ฝ้าย – ชาลิสา : ก้าวตามฝันกับแบรนด์รองเท้าผ้าใบสื่อวัฒนธรรมไทย (2/2)

…ฝ้ายออกจากงานเพื่อมาลงกับแบรนด์นี้จริงๆ ทำยังไงให้รองเท้ามีคุณค่าจริงๆ เพราะฉะนั้นความสุขมันก็อยู่ตรงที่ว่าเราได้ใส่อะไรดีๆ ไปแล้ว

 

• รู้มาว่าคุณฝ้ายจบเศรษฐศาสตร์ แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนให้หันไปจับงานดีไซน์?

ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่เด็กๆ หรือแม้กระทั่งตอนเรียน ซึ่งเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ก็จริง แต่ถ้ามีโอกาสได้พรีเซนต์งาน ได้ทำอะไรเกี่ยวกับดีไซน์หรือแม้แต่ชั่วโมงเรียนศิลปะจะเป็นชั่วโมงที่ชอบมาก ตอนนั้นเราก็รู้สึกได้ว่าเรามีสมาธิเวลาทำงานศิลปะ จำได้ตอนเด็กๆ ถ้าครูสั่งงานอะไรมา โดยปกติจะออกไปเที่ยวกับที่บ้าน แต่ถ้าเป็นงานศิลปะ เราจะอยู่บ้านแล้วเราจะมีสมาธิอยู่ทั้งวันเลย เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นสิ่งที่ชอบ แต่มันก็มีจุดหักเหว่าตอนนั้นอาจจะด้วยวัยและทัศนคติ ก็เลยมองว่าเรียนอะไรมาก็น่าจะต้องทำงานสายนั้น เราเลยมองว่าเรียนศิลปะมันต้องเป็นศิลปินหรือเปล่า หรือว่าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับดีไซน์มากๆ เราก็เลยเอาเป็นงานอดิเรกละกัน ก็เลยเหมือนเลือกที่จะเข้าเศรษฐศาสตร์ เพราะมองว่ามันจะเอาไปใช้ประโยชน์ในวิชาชีพของเราได้เยอะกว่า

จนสุดท้ายมันก็หนีไม่พ้น เพราะว่าตัวฝ้ายเองก็เลือกที่จะเข้าใกล้กับอะไรที่มันเป็นงานดีไซน์มากขึ้นๆ จนหลังสุดก็เป็นงานโฆษณา แล้วความที่ส่วนตัวชอบการสื่อสารด้วย ชอบการพรีเซนต์ แล้วมองว่าการสื่อสารที่ดี มันจะมีผลต่อคนที่รับสารไม่มากก็น้อย แล้วถ้าข้อความนั้นมันเป็นข้อความที่ดี มันก็จะเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย สุดท้ายก็เลยตัดสินใจมาทำแบรนด์นี้ อีกอย่างฝ้ายมองว่างานศิลปะเราไม่ต้องเขียนด้วย text บรรยาย แต่เป็นอะไรที่เปิดกว้างให้คนได้ใส่ทัศนคติหรือว่าเปิดรับด้วยตัวของเขาเอง ก็เลยออกมาทำงานดีไซน์เต็มๆ ออกมาเป็นรองเท้าผ้าใบอย่างที่เห็น

HORSELEGMARKING

• เมื่อตัดสินใจเบนเข็มมางานดีไซน์ ได้ไปเรียนอะไรเพิ่มไหม?

