History of ‘หวย’ เรื่องเงินๆ ทองๆ ของคนไทย
แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปสำหรับเรื่อง ‘ใครเป็นเจ้าของหวย 30 ล้าน’ แต่หลังจากอ่านข่าวแล้วเคยเกิดความสงสัยไหมว่า “ประเทศไทยเล่นหวยตั้งแต่เมื่อไร?” แล้ว “หวยในอดีตกับหวยในปัจจุบันมีกติกาการเล่นที่ต่างกันมากไหม?” วันนี้เราจึงชวนไปหาคำตอบให้กับข้อสงสัยเหล่านี้กัน
• คำเรียกจาก “ฮวยหวย” มาเป็น “หวย” ในปัจจุบัน
เริ่มจากชื่อคำว่า “หวย” ซึ่งเป็นคำที่มาจาก “ฮวยหวย” คำภาษาจีนที่มีความหมายว่า ‘ชุมนุมดอกไม้’ จึงเดาได้ไม่ยากว่าหวยมีต้นกำเนิดมาจากจีน โดยแพร่หลายในสยามผ่านชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาอยู่เมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 3
• แต่ก่อนการเล่นหวย ไม่ได้เล่นเป็นตัวเลข แต่เล่นเป็นภาพ “ดอกไม้”
ในการเล่นฮวยหวยแบบดั้งเดิมของจีน เดิมไม่ได้ใช้ตัวเลข แต่ใช้แผ่นไม้ขนาดเล็กที่แกะภาพดอกไม้เอาไว้ (เป็นที่มาขอคำว่า ฮวยหวย ที่แปลว่าชุมชนดอกไม้นั่นเอง) ต่อมาได้เปลี่ยนจากภาพดอกไม้เป็นชื่อบุคคลสำคัญของจีนในอดีต ซึ่งเขียนเป็นภาษาจีน โดยจะใช้แผ่นป้ายเล็กๆ จำนวน 34 แผ่นป้าย ซึ่งแต่ละป้ายจะเขียนชื่อบุคคลสำคัญของจีนเอาไว้
กติกาการเล่นคือ เจ้ามือจะเลือกแผ่นป้ายชื่อ 1 แผ่นใส่ในกระบอกปิดฝามิดชิดแล้วแขวนไว้บนหลังคาโรงหวย ส่วนคนเล่นจะทายว่าชื่อในกระบอกที่ถูกเลือกนี้ เป็นชื่อของใคร ถ้าทายถูกเจ้ามือจะต้องจ่าย 30 ต่อ 1 แน่นอนว่าถ้าทายผิดเจ้ามือก็กินเรียบ ดังนั้นหากบอกว่าการเล่นฮวยหวยคือรากฐานการเล่นการพนัน ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจเถียงได้
• จากฮวยหวยของจีน ถูกแปลงให้เป็นหวยฉบับไทยไทย พร้อมตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการออกหวย’ ครั้งแรกของสยาม
ในช่วงปี 2375 หรือสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงข้าวยากหมากแพง จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นผลให้ข้าวเกิดขาดตลาดและมีราคาพุงสูง เงินตราที่เคยหมุนเวียนคล่องก็เกิดการขัดสน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เจ้าสัว ‘จีนหง’ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายอากรสุราได้เข้าเฝ้าพร้อมกราบทูลถึงสาเหตุที่ทำให้เงินในเศรษฐกิจหายไป (เพราะชาวสยามเอาเงินใส่ไหไปฝังดิน) พร้อมเสนอทางออกว่า “เปิดให้มีการเล่นหวยไหม คนจะได้เอาเงิน (ที่ฝังดินไว้) ออกมาเล่น”
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เห็นด้วย “หวยงวดแรกของไทย” จึงเกิดขึ้นในเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2375 โดยเจ้าสัวจีนหงเป็นคนแรกที่ได้สัมปทานหวย พร้อมกับรับตำแหน่งผู้อำนวยการออกหวยหรือนายอากรหวย มีชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า “ขุนบาลเบิกบุรีรัตน์” หรือที่เรียกทั่วไปว่า “ขุนบาล”
• หวยงวดแรกของสยามเป็น “หวย ก. ข.” ซึ่งออกทุกวัน
