ทำสิ่งที่รักควบคู่กับการทำธุรกิจ ‘Designer Toys’ ผ่านการพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ Skullpuppet

ทำสิ่งที่รักบนเส้นทางธุรกิจ ‘Designer Toys’
ผ่านการพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ Skullpuppet

คุณรู้จัก ‘Designer Toys’ มากแค่ไหน? หลายคนอาจไม่เคยรู้จักของเล่นประเภทนี้เลยด้วยซ้ำ นั่นเพราะตลาดในเมืองไทย Designer Toys เพิ่งจะเริ่มต้น หากเทียบคงอยู่ในช่วงวัยเด็ก

แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ Designer Toys กลับซ่อนสิ่งที่น่าสนใจหลายๆ ด้านเอาไว้ วันนี้เราเลยจะชวนคุณไปรู้จัก Designer Toys ผ่านการพูดคุยกับ “คุณโจอี้ – ณัฐยุทธ์ ธัญลักษณ์ภาคย์ ” เจ้าของแบรนด์ Skullpuppet ที่เพิ่งปล่อยผลงานตัวล่าสุด ‘อสุระ’ ให้นักสะสมได้ตามเก็บ

“Designer Toys เป็นของสะสมชนิดหนึ่ง มันคืองานอดิเรกครับ อย่างผู้ใหญ่เขาเก็บพระ นี่ก็เหมือนงานอดิเรกแขนงหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราเก็บเป็นของเล่น แล้วของเล่นที่เราเก็บก็เหมือนของสะสมอย่างอื่น อย่างพระก็มีราคาขึ้น ของเล่นก็มีราคาขึ้นราคาลงเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกอะไร”

• นิยาม Designer Toys ให้เข้าใจตรงกัน?

ดีไซเนอร์ทอยส์เป็นชื่อเรียกของเล่นชนิดหนึ่ง อย่างอุลตร้าแมนจะมีการ์ตูนและมี Story รองรับใช่ไหมครับ แต่ถ้าเป็นดีไซเนอร์ทอยส์จะไม่เหมือนกัน พวกนี้จะเป็นของเล่นที่ศิลปินคิดขึ้นมาเอง ดีไซน์ออกมาเอง แล้วทำจำนวนน้อยๆ Story ก็อาจจะมีสั้นๆ แบบพารากราฟเดียว เป็นหัวเรื่องว่าคาแรคเตอร์นี้ชื่ออะไร นิสัยเป็นยังไง ทำอะไร แค่นั้นพอแล้ว ไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง ให้คนไปเล่นกันเองได้

ถ้าให้นิยามต้องบอกว่า ดีไซเนอร์ทอยส์เป็นของสะสมชนิดหนึ่ง มันคืองานอดิเรกครับ อย่างผู้ใหญ่เขาเก็บพระ นี่ก็เหมือนงานอดิเรกแขนงหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราเก็บเป็นของเล่น แล้วของเล่นที่เราเก็บก็เหมือนของสะสมอย่างอื่น อย่างพระก็มีราคาขึ้น ของเล่นก็มีราคาขึ้นราคาลงเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกอะไร

• แสดงว่า Designer Toys กับตัวการ์ตูนทั่วไปแตกต่างกัน?

ต่างกันครับ คือดีไซเนอร์ทอยส์เป็นของที่ศิลปินทำขึ้นมาเองว่าเขาต้องการสื่ออะไรออกมาในงาน ทำเป็นของเล่นกับของตั้งโชว์ตัวเล็กๆ ขึ้นมา ไม่ต้องมี Story ไม่ต้องมีเรื่องราวเยอะ ให้คนจินตนาการกันได้เอง

• จุดเด่นของงานดีไซเนอร์ทอยส์คืออะไร?

