หากถามถึงเหตุผลที่เราตัดสินใจนัดพูดคุยกับแอดมินเพจ TAM:DA คำตอบ! คงเป็นเพราะความสนุกที่ซุกซ่อนความคิดสร้างสรรค์เอาไว้ ซึ่งเราได้เห็นผ่านคลิปวิดีโอบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กภายใต้ชื่อเพจ TAM:DA โดยเฉพาะการเปลี่ยนของธรรมดาให้ทำหน้าที่ไม่ธรรมดา ทำให้เราไม่รอช้าที่จะติดต่อ “คุณเป๋ – ธนวัต มณีนาวา” เพื่อชวนเขามาพูดคุยสนุกๆ ถึงความไม่ธรรมดาที่ซ่อนอยู่
“TAM:DA ‘ทำดะ’ แปลตรงตัวก็คือเจออะไรทำหมด และ TAM:DA อ่านอีกอย่างได้ว่า ทำ – มะ – ดา ซึ่งคือการนำวัสดุสิ่งของธรรมดาใกล้ๆ ตัวมาปรับเปลี่ยนหน้าที่ด้วย ‘ความสนุก’ ให้เป็นงานดีไซน์”
• TAM:DA ทำไมต้องชื่อนี้?
มันเกิดจากการเล่น พอดีบริษัทที่เราทำงานอยู่มันเป็นบริษัทญี่ปุ่น แล้วเราก็คิดว่าเอาไงดีวะ ก็เลยโอเคเอาชื่อเหมือนญี่ปุ่นหน่อย ‘ทำ-ดะ’ (หัวเราะ) แต่ว่าตอนนั้นผมไม่ได้คิดว่าคำนี้มันเป็นคำว่า ‘ธรรมดา’ ได้ด้วย ตอนนั้นเอาตลกเลย เพจ ทำ-ดะ ดูเป็นญี่ปุ๊นญี่ปุ่น แล้วเรามาเขียนโลโก้เป็นภาษอังกฤษ ผมก็เขียน แล้วก็อยากให้มันยิ้ม ก่อนคำว่า ‘ดะ’ เราอยากให้มันยิ้ม ก็เลยมีโคลอนสองจุด แล้วก็มีคนมาอ่านแล้วบอกเลยว่ามันอ่านว่า “ทำ-มะ-ดา” เราก็เฮ้ย ดีวะ มันเป็นสองความหมาย คือแบบว่า ทำดะ เจอะอะไรก็ทำ กับ ธรรมดา เอาของธรรมดามาทำให้ไม่ธรรมดา
• สิ่งที่ทำในเพจ TAM:DA ถือว่าเป็นงาน D.I.Y หรือเปล่า?
ทุกคนชอบคิดว่าเป็นงาน D.I.Y แต่คือผมก็ไม่รู้จะจำกัดความมันยังไง แต่ผมว่า D.I.Y แบบว่ามาทำที่ใส่ดินสอก็คงไม่ใช่ ผมว่ามันเป็นเรื่องของครีเอทีฟ มันเป็นเรื่องของการเอาของใกล้ตัวมาเปลี่ยนฟังก์ชั่น เปลี่ยนหน้าที่ อย่างที่เห็นเขียนว่า TAM:DA (ทำ-ดะ) คือตรงตัวเลย ทำทุกอย่างเลย แต่พอเขียนเป็นโลโก้มันอ่านว่า ทำ-มะ-ดา ได้ ก็คือเอาของธรรมดามาเปลี่ยนดีไซน์ มาเปลี่ยนรูปร่างหน้าตา
แต่ก็แล้วแต่ว่าจะมอง TAM:DA ในมุมไหน จะมองว่ามันเป็นรีไซเคิลก็ได้ ไม่ต้องผลิตซ้ำ ไม่ต้องอะไร อย่างพวกงานที่ทำเล่น ทำให้คนอื่นทำตาม เราก็จะไม่ผลิตซ้ำ หรือว่าจะมองว่าเป็นเรื่องของดีไซน์ก็ได้ มองเป็นเรื่องของฟังก์ชั่นก็ได้
• TAM:DA ถือว่าเป็นงานอดิเรกได้ไหม?
