Lhong Tou Café คาเฟ่สไตล์จีนที่เล่าเรื่องเยาวราชในอีกมุมมองผ่านดีไซน์และเมนูอาหาร

Lhong Tou Café
คาเฟ่สไตล์จีนที่เล่าเรื่องเยาวราช
ในอีกมุมมองผ่านดีไซน์และเมนูอาหาร

วันนี้เราจะพาคุณไปสัมผัสตัวตนของ “Lhong Tou Cafe” (หลงโถวคาเฟ่) คาเฟ่สไตล์จีนบนถนนเยาวราชที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนี้ผ่านความคิดและคอนเซ็ปต์ตั้งแต่การตกแต่งร้านไปจนถึงเมนูอาหาร

“ที่ใช้ชื่อ “หลงโถว” แปลว่า ‘หัวมังกร’ ก็คือเราอยู่บนถนนเยาวราช ส่วนตรงนี้คือส่วนหัวของเยาวราช เราก็เลยชื่อว่าหลงโถวที่แปลว่าหัวมังกร

แต่ตอนแรกชื่อว่า หัวมังกร มันเหมือน code name เป็นภาษาไทยนะครับ เราเรียกกันร้านหัวมังกร เรียกกันไปเรื่อยๆ เพื่อนคนหนึ่งก็บอกว่า หัวมังกรภาษาจีนเรียกว่าหลงโถวนะ แล้วทุกคนก็เหมือนติดหูกับคำว่าหลงโถว ก็เลยรู้สึกว่าเอาชื่อนี้เลยละกัน”

“ตอนที่เราได้ตึกมา เราก็เดินดูกันแถวนี้ พบว่าเยาวราชมันไม่มีร้านกาแฟที่เป็นร้าน Local เราก็คิดว่าเขากินกาแฟที่ไหน ก็อยากทำร้านกาแฟ แล้วก็ถ้าสังเกตให้ดี ราคาเราจะไม่แพง เพราะว่าเราอยากให้เป็นร้านกาแฟที่นอกจากนักท่องเที่ยวที่มาเยาวราชแวะมาแล้ว อยากให้คนแถวนี้ได้แวะมาดื่มกาแฟแบบเป็นร้านประจำ ก็เป็นเหมือน Everyday Coffee นั่นคือจุดเริ่มต้นของร้าน”

คำบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของ Lhong Tou Café จากคุณเต๋า – วรรณยศ บุญเพิ่ม หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านและทำหน้าที่เป็นอินทีเรียตกแต่งร้าน โดยคาเฟ่แห่งนี้เกิดจากการรวมตัวของหุ่นส่วน 3 คน นอกจากคุณเต๋าแล้ว ยังมีคุณแน็ค – นิธิ วรเนตร ทำหน้าเป็นสถาปนิก และคุณนิกุ – อิทธิ วรเนตร รับหน้าที่เป็นเชฟคอยครีเอทเมนูใหม่ๆ

จุดเด่นที่ทำให้ Lhong Tou Café เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว คือการตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันก็กลมกลืนไปกับบริบทของเยาวราช เป็นคาเฟ่สไตล์จีนที่นำเสนอเสน่ห์ของเยาวราชในมุมใหม่ เป็นเยาวราชในช่วงวัยที่อ่อนเยาว์ขึ้นขณะที่เมนูเครื่องดื่มและอาหารก็ให้รสโดดเด่นและถูกปากใครหลายคน

“ตอนแรกคิดคอนเซ็ปต์ไว้หลายมุมเหมือนกัน เคยคิดว่าหรือเราจะไม่จีน เขาจีนกันหมดทั้งถนน หรือจะไม่จีนอยู่คนเดียว แต่ปรากฏว่า ถามตัวเองเวลามาเยาวราช ตัวเองอยากเห็นอะไร เราก็อยากเห็นความเป็นจีนนั่นแหละ แต่จะเป็นจีนแบบไหน จีนแบบของเราละกัน จีนอย่างคนรุ่นใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นสีแดงแป๊ด ผมว่ามันก็เป็นฟิวชั่นระหว่างเราที่เป็นนักออกแบบกับความเป็นไชน่าทาวน์ เราเอาตัวตนเราเข้ามาใส่ไปด้วย มันก็ออกมาเป็นลักษณะของร้าน”