ไม่ซ้ำใคร เป็นคาแรคเตอร์ของเราเลย ถ้าเกิดเขาชอบคาแรคเตอร์ที่เราทำมา เขาไม่สามารถหาซื้อที่อื่นได้ เขาต้องซื้อของเราที่เดียว มันมีข้อจำกัด เพราะดีไซเนอร์ทอยส์ส่วนมาก ศิลปินทำเอง ก็ทำจำนวนไม่เยอะ ราคาก็จะสูงขึ้นมาหน่อย เพราะว่าเขาทำเอง อย่างมากเต็มที่ก็ 50 ตัว

จุดเด่นของดีไซเนอร์ทอยส์คือจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย แต่ถ้าเกิดอยากได้ ศิลปินอาจทำเป็นสีอื่นขึ้นมา อย่างสีดำหมด มีสีแดงขึ้นมา เป็นคาแรคเตอร์เดิม แต่เปลี่ยนสี จะเป็นแบบนั้นมากกว่า เพราะเปลี่ยนสีความรู้สึกก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเหมือนงานอาร์ตอีกแบบหนึ่ง

“ซอมบี้” Designer Toys ตัวแรกที่คุณโจอี้วางขาย

• สิ่งที่ยากที่สุดของการทำดีไซเนอร์ทอยส์คืออะไร?

ยากสุดคือการคิดว่าจะทำอะไร ยากมากๆ ถ้าเกิดอยากเริ่มจริงๆ แนะนำให้ดูงานในตลาดก่อนว่าเป็นยังไง งานแนวไหนที่เขาทำกัน อยู่ๆ มานั่งนึกเอง เรานึกไม่ออกหรอก เช่น อยากทำกระต่าย กระต่ายเราหน้าตาจะเป็นยังไง จะนึกไม่ออก เราต้องไปดูตลาด หรือเสิร์ชคำว่าการ์ตูนแรบบิท อะไรก็ได้ครับ พอเราเห็นรูปเยอะๆ แล้ว เราจะตกผลึก จับนู้นมานี่หน่อย เราจะเอาตรงนี้เด่นอย่างนี้นะ ตรงนี้น่าสนใจ เราก็จับมาทำ มา Adept ในงานของเราได้ เหมือนสะสมไอเดีย แต่ว่าอยากลอกเขานะ มันไม่ดี

สิ่งที่ยากอีกอย่างคือ ทำยังไงให้ขายได้ การคิดก็เป็นส่วนหนึ่ง คือเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เราออกแบบ เราทำมานี้ มันจะขายได้หรือเปล่า ผมก็ใช้วิธีแบบลองสเกตซ์มาก่อน แล้วไปถามเพื่อนว่าตัวนี้โอเคไหม เพราะถ้าเราดูงานเราเอง งานเราดีอยู่แล้ว แต่ต้องถามความเห็นชาวบ้านด้วย อย่างผมมีเพื่อนเป็นนักสะสม ก็ถามว่าตัวนี้โอเคไหม ถ้าไม่โอเคมีอะไรแนะนำเปล่า ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ

• แล้วตัวแรกที่คุณโจอี้ปั้นคือตัวไหน?

คือตัวแรกที่ปั้น เพื่อสนองนีสตัวเอง อยากปั้นหุ่นอุลตร้าแมน ปั้นฮีโร่ เลยปั้นขึ้นมาเล่น ตัวแรกที่ปั้นใช้มือปั้นครับ เป็นดินโพลิเมอร์ เนื้อเหมือนดินน้ำมัน แต่เวลาจะทำให้แข็ง ต้องเอาไปเข้าไปอบความร้อนถึงจะแข็งเป็นพลาสติก

ส่วนตัวที่ปั้นขายคือซอมบี้ครับ เอามาจากคาแรคเตอร์มาจากดีไซเนอร์ทอยส์อีกแบรนด์หนึ่ง แล้วมาปั้นเป็นดีไซเนอร์ทอยส์ของตัวเอง ทำออกมาประมาณ 20 ตัว ก็ขายหมด

• งานของคุณโจอี้เป็นสไตล์ไหน?