ในช่วงแรกเจ้าสัวจีนหงออกไอเดียว่า ‘ควรจะออกหวยวันละครั้งในตอนเช้า’ แต่มีการปรับเปลี่ยนการเล่นเล็กน้อย โดยเปลี่ยนแผ่นป้ายจากชื่อชาวจีนและอักษรจีน ให้เป็นตัวอักษรไทย พร้อมกำกับชื่อบุคคลสำคัญของจีนที่เขียนเป็นภาษาไทยต่อท้าย เช่น ก.สามหวย ข.ง่วยโป๊ ฯลฯ ไล่เรียงจาก ก ข ฃ ค ฅ… ไปเรื่อยๆ
ในช่วงเวลานั้นอักษรไทยที่ใช้มีทั้งหมด 34 ตัว โดยตัดอักษรไทย 8 ตัวทิ้งคือ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ และ ษ การออกหวยแบบใหม่ตามแบบฉบับไทยไทยนี้เองที่เป็นที่มาของ “หวย ก. ข.” นั่นเอง หลังจากหวยงวดแรกออก “หวย” ก็กลายเป็นรายได้สำคัญของสยามเรื่อยมา
• กติกาการเล่น ‘หวย ก. ข.’ และเงินรางวัลที่ได้เมื่อถูกหวย
กติกาการเล่นหวย ก. ข. เริ่มจากผู้เล่นต้องไปซื้อหวยจากเสมียน ซึ่งจะตั้งโต๊ะขายตามหัวมุมถนนเส้นต่างๆ โดยมี “โพย” ซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินของโรงหวยที่เสมียนออกให้เป็นหลักฐาน (‘โพย’ จะเขียนตัวอักษรที่ผู้เล่นแทง วันเดือนปีที่ซื้อ เวลาที่หวยออก และจำนวนเงินที่แทง รวมทั้งรางวัลที่จะได้รับหากถูกหวย) ผู้ซื้อจะถือปลายขั้วของโพยเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส่วนเสมียนซึ่งถือต้นขั้วโพยจะนำต้นขั้วนี้ส่งให้ขุนบาลก่อนเวลาที่หวยจะออก
เวลาหวยออกจะนำตัวหวยที่คิดไว้ก่อนแล้วใส่ถุง แล้วชักรอกแขวนให้ชาวสยามดูว่าหวยงวดนี้ออกตัวไหน คนที่ถูกหวยจะได้รางวัล 30 ต่อทุนทั้งหมด ส่วนเสมียนจะได้เงินจากการแทงหวยอีกต่อหนึ่ง
ช่วงแรกโรงหวยตั้งอยู่ใกล้สะพานหัน แล้วย้ายไปอยู่หน้าวังบูรพาภิรมย์ ซึ่งออกหวนวันละครั้งในช่วงเช้า ต่อมาก็ได้ก่อตั้งโรงหวยขึ้นอีกแห่งที่บางลำพู แต่เป็นหวยที่ออกตอนค่ำวันละครั้ง ทำให้สมัยนั้นมีการหวย 2 โรง เรียกว่าโรงเช้าและโรงค่ำ ไม่เพียงในพระนครที่มีการเล่นหวย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีผู้มาขอผูกอากรหวย โดยออกไปตั้งที่อยุธยาและเพชรบุรี แต่ทั้ง 2 จังหวัดก็ถูกสั่งให้ยกเลือกโรงหวย เพราะยิ่งเล่นประชาชนยิ่งจน
• ยกเลิกหวย ก. ข. แล้วหันมาเล่น ‘ลอตเตอรี่’
เมื่อหวยกลายเป็นรายได้หลักของสยาม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริจะเลิกอากรหวย แต่ก็เกรงว่าจะหารายได้แผ่นดินมาชดเชยไม่ทัน จึงเปลี่ยนจากการยกเลิกมาเป็นลดจำนวนโรงหวยลง รวมทั้งลดเบี้ยให้น้อยลงตามไปด้วย
ในรัชสมัยเดียวกันได้มีการเปลี่ยนการเล่นหวย ก. ข. เป็นการออกหวยโดยใช้เลขท้ายของ “ลอตเตอรี่” แทน โดยในปี พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย ในพระบรมมหาราชวัง หลังจากนั้นก็มีการออกลอตเตอรี่ในวาระพิเศษอีกหลายครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบำรุงสาธารณกุศล ส่วนที่มาของลอตเตอรี่มาจากชาวอังกฤษ “ครูอาล บาสเตอร์” เป็นผู้นำไอเดียการออกรางวัลสลากแบบยุโรปหรือลอตเตอรี่มาเผยแพร่
แม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมีลอตเตอรี่เกิดขึ้น แต่หวย ก. ข. ถูกยกเลิกอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 6 แม้ทางการจะประกาศยกเลิกหวย ก. ข. อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 แต่การแอบเล่นหวยก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเรียก ‘หวยใต้ดิน’
