หนังที่สร้างจากเรื่องจริง
กับ 8 เรื่องราวคนสำคัญของโลก
การันตีความดีงามด้วยรางวัลออสการ์
สำหรับคอหนังแล้ว หนังที่ได้รับรางวัล ‘ออสการ์’ ย่อมหมายถึงเครื่องการันตีความสนุกและทรงคุณค่าของหนังเรื่องนั้น และ ‘หนังอัตชีวประวัติ’ หลายๆ เรื่องก็เป็นหนังดีเยี่ยมที่มีรางวัลยิ่งใหญ่นี้มาการันตีความดีงาม วันนี้เราจึงคัด 8 หนังที่สร้างจากเรื่องจริงซึ่งนำเสนอเรื่องราวคนสำคัญของโลกมาฝากกัน
• A Beautiful Mind (2001)
เรื่องราวของ “จอห์น แนช” (John Nash) ชายที่ทุกต่างเรียกขานว่าอัจฉริยะสติเฟื่องผู้พลิกโลก เขาเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันและบิดาแห่งเกมเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 1994 โดยเขาเป็นเจ้าของทฤษฎีดุลยภาพซึ่งมีความสำคัญกับเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีผลต่อการค้าและการทหารซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติ
แต่ทฤษฎีที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลโนเบลคือ “ทฤษฎีเกม” วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เขาคิดค้นขึ้นส่วนตัว โดยมีความหนาเพียง 27 หน้าเท่านั้น และเมื่อช่วงอายุ 30 จอห์น แนชก็พบกับจุดหักเห เมื่อเขามีอาการป่วยทางจิตที่เรียกว่า Schizophrenia เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้เขามีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง นั่นคือเขาเริ่มเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวต่างๆ ฯลฯ
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อภาษาไทยในบ้านเราว่า “ผู้ชายหลายมิติ” แสดงนำโดยรัสเซล โครว์ (Russell Crowe) ซึ่งรับบทเป็นจอห์น แนช พร้อมกับเสียงวิจารณ์ในทางที่ดี โดยทำรายได้มากถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้กำกับของเรื่องนี้คือรอน ฮาวเวิร์ด (Ron Howard) และเขียนบทโดยอคิวา โกลด์สแมน (Akiva Goldsman) โดยบทของเรื่องนี้ยึดตามหนังสือขายดี ซึ่งมีชื่อเดียวกันกับภาพยนตร์
A Beautiful Mind (2001) คว้ารางวัลออสการ์ถึง 4 สาขาด้วยกัน คือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2001, สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม, สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
• Milk (2008)
เรื่องราวของ “ฮาร์วีย์ มิลก์” (Harvey Milk) นักการเมืองชาวอเมริกันที่ประกาศตัวว่าเป็นรักร่วมเพศคนแรก และยังได้รับเลือกให้เป็นเทศมนตรีของซานฟรานซิสโก เขายังเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศอีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้เขากลายเป็นผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอเมริกาที่ทำให้คนรักร่วมเพศกล้าเปิดเผยตัวมากขึ้น จนนิตยสาร Time ยกย่องให้เขาเป็น 1 ใน 100 บุคคลสำคัญของโลกแห่งศตวรรษ
แต่การประกาศตัวและการเป็นนักต่อสู้เพื่อคนรักร่วมเพศกลับทำให้เขาเสียชีวิตก่อนอันควรจากการยิงระยะเผาขนโดยนักการเมืองคู่แข่งที่เกลียดเกย์ หลังจากการเสียชีวิตฮาร์วีย์ มิลก์ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เหรียญอิสรภาพประธานาธิบดี
Milk (2008) ถ่ายทอดช่วงชีวิต 8 ปีสุดท้ายของฮาร์วีย์ มิลก์ โดยได้นักแสดงฌอน เพนน์ (Sean Penn) รับบทนำ และกำกับภาพยนตร์โดยกัส แวน แซงต์ (Gus Van Sant) ผู้กำกับที่มีชื่อเข้าชิงออสการ์ หนังเรื่องนี้ยังถ่ายทำจากสถานที่จริงในมหานครซานฟรานซิสโกอีกด้วย
หนังเรื่องนี้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขาด้วยกัน แม้จะคว้ามาได้ 2 สาขาก็แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมแล้ว โดยสาขาที่ได้คือสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม นอกจากนี้ Milk (2008) ยังได้รางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
• Lincoln (2012)