ตอนแรกก็อยากให้น่ารักๆ หน่อย แต่ไม่อยากให้น่ารักมาก อยากให้น่ากลัวด้วย อย่าง Skull puppet คอนเซ็ปต์ตัวนี้เป็นผี เป็นวิญญาณเด็กๆ ที่อยากมีเพื่อน แล้วพอเป็นผีมันก็น่ากลัว ก็เลยจับมาใส่ชุดมาสคอต เพื่อให้ดูน่ารักขึ้น ให้ดูซอฟต์ขึ้น

เพราะอย่างกระต่ายมันน่ารัก แบ๊วหมดเลย มันไม่ Unique ก็เลยอยากหาที่มันไม่เหมือนชาวบ้านเขา การออกแบบถ้าเกิดตัน เราไม่อยากซ้ำใคร เราพยายามจับหลายๆ อย่างมาผสมกันก็ได้ อย่าผีกับกระต่ายอย่างนี้ ลองหาหลายๆ อย่างมาผสมกัน เป็นตัวใหม่ก็ได้ ก็มีศิลปินญี่ปุ่นเอานกกับปลามาผสมกันเหมือนกัน

• ‘อสุระ’ วางคอนเซ็ปต์ไว้อย่างไร

คอนเซ็ปต์ตอนแรกเลย อยากได้ยักษ์ตัวเด็กๆ น่ารัก กวนๆ ใส่ผ้าอ้อม แล้วพอทำมาแล้วรู้สึกมันธรรมดาเกินไป ยังไม่มีจุดเด่น ก็เลยดีไซน์เป็นหน้ากากขึ้นมา พอให้ใส่หน้ากากก็มีปัญหาเรื่องการยึดกับหู ยึดกับอะไรดี ก็เลยต่อยอดเป็นหัวโขน เป็นหน้ากากสวมลงไป ใส่ความเป็นไทยลงไปในงานด้วย เป็นสากลด้วย ถ้าเกิดอยากได้เฉพาะตัวข้างใน ก็เอาตัวข้างในไปเล่น อยากได้ไทยก็ใส่หน้ากากเข้าไป

• เคยถูกหาว่าก็อปปี้งานคนอื่นมาไหม อย่างตัวอสุระ?

ตอนที่ผมทำออกมา ก็มีคนทำยักษ์ออกมา มี 4 แขนเหมือนกัน เพื่อนก็ถามว่า มึงไปก็อปเขามาหรือเปล่า มึงจะบ้าหรอ เราทำไวนิล ไวนิลมันวางแผนมาครึ่งปีแล้ว งานเพิ่งออกมา มันจะก็อปกันได้ยังไง เพราะคาแรคเตอร์ดีไซน์ มันซ้ำกันได้อยู่แล้ว อย่าง 4 แขนคนก็ใช้กันทั่วไป ยักษ์คนก็ใช้กันทั่วไป

แต่ยักษ์ของผม ผมไม่บอกว่าเป็นทศกัณฐ์ คนอื่นเขาทำทศกัณฐ์ แต่ว่ายักษ์ของเราไม่ใช่ทศกัณฐ์นะ ไม่มี 10 หน้า เราหน้าเดียวด้วยแหละ ชฎาก็ไม่ใส่ แต่ใส่จุกให้ดูเป็นไทย

เพราะข้อด้อยของศิลปินไทยคือ ถ้าเป็นยักษ์ ก็จะมาเป็นยักษ์เต็มๆ ไม่ดัดแปลงเลย ยักษ์คือยักษ์ คือทศกัณฐ์เลย คือยกมาทั้งอย่างนั้นเลย แล้วทุกคนจะเป็นแบบนี้หมด มันก็เลยไม่ Unique ไม่เด่นขึ้นมา

• แสดงว่าสิ่งสำคัญนอกจากไอเดียว่าจะทำอะไรแล้ว คือเราต้องสร้างความแตกต่าง?

