6 เรื่องราวที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับ “ล้ง 1919” เพราะเที่ยวล้ง 1919 มีดีกว่าที่คิด
หลายคนเดินทางไปเยือน “ล้ง 1919” (LHONG 1919) กันมาแล้ว แต่คุณอาจยังไม่รู้ว่ากว่าจะมาเป็น ล้ง 1919′ สถานที่ท่องเที่ยวชิคๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ล้ง 1919 ผ่านการเดินทางข้ามกาลเวลา พร้อมกับซุกซ่อนเรื่องราวมากมายเอาไว้ วันนี้เราจึงขอพาคุณไปสำรวจเรื่องราวแบบละเอียดที่ซ่อนอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ ผ่าน 6 เรื่องราวที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับล้ง 1919 !!
• ชื่อ “ล้ง” มาจากไหน?
เดิมสถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี” และด้วยประวัติและสถาปัตยกรรมที่มีอายุมากถึง 167 ปี พร้อมกับความตระหนักถึงคุณค่าของสถานที่แห่งนี้ จึงตัดสินใจบูรณะเชิงอนุรักษ์ท่าเรือที่มีสภาพทรุดโทรมมาอย่างยาวนาน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนว Heritage ที่โดดเด่นด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติ
NOTE: เรือกลไฟคือ เรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในท้องทะเลหรือมหาสมุทร โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเล เพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย
• ก่อนจะมาเป็นล้ง 1919 ที่ทุกคนรู้จัก
ท่าเรือกลไฟแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ.1850) โดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ท่าเรือนี้มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร โดยเรือกลไฟจะมาเทียบท่าเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่ท่านี้
นอกจากนี้ท่าเรือแห่งนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้งค่อยๆ ลดบทบาทลง
ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูลหวั่งหลี โดยนายตัน ลิบ บ๊วย จึงได้เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือให้กลายเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ถึงเมื่อปี พ.ศ.2559 เป็นโกดังสำหรับเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าสำหรับคนงานในพื้นที่ และศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน
ปัจจุบันท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง ซึ่งมีอายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี ถูกยกฐานะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามกฏหมายการอนุรักษ์ของประเทศไทย
• ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว คุณค่าสำคัญคู่ฮวย จุ่ง ล้ง เอกลักษณ์ของชุมชนจีนแห่งนี้
ไฮไลท์สำคัญของล้ง 1919 คือ “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน” (MAZU) ซึ่งประดิษฐานคู่ฮวย จุ่ง ล้งมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน เป็นเจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 องค์เจ้าแม่หม่าโจ้วทำจากไม้ มี 3 ปางคือ
– ปางเด็กสาว ตำนานเล่าว่าท่านชอบปฏิบัติธรรม ในตอนเช้าจะไปเก็บน้ำค้างมารักษาผู้คน ปางนี้จึงให้พรด้านการขอบุตร
– ปางผู้ใหญ่ ให้พรในด้านการค้าขายเงินทอง
– ปางผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ มีเมตตาจิตสูง
เจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี่ อายุเก่าแก่กว่า 180 ปี เวลาคนจีนเดินทางโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่าน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีนก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน ศาลเจ้าแม่ หม่าโจ้ว (MAZU) คลองสาน จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่
• “ซาน เหอ ย่วน” สถาปัตยกรรมเก่าแก่แบบจีนโบราณ มีไม่กี่หลังในไทย
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ดึงดูดผู้คนให้เดินทางไปเยือนล้ง 1919 คือสถาปัตยกรรมจีนแบบ “ซาน เหอ ย่วน” ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ เดิมตัวอาคารถูกใช้สำหรับหลายวัตถุประสงค์
อาคารด้านในที่ตั้งขนานกับแม่น้ำเป็นอาคารประธานเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ส่วนอาคารอีก 2 หลังที่ตั้งฉากกับแม่น้ำ ใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า ภายหลังมีการสร้างโกดังเพิ่มเติมที่ริมฝั่งแม่น้ำต่อจากอาคารทั้ง 2 ข้าง เพื่อรองรับการเก็บสินค้าจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของอาคารดั้งเดิมที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนงาน
ด้วยผังสถาปัตยกรรม “ซาน เหอ หยวน” แบบจีนโบราณแห่งนี้ เป็นหลังสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา งดงามด้วยศิลปะภาพวาดลวดลายอันเป็นมงคลและภาพวิถีชีวิตชาวจีนรอบวงกบหน้าต่าง ซึ่งมีอายุเก่าแก่ กว่า 180 ปี ฮวย จุ่ง ล้งจึงถูกยกฐานะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามกฎหมายการอนุรักษ์ของประเทศไทย ลูกหลานของตระกูลหวั่งหลีผู้เป็นเจ้าของถือครองจึงมีเจตนารมณ์ที่จะรักษามรดกของบรรพบุรุษชิ้นนี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนาน โครงการบูรณะท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ขึ้น จึงได้เริ่มขึ้น
• จิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 167 ปี
อีกเสน่ห์ที่พลาดไม่ได้คือ “จิตรกรรมฝาผนังโบราณ” อายุกว่า 167 ปีที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้ซ้ำไปมาหลายต่อหลายชั้นมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน จึงทำให้ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นยังคงผนึกไว้และไม่ถูกลบหายไป กอปรกับลักษณะการออกแบบและขนาดของแต่ละห้องที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นแหล่งศูนย์ช่างฝีมือของชาวจีนในอดีต
• บูรณะจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมด้วยวิธีโบราณ
การบูรณะสถานที่เก่าแก่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ เพราะตระกูลหวั่งหลียึดบูรณะด้วยวิธีแบบโบราณ เพื่อรักษาสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้ให้คงสภาพงดงามตามสภาพที่หลงเหลือจนถึงปัจจุบันมากที่สุด อย่างจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนขอบประตูและหน้าต่าง บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิมมากที่สุด ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม
หรือผนังอิฐ ส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณมายาช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม และเก็บรักษาวัสดุเดิมไว้ให้ได้มากที่ จุดสำคัญของการบูรณะคือต้องรักษารูปทรงเดิมไว้ทั้งหมด
จากประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และจิตรกรรม ทำให้ “ล้ง 1919” เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวริมน้ำ แต่ที่นี่ยังเปรียบเสมือนสมุดบันทึกเล่มใหญ่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล เป็นสะพานเชื่อมอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกัน ดังนั้นการเดินทางไปเยือนล้ง 1919 จึงไม่ใช่เพียงการแวะถ่ายภาพในมุมเก๋ แต่ยังให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตในอีกรูปแบบ
“ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ และหัวใจอนุรักษ์ ของลูกหลานตระกูลหวั่งหลี นำมาสู่โครงการ “ล้ง 1919” ที่เป็นมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกของครอบครัว อีกทั้งคือการดำรงรักษามรดกเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ศิลป์อันเป็นมรดกของชาติ และมรดกของโลกสืบไป
ทุกคนในบ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นหน้าที่ในการปลุกฮวย จุ่ง ล้งที่หลับใหลมาเป็นเวลายาวนาน ให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง และในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างครั้งแรก เมื่อได้บูรณะขึ้นมาแล้ว เราจึงอยากเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียน นักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4” คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้งโครงการล้ง 1919 กล่าว
SEE MORE…
http://www.favforward.com/40545/lifestyle/eat-drink/3-cafe-lhong1919/