ก็มีการหาความรู้เพิ่มในแง่ของการเรียนโปรแกรม เพราะว่าฝ้ายจะต้องเริ่มใช้ illustrator มากขึ้น แต่ถ้าในแง่ของตัวรองเท้าเลยจริงๆ หรือเรียนด้านแฟชั่นเลยจริงๆ ตรงนั้นจะไม่มี เพราะว่าอย่างที่บอกว่าเป็นคนชอบใส่รองเท้าผ้าใบอยู่แล้ว แล้วเราก็มีแผนในใจว่าอยากจะทำอะไรกับรองเท้า อยากให้มันเป็นทรงสบาย ใส่อะไรแบบไหน บวกกับว่าเราไม่ได้ต้องการตามแฟชั่น เราค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าเราอยากจะให้รองเท้าเราเป็นยังไง อย่างที่เห็นว่าเข้ามาในร้าน รองเท้าจะไม่ได้มีเยอะหรือว่าลายนี้ต้องมีทุกสี แต่เราค่อนข้างลงสีให้เขาเลยว่า ถ้าลายประมาณนี้ สีประมาณนี้จับ combination ของสียังไง ทั้งตัวหนังกลับ ทั้งตัวเชือก แต่ฝ้ายก็โอเคถ้าลูกค้าอยากเพิ่ม option อะไรลงไป เราก็เพิ่มให้ได้ แต่ว่าหลักๆ เราค่อนข้างชัดเจนกับรองเท้าแต่ละคู่อยู่แล้ว

ฝ้ายมองว่ารองเท้าของฝ้ายควรจะต้องใส่ไปได้ตลอด ไม่ใช่แค่ซีซั่นนี้เท่านั้นนะ แล้วเห็นสีสันแบบนี้ส่วนตัวเองสามารถใส่ไปได้ทั้งปี ฝ้ายก็เชื่อว่าลูกค้าสามารถหยิบมาใส่ได้ตลอดเหมือนกัน เพราะมันจะไม่ล้าสมัย ก็เลยเหมือนเป็นจุดหนึ่งที่ฝ้ายคิดมาก่อนแล้วว่างานเราไม่น่าจะตาย ยิ่งถ้ารุ่นต่อๆ ไป ฝ้ายก็ว่าเขาน่าจะหาหรืออยากเก็บรุ่นเก่าๆ ไว้ เพราะว่ามันมีคุณค่าบางอย่างมากกว่าแค่มันเป็นงานสวย หรือว่างานที่ตามแฟชั่นอะไรแบบนี้

เพราะฉะนั้นฝ้ายเลยพยายามไม่ไปสร้างกรอบให้ตัวเอง อย่างถ้าถามว่าคนที่เรียนแฟชั่นมาโดยตรง เขาก็จะรู้เทคนิค แต่ส่วนตัวก็มองในแง่ว่า การที่เราไม่ได้จบทางด้านนี้มาโดยตรง มันก็ทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้น งานของฝ้ายจะเป็นไปได้หมด ซึ่งฝ้ายว่ามันก็เลยทำให้ฝ้ายค่อนข้างตรงกับสิ่งที่พยายามจะทำมากที่สุด ก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งเหมือนกันว่าทำไมฝ้ายไม่ได้ลงคอร์สเพิ่มอะไรเยอะแยะ แต่เหมือนพยายามหาเครื่องมือให้ตัวเองมากกว่า โอเคถ้าตรงไหนที่เราต้องเสริม เราจะพยายามศึกษาด้วยตัวเอง เหมือนพยายามใช้เซ้นส์ของตัวเองให้มากที่สุด

HORSELEGMARKING_16

 

• ความสุขที่ได้จากการสร้างแบรนด์นี้คืออะไร?

ทำแบรนด์นี้มันเป็นเรื่องยากตั้งแต่ตอนที่ฝ้ายคิดแล้ว ฝ้ายออกจากงานเพื่อมาลงกับแบรนด์นี้จริงๆ ทำยังไงให้รองเท้ามีคุณค่าจริงๆ เพราะฉะนั้นความสุขมันก็อยู่ตรงที่ว่าเราได้ใส่อะไรดีๆ ไปแล้ว กระทั่งคนที่ใช้รองเท้าเรา หรือ Feedback ต่างๆ มันก็ทำให้เรารู้สึก happy หลายอย่างคือไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้นหรอก แต่รู้ว่าเราค่อนข้างตั้งใจ แล้วก็เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ ฝ้ายค่อนข้างแน่วแน่กับตรงนั้น อันนี้มันอาจจะต้องใช้เวลาหน่อย แต่ก็อย่างที่บอกมันจะยั่งยืน