ใช่ครับ ทำยังไงให้มันแตกต่างได้ Adapt ยังไงมากกว่า ตัดทอนยังไงให้ไม่เหมือนชาวบ้านเขา ยักษ์ไทยไม่มีเขา เราก็มาใส่เขาขึ้นมาเลย คือคนไทย ถ้าเกิดทศกัณฐ์ขายได้ มันก็เฮโลทศกัณฐ์หมด หนุมานก็หนุมานหมด มันก็เหมือนกันทั้งตลาด มันไม่ Unique ขึ้นมา ทำยังไงให้งานเราเด่นกว่าชาวบ้านเขา ไม่เหมือนเขา อย่างนั้นมากกว่า แต่ถ้าเกิดได้คอนเซ็ปต์แล้ว ทุกอย่างก็ไม่ยากแล้ว ต้องดูด้วยว่าเราอยากทำอะไรก่อน

สมมติเราอยากทำสัตว์ประหลาด อยากได้ลิงปนกับช้าง ต้องดูองค์ประกอบว่าเอามาผสมยังไงได้บ้าง แล้วค่อยดูตลาดว่า ตลาดเขาทำยังไง แล้วค่อยเริ่มดีไซน์ เพราะเรามีคอนเซ็ปต์มาครอบ ดีไซน์จะไม่ยากแล้ว

ที่มันยากจริงๆ เราจะทำอะไรขาย อย่างเป็นยักษ์ เราจะเริ่มยังไง เราก็บอกไม่ได้ ยักษ์ยังไงให้ไม่เหมือนชาวบ้านเขา ทุกคนเป็นยักษ์หมด เป็นยักษ์ในแบบของเราเป็นยังไง เราไปดูตลาด เขาเป็นยังไง อันไหนที่ไม่มีทำ เราสามารถจับมันมาได้ มาเล่นได้บ้าง อย่างยักษ์ไทยมีทศกัณฐ์ ยักษ์วัดโพธิ์ อยู่ตามฝาผนังอะไรพวกนี้ แล้วเราค่อยมาตกผลึกมาตัดทอนอีกทีหนึ่ง

• แล้วคิดว่าจุดเด่นของผลงานเราคืออะไร?

ผมก็พยายามหา แต่อยากได้ความเป็นไทยด้วย แต่ก็อยากได้สากลด้วย ก็เลยคิดว่ามีอะไรที่เขาไม่เล่นบ้าง มีอะไรที่เขาไม่เคยเล่นมาก่อน อย่างหน้ากากจะเป็นแบบสวมเยอะแล้ว เมืองนอกก็มีทำไวนิลหน้ากาก แต่ว่าเขามียักษ์ของเขาเอง แต่ยักษ์ไทย เป็นหัวโขนยังไม่มีใครทำ ก็เลยเอามาเป็นกิมมิกใส่งานเราก่อน

คือหน้ากากอสุระมีแรงบันดาลใจมาจากหัวโขน แล้วอีกอย่างคอนเซ็ปต์มันเป็นปีศาจเด็ก ที่อยากน่าเกรงขาม รู้สึกว่าตัวเองโตแล้ว เลยเอาหน้ากากมาสวมเล่น จะได้ดูน่าเกรงขามขึ้น

• ไม่กลัวถูกมองว่าไร้สาระหรอ?

