ครบรอบ 10 ปีของการเกิด #hashtag
กับ 9 คำที่ทรงอิทธิพลในการเปลี่ยนโลกทวิตเตอร์
ครบรอบ 10 ปีของการเกิดแฮชแท็กทั้งที เราก็ชวนคุณไปดู 9 แฮชแท็กที่มีอิทธิพล แม้อาจจะไม่ใช่แฮชแท็กยอดฮิตที่มีการใช้มากที่สุด แต่ก็เป็นคำที่ส่งผลกระทบและเป็นกระแสที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกออนไลน์ในทวิตเตอร์ได้เลย
วันที่ 23 สิงหาคม 2007 ถือเป็นวันที่มีการใช้ #hashtag เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการบนทวิตเตอร์ของ Chris Messina ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสังคมออนไลน์ในขณะนั้น (ขณะนั้นมีผู้ใช้ทวิตเตอร์เพียง 1,186 แอคเคาท์เท่านั้น) โดยเขาได้โพสต์ข้อความพร้อมกับติดแฮชแท็กเป็นประโยคชวนให้คนที่มาจัดกลุ่มข้อความ ซึ่งคำแรกที่เขาติดแฮชแท็กคือ “#barcamp” หลังจากนั้นเป็นต้นมาผู้คนก็เริ่มทยอยใช้ #hashtag กันมากขึ้นเรื่อยมา พร้อมทั้งขยายไปยังสังคมออนไลน์อื่นๆ ทั้ง Facebook และ Instagram
ดังนั้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2017 ที่ผ่านมาจึงเป็นวันครบรอบ 10 ปีของการเกิด #hashtag เราจึงอยากชวนคุณไปดูคำฮิตและทรงอิทธิพลตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาว่ามีคำใดบ้าง
#BlackLivesMatter
คำนี้เป็นแฮชแท็กที่ได้รับเลือกให้เป็น Words of the Year 2014 มีความหมายว่า ‘ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย’ คำคำนี้เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของคนผิวดำในปี 2012 หลังจาก George Zimmerman พ้นข้อหาฆาตกรรมวัยรุ่น Trayvon Martin ในฟลอริดา
ไม่เพียงแต่เป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเท่านั้น แต่คำนี้ยังหมายรวมถึงความไม่เสมอภาคที่คนผิวดำได้รับ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล รวมทั้งคนทั้งโลกมองเห็นความไม่ยุติธรรมและการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคม โดยขณะนั้นก็มีคำว่า #AllLivesMatter โต้ตอบกลับ
#ArabSpring
แฮชแท็กนี้เป็นคำที่สะท้อนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในตะวันออกกลางในปี 2011 ซึ่งเหมือนการประท้วงผ่านสังคมออนไลน์หลายพันทวิต เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นเป็นการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ และการใช้แฮชแท็กนี้ก็เป็นแรงผลักดันให้เหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนั้นเป็นที่ยอมรับให้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อสังคม
#IceBucketChallenge
เป็นเคมเปญระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2014 โดยรณรงค์ให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวและระวังโรคนี้ซึ่งเกิดจากเซลล์ปราสามสั่งการเสื่อม โดยมี Pete Frates อดีตนักกีฬาเบสบอลระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งป่วยเป็นโรคนี้ได้เป็นคนจุดประกายแคมเปญนี้ขึ้นมา แต่สิ่งที่ทำให้คำนี้โด่งดังขึ้นมา เพราะมีคนดังและนักแสดงระดับฮอลลีวูดหลายคนเข้ารวมแคมเปญนี้ด้วย ทำให้คำนี้แพร่หลายไปทั่วโลก
#LoveWins
