GLOBAL CHANGE 2 เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราต้องหมุนตาม?

เมื่อยุคสมัยก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านที่ล้ำสมัยและอำนวยความสะดวกมากขึ้น หลายครั้งเราเฝ้าถามค้นหาคำตอบ กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนแทบจะตั้งมือรับไม่ทัน จนเผลอคิดไปว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” บางทีก็แอบนึกขึ้นมาในใจอยู่เหมือนกันว่า อยากจะย้อนกลับไปสู่รูปแบบเก่าๆ ตอนที่ยังไม่มีวิวัฒนาการก้าวล้ำทันสมัยเฉกเช่นปัจจุบัน ทั้งเรื่องการสื่อสาร เทคโนโลยี การเงิน การทำงาน มันช่างทำให้สังคมน่าอยู่กว่าที่เป็นไม่มากก็น้อยทีเดียว

global chance

จนมาพบกับหนังสือเล่มหนึ่ง “GLOBAL CHANGE 2” เขียนโดย วรากรณ์ สามโกเศศ ทำให้เราไขข้อข้องใจบางอย่างและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้ดีขึ้น การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและปวดร้าวดังกล่าวจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น และหากเข้าใจสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงด้วยจะทำให้ปรับตัวรับมือได้ดียิ่งขึ้น

นานาสาระในมิติของการเปลี่ยนแปลงระดับโลกถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเพียงกระผีกเดียวของเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก นำเสนอผ่านความแปลกใหม่สนุกสนาน และในบางแง่มุมมีเศรษฐศาสตร์ปนอยู่ด้วย เพื่อความเข้าใจที่ชัดคมขึ้น

global chance

5 เรื่องที่เราอาจยังไม่รู้ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง

1. Internet of Things สำคัญอย่างไร

ตู้เย็นที่บ้านส่งสัญญาณให้ซื้อไข่ไก่ เปิดเครื่องปรับอากาศจากระยะไกลเพื่อให้อุณหภูมิห้องพอเหมาะก่อนถึงบ้าน โทรศัพท์มือถือขึ้นข้อความทักทายเมื่อเดินเข้าไปในซุเปอร์มาร์เก็ต เหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงของสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ไอเดีย IoT พัฒนาเป็นลำดับจนเกิดโมเมนตัมในปี 1999 คือเกิดความคิดในเรื่องการสื่อสารจาก Device to Device หรือจากอุปกรณ์ถึงอุปกรณ์ เช่นจากตู้เย็นถือมือถือ มือถือถึงเครื่องปรับอากาศเป็นต้น

IoT จะเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนอย่างนึกไม่ถึง แค่เพียง 8 ปีของ “สังคมก้มหน้า” ซึ่งตามคำจำกัดความนี่ก็คือสักษณะหนึ่งของ IoT ทำให้เหห็นว่าความสัมพันธ์และการใช้เวลาของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปเพียงไร บางทีเครื่องมือไฮเทครองรับความต้องการได้ทุกเรื่อง อาจจะกลายเป็นยุ่งเรื่องส่วนตัวมากไป แต่สุดท้ายก็ยังมีประโยชน์มากกว่าจะตัดออกไปจากชีวิตได้ทั้งหมด

2. Gig Economy

Gig =กิ๊ก ไม่ใช่เรื่องกิ๊กอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ เราไม่ต้องไปตามหาผู้หญิงคนนั้นจากที่บ้านใคร แต่ Gig ในที่นี่เป็นคำแสลงอเมริกัน หมายถึง “งาน” Gig Economy หรือเศรษฐกิจงานครั้งคราว หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานพาร์ทไทม์ งานชั่วคราว ฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ เอาต์ซอร์ซ หรือเรียกง่ายๆ ว่าไม่ใช่งานประจำดังที่เป็นกันมา ในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง หลายคนหันมาสนใจงานรูปแบบ Gig Economy ความพิเศษคือ งานประเภทนี้จะมีตัวกลางเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย คนกลางที่สร้างระบบเครือข่ายดิจิทัลขึ้นมาจับผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน อาทิ Airbnb เจ้าของได้รับค่าเช่าผ่านคนกลาง การรับงานแบบเศรษฐกิจครั้งคราวอย่างสมัครใจของคนรุ่นใหม่ เป็นที่สอดคล้องกับรสนิยมการต้องการความเป็นอิสระ ที่สำคัญคือมั่นใจว่ารวยในอนาคตแน่นอน แต่หนึ่งสิ่งที่ต้องเผชิญคือรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอน การได้เงินประจำหรือสม่ำเสมอข้อดีคือเป็นการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้ชีวิตระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะได้มากหรือน้อยก็ตาม

3. Hydrogen Society เป็นไปได้หรือไม่

เมื่อก่อนเราอาศัยน้ำมันในการขับเคลื่อนรถยนต์ จนกระทั่งปัจจุบันพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนมีก๊าซเข้ามาเป็นกำลังเสริม เฉกเช่นเดียวกับตอนนี้ที่สังคมไฮโดรเจน หรือการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานพื้นฐาน ทำให้ญี่ปุ่นพึ่งจะประกาศตัวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะเป็นสังคมไฮโดรเจนให้ได้ เพราะใช้เป็นพลังงานทดแทนได้และสะอาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ไม่ว่าจากการใช้รถยนต์หรือในชีวิตประจำวัน แต่ทว่าทุกสิ่งให้คุณก็ย่อมมีโทษที่ไม่ควรมองข้ามได้