ก็มีคนมองอยู่ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะในเมืองไทยตอนนี้มันยังเป็นเฉพาะทางอยู่ มันเฉพาะทางกลุ่มหนึ่ง แต่ว่ามันเริ่มขยายขึ้น เพราะว่ามีการจัด Thailand Toy Expo ตลาดก็ขยายขึ้นมา คนเดินผ่านไปผ่านมาเห็นก็น่าสนใจ พอเขาสนใจเขาก็หาข้อมูล เขาก็รู้ว่าเมืองนอกเขาเล่นกัน มันสามารถทำเงินได้นะ มันเป็นตลาดอีกตลาดหนึ่งเลยนะ เป็นช่องทางทำมาหากินได้ คนก็เริ่มเข้ามาเยอะขึ้น

“ความยากคือจะอิงตลาดยังไงไม่ให้เสียความเป็นตัวตนของเราเอง”

• เล่าประสบการณ์ประทับใจเกี่ยวกับดีไซเนอร์ทอยส์ให้ฟังหน่อย?

ถ้าประสบการณ์แฮปปี้ คงเป็นตัวแรกที่ขายได้ คือแบบทำมาแล้วขายหมด ทำมาประมาณ 20 ตัว แล้วขายหมด แล้วตอนนั้นขายตัว 450 บาทเอง ซึ่งตัวนี้ขายที่ Toy Expo ปีแรก แล้วเราเปิดให้สั่งกันหน้าเพจ มันก็เหมือนว่า เราทำได้นะ มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ทำตัวต่อๆ ไป

• แล้วมีช่วงที่รู้สึกเฟลบ้างไหม?

มีครับ บางตัวทำแล้วขายไม่ได้ก็มี มีตัวหนึ่งที่ผมแค่อยากทำเลย เราก็ทำประมาณ 10-20 ตัวก่อน แล้วเอาไปวาง ขายได้ 2-3 ตัว เรารู้แล้วว่าอันนี้ไม่โอเค มีเฟลอยู่เหมือนกัน แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ลงทุนมาก เลยทำตัวอื่นต่อได้

คือถ้าตัวศิลปินจริงๆ ที่ไม่แคร์ตลาดก็มีอยู่ แต่เราอยากขายได้ด้วย อยากเป็นที่รู้จักด้วยครับ แต่ความยากคือจะอิงตลาดยังไงไม่ให้เสียความเป็นตัวตนของเราเอง

• แล้วมีเคล็ดลับในเรื่องนี้ไหม?

ผมก็จะมาดูก่อนว่าอยากทำอะไร คอนเซ็ตป์คืออะไร สมมติว่าเราอยากทำยักษ์น่ารัก เราก็ไปไล่ดูเลยว่ายักษ์ไทยเป็นยังไง ยักษ์เมืองนอกเป็นยังไง แล้วมาตกผลึกความคิดเราเอง แล้วค่อยสเกตซ์ออกมาว่าอยากได้ยักษ์แบบไหน

• ในบรรดาดีไซเนอร์ทอยส์ที่ทำขึ้นมาทั้งหมด ภูมิใจตัวไหนมากที่สุด

ก็คงต้องเป็นอสุระนี่แหละ เพราะว่าคนทำทอยส์ ทุกคนจะเริ่มจากเรซิ่นก่อน ทุกคนจะมีความฝันว่าอยากทำไวนิล เพราะไวนิลมันจะหมายถึงว่า มันเริ่ม Mass มันเริ่มมีคนรู้จักแล้ว เรากำลังก้าวไปอีกหนึ่งสเต็ปของคนทำของเล่นแล้ว อสุระเลยเป็นลูกรัก

• เราต้องก้าวมาถึงจุดไหน ถึงตัดสินใจทำไวนิลทอยส์?

ทำแล้วเก็บทุนไปเรื่อยๆ ถ้ามีเงินทุนพอ เราก็เริ่มไวนิลทอยส์ได้ อยู่ๆ อยากทำไวนิลเลย มันก็ได้ เพียงแต่ว่ามันจะเสี่ยงกว่า ถ้าเกิดคุณมีเงิน คุณเปย์ไปเลยก็ได้ แต่ถ้าอยากค่อยๆ โต ก็เริ่มจากเรซินก่อนดีกว่า ไม่เจ็บตัว