ตอนนี้เริ่มไม่อดิเรกแล้ว ตอนนี้ก็ว่าจะออกจากงานประจำ ออกมาทำเต็มตัว คือเรารู้สึกว่าถ้าเราทำสองอย่างพร้อมกันไม่น่าจะดี ตอนแรกเป็นงานอดิเรก แต่สุดท้ายมันเป็นสิ่งที่เราชอบมาก มันก็เลยคิดว่าเรามาทางนี้ดีกว่า น่าจะมีความสุขกว่า คือตอนนี้ TAM:DA มันจะเป็นสองส่วนครับ คือทำเป็นแบบทดลอง ทำไปเรื่อยเลย เจออะไรก็ทำ ตามชื่อไปเลยนะ แต่อีกอันหนึ่งคือทำขาย มีเป็น product ที่ทำขายจริงๆ จังๆ
• แสดงว่า TAM:DA มันคือการต่อยอดความคิดใช่ไหม?
ใช่ มันเป็นการต่อยอด มันเหมือนเราเอาของใกล้ตัวมาต่อยอด คือมันต่อยอดด้วยวัสดุนะ หรือว่าต่อยอดด้วยไอเดียก็ได้ มันต่อยอดได้หมดเลย คือเราทำจริงจังในเรื่องของการใช้วัสดุที่มันใกล้ตัวมาเปลี่ยนฟังก์ชั่นของมัน ให้มันเกิดประโยชน์ได้ คือจริงๆ ของในบ้าน มันไม่ใช่ว่าต้องทิ้งเสมอ เราเอาของที่เราไม่ใช้ มาเปลี่ยนให้มันใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไปใช้อย่างอื่นได้ มันไม่ได้มีหน้าที่อย่างเดียว มันเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ด้วย
• มีของที่ทำแล้วประทับใจหรือชอบมากๆ ไหม?
มันไม่มี เพราะว่ามันเยอะจริงๆ ครับ ถ้าดูในเพจมันจะเยอะมาก คือถ้าเอาทั้งหมดแล้วให้เลือกที่หนึ่ง มันไม่มี แต่ถ้า ณ ตอนนี้ ที่ดีที่สุดที่ชอบที่สุดคือทำของให้เด็กพิการ คือส่วนใหญ่ TAM:DA เราทำเล่น แต่อยู่ดีๆ ก็มีคนเห็นว่าเราน่าจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นในเรื่องของไอเดีย มีมูลนิธิเพื่อเด็กพิการกับ Creative Citizen เป็นองค์กรเพื่อสังคม เขาก็ติดต่อเข้ามาว่า คุณเป๋มาทำอะไรให้เด็กไหม ซึ่งเขาก็จะมีโจทย์มาให้ ซึ่งปกติเราจะไม่มีโจทย์ เราไปเจออะไรก็ทำ เราไปเจอวัสดุอะไรเราก็ทำ แต่อันนี้มีโจทย์ พอมีโจทย์แล้วเราก็รู้สึกว่า มันน่าท้าทาย มันน่าสนุก ซึ่งโจทย์ก็มีอยู่ว่าเอาของใกล้ตัวในบ้าน มาทำอุปกรณ์ที่เสริมทักษะให้เด็กพิการได้
เราก็แบบว่าหูย เจ๋งเว้ย! แล้วมันต้องทำได้จริงๆ ด้วยนะ ตอนแรกก็คิดฟุ้งเลย แต่ทาง Creative Citizen เขาบอกว่าอยากได้เป็นของที่มันใกล้ตัวมากๆ แล้วก็ไม่ว่าจะเป็นใครก็ซื้อวัสดุแล้วบริจาคได้ คือการบริจาคมีสามอย่าง บริจาคสิ่งของ บริจาคแรง และบริจาคเงิน เพราะฉะนั้นของต้องซื้อได้ ไม่ใช่ว่าใครแกะอะไรมาก็เอามาให้ คือเดี๋ยวเราต้องร่วมแรงร่วมใจทำด้วย ถ้าเกิดของมันแตกต่างกัน คนทำไม่ใช่คุณเป๋คนเดียว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำได้เหมือนกัน
ผมเลยใช้สายยางกับข้อต่อสายยางทำอุปกรณ์ต่างๆ นานาสำหรับเด็กพิการ คือเด็ก CP (Cerebral Palsy) ที่เขาบังคับกล้ามเนื้อไม่ได้ ใช้ช้อนแบบเราไม่ได้ จับปากกาแบบเราไม่ได้ มันต้องมีอะไรคล้องมือเขาไว้ไม่ให้หล่น แบบจับให้กระซับ ประทับใจแบบน้ำตาไหลเลย (หัวเราะ) เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้ไง แล้วตอนไปมอบให้เด็กพิการมีอาสาสมัครมาร่วมทำ มันก็เฮ้ยทำดีมันก็มีความสุขดีเว้ย (หัวเราะ)
• สเต็ปการทำของแต่ละชิ้น มันเป็นยังไง?