เรื่องราวของ 4 เดือนสุดท้ายของ “อับราฮัม ลินคอล์น” (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา จากการที่เขามุ่งไปที่การยุติสงครามและล้มเลิกความเป็นทาส แม้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนเป็นเหตุให้เขาถูกลอบสังหาร ‘กฎหมายเลิกทาส’ ที่เขาผลักดัน ทำให้คนอมเมริกาให้คุณค่าของสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก แม้ช่วงเวลานั้นจะไม่สามารถทำให้คนอเมริกามีความเท่าเทียมได้ทันที แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมในเวลาต่อมา
อับราฮัม ลินคอล์นเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกลอบสังหารในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา โดยใบหน้าของเขายังเป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีที่มีใบหน้าสลักไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมานต์รัชมอร์ (Mount Rushmore) และใบหน้าเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่บนธนบัตรราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐและเหรียญราคา 1 เซนต์
หนัง Lincoln หยิบเค้าโครงเรื่องมาจากหนังสือเรื่อง “Doris Kearns Goodwin‘s biography Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln” โดยนำเสนอในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีลินคอล์นพยามยามผลักดันให้ The Thirteenth Amendment ได้รับความเห็นชอบจากสภา (House of Representative) การผลักดัน The Thirteenth Amendment หรือข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 นี้ หากสำเร็จจะส่งผลให้ระบบทาสในประเทศสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลง และในช่วงเวลาเดียวกันสหรัฐอเมริกายังอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง (American Civil War) อีกด้วย
อีกจุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือได้ผู้กำกับมือรางวัลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในปี 2012 มากที่สุด 12 รางวัล เจ้าของฉายาพ่อมดแห่งวงการฮอลลีวูด “สตีเวน สปีลเบิร์ก” (Steven Spielberg) ส่วนนักแสดงนำในบทอับราฮัม ลินคอล์นได้แดเนียล เดย์ ลูอิส (Daniel Day-Lewis) มารับบท
หนังเรื่องนี้มีชื่อเข้าชิงออสการ์มากถึง 12 สาขาด้วยกัน แม้ท้ายที่สุดจะคว้าได้เพียง 2 สาขาคือสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและสาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม แต่เพียงแค่การหยิบเรื่องราวของประธานาธิบดีคนสำคัญมานำเสนอก็การันตีความดีงามได้แล้ว
• The Theory of Everything (2014)
เรื่องราวของ “สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง” (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งถูกขนานนามว่าอัจฉริยะผู้ไขความลับของจักรวาล จนหลายคนบอกว่าเขาคนนี้คือไอน์สไตน์คนที่สอง ครั้งหนึ่งเขาเคยออกมาเตือนมนุษย์โลกจนสั่นสะเทือนทุกวงการว่า ‘ชะตากรรมของมนุษย์เราจะมีระยะเวลาเหลืออยู่ให้เริงร่าได้อีกไม่เกิน 1,000 ปีถัดจากนี้ไป’
ความอัจฉริยะเทียบเท่าไอน์สไตน์ของเขาไม่ได้บ่งบอกถึงชีวิตที่สุขสบาย เมื่อเขาเป็นโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) ตั้งแต่อายุ 21 ปี ร่างกายของเขาค่อยๆ อ่อนแรงจนขยับตัวไม่ได้ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอดเวลา โดยในช่วงเวลานั้นหมอได้วินิฉัยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 2 ปี แต่แล้วเขาคือผู้สร้างปฎิหาริย์เมื่อสตีเฟ่น ฮอว์กิ้งสามารถมีชีวิตอยู่ได้จนถึงอายุ 76 ปี โดยมนุษย์โลกก็เพิ่งสูญเสียอัจฉริยะคนนี้ไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2018 ที่ผ่านมานี้เอง
ความมหัศจรรย์ของผู้ชายคนนี้ยังไม่จบ เมื่อเขามีรักแท้กับ ‘เจน ไวลด์ ฮอว์กิ้ง’ (Jane Hawking) แม้ท้ายที่สุดจะต้องหย่าร้างกัน หนังเรื่อง The Theory of Everything เธอก็ทำหน้าที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของเธอกับอดีตสามีนักฟิสิกส์ทฤษฎี รวมทั้งความสำเร็จของเขาในฐานะนักฟิสิกส์ทฤษฎี โดยได้เจมส์ มาร์ช (James Marsh) มากำกับ ส่วนนักแสดงชายที่รับบทสตีเฟ่น ฮอว์กิ้งก็ได้เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne) มารับบท