  1. ราคาการผลิตไฮโดรเจนยังสูงมาก
  2. ความไม่ปลอดภัย ไฮโดรเจนที่ไม่บริสุทธิ์ติดไฟและระเบิดได้ แม้บริษัทผลิตรถยนต์และผลิตไฮโดรเจนจะยืนยันว่าปลอดภัย แต่นั้นก็คือความเชื่อใจ ที่ต้องสร้างสะสมกันต่อไป
  3. แม้การใช้ไฮโดรเจนจะสะอาด แต่การได้มาซึ่งไฮโดรเจนก็ต้องใช้พลังงาน และพลังงานนี้อาจมาจากการเผาไหม้ ถ่านหินหรือก๊าซ ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการผลิตอาจไม่ได้สะอาดบริสุทธิ์ 100% เสมอไป แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังเดินหน้าต่อไป แม้จะรู้ว่าแคนาดากับสหรัฐฯ จะเคยพยายามทำสิ่งนี้แล้วก็ตามแต่ด้วยค่าใช้จ่ายสูง และการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าหรือไฮบริด ใช้ต้นทุนการผลิตที่น้อยกว่า เราต้องมารอลุ้นกันว่า ญีปุ่นจะพาวิวัฒนาการสังคมไฮโดรเจนไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน

4. Selfie ลวงตาให้เสียเงินและเจ็บตัว 

แค่เห็นชื่อเรื่องก็ดูน่ากลัวไปหน่อย ทำให้อยากเข้าไปแง่มเรื่องราวในส่วนนี้อยู่เล็กๆ คำว่า Selfie เกิดขึ้นในปี 2002 ปรากฎครั้งแรกในข้อความออนไลน์ของคนออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็กลายเป็นคำที่ถูกใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน เราได้รับข่าวคราวอุบัติเหตุหลายรายที่เกิดจากการเซลฟี่เพราะความพลั้งเผลอสนุกไปกับเซลฟี่ชั่วขณะ ปรากฎการณ์ฌซลฟี่เกิดขึ้นทั่วโลกและระบาดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุคที่มีเครื่องมือทันใจ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ บวกกับความที่ชอบดูรูปตนเองจนอาจเลยไปเป็นความหลงใหล ซึ่งต่อมานำไปสู๋ความเชื่อและการเข้าใจโลกที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จนเกิดเป็นการศัลยกรรม แต่งนู้น เสริมนี่ ลดตรงนี้ เพื่อให้ถ่ายรูปออกมามีใบหน้าเรียวเล็กน่ารัก การห่วงความงามจากเซลฟี่ทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น ถ้าไม่หลุดพ้นจากความบ้าคลั่งเซลฟี่และยึดถือเป็นสรณะแล้ว ก็จะไม่สามารถเห็นความงามที่แท้จริงของตนได้เลย

5. ทำไมต้อง Dad Bod

มันเหมือนแต่ละยุคสมัย การมองเห็นความงดงามของสรีระก็จะแตกต่างกันไป อ้วนบ้าง ผอมบ้าง สะโพกใหญ่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้เปรียบกับเรือนร่างของสตรีเพศ และไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นคนให้ความสนใจกับสรีระของชายหนุ่ม จนกระทั่งคำสุดฮิตในภาษาอังกฤษอย่าง “Dad Bod” ปรากฎขึ้นมา Dad Bod ย่อมาจาก Dad Body หรือคนที่มีพุงเหมือนพ่อ คำคำนี้แพร่กระจายอย่างบ้าคลั่งในอินเทอร์เน็ตในเวลาเพียงสองอาทิตย์ ชั่วเวลาข้ามคืนแมคเคนซี เพียร์สัน สาวน้อยวัย 19 ปีเธอคือผู้เขียนบทความนี้ลงในโซเชียล เธอคลั่งไคล้หนุ่มที่มีพุงเหมือนพ่อ โดยให้จำกัดความว่า Dad Bod คือความสมดุลอันเหมาะสมระหว่างการลงพุงเพราะเบียร์กับพุงที่มาจากการออกกำลังกายบ้าง เพียร์สันยังให้เหตุผลต่างๆ ที่ทำให้สาวๆ รักหนุ่มมีพุงเจ้าเสน่ห์อีกหลายข้อ อาทิเวลาถ่ายรูปในชุดบิกินี่ เขาจะไม่ข่มพวกสาวๆ หรือเป็นนักกิน กินทุกอย่างไม่เรื่องมาก ไม่ต้องคอยควบคุมน้ำหนักรักษาหุ่น อ่านจบแล้วหนุ่มมีพุงคงจะยิ้มแก้มปริ ว่ามาถึงยุคที่ผู้ชายซิกแพ็คไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไปแล้ว

ยังมีเรื่องราวมากมายรอบโลกที่น่าสนใจ และน่าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Drone ,Uber,คนเล็กก็ใหญ่ได้ รวมถึงย้อนดูเรื่องเล่าจักรยาน ว่าตัวจริงเขาเป็นยังไง ทั้งหมดนี้สามารถอ่านได้ใน GLOBAL CHANCE 2 สำนักพิมพ์ openworlds ราคา 195 บาท

keyboard_arrow_up