5 อันดับหนังยอดเยี่ยมแห่งปี 2018
จัดอันดับโดย The New York Times
นับถอยหลังใกล้หมดปี 2018 แล้ว หลายคนก็คงอยากรู้ว่าตลอดปีที่ผ่านมา มีหนังเรื่องไหนถูกจัดให้เป็น Best Movies กันบ้าง วันนี้เราจึงไม่รอช้า หยิบ 5 หนังดีซึ่งจัดอันดับโดย The New York Times มาฝากกัน …ตามไปดูกันเลยว่าจะมีเรื่องไหนกันบ้าง
อันดับ 01: Roma
ประเดิมอันดับหนึ่งด้วยหนังตัวเต็งรางวัลออสการ์ โดยล่าสุดคว้า 2 รางวัลใหญ่ไปกอดเป็นที่เรียบร้อย นั่นคือรางวัล AFI Special Award จากสถาบันภาพยนตร์อเมริกา American Film Institute และรางวัล Best International Filmจากเวทีประกาศรางวัลภาพยนตร์สายอินดี้ที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ
ที่สำคัญหนังเรื่องนี้ยังเป็นผลงานกำกับของ ‘อัลฟอนโซ คัวรอน’ (Alfonso Cuarón) ผู้กำกับมือรางวัลออสการ์และแถมเพิ่งคว้ารางวัลสิงโตทองคำ ปี 2018 ไปครอง
หนังเรื่องนี้จะพาเราย้อนกลับไปยังเม็กซิโกซิตี้ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เม็กซิโกกำลังถึงจุดเปลี่ยนทางการเมืองและโครงสร้างสังคมผ่านครอบครัวชนชั้นกลาง ซึ่งพ่อและแม่แยกทางกัน โดยแม่จำต้องเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 4 คนเอง ร่วทกับผู้ช่วยคนสำคัญซึ่งเป็นหญิงชาวพื้นเมือง พวกเขาทั้งหมดต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก ไปพร้อมกับคนหนุ่มสาวชาวเม็กซิโกที่ประกาศสงครามกับรัฐ เพื่อต้องการทำลายช่องว่างระหว่างชนชั้น
อันดับ 02: Burning
หนังสัญชาติเกาหลีที่กลายเป็นกระแสร้อนแรงตามชื่อเรื่อง โดยหนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ ‘อีชางดง’ (Lee Chang-dong) ผู้กำกับชื่อไม่คุ้นหู เพราะเขาคนนี้มีผลงานกำกับเพียง 6 เรื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แถมแต่ละเรื่องยังเว้นช่วงเวลาค่อนข้างมาก อย่างเรื่องนี้ก็ทิ้งช่วงห่างจากเรื่องก่อนหน้าถึง 8 ปี จึงไม่แปลกหากเราจะไม่คุ้นเคยกับเขาคนนี้
แม้จะมีผลงานไม่สม่ำเสมอ แต่หนังของเขากลับมีเอกลักษณ์อยู่เสมอ และหลายเรื่องกลายเป็นหนังดัง อาทิ Peppermint Candy (1999), Oasis (2002) และ Secret Sunshine (2007) เขาจึงเป็นผู้กำกับมากความสามารถคนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเขาเลือกี่จะเล่าเรื่องของคนตัวเล็กๆ เป็นคนธรรมดาที่พบเจอกับอุปสรรคนามธรรม แต่กลับโดนใจผู้ชมอย่างจัง
อย่างหนังเรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของหนุ่มสาวคู่รักยุคปัจจุบันที่ใช้ชีวิตอย่างปกติ จนกระทั่งฝ่ายหญิงต้องเดินทางไปเที่ยวแอฟริกา แต่แล้วการเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอกลับมาพร้อมกับหนุ่มไฮโซที่ได้ผูกมิตรกันระหว่างทาง จนเกิดเป็นรักสามเส้า
แต่รักสามเส้า ซึ่งใครต่อใครคิดว่าเป็นเรื่องสามัญกลับไม่สามัญ แต่มันกลับซับซ้อน ตึงเครียดจากแรงกดดันระหว่างชนชั้นและความเป็นหนุ่มสาวยุคใหม่ ผนวกกับวิธีการเล่าเรื่องอย่างซับซ้อนและคลุมเคลือของผู้กำกับ ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนยกให้เป็นหนังดีเด่น เช่นเดียวกับ The New York Times
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของหนังเรื่องนี้คือ Burning ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น Barn Burning ของนักเขียนชื่อดังระดับโลก ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) โดยมีประโยคเด็ดที่สะท้อนเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ว่า “พอไม่มีน้ำตา เราก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า”
อันดับ 03: Shoplifters
หนังอีกเรื่องที่โดดเด่นด้วยฝีมือกำกับ ‘ฮิโรคาสุ โคเระเอดะ’ (Hirokazu Kore-eda) ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2018 ซึ่งเป็นรางวัลที่ 2 ของเขา ส่วนหนังเรื่องนี้เป็นหนังสัญชาติญี่ปุ่นเรื่องที่ 5 ที่ได้รางวัลนี้