• วางเส้นชัยให้ Skullpuppet ว่าอะไร

อยากให้งานขายได้ แล้วเป็นที่รู้จัก ตอนนี้ก็ยังทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอยู่ เริ่มออกไปต่างประเทศบ้างแล้ว คือที่รู้จักไม่ใช่แค่ในตลาดไทย แต่หมายถึงงตลาดเมืองนอกด้วย

แต่ถ้าถามถึงแผนงานจริงๆ จังๆ ต้องบอกว่าไม่ได้วางแผนไว้เลย ถ้ายังไหวก็อยากให้โตไปเรื่อยๆ อยากรู้ว่า เราจะโตได้แค่ไหนเหมือนกัน ในเมื่อเราก็เริ่มเปิดตัวออกมาแล้ว เริ่มเห็นช่องทางแล้ว แต่ไม่ต้องใจร้อนนะครับ ถ้าเกิดงานเราดีจริง เดียวช่องทางจะเข้ามาหาเราเอง เหมือนทำงานของเราให้ดีก่อน โฟกัสกับงานของเราให้ดีก่อน แล้วถ้าคนเห็น คนชอบเดี๋ยวตลาดจะมาเอง

• ในเมืองไทยเขาซื้อขายดีไซเนอร์ทอยส์กันที่ไหน

ส่วนมากพวกนี้ขายกันในเน็ต ถ้ามีหน้าร้านเราก็ฝากหน้าร้านขายได้ แล้วก็หักเปอร์เซ็นต์ตามแต่ตกลง แต่ถ้าเกิดศิลปินขายเอง เขาจะขายในเน็ต ตาม IG แล้วมีการขายแบบล็อตโต (Lotto) จับฉลาก แต่ไม่การันตีว่าจะได้นะ คือเหมือนไปจับฉลากอีกทีว่าใครได้สิทธิซื้อบ้าง ซึ่งมีดีเทลยิบย่อยเยอะมาก

สำหรับของผม ผมจะทำสีให้เสร็จก่อนแล้วค่อยประกาศลงขาย ไม่ได้เป็นระบบพรีออร์เดอร์ แต่ผมจะทำให้เสร็จก่อนแล้วขายเป็นล็อตๆ ไป สีละประมาณ 30 ตัว แล้วประกาศขายแบบล็อตโตนะ ให้คนส่งเมล์เข้ามา ถ้าเกิดได้ไม่ครบจำนวนที่กำหนด ทุกคนก็ได้หมด แต่ถ้าเกิดคนอยากได้มันเกิน เรามี 20 ตัว คนส่งมา 40 อย่างนี้ เราก็จะสุ่มจับฉลากว่าใครได้สิทธิซื้อ ก็เป็นการตลาดที่สนุกๆ อย่างหนึ่ง เป็นกิมมิกอย่างหนึ่งที่ทำให้ดูแบบได้มายากหน่อย จำนวนจำกัดด้วย แต่ถ้าเกิดใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน คนมาทีหลังก็จะไม่ได้ ถ้าเราจับฉลาก ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด

“ลูกค้าส่วนมาก แค่เห็นชอบแล้วซื้อ ดังนั้นทำไงก็ได้ให้ลูกค้าเห็นแล้วชอบ นั่นคือ point หลักของดีไซเนอร์ทอยส์”

• แล้วถ้าเกิดนักสะสมอยากได้มากๆ ต้องทำยังไง?

ก็ต้องไปตลาด Resale เราเรียกว่าพวกนี้ว่า Flipper เป็นอาชีพซื้อมาขายไปโดยเฉพาะ เหมือนพวก eBay ที่มีตัวไหนดังๆ ก็ไปแห่ซื้อแล้วมาขาย Resale บวก 2-3 เท่า

• แล้วตลาด Resale มีผลกระทบกับงานของเราไหม?