• ลอตเตอรี่รุ่นแรกของไทย และพัฒนาของ ‘ลอตเตอรี่’ กับดีไซน์ที่เดินทางมายาวไกล
ลอตเตอรี่รุ่นแรกของไทยกลับเป็น “ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” โดยออกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2466 โดยมีจุดประสงค์เพื่อหารายได้บำรุงกองเสือป่าอาสาสมัคร ตีพิมพ์จำนวน 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1
ส่วนวิธีการประกาศ ‘เลขที่ออก’ ในสมัยนั้น ใช้วิธีการนำเลขที่ออกรางวัลไปใส่กล่องทึบแล้วใส่ในไหอีกที โดยตั้งเรียงลำดับจากหลักหน่วย ร้อย พัน หมื่น และแสน ซึ่งก่อนประกาศเลขรางวัล กรรมการจะจับฉลากเพื่อประกาศว่าครั้งนี้จะออกรางวัลที่เท่าไร แล้วจึงให้กรรมการคนอื่นล้วงตลับที่ใส่หมายเลขเอาไว้ออกมาเปิดจนครบทุกรางวัล ก็เป็นอันจบการออกรางวัลฉลากนั้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐบาลมีนโยบายลดเงินรัชชูปการ*** ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ไป จึงให้มีการออกลอตเตอรี่รัฐบาลเป็นประจำขึ้นมาทดแทน โดยเรียกว่า “ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม” ในสมัยนั้นมีการพิมพ์ออกมาขายจำนวน 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท ปีละ 4 งวด และเมื่อต้นปี พ.ศ. 2538 ได้มีการรวมสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลเข้าด้วยกัน และกำหนดให้ออกลอตเตอรี่เดือนละ 2 ครั้งจนถึงปัจจุบันและ “ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม” จึงกลายเป็นลอตเตอรี่รุ่นที่ 2 ของไทย
***NOTE: เงินรัชชูปการ คือ “เงินส่วยที่เก็บจากไพร่ส่วย” หรือเรียกง่ายๆ ว่าเงินส่วยที่เก็บจากผู้ชายไทยที่ไม่ต้องการรับราชการทหาร
โดยปกติในช่วงบ้านเมืองสงบ ผู้ชายไทยทุกคนที่สังกัดมูลนายที่เรียกว่า ‘ไพร่หลวง’ จะทำหน้าที่รับราชการ โดยมีหน้าที่เข้ารับราชการปีละ 6 เดือน (ในสมัยต่อๆ มามีการลดจำนวนเดือนลง) แต่ชายไทยที่ไม่ต้องการเข้าเกณฑ์แรงงาน สามารถหาสิ่งของหรือเงินมาทดแทนได้ โดยผู้ที่ใช้เงินหรือสิ่งของมาแทนแรงงาน เรียกว่า “ไพร่ส่วย” นั่นเอง
• ลอตเตอรี่รุ่นพิเศษ “สลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล” และ “หวยบนดิน”
นอกจากลอตเตอรี่ ‘ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท’ และ ‘ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม’ แล้ว ในปีพ.ศ. 2477 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ของไทยยังเคยออก “สลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล” ขึ้นมาอีกด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออก ซึ่งสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาลนี้มีการกำหนดว่า หากเดือนไหนที่มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว เดือนนั้นให้งดขายสลากกินแบ่งเทศบาล โดยงวดแรกเปิดขายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 พิมพ์จำนวน 500,000 ฉบับ ฉบับละ 1 บาท หลังจากนั้นก็มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลควบคู่กับสลากบำรุงเทศบาลเรื่อยมา