มันมีหลายแบบมาก มันมีทั้งเจอวัสดุ อย่างบางทีไปเดินคลองถมไปเดินตลาดนัด แล้วเจอของเราก็เกิดไอเดีย คือของแต่ละอย่างไม่เหมือนกันนะ อย่างไม้แขวนเสื้อหรือไม้หนีบ แต่ละเจ้าก็ไม่เหมือนกัน แต่ละที่ก็รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน พวกนั้นจะมีฟังก์ชั่นซ่อนอยู่ เพราะงั้นเราเจอตรงไหน เราก็ซื้อตรงนั้น แต่ก็มีแบบตั้งใจด้วย บางทีมีโจทย์ให้หรือมีสถานการณ์มีกระแส เช่น สมมติช่วงนี้โปเกม่อนมา เราก็จะแบบทันทีเลย เราก็จะแบบคุ้ยสตูดิโอ เอาของใกล้ตัวเรามาทำได้เลย มันแล้วแต่สิ่งรอบตัวจริงๆ
“…สิ่งของนั่นแหละมาบันดาลใจให้เราทำ เพราะเราไปเห็นของ …ผมจะบอกว่าทุกอย่างจะมีที่มาที่ไปแตกต่างกันไป”
• แสดงว่าแรงบันดาลมาจากกระแสถูกไหม?
ไม่เชิง ก็แล้วแต่อย่างด้วย อย่างช่วงนี้น้ำท่วมเราก็จะคิดเรือแล้ว คิดอะไรที่มันช่วยเหลือได้ หรือช่วงนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต เราก็อยากทำอะไรสักอย่าง มันก็จะมีแรงขับจากภายนอกที่ทำให้เราอยากทำ แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่ได้มาจากกระแสแล้วกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำ แต่สิ่งของนั่นแหละมาบันดาลใจให้เราทำ เพราะเราไปเห็นของ เพราะฉะนั้นผมจะบอกว่าทุกอย่างจะมีที่มาที่ไปแตกต่างกันไป
• แล้วหัวใจสำคัญของ TAM:DA คืออะไร?
คิดว่าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนหน้าที่วัสดุคือหัวใจหลักของ TAM:DA อย่างโคมไฟ มันมาจากที่รองไหล่ในเสื้อ เราเจอที่ร้าน 20 บาท แล้วฟังก์ชั่นของมันก็คือ มันแก๊ปกับไม้แขวนเสื้อ คือคุณมีไม้แขวนเสื้ออยู่แล้ว อันนี้เขาขายเสริมถูกไหม ไปแก๊ปกับไม้แขวนเสื้อได้ทุกบ้านที่มันเป็นลวด เราก็เฮ้ย! มันเจ๋งมาก เราก็เลยเอามาทำโคมไฟที่สามารถติดที่อันนี้ (ที่รองไหล่) ได้ ประกอบได้ เราเบื่อเราก็เอามันออกสักครึ่งเดียว มันก็จะกลายเป็นรวงเหล็ก หรือจะเอาออกหมดเลยมันก็จะกลายเป็นโคมไฟโครงเหล็ก
• คนใกล้ตัวมองสิ่งที่คุณเป๋ทำว่าอย่างไร?
แรกๆ ก็ไร้สาระมากๆ (หัวเราะ) มึงบ้าเปล่าวะ อะไรอย่างนี้ แต่ทุกคนก็จะชอบครับ เพราะ TAM:DA มันมีความสนุกเป็นที่ตั้ง แล้วก็จะมีปัญญาอ่อน (หัวเราะ) คือมันจะอยู่ในพื้นฐานของความสนุกก่อน เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันจะอมยิ้มไปหมด มันก็เลยไม่ใช่แบบว่า โห! ต้องเอาพลาสติกไปบด ต้องให้ได้กี่องศา คือไม่ได้ใช่อย่างนั้น มันจะง่ายๆ แต่ก็แอบมีอะไร เหมือนมีความครีเอทีฟอยู่ข้างใน
• แล้วอะไรที่ทำให้คุณเป๋มีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น?
