“Design Museum Dharavi” พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ในสลัม

‘ธาราวี’ (Dharavi) เป็นย่านชุมชมแออัดหรือสลัมที่เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในอินเดียและใหญ่ที่สุดในเอเชียเลยก็ว่าได้ ชุมชนแห่งนี้มีประชากรอาศัยอยู่ถึงล้านคนในพื้นที่เพียง 2.2 ตารางกิโลเมตร แม้จะได้ชื่อว่าเป็นชุมชนแออัดที่รายล้อมด้วยสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและคุณภาพชีวิตต่ำ แต่ชุมชนแห่งนี้กลับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอินเดียด้วยเช่นกัน เพราะธาราวีแห่งนี้เป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยงานหลักๆ ของที่นี่คือผลผลิตทางหัตถกรรมและอุตสาหกรรมที่ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ประเทศสูงกว่า 650 ล้านดอลล่าร์ต่อปี ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์นี้เอง ทำให้ชุมชนแออัดแห่งนี้แตกต่างและพิเศษกว่าที่อื่นๆ

Museum-Dharavi_02

จากจุดนี้เองทำให้ศิลปินวิชวลอาร์ต Jorge Mañes Rubio และนักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิจารณ์ศิลปะ Amanda Pinatih รังสรรค์นิทรรศการ “Design Museum Dharavi” ขึ้นมาจากความร่วมมือของคนในชุมชน โดยภารกิจหลักของ Design Museum Dharavi คือการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของสาธาณชนต่อชุมชนแห่งนี้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างจุดนัดพบสำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและนวัตกรรมของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้ย่านธาราวีก้าวสู่การเป็น creative platform อย่างแท้จริง

Museum-Dharavi_03

สำหรับ Design Museum Dharavi เป็นนิทรรศการในรูปแบบ Museum on Wheel หรือพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ที่จะสัญจรไปยังพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน ดังนั้น Rubio และ Pinatih จึงออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้อยู่บนรถเข็นของที่เราคุ้นตา ส่วนวัตถุที่จัดแสดงนั้นเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาทิ ถ้วยชาหรือกาน้ำชาดีไซน์ใหม่ที่ได้ไอเดียมาจากวัฒนธรรมการดื่มชาของคนที่นี่ แน่นอนว่าผลงานเหล่านี้ย่อมเป็นผลงานจากฝีมือคนในชุมชน

Museum-Dharavi_11

ไม่เพียงเท่านี้ Rubio และ Pinatih ยังผุดนิทรรศการครั้งที่สอง โดยมีคอนเซ็ปต์อยู่ที่ Cricket กีฬายอดฮิตในอินเดียและธาราวี โดยนำอุปกรณ์ของกีฬาชนิดนี้มาจัดแสดง ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านี้มีรูปร่างและสีที่แตกต่างกันไป นอกจากการจัดแสดงแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ควบคู่กันไปอีกด้วย อาทิ การจัดเวิร์คช็อปเพื่อให้ความรู้แก่คนในชุมชน เพื่อใช่ต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคต รวมทั้งการส่งเสริมให้ธาราวีเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและเทคนิคระหว่างช่างฝีมือท้องถิ่นกับผู้บริโภคอีกด้วย

ภาพ : www.designboom.com และ designmuseumdharavi.org
keyboard_arrow_up