เพราะฉะนั้นพอเราได้ใส่อะไรดีๆ ลงไปในงาน เราก็รู้สึกว่าอย่างน้อยๆ คนก็เริ่มมองว่าแบรนด์รองเท้าผ้าใบไทยมันก็เป็นได้นะ เดิมทีมันก็ไม่ค่อยมีแบรนด์รองเท้าผ้าใบอย่างนี้ เพราะเขาจะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ยาก ส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับมากกว่า แต่ฝ้ายอยากให้คนเห็นว่ามันเป็นไปได้ แล้วทำไมเป็นลายแบบนี้ ถ้ามองแว๊บแรกคนก็จะถามว่านี่ขายใครเนี่ย ใครจะกล้าใส่ หรือแม้กระทั่งถามว่าพยายามจะทำอะไรอยู่ ทั้งในแง่ของคนที่ผ่านไปผ่านมา เห็นร้านของเรา เขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย! มันแปลกกว่าที่อื่น มันมีอะไรบางอย่างที่ร้านนี้พยายามจะบอก

โอเคคนเข้ามา เขาไม่ได้แค่ซื้อรองเท้าเราหรือเขาชื่นชมรองเท้าเรา แต่เขาจะเห็นไอเดียมุมมองว่า เราพยายามจะบอกเล่าอะไร มันก็เลยเหมือนเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดหวัง แต่เรารู้ว่าเราตั้งใจ มีเสียงตอบรับกลับมามันก็อิ่มใจ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ เรารู้สึกว่ามันดี อันนั้นมันคือความสุขใจที่สุดแล้วว่าเราได้ทำสิ่งดีๆ แล้วเรารู้สึกว่ามันมีคุณค่า เราก็อยากจะทำมันต่อไปทุกวันๆ ให้มันมากขึ้นๆ

HORSELEGMARKING

• ที่คุณฝ้ายบอกว่าการมาทำรองเท้าแบรนด์นี้เป็นเรื่องยากตั้งแต่เริ่มคิด แล้วเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกท้อไหม?

เอาจริงๆ นะคะมันไม่ได้รู้สึกท้อ เพียงแต่คิดมากกว่าว่าเราจะพยายามทำแต่ละวันให้มันดียังไง ถามว่าเหนื่อยไหม รู้สึกเหนื่อยทั้งร่างกายมันมีอยู่แล้วล่ะ แต่ถามว่าเหนื่อยจนไม่อยากทำแล้ว อยากจะหยุดแค่นี้ไหม มันไม่มีความรู้สึกนั้น เหมือนที่บอกว่ามันยากตั้งแต่ที่เราคิดตั้งแต่แรกแล้วว่ามันเป็นยังไง แต่ก็เป็นสิ่งที่เราคิดมาแล้ว เราอยากให้มันดีจริงๆ มันก็เลยมีความสุขที่จะทำทุกวัน แต่ก็ถือว่าฝ้ายโชคดีหลายๆ อย่าง ในตอนที่มันมีจุดเปลี่ยนก็โชคดีที่คนที่อยู่รอบข้างเขาสนับสนุนเรา เหมือนกับเชียร์อัพ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำแล้ว มันก็น่าจะดี เหมือนเขาเชื่อในความคิดของเรา เหมือนเป็นกำลัง แต่ส่วนใหญ่ตัวเองก็จะมีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่แล้ว แต่คนรอบข้างก็สำคัญ เขาเป็นกำลังใจให้เราแล้วเขาก็ได้แชร์ไอเดียของเขากับเราด้วย

ตอนนั้นอาจจะเป็นจังหวะด้วยมั้งคะ พอดีตอนนั้นมีโอกาสได้อ่านหนังสือของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถามว่าตอนที่จะเปลี่ยนเลยจริงๆ ตอนนั้นคิดยากเหมือนกัน เพราะว่าคนส่วนใหญ่เขาจะออกมาเลย มาทำอันนี้เลย แล้วมันใหม่มาก เขาจะรู้สึกว่าต้องพร้อมหรือเปล่า แต่พอได้อ่านพระนิพนธ์ของท่าน มันคือเรื่องจริงนะคะ เป็นเรื่องปกติที่มันใช่ ตอนแรกที่เราคิดทำรองเท้า เรากลัวข้างหน้า กลัวหลายๆ อย่าง แต่จริงๆ มันสำคัญตรงปัจจุบันมากกว่าว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดีไหม ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดี แล้วเราควรทำ เราก็ลงมือทำเลย ยังไงสุดท้ายของวันเราก็จะรู้สึกดีแล้วว่าเราได้ทำอะไรในวันนั้น