บรรยากาศร้านเจือกลิ่นอายไชน่าทาวน์ได้อย่างกลมกล่อม โดยเฉพาะการออกแบบให้มีที่นั่งซ้อนกัน 2 ชั้นคืออีกหนึ่งจุดเด่นที่ถูกใจ Café Hopping โดยคุณเต๋าเล่าถึงไอเดียนี้ว่า “ห้องแถวนี้เป็นห้องแถวเก่า มันจะมีหน้าแคบกว่าที่อื่น มันกว้างแค่ 3 เมตรกว่าเอง ซึ่งแคบมาก ถ้าเราจะตั้งโต๊ะมันก็ได้จำนวนน้อย เราก็คิดว่าจะทำยังไง ก็เลยมาคุยกันเล่นๆ ว่ามานั่งซ้อนๆ กันไหม เราก็ลองไปรีเวิร์ชกันดูว่ามันเป็นไปได้ไหม ก็พบว่ามันมีจริงๆ มันทำกันได้ ร้านนี้ไม่ใช่ร้านแรกในโลกที่นั่งซ้อนกัน เพราะฉะนั้นพอรู้ว่าน่าจะเป็นไปได้ เราก็เริ่มเขียนแบบเลย

ตอนรีโนเวทเราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเราก็เป็นอินทีเรีย เป็นสถาปนิกกันอยู่แล้ว คือต้องบอกว่าการทำร้านนี้ผมไม่ได้เขียนแบบ ไม่ได้ทำเป็น perspective เลย เราใช้ vision กันอย่างเดียว คือเราเข้าร้านทุกวัน คุยกันว่าจะทำอะไรต่อ แล้วก็แต่งเติมไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีภาพนี้ในวันแรก มีแค่คร่าวๆ ในหัว แต่เราก็ค่อยๆ เติมไปเรื่อยๆ”

“แรกๆ ตอนเปิด เราก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นยังไง เพียงแต่ว่าเราอยากให้เป็นร้านที่ทุกคนมาได้ ผมไม่ได้อยากให้เป็นแค่บางคน อยากให้เป็นทุกคน อยากให้เป็นเหมือนจุดหนึ่งที่คนมาเยาวราชต้องมาทั้งไทยและเทศ นั่นคือที่ตั้งเป้าฯ เอาไว้

สิ่งที่ชอบก็คือแรกๆ จะมีแต่เด็กวัยรุ่นมา แต่หลังจากนั้นสิ่งที่ผมประทับใจคือ คนที่มาแล้วที่เป็นวัยรุ่น มาอีกครั้งพร้อมคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า แล้วบางทีก็มีกลุ่มคุณป้าคุณลุงมา 5-6 คน อันนี้คือสิ่งที่ผมต้องการ อยากให้เป็น Family Café สำหรับทุกๆ คน แล้วมันก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ”

ส่วนเมนูอาหารก็นำเอาเอกลักษณ์ของเยาวราชมานำเสนอ แต่นำเสนอในรูปแบบที่เป็นตัวตนของ Lhong Tou Café ซึ่งคุณนิกุ หนึ่งในหุ่นส่วนและเชฟประจำร้านเล่าถึงเมนูอาหารและเครื่องดื่มว่า “ผมทำความเข้าใจเยาวราชก่อน ผมคิดว่าเยาวราชเป็น destination อยู่แล้ว เวลาคนมาเยาวราช เขาไม่ได้มาเฉพาะเจาะจงร้านไหนร้านหนึ่ง เขามาทานเยาวราช คือตรงนี้นิดตรงนั้นหน่อย มา 4-5 ที่ รวมๆ กันเป็นมื้อๆ หนึ่ง ผมก็เลยรู้สึกว่าเวลาผมจะขายอะไร ผมก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่ง เป็นสถานที่ที่เขาควรจะไปแวะ

ผมเองก็เลยคิดว่า เราไม่ควรจะทำเป็นร้านอาหารจริงจังอะไรแบบนั้น เราควรจะมาเป็นส่วนเสริมหรือส่วนเติม ของก่อนมื้อ หลังมื้อ หรือระหว่างมื้อของเขา โจทย์มันเป็นแบบนี้ เราก็เลยคิดเมนูอะไรง่ายๆ เร็วๆ อร่อยดี แล้วก็มีความเป็นจีนอยู่”

คุณนิกุจึงเลือกเสิร์ฟติ่มซำและเมนูทานเล่นง่ายๆ ในรูปแบบของจานเล็กๆ โดยเพิ่มความน่าสนใจให้เมนูด้วยการหยิบวัตถุดิบท้องถิ่นประจำถนนเยาวราชมาเล่าเรื่องใหม่ในรูปแบบของหลงโถว เช่น เกาลัด ที่เราคุ้นตาตามสองข้างทางของเยาวราชก็นำมาครีเอทเป็นทาร์ตเกาลัค ฯลฯ ดังนั้นเมนูอาหารของ Lhong Tou Café จึงเป็นเมนูอาหารจีนง่ายๆ ที่แทรกความเป็นเยาวราชเอาไว้อย่างกลมกล่อม