เป็นคำที่ประกาศถึงชัยชนะทางกฎหมายที่ให้คู่รักเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกาสามารถแต่งงานกันได้ (กฎหมาย LGBT : Lesbian-Gay-Bisexual-Transgender) ซึ่งมีผลให้ใช้ได้ทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2015 โดยการเฉลิมฉลองชัยชนะในครั้งนี้ไม่เพียงแต่การแสดงออกผ่านแฮชแท็กคำนี้เท่านั้น แต่ผู้คนบนโลกออนไลน์ทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไปที่สนับสนุนกฏหมายนี้ยังพร้อมใจกันใช้สัญลักษณ์/รูปถ่ายที่มี ‘สีรุ้ง’ กันอีกด้วย
#DogsAtPollingStations
แฮชแท็กนี้ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเป็นคำที่เกิดขึ้นในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ส่งความน่ารักด้วยการโพสต์ภาพน้องหมาและสัตว์เลี้ยงที่นั่งรอเจ้าของหน้าคูหา เพื่อเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยมีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งอักฤษ ซึ่งแฮชแท็กคำนี้ถือได้ว่าเป็นเคมเปญน่ารักๆ ระหว่างการเลือกตั้งที่ชวนอมยิ้ม
#PorteOuverte
แฮชแท็กนี้มีความหมายว่า ‘เปิดประตู’ ซึ่งสื่อถึงความมีน้ำใจของชาวปารีสที่พร้อมจะต้อนรับผู้ประสบภัยจากเหตุผู้ก่อการร้ายโจมตีกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2015 โดยชาวปารีสที่มีเจตจำนงจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้มาพักพิงและหลบภัยในบ้านจะติดแฮชแท็กนี้บนสังคอมออนไลน์ของตัวเอง ขณะที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือก็จะพิมพ์แฮชแท็กนี้เช่นกัน จนแฮชแท็กกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของชาวปารีส
#BringBackOurGirls
แฮชแท็กที่แสดงออกถึงการต่อต้านการลักพาตัวเด็กผู้หญิงชาวไนจีเรียจากกลุ่มโบโกฮารัม ซึ่งมีเหล่าคนดังมากมายออกมาชูป้ายที่เขียนคำนี้พร้อมติดแฮชแท็กเพื่อแสดงการต่อต้านและเรียกร้องให้ผู้นำจากทั่วโลกให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็รมิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่ง ณ ขณะนั้น, เอมม่า วัตสัน, คารา เดเลวีน ฯลฯ โดยเหตุการณ์ลักพาตัวเด็กหญิงสาวไนจีเรียกว่า 200 คนเกิดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน 2014 ส่วนแฮชแท็กนี้เกิดขึ้นในอีก 9 วันต่อมา (23 เมษายน) จากอิบราฮัม อับดุลลาฮี ทนายความชาวไนจีเรีย
#ff
แฮชแท็กนี้มาจากคำว่า ‘Follow Friday’ ซึ่งเป็นวลีใหม่ที่เปรียบเสมือนเครื่องมือทางสังคมให้เราแนะนำทวิตเตอร์แอคเค้าท์ที่น่าสนใจกับคนอื่นๆ บนโลกออนไลน์ได้ไปติดตาม โดยแฮชแท็กนี้เริ่มขึ้นในปี 2009 ซึ่งส่วนใหญ่เราจะพบแฮชแท็กนี้ในวันศุกร์ตามชื่อเต็มของคำนี้
#RiotCleanUp
แฮชแท็กที่แสดงถึงพลังการต่อต้านเหตุจลาจลครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในอังกฤษเมื่อปี 2011 โดยมีกลุ่มคนเข้าปล้นระดมร้านค้า ทำลายทรัพย์สิน และทำร้ายร่างกายของประชาชนและเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย จนเดวิด คาเมรอน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องวางยุทธวิธีปราบจลาจล ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ไม่เห็นด้วยกับก่อจลาจลในครั้งนี้ โดยลุดขึ้นมาแสดงพลังต่อต้านด้วยแฮชแท็กนี้นั่นเอง
ข้อมูลและการจัดลำดับจาก www.independent.co.uk
SEE MORE…
http://www.favforward.com/33657/lifestyle/howto/social-media-crimes/