แล้วอย่างที่บอกว่า อยากให้แบรนด์นี้มันมีประโยชน์ มันเป็นงานที่เราต้องทำอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้คาดหวังจะต้องได้ขนาดนี้นะ แต่มองว่าเมื่อไรที่เราตั้งใจแล้วก็ให้แนวแน่ พยายามยึดในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรทำก็ลงมือทำไปเลย มันเหมือนตัดความกลัว เหมือนเราตัดความคาดหวัง ตัดความกังวลทุกอย่าง ทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน เหมือนได้นำวิธีการคิด ประสบการณ์ของเราแต่ก่อนมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดด้วย เหมือนกับเราปรับปัญหาได้ดี ก็เหมือนเป็นจังหวะที่ดีที่เหมือนได้เคลียร์ main set ของตัวเอง ณ จังหวะนั้น ก็เลยค่อนข้างมั่นคงกับสิ่งที่ทำ ความรู้สึกท้อก็เลยไม่มี

 

…ตอนแรกที่เราคิดทำรองเท้า เรากลัวข้างหน้า กลัวหลายๆ อย่าง แต่จริงๆ มันสำคัญตรงปัจจุบันมากกว่าว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดีไหม ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดี แล้วเราควรทำ เราก็ลงมือทำเลย ยังไงสุดท้ายของวันเราก็จะรู้สึกดีแล้วว่าเราได้ทำอะไรในวันนั้น

 

HORSELEGMARKING

• ได้วางแผนอนาคตให้แบรนด์นี้ไว้บ้างไหม?

ส่วนตัวมองว่าง่ายๆ เลยทำยังไงก็ได้ให้วัฒนธรรมส่งต่อได้จริงๆ ต้องส่งต่อให้มากที่สุด อาจจะผ่านลูกค้าเราเองก็ได้ แม้กระทั่งว่าอาจจะด้วยวิธีการแสดงงาน โชว์งาน รองเท้าฝ้ายมันก็จะไปถึงจุดนั้น จากกลุ่มเล็กๆ ที่อาจจะชอบงานสนใจงานตรงนี้ แล้วค่อยๆ ขยายไป อันนั้นมันก็เลยเหมือนเป็นแนวทางที่ฝ้ายมอง เดี๋ยวต่อไปน่าจะได้เห็นชิ้นพิเศษ ลายมันอาจจะไปอยู่ในตัวอื่น ผ่านวิธีการสื่อสารอย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่รองเท้า แล้ววัฒนธรรมมันก็จะส่งต่อออกไป ผ่านงานของเรา ผ่านการโชว์ของเรา

ตอนนี้ฝ้ายมีหน้าร้าน 3 ที่คือ The Culture Corner Store ที่สยาม โซน The Selected ชั้น 3, The Gallery Shop ที่จตุจักร และที่นี่ (ท่าเตียน) เป็น The Impressum Shop แต่ทำไมฝ้ายไม่ได้เน้นขายออนไลน์ขนาดนั้น เราไม่เน้นอย่างนั้น เพราะส่วนตัวมองว่าลูกค้าของฝ้ายเอง เขาควรจะมาได้เห็นงานจริงๆ มาได้จับ ได้ลองใส่ ยิ่งถ้าเป็นรองเท้าแบรนด์ที่เขาไม่เคยใส่มาก่อน เขาควรจะมีโอกาสได้ลองใส่จริงๆ มากกว่าการที่เขามาเห็นปุบ ชอบ ซื้อ แม้กระทั่งว่างานถ่ายกับงานจริง มันก็มีความแตกต่างกัน ยิ่งสีสันเราเยอะขนาดนี้ เขาควรจะต้องมาเห็น แล้วก็เข้าใจว่าเราพยายามทำอะไรอยู่ ทำไมลายมันถึงเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยเน้นหน้าร้าน ซึ่งในออนไลน์ก็จะเป็นลำดับต่อไป เพราะว่าลูกค้าก็มาจากหลากหลาย และนั่นก็เป็นวิธีหนึ่งที่เขาสะดวก

