“Pop.Up” จะวิ่งบนถนนหรือเลี่ยงรถติดด้วยการบินบนฟ้าก็ได้ทั้งนั้น
WHAT: Pop.Up แท็กซี่บินได้ นวัตกรรมจากโลกอนาคตที่กลายเป็นจริง สามารถขับเคลื่อนบนท้องถนนได้ หรือจะเลี่ยงรถติดด้วยการบินบนท้องฟ้าก็ได้ทั้งนั้น
‘จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้’ ขอยืมคำจากนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังไอน์สไตน์มาใช้นิยาม “Pop.Up” รถบินได้คันนี้ เพราะนอกจากจะเป็นนวัตกรรมที่พาเราก้าวข้ามขีดจำกัดไปอีกขั้นแล้ว รถบินได้ยังมาพร้อมคุณสมบัติพิเศษทั้งให้เราขับเคลื่อนได้ทั้งบนท้องถนนและบนท้องฟ้า
จุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัท Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินของยุโรปและบริษัทออกแบบรถยนต์ Italdesign จับมือกันออกแบบรถบินได้นี้ ก็เพื่อแก้ปัญหารถติดซึ่งทำให้เราต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน โดย Pop.Up คันนี้เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในงาน Geneva Motor Show เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง
ความพิเศษที่ทำให้ Pop.Up เป็นที่จับตามอง นอกจากความสามารถในการบินแล้ว ก็คือการทำงานด้วยระบบสองโมดูลที่ทำให้รถสามารถขับเคลื่อนได้ 2 แบบ ทั้งการขับขี่บนท้องถนนเสมือนรถยนต์ปกติได้ ขณะเดียวกันหากอยู่ในสภาวะรถติดเราก็สามารถเปลี่ยนโหมดเป็นการเดินทางบนท้องฟ้าได้ โดย Pop.Up ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักด้วยกัน นั่นคือ Ground Module ส่วนล่างที่มีหน้าตาเป็นล้อรถยนต์ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนบนท้องถนน, แคปซูลหรือห้องโดยสารขนาด 2 ที่นั่ง (2.6 x 1.4 x 1.5 เมตร) และ Air Module ส่วนของใบพัดหน้าตาเหมือนโดรนขนาด 5 x 4.4 เมตร
ส่วนการทำงานนั้นอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า Pop.Up สามารถสลับโมดูลได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในสภาวะรถติด เราก็สามารถเปลี่ยนโหมดเป็นการบิน ซึ่งเป็นการบินขึ้นในแนวดิ่งเพื่อมุ่งสู่จุดหมายได้ทันที แม้ว่าเราจะจอดติดไฟแดงอยู่บนท้องถนนก็ตาม ที่สำคัญ Pop.Up สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง (self-piloted) โดยใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงาน และยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้หากใครกำลังวางแผนจับจองเป็นเจ้าของ คงต้องผิดหวังสักหน่อย เพราะ Airbus และ Italdesign ตั้งใจให้รถคันนี้เป็นรถสาธารณะเสมือนแท็กซี่ โดยให้เรากดจองและเรียกใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งแอปฯ นี้ยังทำหน้าที่คำนวณเส้นทางว่าเราควรเดินทางแบบไหน จะบินไปดี หรือแค่ขับเคลื่อน 4 ล้อก็พอ หรือเดินทางทั้งสองแบบไปเลยดี ยกตัวอย่าง หากเส้นทางที่เราต้องเดินทางไปนั้น อยู่ในสภาวะรถติด Pop.Up ก็จะคำนวณให้เราใช้หมวดการบินแทน เพื่อส่งเราให้ถึงเป้าหมายโดยเร็วที่สุดนั่นเอง โดยเราจะได้ลองใช้จริงได้ในปี 3 ปีข้างหน้า (ปี 2020)
ที่มา :
ภาพจาก : www.designboom.com