Shoplifters เป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในโตเกียว ซึ่งจำต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในเมืองใหญ่ที่มีสภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย ซึ่งหนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหาร
ฮิโรคาสุ โคเระเอดะเพิ่มความน่าสนใจให้กับหนังเรื่องนี้ด้วยอาชีพที่ไม่ธรรมดาของครอบครัวเล็กๆ โดยครอบครัวนี้หาเลี้ยงชีพด้วยการลักเล็กขโมยน้อย ชีวิตของครอบครัวนี้จึงเว้าแหว่ง จนกระทั่งหัวหน้าครอบครัวรับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาเลี้ยง แม้จะเกิดการต่อต้านขึ้น แต่ท้ายที่สุดเด็กผู้หญิงคนนี้ก็ช่วยผสานจุดแหว่งนั้นให้สมานตัว
จากบทหนังและรางวัลที่ได้รับ ทำให้หลายคนยกให้ Shoplifters เป็นหนังเรื่องที่ดีที่สุดของผู้กำกับมากฝีมือคนนี้ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงที่แม้ไม่ลึกซึ้ง กินใจ แต่ท้ายที่สุดก็สามารถทำให้ต่อมน้ำตาผู้ชมหลั่งไหลได้
อันดับ 04: Zama
หนังที่แม้ชื่ออาจจะไม่คุ้นหู แต่หนังเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับหญิงคนสำคัญที่โดดเด่นด้วยหนังละตินอเมริกันร่วมสมัยอย่าง Lucrecia Martel ที่สำคัญเธอใช้เวลาทำหนังเรื่องนี้เกือบ 10 ปี และหนัง Zama ยังเป็นหนังตัวเต็งที่พร้อมเข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2018 อีกด้วย
เรื่องนี้ดัดปลงจากนวนิยายสมัย 1950 ของ Antonio di Benedetto โดยเล่าเรื่องราวชีวิตของข้าราชการ Diego de Zama ที่ต้องรับใช้เจ้าอาณานิคมสเปนที่ค่อยๆ เสียสติ จุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การใช้ภาษาที่ท้าทาย รวมทั้งวิธีคิดที่แตกต่างจากวงการหนัง โดยเฉพาะเมื่อผู้กำกับหญิงคนนี้เล่าประวัติศาสตร์ผ่านการเจาะลึกไปถึงแก่นของจิตใจของตัวละครที่ถูกทอดทิ้ง รวมทั้งการนำเสนอภาพชนพื้นเมืองละตินอเมริกันที่แตกต่างจากภาพที่คุ้นเคย
ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการล่าอาณานิคม การแสดงความคิดที่ท้าทาย รวมทั้งการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ ทำให้ Zama กลายเป็นอีกหนึ่งหนังดีเด่นที่น่าดู
อันดับ 05: Happy as Lazzaro
หนังสัญชาติอิตาลีจากผู้กำกับหญิง ‘เอลิซ โรห์วาเคอร์’ (Alice Rohrwacher) โดยหนังเรื่องนี้ยังคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2018 อีกด้วย จุดแข็งของผู้กำกับหญิงคนนี้คือการสร้างหนังที่เต็มไปด้วยภาพชนบท ที่เพิ่มความพิเสษด้วยความแฟนซีและให้อารมณ์ฝันเฟื่อง เป็นหนังที่ให้ภาพอันงดงาม เสมือนภาพวาดในนิทาน จึงไม่แปลกหากหนังของผู้กำกับคนนี้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวในยุค 80 ของชุมชนไร่ยาสูบที่ผู้คนใช้ชีวิตเรียบง่ายและเต็มไปด้วยความสงบสุข โดยมีหนุ่มชาวไร่แสนดี ลัซซาโร ที่อาสาช่วยเหลือผู้คนในชุมชน และหนุ่มร่ำรวยช่างฝัน ตันเครดี ซึ่งต่างมีชีวิตภายใต้อำนาจของ มาร์เคซา อัลฟงซินา เดอ ลูนา ผู้เปรียบเสมือราชินีวงการยาสูบ ผู้เอารัดเอาเปรียบคนงาน เหตุการณ์ถึงจุดพีคเมื่อ ตันเครดี เบื่อชีวิตภายใต้การกำกับของแม่ มาร์เคซา เขาจึงขอให้ลัซซาโรลักพาตัวเขา
เมื่อเรื่องราวเดินทางมาถึงจุดนนี้ ผู้กำกับคนนี้ก็ได้สร้างบทที่แฟนซีแสนประหลาดใจ เมื่อลัซซาโรได้หายตัวไปกว่าทศวรรษ ก่อนที่เขาจะกลับมาอีกครั้งในสภาพหนุ่มๆ ไม่ต่างจากช่วงก่อนที่จะหายไป ที่สำคัญการเล่าเรื่องของเอลิซ โรห์วาเคอร์ที่เต็มไปด้วยความฟุ่งฝัน ผนวกกับบทข้างต้น ทำให้นักวิจารณ์หลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่นำเสนอเสน่ห์ของหนังสไตล์นีโอเรียลิสม์ ซึ่งเป็นสไตล์หนังในยุคทองของอิตาลีให้กลับมาอย่างสวยงาม
โดย Happy as Lazzaro ให้อารมณ์ทั้งบทและฉากคล้ายเรื่อง The Wonders (2014) ภาพยนตร์น้ำดีจากผู้กำกับคนเดียวกัน ซึ่งได้รับรางวัล Grand Prix Award of the Jury จากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาแล้ว
อ้างอิง: www.nytimes.com/2018/12/05/movies/best-movies.html