มันต้องแบ่งกันครับระหว่างคนเล่นกับ Flipper ถ้าเกิดไม่มี Flipper เราก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าเขาซื้อไปขายต่อ แล้วทำให้งานเราดูมีราคาขึ้น แบบขายไป 2,000 แล้วเขาเอาไปขายต่อ 5,000-6,000 มันจะมีคนอีกกลุ่มที่ เฮ้ย!! ขายต่อได้ ลูกค้าจะเข้ามาหาเรา เพื่อซื้อไปขายต่อเหมือนกัน มันต้องบาลานซ์ว่า Flipper เท่าไรจะดี คนเล่นจริงๆ เท่าไรจะดี

ถ้าเกิดให้แต่ Flipper หมด แล้วคนเล่นไม่มีเก็บ เขาก็ไม่แฮปปี้ แต่บางที Flipper ก็ทำลายตลาดเราเหมือนกัน มี Flipper เมืองนอกบางคนแบบว่า อยากได้ตัวนี้ เก็บได้ไหม แล้วถ้าเราไม่ให้ เขาก็ไปจ้างคนมาซื้อ เสร็จแล้วมาขายในราคาถูกๆ ทำให้งานเราพังได้เหมือนกัน

• สถานการณ์ของดีไซเนอร์ทอยส์ในตลาดเมืองไทยเป็นยังไง?

ตลาดเมืองไทยเพิ่งเริ่มครับ ยังไม่โตมาก ตลาดตอนนี้เน้นของชิ้นเล็กๆ น่ารัก ที่เอาไปถ่ายรูปได้ เทรนด์ยังเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นเมืองนอก อย่างฝั่งอเมริกาจะเป็นของเล่นตัวใหญ่ๆ

ถ้าทำแค่ดีไซเนอร์ทอยส์ แล้วไม่ต่อยอดขายคาแรคเตอร์ มันยังเลี้ยงตัวเองยากอยู่ เหมือนตลาดในบ้านเราก็เพิ่งจะเริ่ม ตลาดเมืองไทยยังเล็กอยู่ ยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เหมือนญี่ปุ่น เหมือนฝรั่งเขา

• แต่ดีไซเนอร์ทอยส์ตัวหนึ่งราคาไม่ถูกนะ?

ราคาไม่ถูกครับ แต่เมืองไทยส่วนมาก เขามองเป็นของฟุ่มเฟือย แต่จริงๆ เมืองนอกของพวกนี้ เขาซื้อไปขายต่อได้ มันมีราคาของมันเอง แบบจำกัด 100 ตัว พอขายหมด มันจะมีตลาด Resale ราคาก็จะขึ้นไปอีกเท่าตัว สองเท่าตัว แล้วแต่แบรนด์ แล้วแต่ยี่ห้อ แต่ของมือสองก็จะแพงกว่า เพราะว่ามือสองซื้อแบบไม่แกะ มันเป็นของใหม่ แค่มัน resale เหมือน eBay มันหายาก มันหมดแล้ว ไม่ได้ผลิตมาเรื่อยๆ เท่าไรก็ไม่หมด แต่มันจำกัดแค่ตรงนั้น

• แสดงว่าถ้าเป็นระดับสากล มีคนทำดีไซเนอร์ทอยส์เป็นอาชีพเลย?

มีครับ มีวางขายเป็นงานอาร์ตด้วย อย่างของ Coarse เขาก็ทำกับ JP Toys เมืองไทย มา Co กันแล้วก็ทำพวกอีเจี๊ยบ ตัวเหี้ย น้องควาย อะไรพวกนี้ อันนี้เขาจะขายเป็น Mass หน่อย แบบสีหนึ่ง 300 ตัว ตัวหนึ่งก็ 4-5 พัน แต่ว่าเขามีแฟนๆ อยู่แล้วที่เมืองนอก อย่างน้องควาย เป็นงาน Mass ของเขาแล้ว แต่ถ้างาน Unique จริงๆ จะเป็นงานศิลปะแบบทำมาชิ้นเดียว ขายหลักแสนหลักล้าน

• แนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นทำดีไซเนอร์ทอยส์ว่าควรเริ่มจากจุดไหน?