 

MALA” Fried Chicken (79 บาท)
Egg Lava Bun (29 บาท)

“คอนเซ็ปต์อาหารของผมก็คือ มาเป็นอีกมื้อเล็กๆ มื้อหนึ่งที่รวมเป็นมื้อใหญ่ของคนที่มาเยาวราชให้ได้ อยากให้ทุกคนเอ็นจอยได้ อยากให้ทุกคนมาโดนจานนี้จานนั้น แล้วไปเดินร้านอื่นต่อก็ได้ หรือจะสั่งเยอะหน่อยให้อิ่มเลยก็ได้เช่นกัน

เมนูหลายอย่างพยายามปรับให้มีรสชาติของหลงโถวเลย อย่างติ่มซำถามว่าอยู่ในซอยนี้มีไหม มันก็มีอยู่แล้ว แต่ว่าผมอยากจะปรับให้มันเป็นหลงโถว เป็นของเรามากขึ้น”

เมนูแนะนำวันนี้คุณนิกุเลือกซิกเนเจอร์มาเสิร์ฟกว่า 9 เมนู เริ่มเมนูแรกกันที่ “MALA” Fried Chicken” (79 บาท) เมนูที่นำไก่ส่วนเนื้อสะโพกไปทอดจนกรอบ แล้วจึงเติมรสด้วยการคลุกผงหม่าล่าจากจีน เพิ่มรสเผ็ดเล็กๆ ด้วยน้ำมันพริก จนได้เมนูทานเล่นที่รสอร่อยในแบบฉบับหลงโถว

ต่อกันด้วย “Egg Lava Bun” (29 บาท) ซาลาเปาไส้ไหลที่หลงโถวนำเสนอความแตกต่างด้วยการเป็นซาลาเปาทอดกรอบนอก แต่นุ่มและมีไส้ไหลเยิ่มมาเพิ่มความสนุกให้การกิน

Mini BBQ Pork Bun (49 บาท)
Lhong Tou Shumai (69 บาท)

ถ้าไม่อยากกินซาลาเปาไส้ไหล แนะนำให้สั่ง “Mini BBQ Pork Bun” (49 บาท) ซาลาเปาลูกเล็ก ซึ่งภายในเป็นไส้หมูแดงรสกลมกล่อม ห่อด้วยแป้งที่มีความนุ่มและหอม พร้อมดีไซน์ออกมาแบบพอดีคำ

“Lhong Tou Shumai” (69 บาท) อีกหนึ่งเมนูซิกเนเจอร์ที่ต้องลิ้มลอง คุณนิกุบอกเล่าว่าเมนูนี้เป็นลูกผสมระหว่างขนมจีบกับเกี๊ยวด้วยการพยายามทำให้ขนมจีบมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อเวลาทานจะได้เต็มปากเต็มคำ ข้างในเป็นไส้หมูสับที่เติมกุยช่ายลงไป ทานคู่กับน้ำจิ้มสูตรของร้านที่ให้รสเผ็ดเล็กๆ เป็นขนมจีบสไตล์หลงโถวโดยเฉพาะ

“Wonton Soup” (59 บาท) เกี๊ยวกุ้งน้ำเมนูที่มาเสริมให้อาหารของหลงโถวสมบูรณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกี๊ยวชิ้นโตที่อัดแน่นด้วยกุ้งเน้นๆ ขณะที่น้ำซุปเป็นซุปกระดูกหมู เติมความหวานด้วยเก๋ากี้และน้ำมันงา

ส่วนใครชอบกินเป๊าะเปี๊ยะต้องไม่พลาดกับ “Prawn Spring Rolls” (59 บาท) เมนูนี้มีอีกชื่อเล่นว่า ‘ขลุ่ยกุ้ง’ ด้วยการนำเป๊าะเปี๊ยะที่เราคุ้นเคยมาห่อให้เป็นแท่งยาว เพื่อให้เป๊าะเปี๊ยะมีความกรอบมากกว่าปกติ ส่วนข้างในสอดไส้กุ้งกับหมูสับ เสิร์ฟพร้อมจิ้มบ๊วยเจี่ย

Wonton Soup (59 บาท)
Prawn Spring Rolls (59 บาท)