HORSELEGMARKING

• ขอคำถามสุดท้าย ทำไมถึงมาเปิดร้านนี้ที่ท่าเตียนซึ่งไม่ใช่ย่านธุรกิจ?

ถ้าสังเกตร้านของฝ้ายแต่ละที่จะมีสร้อยคำอยู่ เราพยายามทำยังไงให้บอกว่ารองเท้าเราบอกเล่าวัฒนธรรมอยู่นะ อย่างที่จตุจักรจะเป็น Gallery Show มันจะเหมือนเป็นแกลลอรี่ให้เราส่งผ่านศิลปะมากขึ้น แต่เหมือนที่นี่ (ท่าเตียน) ฝ้ายอยากจะให้เหมือน Live in Cultural Consciousness ที่เป็น Motto ของเราออกมาจริงๆ สังเกตได้ว่า ร้านที่ท่าเตียนจะเป็น The Impressum Shop เพราะฝ้ายมองว่าแถวนี้เหมือนเป็นใจกลาง เป็นเหมือนจุดวัฒนธรรม เป็นจุดเกิดรัตนโกสินทร์ของเรา ทุกอย่างมีประวัติศาสตร์มีเรื่องราวหมด บวกกับความเป็นชุมชนที่ฝ้ายไม่อยากทิ้ง นั่นทำไมฝ้ายถึงไม่ได้เจาะ ไม่ได้ทำอะไรมากมายในห้องนี้ แต่ฝ้ายใช้การตกแต่งที่มันอาจจะดูเป็นมิวเซียม พยายามจะหยิบความเป็นวัดโพธิ์ หยิบบรรยากาศแถวนี้มาแต่งในร้าน ให้เขาเข้าถึงวัฒนธรรมมากที่สุด เพราะเราก็เป็นเสมือนคนที่อยู่ถิ่นนี้ ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งได้มันก็จะเป็นมุมหนึ่งที่เหมือนว่าคนมาวัดโพธิ์ได้อิ่มอะไรกับแถวนี้ เราเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เขารู้จักวัดโพธิ์มากขึ้น ได้รู้จักแถวนี้มากขึ้น

 

…จริงๆ แล้วเรามองไปถึงทัศนคติ ทำยังไงแบรนด์เราถึงจะไปปรับเปลี่ยนทัศนคติของคน ฝ้ายอยากจะไปให้ถึง sustainable จริงๆ ซึ่งทุกอย่างมันจะต้องเริ่มจากวิธีคิดของคน แล้วการปฏิบัติมันจะตามไปเอง การใช้ชีวิตของเราก็จะยั่งยืนไปเอง แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของคน แต่ฝ้ายมองว่าถ้าเราเปิดรับวัฒนธรรมหรือใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ ให้มองเห็นข้อดี พยายามให้คนได้ซึมซับแล้วเขาจะเอาไปปรับใช้กับชีวิตเขาจริงๆ ฝ้ายเลยพยายามจะปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนเลย ผ่านแนวคิดของรองเท้า ซึ่งฟังมันอาจจะดูไกลนะคะ แต่ฝ้ายมองว่าฝ้ายได้ทำอะไรในทุกๆ วันที่เรามองว่าเราทำได้ เราคิดว่าเราควรทำ เลยพยายามทำให้ถึงให้ได้

 

…ติดตามตอน 01 : HORSELEGMARKING 01

HORSELEGMARKING
Tel : 081 470 9895
Facebook : www.facebook.com/horselegmarking
Instagram : horselegmarking
E-mail : [email protected]

Story : Taliw
Photo : Wara Suttiwan
keyboard_arrow_up