กระแสดราม่าเรื่องราวการเดินทางของ Print book ในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ที่ทำเอาคนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์สั่นสะเทือน คำถามที่คิดไม่ตกกับการทำงาน ว่าจะอยู่ต่อหรือเดินจากไปดี ควรหันเหไปเริ่มต้นใหม่กับกระแสออนไลน์หรือไม่? หรือจะทำอย่างไรดีถ้าชีวิตกว่า 30 ปีโตมาพร้อมตัวหนังสือ
โดยเฉพาะแม็กกาซีนหลายเล่มเริ่มถึงยุคใกล้อวสาน เพราะทนแรงต้านทานของ E-book ไม่ไหว ตัวหนังสือที่มาในยุคดิจิตอล ส่งสารผ่านสื่อสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ข้อมูลที่สามารถเสพได้เร็วบางครั้งอ่านฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้คนยุคใหม่เทใจมาอ่านหนังสือผ่านสื่อ E- book กันมากขึ้น แต่ทว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังหลงใหลกับการหยิบจับหนังสือขึ้นมาอ่านเพราะสามารถอ่านซ้ำได้หลายครั้งพลิกกลับไปมาได้ไม่มีเบื่อ รวมถึงส่วนใหญ่ผู้ผลิตให้ความใส่ใจในการใช้กระดาษถนอมสายตา ซึ่งต่างจากการอ่านผ่านสมาร์ทโฟนที่ส่งผลต่อสายตาในอนาคตได้
หากย้อนกลับไปเมื่อ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมการคิดค้นตัวอักษรมีมาช้านานตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ จุดเริ่มต้นเพื่อการบันทึกข้อมูลทางการเกษตร และวิถีชนชาติของตัวเองเอาไว้ เริ่มจากการสื่อสารด้วยรูปภาพและพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนเป็นภาษาของแต่ละเชื้อชาติที่เราเห็นในปัจจุบัน ในสมัยอารยธรรมประวัติศาสตร์ยุคแรก ๆ กลุ่มประเทศเมโสโปเตเมีย เริ่มรู้จักใช้ของแข็งกดลงบนดินทำให้เกิดเป็นลวดลายตัวอักษร เรียกว่า อักษรลิ่ม หลังจากนั้นในภูมิภาคแถบเอเชียตอนกลางและชาวจีน ก็เริ่มแกะสลักโดยเอาโครงกระดูกสัตว์และงาช้างมาใช้ เพื่อประทับลงบนดินเหนียวให้เกิดลวดลายเรื่องราว นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้แม่พิมพ์ Letter Press ในเวลาต่อมาชาวจีนได้คิดวิธีทำกระดาษขึ้นมา จนกลายเป็นวัสดุสำคัญในการสื่อข้อความผ่านตัวอักษร และใช้กระดาษวางทาบบนแผ่นหิน นำถ่านมาฝนจนเกิดเป็นภาพสื่อความหมาย ถึงอย่างไรก็ไม่ว่าจะเป็นการแสดงภาพตัวอักษร บนแท่นหิน บนดิน หรือบนกระดาษ มาถึงยุคนี้ ในยุคที่เรียกว่า ยุคดิจิตอล วัฒนธรรมการอ่านถูกแปรสภาพไปในอีกรูปแบบที่เรียกกันว่า อิเล็คโทรนิคต์ บุ๊ค เข้ามาแทนที่ เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในหลายๆ วงการ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา กระบวนการผลิต ที่ต้องฉีกการทำธุรกิจให้ต่างออกไปจากที่เคย