The Theory of Everything เป็นหนังชีวประวัติอีกเรื่องที่ได้เสียงตอบรับเชิงบวก พร้อมกับถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากมาย รวมทั้งรางวัลออสการ์ที่คว้ารางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครอง ขณะเดียวกันก็คว้ารางวัลลูกโลกทองคำถึง 2 สาขาคือ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ประเภทดราม่า และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
• The Imitation Game (2014)
เรื่องราวของ “แอลัน ทัวริง” (Alan Turing) ชายอังกฤษผู้ถูกขนานนามว่า ‘บิดาของวิทยาการคอมพิวเตอร์’ และวีรบุรุษสงครามโลก เพราะนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะคนนี้คือคนที่แกะรหัสลับอีนิกม่าของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนนำมาซึ่งชัยชนะ เขาไม่เพียงแต่เป็นอัจฉริยะที่ช่วยเหลือผู้คนมากมายจากสงครามโลก เขายังเป็นชายรักร่วมเพศที่ต้องปกปิดตัวตน เพราะช่วงเวลานั้นกฎหมายยังไม่ยอมรับ
หลังจากสงครามเขายังได้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกๆ ของโลก และได้สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นจริง ๆ ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ รางวัลทัวริงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อยกย่องเขาในเรื่องนี้ แต่จุดจบของเขาไม่ได้สวยงามเท่าไรนัก เพราะเขาถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมโดยรัฐบาลอังกฤษในปี 1952
หนังเรื่อง The Imitation Game นำเสนอช่วงเวลาที่น่าทึ้งของชายคนนี้ในช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เขาสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากมายจากการถอดรหัสลับอีนิกม่า อารมณ์ดราม่าผนวกกับความล้นระทึกชวนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ได้รับเสียงวิจารณ์ทางด้านบวก แถมยังเป็นภาพยนตร์ที่หลายคนบอกว่าเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของ ‘เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์’ ( Benedict Cumberbatch) ซึ่งรับบทเป็นแอลัน ทัวริงอีกด้วย
แน่นอนว่า The Imitation Game ยังการันตีความสนุกด้วยรางวัลออสการ์ ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม แถมยังได้รับการเสนอชื่อในรางวัลลูกโลกทองคำถึง 5 สาขาด้วยกัน แม้ท้ายที่สุดจะชวดก็ตาม
• Steve Jobs (2015)
หนังที่เล่าเรื่องราวสำคัญของชายอัจฉริยะที่ใครๆ ก็รู้จัก “สตีฟ จ็อบส์” (Steve Jobs) ความน่าสนใจของชายคนนี้ไม่ใช่เพียงการก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลที่จะมาเปลี่ยนเรื่องเทคโนโลยีของมนุษย์โลกเท่านั้น แต่เขายังเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีประวัติน่าสนใจ
ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือการหยิบช่วงเวลายิ่งใหญ่ของชายหนุ่มคนนี้มาพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่แม็คอินทอชเปิดตัวเมื่อ 1984 ช่วงเปิดตัว Next ในปี 1988 และช่วง iMac ปี 1998 โดยหนังเรื่องนี้ยิ่งน่าติดตามขึ้นไปอีก เมื่อผู้กำกับเลือกเล่าเหตุการณ์ตามจริงในช่วงต้น รวมทั้งการเผยมุมมองอื่นๆ ของผู้ชายคนนี้ นอกจากภาพคุ้นตาที่เขายืนอยู่บนเวที แถมท้ายด้วยการแทรกเหตุการณ์สำคัญในชวิตของสตีฟ จ็อบส์ ทำให้หนังเรื่องนี้มีรสชาติที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ
โดยหนัง Steve Jobs ได้แดนนี่ บอยล์ (Danny Boyle) ผู้กำกับมือรางวัลออสการ์จากเรื่อง Slumdog Millionaire แถมยังได้นักเขียนบทของเรื่องนี้ แอรอน ซอร์กิน (Aaron Sorkin ) ยังมีรางวัลออสการ์จากเรื่อง The Social Network มาการันตีฝีมือ ส่วนนักแสดงนำชายรับบทโดยไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ (Michael Fassbender)
หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 2 สาขาด้วยกันคือ สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมและสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้จะชวดออสการ์ แต่อย่างน้อยก็ชดเชยได้ด้วยรางวัลลูกโลกทองคำที่คว้ามาได้ถึง 2 รางวัลคือ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
• Amy (2015)
ภาพยนตร์ที่หยิบเรื่องราวของนักร้องนักแต่งเพลงสาว เจ้าของ 6 รางวัลแกรมมี่ผู้ล่วงลับ “เอมี ไวน์เฮาส์” (Amy Winehouse) มาเล่า สำหรับศิลปินคนนี้เป็นหนึ่งบุคคลอัจฉริยะทางดนตรี ทั้งการนำเสนอแนวเพลงในรูปแบบที่แตกต่างและพรสวรรค์ในการขับร้อง ทำให้เธอทะยานขึ้นสู่วงการเพลงตั้งแต่อายุ 13 การันตีความอัจฉริยะของเธอด้วยการคว้ารางวัลแกรมมี่ถึง 6 รางวัล แถมด้วยรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
แต่แล้วเพียงเวลาไม่กี่สิบปี เธอก็พบจุดจบที่ทำให้แฟนคลับหลั่งน้ำตาด้วยการพบว่าเธอได้เสียชีวิตด้วยพิษสุราภายในอพาร์ทเม้นท์ของเธอเอง หลายคนจะบอกว่าสาเหตุที่ทำให้เธอเสียชีวิตมีสาเหตุจากแฟนหนุ่มที่กำลังคบกันอยู่ขณะนั้น อีกหลายเสียงกลับบอกว่าเพราะเธอเป็นคนดัง ชีวิตส่วนตัวจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ จนทำให้เราเลือกดื่มสุราแก้กลุ้ม และเมื่อเธอเสียชีวิตด้วยพิษสุราก็ทำให้หลายคนประณามว่าเธอเป็นขี้ยา
อัลบั้มชุดที่ 2 ของเธอในชื่อ Back to Black ทำให้พุ่งสู่จุดสูงสุด โดยเฉพาะเพลง Rehab ที่ติดอันดับสูงสุดอันดับ 7 ของยูเค ซิงเกิลส ท็อปและอันดับ 9 ของ บิลบอร์ด ฮอท 100 เพลงนี้ยังได้รับไอวอร์ โนเวลโล อวอร์ด สาขาเพลงร่วมสมัยยอดเยี่ยมอีกด้วย แถมนิตยสาร Times ยังจัดให้เป็น1 ใน 10 เพลงยอดเยี่ยมปี 2007
หนังเรื่องนี้หยิบเอาช่วงเบื้องหลังที่หลายคนไม่รู้ของเธอมาพูด โดยเฉพาะช่วงเวลาโด่งดังและการเผชิญปัญหาที่รุมเร้าของนักร้องสาวคนนี้ โดยมีอาซีฟ คาพาเดีย (Asif Kapadia) ทำหน้าที่กำกับ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของหนังเรื่องนี้คือ การรวบรวมฟุตเตจส่วนตัวของนักร้องสาวคนนี้ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงช่วงท้ายๆ เพื่อถ่ายทอดความรักและพลังสร้างสรรค์ที่เธอมีต่อการทำงานดนตรี พร้อมเรื่องราวชีวิตแสนเศร้าจากปากคำของเธอเองแทรกเข้ามาในตัวหนัง โดยเฉพาะความสำเร็จในวงการเพลงที่กลับมาทำลายชีวิตส่วนตัวของเธอเอง
นอกจากเนื้อเรื่องเข้มข้นที่ผู้กำกับพยายามนำเสนอปัจจัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ชีวิตนักร้องสาวมาแรงต้องจบลง หนังเรื่องนี้ยังการันตีความดีงามด้วยรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมอีกด้วย
• I, Tonya (2017)
เรื่องราวของ “ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง” (Tonya Harding) นักกีฬาสเกตน้ำแข็งชื่อดังชาวอเมริกันที่มีคดีอื้อฉาวว่ามีส่วนร่วมในการทำร้ายคู่แข่งในระหว่างการแข่งขัน แต่ก่อนที่เธอจะกระทำความผิด ทอนย่า ฮาร์ดิ้งเป็นนักกีฬามากความสามารถ โดยเธอเป็นนักสเก็ตน้ำแข็งลีลาที่มีความสามารถในการเล่นท่า Triple Axel ซึ่งถือว่าเป็นท่าที่ยากที่สุดของกีฬาชนิดนี้ โดยเธอเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำสถิติจนกลายเป็นที่จดจำ
จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการตัดสลับไปมา โดยเฉพาะ Breaking the Fourth Wall ที่สามารถดึงดูดคนดูได้อย่างชะงัก พร้อมกับการนำเสนอเรื่องราวผ่านบทสัมภาษณ์ของตัวละครแต่ละตัว โดยนำเสนอในแง่ของการเป็นภาพยนตร์เสียดสี หยาบคาย แถมด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตของนักกีฬาสาวคนนี้ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นหนังน่าสนใจ โดยได้เครก กิลเลสปีย์ (Craig Gillespie) มากำกับและ มาร์โก ร็อบบี้ (Margot Robbie) รับบทนำ
I, Tonya เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่การันตีความดีงามผ่านรางวัลออสการ์ที่คว้าคือสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม นอกจากนี้หนังเรื่องนี้ยังคว้ารางวัลลูกโลกทองคำในสาขาเดียวกันอีกด้วย