ผมว่ามันเป็นความขี้เกียจ (หัวเราะ) จริงๆ ความขี้เกียจทำให้มองพวกนี้ที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนเราจะเปลี่ยนช่องทีวี ทีวีสมัยนี้มีรีโมทใช่ไหม แต่สมัยก่อนมันไม่มี เรารู้สึกว่าเด็กๆ เราขี้เกียจลุกขึ้นไปกดปุ่มเปลี่ยนช่อง เราก็เอาไม้แขวนเสื้อบ้างเอาตีนแหย่บ้าง (หัวเราะ) ซึ่งก็คือคนขี้เกียจ ดังนั้นถ้า TAM:DA เป็นคน มันเปรียบเป็นคนขี้เกียจ แต่มันมีไอเดีย
‘มึงขี้เกียจ แล้วมึงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มึงต้องหาอะไรมา support ความขี้เกียจมึงด้วย’ คำนี้มีนักออกแบบคนหนึ่งเขาพูดกับผมไว้ คุณเป๋มึงคือคนขี้เกียจ เหมือนเอาความขี้เกียจมาเป็นตัวตั้งบนความสนุก แล้วมันก็เกิด product ขึ้นมา
“…การเปลี่ยนหน้าที่วัสดุคือหัวใจหลักของ TAM:DA”
• งั้นความครีเอทของคุณเป๋ เรียกว่าเป็นการมองมุมกลับได้ไหม?
เรียกว่ามองทุกมุมดีกว่าครับ เพราะมองมุมกลับ มันเป็นแค่มองตรงข้าม แต่ผมว่ามันมองทุกมุม มองภาพรวม ก่อนที่ผมจะทำอะไร ของชิ้นหนึ่งผมจะมองทุกมุม คือในแต่ละอย่างที่จะครีเอทขึ้นมา มันจะมีโจทย์ แต่ว่าไม่ใช่โจทย์ที่เราคิดเอง แต่เป็นโจทย์ที่ของมันบอกมา ความคิดก็จะมาเอง
• อุปสรรคของ TAM:DA คืออะไร?
ส่วนใหญ่อุปสรรคคือเอามาแล้วคิดว่ามันทำได้ แต่มันไม่ได้สำเร็จทุกครั้งหรอก สมมติเป็นเครื่องยนต์ มันขาดน็อตสักตัวหรืออะไรสักอย่างที่แบบว่ามันยังไม่ลงตัว ทีนี้เราจะทำชิ้นงานชิ้นนั้น จะสั่งทำเลยไม่ได้ เพราะ TAM:DA มันคือทำเล่น มันต้องแบบว่าหาของอะไรมาทดแทนที่มันใกล้ตัว แต่ถ้าเราทำไม่สำเร็จ ผมก็จะหยุดไว้เลย แต่ว่าจะใส่ถุงไว้เป็นไอเดีย มันขาดตัวเชื่อมตัวอะไร เราก็จะเขียนไว้แล้วเก็บไว้ก่อน
• แล้วความสุขของการทำ TAM:DA คืออะไร?
ก็เหมือนที่บอกไป เวลาทำ เวลามีโจทย์ให้ หรือทำเพื่อสังคมมันก็จะมีแรง ทำให้เรา เฮ้ย! ทำประโยชน์ให้คนอื่นก็ได้เว้ย อะไรอย่างนี้ หรือว่าในเพจก็จะมี inbox เข้ามา เขามีอันนี้เยอะมากเลย เราก็ช่วยเหลือบอกเขาหมดว่าสามารถเอาไปทำอะไรได้ในความคิดของเรา เหมือนช่วยคิดให้เขา
• สำหรับคุณเป๋ สิ่งที่บอกถึงความสำเร็จคืออะไร?
ไม่รู้เหมือนกันนะ คนทั่วไปคงดูยอดไลค์มั้ง แต่ผมมองว่าอันไหนที่ผมทำ อันไหนที่ผมโพสต์ที่ผมส่งออกไป นั่นแหละความสำเร็จของผมแล้ว คิดมาโอเคแล้ว พอใจกับสิ่งที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้หวังว่าของชิ้นนี้คนถูกใจเยอะ คนชอบมากอะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่ที่โพสต์ไปมันก็มีความสุข
• หากจะให้นิยามตัวเอง จะนิยามว่าอะไร?
อืม คนบ้าดีกว่า (หัวเราะ) ก็นี่แหละ TAM:DA ครับ คือทำไปเรื่อย เจออะไรก็ทำ