สิ่งหนึ่งที่คนจีนมักสอนลูกหลานสืบต่อกันมา คือ การระวังคำพูด ซึ่งตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก” และคำบางคำก็ไม่ควรเอ่ยออกมา แม้จะเป็นการพูดเล่นก็ตาม เพราะนอกจากจะไม่เป็นมงคลต่อตัวผู้พูดแล้ว ก็อาจจะไม่รื่นหูคนฟังด้วย
อีกไม่กี่วันก็ถึง วันตรุษจีน เทศกาลที่สำคัญที่สุดของคนจีนและคนเชื้อสายจีนทั่วโลก เป็นการฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และนับเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2560 ซึ่งในวันตรุษจีนจะมีธรรมเนียมการปฏิบัติมากมาย แต่ประเด็นที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันนั้นจะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่มักสอนลูกหลานสืบต่อกันมา คนจีนมักจะสอนลูกหลานให้ท่องจำคำเหล่านี้ “ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน และกตัญญู” ด้วย 5 คำพูด นี้ สามารถพลิกฟื้นจากเสื่อผืนหมอนใบ กลายเป็นเจ้าสัวมานักต่อนักแล้ว
นอกจากนี้ยังมีคำพูดที่เป็นเหมือนข้อห้ามที่ อากง อาม่า ไม่เคยสอนให้ลูกหลานพูดเช่นกันครับ ลองมาดูกันซิว่า คำเหล่านั้น คือคำอะไร
ขี้เกียจ
ยกให้คำนี้เป็นคำแรกเลยที่ต้อง delete ให้ออกไปจากชีวิต คำๆ นี้ ไม่ควรแม้แต่การพูดเล่น เพราะแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ ทำอะไรก็ไม่จริงจัง ยิ่งพูด ยิ่งดูแย่ในสายตาคนอื่น
ยาก
พอพูดคำว่า “ยาก” ออกมากเมื่อไหร่ ก็เหมือนเป็นการบล็อกความสามารถของเราทันที ทั้งๆ ที่ มันอาจจะง่ายแสนง่ายสำหรับเราก็ได้ ใครจะไปรู้ เพียงแค่เราลงมือทำเท่านั้น
ทำไม่ได้
คำๆ นี้ เป็นอีกคำหนึ่งที่ปิดกั้นการเรียนรู้ของเราไปโดยปริยาย ผู้ใหญ่จึงมักมีคำพูดสั่งสอนเด็กๆ อยู่เสมอว่า “ยังไม่ได้ลองทำเลย ก็บอกว่า ‘ทำไม่ได้’ เสียแล้ว แล้วอย่างนี้จะทำอะไรต่อไปได้” คำพูดประโยคนี้ ฟังแล้วดูเหมือนเป็นการตำหนิ แต่แท้จริงแล้ว เป็นการพูดเพื่อให้คนฟัง ฮึดสู้ ขึ้นมาต่างหาก
เหนื่อย
คำบางคำ ก็เป็นเหมือนการบั่นทอนพลังกาย พลังใจของเราเหมือนกัน อย่างคำว่า “เหนื่อย” พอพูดออกมาแล้ว ร่างกายก็จะตอบสนองให้รู้สึกอ่อนแอลงทันที
ท้อ
คำส่งท้าย ที่ควรจะปล่อยไปไกลๆ “ท้อว่ะ” เพียงคำนี้ผุดขึ้นและพูดออกมา พลังทั้งมวลที่มีอยู่ ทั้งร่างกายและจิตใจก็จะถดถอยสูญสิ้นไปทันที
ถ้าสังเกตกันดีดี คำพูด ก็เหมือนการเชียร์กีฬา เราอาจเหนื่อยหรือท้อบ้าง เวลาเจอเรื่องอะไรหนักๆ มา ลองมองย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ เวลาร้องเพลงให้กำลังใจนักกีฬา นักกีฬาก็รู้สึกฮึกเหิมริงมั้ย เราลองมาให้กำลังใจตัวเองด้วยพูดแต่คำดีดีบ้าง จะเป็นไรไปล่ะ … ฮึบๆ
Photo : pixabay, twitter.com/open_yourdoor