ส่วนใครอยากได้เมนูหนักๆ อิ่มท้อง แนะนำให้สั่ง “Chinese Breakfast” (129 บาท) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่าข้าวต้มกุ้ย โดยคุณนุกิเล่าถึงเมนูนี้ว่า “เนื่องด้วยมีหลายคนถามถึงอาหารเช้า ตอนแรกเราก็นึกไปถึง American Breakfast แต่ผมรู้สึกว่าเราชื่อหลงโถว เราอยู่ไชน่าทาวน์ เราอยู่ตรงเซ็นเตอร์ของคนจีนจริงๆ ก็เลยพยายามเรียนรู้ว่าคนจีนเขาทานอะไรกัน เขาทานข้าวต้มกุ้ยกัน มันเป็นของที่ง่ายมากๆ แต่หาทานยาก มันไม่ค่อยมีร้านที่พยายามทำออกมาเป็นเซ็ตเฉพาะตัว ถ้าไปก็ต้องไปเยอะๆ สั่งทาน 5-6 คน ถ้ามาคนเดียวก็หาที่ทานยากหน่อย

ผมก็พยายามที่จะจัดเซ็ตขึ้นมาให้มีความหลากหลาย แล้วก็เป็นของที่เยาวราชขึ้นชื่ออยู่แล้ว หลายอย่างไม่ได้ทำเองนะ แต่ว่าเราเลือกมาอย่างตั้งใจ อย่างเกี้ยมไฉ่ก็เป็นเจ้าที่ผมชอบ รู้สึกว่ามันอร่อยก็เลยเอามา กุนเชียงก็เป็นที่บ้านทานอยู่แล้ว คือมันจะเป็นของที่เราชอบอยู่แล้ว ที่ทานกับข้าวต้ม เราก็เอามามิกซ์ จัดเซ็ตขึ้นมา แบบ Individual คนเดียวก็สนุกกับการทานได้เหมือนกัน”

Chinese Breakfast (129 บาท)
Lhong Tou’s Signature – Thai Milk Tea (75 บาท)

ต่อกันด้วยเมนูเครื่องดื่ม เริ่มจากเมนูซิกเนเจอร์อย่าง “Lhong Tou’s Signature – Thai Milk Tea” (75 บาท) เครื่องดื่มชาไทยที่เราคุ้นเคย แต่เติมความอร่อยด้วยขนมตุบตับ ซึ่งคุณนิกุมองว่าเป็นวัตถุดิบเล็กๆ ที่มีความน่ารัก อร่อย และหาทานยาก “เมื่อคาเฟ่แห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเยาวราชทั้งที เลยมองหาขนมตุบตับเจ้าอร่อยมาเสิร์ฟและเพิ่มเสน่ห์ให้เครื่องดื่ม ช่วยเพิ่มเท็กเจอร์ให้กับชา ทำให้ได้เครื่องดื่มที่มีลูกเล่น มีความสนุก และมีรสชาติดี”

ปิดท้ายกันด้วยเมนูกาแฟที่ทางร้านแนะนำให้ลิ้มลอง “Dirty” (85 บาท) เครื่องดื่มที่ผสมผสานเอสเปรสโซ่กับนมเย็น โดยคุณนิกุเล่าถึงความชอบในเมนูนี้และอยากแนะนำให้ลูกค้าได้ลิ้มลองว่า “มันมีความร้อนและเย็นผสมกันอยู่ เหมือนไม่เข้ากัน แต่เมื่อได้ลองแล้วมันกลับเข้ากัน เป็นเครื่องดื่มที่มีความไม่เข้ากันแบบลงตัว มันมีความขม แล้วมีความหวานของนมที่เย็นสดชื่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นกาแฟที่ไม่น่าเบื่อ เพราะในหนึ่งแก้วมี 2-3 รสชาติ”

Dirty (85 บาท)

“ในอนาคตจะมีเมนูใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนา ยังมีอีกหลายอย่างเลยที่ผมรู้สึกว่ามันควรจะมีในร้าน อย่างผลไม้ที่เดินตามเยาวราชแล้วเจอตลอด เช่น ส้มเช้ง ทับทัม เชอรี่ คือมันมาโผล่ที่เยาวราชได้ยังไง ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ว่ามันอยู่จนมันเป็น DNA ของเยาวราชไปแล้ว ซึ่งอันนี้เป็นการบ้านที่ผมจะต้องดึงวัตถุดิบเหล่านี้มาขยำๆ เล่าเรื่องใหม่ในแบบหลงโถว ในแบบของเรา”

Lhong Tou Cafe
• Address: ใกล้แยกเฉลิมบุรี ถนนเยาวราช
• Map: https://goo.gl/maps/vf2D2dpVYHz
• Time: เวลา 9.00 – 21.00 น. (ปิดวันจันทร์)
• FB: www.facebook.com/Lhongtou/

Story: Taliw
Photo: Wara Suttiwan

keyboard_arrow_up