ส่วน “สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว” หรือที่รู้จักในชื่อ ‘หวยบนดิน’ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบายปราบปรามเจ้ามือหวยใต้ดิน แต่ติดปัญหาที่คนไทยนิยมเล่นหวยใต้ดินกันมาก คณะรัฐบาลจึงมีมติเปลี่ยน ‘หวยใต้ดิน’ เป็น ‘หวยบนดิน’ ที่ถูกกฎหมาย โดยมีรัฐบาลทำหน้าที่เป็นเจ้ามือ และมีการจำหน่าย 80 งวดด้วยกัน ตั้งแต่งวดแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 จนถึงวงดวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ก่อนที่จะถูกยกเลิกไปในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 โดยคณะมนตรีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
• โฆษณาที่เชิญชวนให้คนไทยหันมาซื้อสลากกินแบ่ง
ในปี 2538 หลังจากที่มีการสถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว ก็ได้ทำสื่อโฆษณาเพื่อเชิญชวนประชาชนไทยหันมาซื้อสลากกินแบ่ง โดยมีคำโฆษณาว่า “วันนี้ ส่วนหนึ่งของการออกรางวัลทุกวงล้อที่หมุน คือ คุณภาพชีวิตที่คืนสู่สังคมไทย” พร้อมภาพโฆษณาในโทรทัศน์เป็นภาพคนพิการ เด็กด้อยโอกาส และคนชรา
• มีหวยถูกกฎหมาย ก็ต้องมีหวยผิดกฎหมาย
อีกหนึ่งหวยที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ “หวยใต้ดิน” ซึ่งเป็นหวยที่เกิดจากคนในชุมชนตั้งขึ้นเอาเองและรัฐบาลกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของหวยใต้ดินคงเริ่มมาจากช่วงเวลา พ.ศ. 2459 สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีประกาศยกเลิกหวย ก. ข. แล้วมาขายลอตเตอรี่แทน แต่เพราะลอตเตอรี่มีราคาแพง ประชาชนที่มีเงินไม่มากจึงหันไปจับเล่นกันเอง จนกลายเป็นหวยใต้ดินจนถึงปัจจุบัน
การเล่นหวยใต้ดินมีความคล้ายกับหวย ก. ข. ซึ่งหวยใต้ดินจะเล่นแบบ 2-3 ตัว โดยเจ้ามือจะเขียนเลขในกระดาษโพยที่ระบุตัวเลขที่ซื้อ พร้อมราคา ส่วนการออกรางวัลจะยึดเลขท้ายชองสลากกินแบ่งรัฐบาล แน่นอนว่าหากถูกรางวัน เจ้ามือหวยจะเป็นคนจ่ายเงินรางวัลให้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราที่ใกล้เคียงกัน
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า “หวย” เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหว เห็นได้จากจุดเริ่มต้นที่มีการเล่นหวย ก. ข. เพื่อผลักดันให้ชาวสยามเอาเงินที่ฝั่งดินไว้ออกมาใช้ ต่อมารัฐบาลก็ออกสลากกินแบ่ง เพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นทุนในการพัฒนาบ้านเมือง จึงไม่แปลกหากเรื่องเงินๆ ทองๆ จะกลายเป็นประเด็นร้อนเสมอเมื่อเกิดข้อพิพาท
อ้างอิงข้อมูลจาก:
• http://ruaiduailek.blogspot.com/2012/08/blog-post.html
• https://www.lottery.co.th/article/history
• https://th.wikipedia.org/wiki/หวยในประเทศไทย