ปี 2558 อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ เข้าขั้นวิกฤติหนัก พฤติกรรมผู้อ่านเปลี่ยนไป เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนจากการพลิกกระดาษมาสู่สไลด์หน้าจออ่านเรื่องที่สนใจ ในอีกนัยหนึ่งการเสพผ่าน E-book มักจะเป็นเรื่องราวที่ฉาบฉวย อ่านผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งลืมข้อมูลหรือเรื่องราวสำคัญที่ทำให้เราจดจำและเล่าส่งต่อไปยังเจเนอเรชั่นใหม่ ถึงตอนนี้ไม่อาจฟันธงได้ว่า Print book จะอยู่ต่อรอความหวัง หรือควรปรับแนวทางให้ตามทันโลก แต่ยังไงเสียก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงรักและอยากเสพทั้งสองสื่อ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกเก็บ Print book หรือเลือกอ่านเพื่ออัพความรู้ ความทันสมัย เท่านั้นเอง
ข้อดีของหนังสือ
- ความรู้สึกอิ่มเอมใจได้มากกว่า หรือเรียกว่าฟินทีละตัวอักษร การได้จับกระดาษพลิกไปมาทีละหน้า ทำให้เราได้ค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวจากหนังสือ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ E-book ก็ให้ไม่ได้
- รูปเล่ม ดีไซน์การออกแบบที่น่าสนใจ น่าเก็บสะสม ไม่ว่าจะเป็นปก เนื้อกระดาษ บางคนชอบถึงขนาดว่าดมกลิ่นกระดาษจากหนังสือเลยทีเดียว โทนสีและสไตล์หนังสือเพิ่มลูกเล่น pop-up ทำให้สนุกกับการอ่านมากขึ้น
- แบ่งปันต่อเป็นหนังสือเพื่อเด็กๆ หรือแชร์ให้เพื่อนที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้อ่านในเรื่องราวดีๆ ต่อจากเรา หรือสามารถขายต่อเป็นหนังสือมือสองได้ แต่ E-book ไม่สามารถขายได้เนื่องจากมันจะผูกกับสิทธิ์เจ้าของเพียงคนเดียว
- ไม่ทำร้ายสายตา และไม่มีวันหมดอายุ บางทีการอ่านหนังสือผ่าน E-book มีระยะเวลาจำกัดและอ่านได้ตามที่กำหนด แต่หนังสือสามารถอ่านได้เรื่อยๆ เป็น 10 ปีเพียงซื้อครั้งเดียวไม่มีแบตเตอรี่จำกัด และโดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตมักจัดทำกระดาษแบบถนอมสายตาเพื่อสุขภาพการอ่านของผู้บริโภค
ข้อดีของ E-book
- สามารถเน้นข้อความที่น่าสนใจ หนึ่งฟังก์ชั่นที่เป็นจุดเด่นของ E-book โดยแบ่งปันหรือการอ่านหนังสือร่วมกัน (แต่ละคนต้องซื้อหนังสือหรือดาวน์โหลดเล่มเดียวกันมาเท่านั้น) เมื่อเจอข้อความโดนๆ หรือน่าอ่าน เราก็จะเน้นข้อความนั้นเพื่อให้เพื่อนๆ ที่อ่านเล่มเดียวกันได้เห็นทำให้การอ่านสนุกมากยิ่งขึ้น
- ง่ายต่อการค้นหาคำสำคัญ หากอ่านจากหนังสือ ต้องจดคำที่ต้องการแปลความหมายออกมาหาอีกที หรือเราจะต้องหาคำที่เราอยากอ่านในหนังสือ โดยที่เราจะต้องอ่านทั้งเล่มแล้วจดออกมา แต่ถ้าอ่านจาก E-book จะมีฟังก์ชั่นในการค้นหาคำซึ่งสะดวกมากกว่าการที่เราจะต้องอ่านทั้งเล่ม
- แชร์ผ่าน Social Network ได้ทันท่วงที เมื่อเจอประโยคเด็ดๆ ใน E-book สามารถแชร์ผ่าน E-book device ได้ง่ายๆ โดยหลายรุ่นทำฟีเจอร์เพื่อให้เครื่อง E-book ต่ออินเตอร์เน็ตแล้วส่งข้อความผ่าน twitter หรือ facebook ได้ตามต้องการ