท่วมท้น” นำมาใช้ตั้งชื่องานศิลปะสุดล้ำชุดนี้ Lee Bul บอกว่า “ฉันตั้งคำถามเกี่ยวกับกลไกของร่างกายมนุษย์อยู่เสมอ ซึ่งงานชุดนี้จะจัดอยู่ในประเภท Site Specific ทำงานกับพื้นที่ขนาดใหญ่ ด้วยการเนรมิตพื้นที่ให้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเล่นกับแรงโน้มถ่วง ผู้เข้าชมจะได้หาสมดุลให้กับตัวเองเพราะไม่มีพื้นที่ใดที่ผู้เข้าชมจะสามารถยืนตรงได้ นั่นก็แปลว่า สมองของคุณจะถูกควบคุมไปพร้อมกับการขยับเขยื้อนร่างกายอยู่ตลอดเวลา”

สำหรับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ของ Lee Bul สามารถไปชมผลงานได้ที่ภายใน อาคารอีสต์ เอเชียติก สถาปัตยกรรมเก่าสไตล์ยุคฟื้นฟูเรอเนซองส์  เต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์และความน่าสนใจ ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว

Location: อาคาร อีสต์ เอชียติก

Sara Favriau

Nothing Is Led Comparable 2018

“ไม้” ยังทรงคุณค่าเสมอ ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบไหน จะเป็นไม้ยืนต้น ไม้ถูกตัดหรือแม้แต่เศษไม้ เราก็สามารถใช้งานได้จนหยดสุดท้ายของมัน “Nothing Is Led Comparable 2018” คือชื่อผลงานของ ประติมากรหญิงชาวฝรั่งเศส “ซาร่า ฟาวริโอ” ผู้มีกลวิธีอันโดดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุประเภทไม้  ในรูปแบบศิลปะการจัดวางโดยใช้ไม้ท้องถิ่นอย่างไม้สัก ไม้กันเกรา และไม้จันทน์มาสื่อสารกับกลิ่นอายโคโลเนียลที่ยังหลงเหลืออยู่ในอาคาร แต่สำหรับกรุงเทพฯ แล้วเธอจะสามารถรังสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุประเภทไม้ในเขตร้อนชื้นนี้อย่างไร ต้องลองไปชมด้วยตัวคุณเอง

Location: อาคาร อีสต์ เอชียติก

นอกจาก 6 ศิลปินที่เราชวนคุณไปชมในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018)  คุณยังสามารถแวะชมผลงานศิลปะที่อาจยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนได้อีกหลายจุดทั่วเมืองและริมแม่น้ำ ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถานที่สำคัญ 20 แห่งในกรุงเทพมหานคร

Bangkok Art Biennale 2018
Bangkok Art Biennale 2018

Photo: วาระ สุทธิวรรณ

Text: Nirin P.

คู่มือชมงานศิลป์ 101: ชมอย่างไรให้เป็นมืออาชีพ

keyboard_arrow_up