การเริ่มต้นทำดีไซเนอร์ทอยส์ เนื่องจากสมัยนี้ตลาดไทยกำลังโต แล้วพอทำแล้วขายได้ เป็นช่องทางหนึ่ง คนก็เริ่มเข้ามาแล้ว ถ้าถามว่าจะเริ่มยังไง แนะนำคือให้ลองสเกตซ์ก่อน เพราะว่าถ้าจะทำโปรดักชั่นจริง ทุกอย่างมีต้นทุน ถ้าเราใช้การสเกตซ์ก็จะไม่มีต้นทุน ทุกอย่างมาจากไอเดียเรา เราสามารถสเกตซ์แล้วไปถามเพื่อนก็ได้ หรือไปโพสต์รูปลงเว็บบอร์ด เว็บไซต์ โซเซียลมีเดียก็ได้ว่าคนชอบไหม ถ้าคนชอบเขาโอเคกับงานเรา แล้วเราเห็นว่าน่าจะขายได้นะ ค่อยเอาไปพัฒนาต่อ

พอทำเป็นต้นแบบขึ้นมาแล้ว เหมือนเดิมคือ เช็ค Feedback ว่าโอเคไหม อย่าแบบว่า เราอยากทำ แล้วทำเลย ลงทุนเลย บางทีมันขายไม่ได้ ไม่ตอบโจทย์ตลาด คนไม่ชอบ เราก็จะจมทุน เพราะทุกอย่างมีต้นทุนหมด ค่อยๆ เริ่มไปดีกว่า ช้าไม่เป็นไร แต่ว่าช้าแล้วชัวร์ดีกว่า เพราะเกิดว่าชิ้นแรกลงทุน ใส่เต็มที่เลย แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ แล้วมันก็จะเฟล เราก็ไม่อยากทำอีกต่อไป แต่ถ้าเราเริ่มจากสเกตซ์อย่างที่บอก มันจะเซฟตัวเองด้วย แต่พอลงทุนน้อยๆ แล้วเราขายได้ มันจะมีกำลังใจแล้ว แล้วค่อยพัฒนาต่อไปขึ้นเรื่อยๆ

ทำขึ้นมาตัวหนึ่ง มันมีการลงทุนใช่ไหม มีต้นทุน ทุกอย่างเราจมไปหมดแล้ว เรายังไม่ได้อะไรคืนเลย แล้วพอเราวางขาย โคตรลุ้นเลย เหมือนทำข้อสอบ ว่าเราจะขายได้ไม่ได้ ถ้าขายได้ก็แฮปปี้ ศิลปินบางคนที่ผมเห็น ทำเรซิ่นก็จริง แต่ไม่ถามความเห็นหรืออะไรเลย ผมอยากทำ ผมก็ทำเลย เปิดที 10-20 ตัว ตูมมาตัวละ 1900 – 2000 ขายไม่ได้เลยก็มี แล้วมันทำให้ศิลปินเฟล ว่าทำไมงานเราขายไม่ได้

ถึงบอกให้เริ่มจากน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยไต่ขึ้นไปจะดีกว่า เจ็บก็ไม่เจ็บมากด้วย อย่างน้อยเราก็ยังสามารถแก้ตัวได้ ถ้าเราเริ่มตูมไปเลย เราหมดกำลังใจแล้ว เราไม่สามารถแก้ตัวได้ จะแย่เอา

สนใจผลงานของคุณโจอี้ สามารถติดต่อได้ที่

FB: www.facebook.com/TheSkullpuppet
IG: www.instagram.com/joey3d

ขอบคุณสถานที่ S.N.P Colors จตุจักรพลาซ่า โซน A ซอย 7 ห้อง 108

Story: Taliw
Photo: Wara Suttiwan

keyboard_arrow_up