Patisserie Potager Bangkok

เค้กออร์แกนิกสุขภาพ เพื่อคนไม่กินผัก

Patisserie Potager Bangkok
Patisserie Potager Bangkok

ใครไม่กิน ‘ผัก’ ยกมือขึ้น! คุณผู้อ่านรู้ไหมว่าไม่ใช่มีแต่เด็กเท่านั้นที่ไม่ยอมกินผัก แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ เองก็กินผักได้ไม่ทุกชนิด บางคนไม่ใช่เพียงกินผักบางชนิดไม่ได้ แต่ไม่กินผักเลยทุกชนิดก็มี แม้ว่าเราจะรู้และได้รับคำพร่ำสอนมาเสมอว่าผักมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่ท้ายที่สุดเราก็ยังหาข้ออ้างและอิดออดไม่ยอมกินผักอยู่นั่นเอง

แต่วันนี้เราได้ยกระดับการกินผักให้ก้าวไปอีกขั้น ซึ่งรับรองว่าแม้แต่เด็กที่ไม่ชอบกินผักยังต้องหันมากินอย่างเอร็ดอร่อยกับ “เค้กผัก” แบรนด์ดังจากญี่ปุ่นที่มาเปิดสาขาแรกในไทย โดยใช้ชื่อว่า “Patisserie Potager Bangkok” มีคุณกุ๊กไก่ – ดวงดา อลงกรณ์รัศมี เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และแม่ครัวใหญ่ในการอบ ‘เค้กผัก’ ที่มีรสชาติไม่เหมือนผักให้เราได้ลิ้มลอง และแน่นอนว่าเราไม่ลืมที่จะพูดคุยกับเจ้าของร้านอารมณ์ดี พร้อมไขความลับของเค้กผักมาฝากคุณผู้อ่านกันอีกเช่นเคย

Patisserie Potager Bangkok

…ตอนนั้นกุ๊กก็แค่คิดว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าร่างกายแข็งแรงก็คงจะมีแรงทำอะไรดีๆ ได้เยอะแยะ

ก่อนจะไปไขความลับของเค้กผัก เราขอพาคุณผู้อ่านย้อนเวลากลับไปยังจุดเริ่มต้นของเค้กผักร้านนี้กันก่อน คุณกุ๊กไก่เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำร้านเบเกอรี่ที่มีเอกลักษณ์ร้านนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความคิดที่ง่ายแสนง่ายว่า “โปรเจ็กนี้เริ่มมาตั้งแต่สองปีก่อน ซึ่งเทรนสุขภาพในไทยยังไม่บูมเหมือนตอนนี้ ตอนนั้นกุ๊กก็แค่คิดว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าร่างกายแข็งแรงก็คงจะมีแรงทำอะไรดีๆ ได้เยอะแยะ

แต่ตอนที่คิดจะทำร้านนี้ กุ๊กก็ไม่แน่ใจเรื่องรสชาติความอร่อยเหมือนกัน กุ๊กแค่รู้ว่าแบรนด์นี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นกับไต้หวัน กุ๊กเลยบินไปชิมเค้กผักถึงญี่ปุ่น ซึ่งกุ๊กได้ชิมแล้วก็รู้สึกว่าเหมือนเค้กปกติทั่วไปที่เราเคยกิน แล้วก็อร่อย เลยตัดสินใจเปิดร้านนี้”

Patisserie Potager Bangkok

หลายคนอาจพอคาดเดาได้แล้วว่า เค้กผักก็ต้องมีผักเป็นส่วนประกอบ แต่ความลับของเค้กผักร้าน Patisserie Potager Bangkok ไม่ใช่การคั่นน้ำผักแล้วนำมาผสม แต่เป็นการใช้ “ผักทั้งต้นและใบ” มาปั่นแล้วผสมเข้ากับเค้ก หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ลองนึกถึงแกงจืดตำลึง ซึ่งมีใบตำลึงสีเขียวเป็นพระเอกในชาม เพียงแต่เปลี่ยนจากแกงจืดตำลึงเป็นเค้กตำลึง ซึ่งมีใบตำลึงสีเขียวสดที่ผ่านการปั่นละเอียดเป็นพระเอกในเค้กเช่นกัน ดังนั้นเค้กผักแต่ละชิ้นจึงมีใยอาหารและวิตามินจากผักอย่างครบถ้วนเหมือนที่เราทานแกงจืดตำลึงเป็นกับข้าวนั่นเอง ซึ่งไอเดียการนำผักทั้งใบและต้นเข้ามาเป็นวัตถุดิบในเค้กนี้ ตรงกับเป้าประสงค์หลักของแบรนด์ที่อยากให้เด็กๆ หันมากินผักเพื่อสุขภาพนั่นเอง

ไม่เพียงการใช้ผักทั้งใบและต้นเป็นวัตถุดิบหลักในเค้กเท่านั้น แต่เค้กผักของ Patisserie Potager Bangkok ยังใช้ “ผักออร์แกนิก” ที่ปลอดสารพิษ โดยมีใบรับรองจากฟาร์มที่เขาใหญ่รับประกัน และไม่ใช่เพียงการเลือกใช้ผักออร์แกนิกเพียงอย่างเดียว Patisserie Potager Bangkok ยังเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติแทนการใช้วัตถุดิบสังเคราะห์ เช่น การเลือกใช้น้ำตาลออร์แกนิก ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ได้จากอ้อยไร้สารเคมีและไม่ขัดขาว เลือกใช้วุ้นแทนเจลาติน ไม่ใส่ผงฟู รวมทั้งไม่ใส่สีและกลิ่นสังเคราะห์ แต่เลือกที่จะดึงสี กลิ่น และรสจากวัตถุดิบแทน

Patisserie Potager Bangkok

และด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติล้วนๆ นี้เอง ทำให้เค้กผักค่อนข้างจะอ่อนแอหรือเรียกง่ายๆ ว่าเค้กผักจะมีอายุสั้นกว่าเค้กปกติทั่วไป ดังนั้นการจะซื้อเค้กผักไปทานที่บ้าน แนะนำให้ทานให้หมดในทันทีและไม่ควรเก็บไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะการเก็บเค้กไว้นานกว่า 24 ชั่วโมงนั้น รสชาติเค้กจะเปลี่ยนไม่เหมือนตอนมานั่งทานที่ร้าน แต่ในข้อด้อยก็มีข้อดีแฝงอยู่ เพราะจากจุดนี้จึงทำให้เค้กผักที่เสิร์ฟในร้านเป็นเค้กที่ต้องทำแบบวันต่อวัน ซึ่งเป็นเครื่องการันตีความสดใหม่นั่นเอง

สำหรับ Patisserie Potager Bangkok มีเค้กผักให้เลือกลิ้มลองทั้งสิ้น 11 เมนู ซึ่งทุกเมนูล้วนเป็นสูตรดั่งเดิมที่มาจากต้นตำรับจากญี่ปุ่น เพียงแต่อาจมีการปรับลดปริมาณของวัตถุดิบบางตัว เพื่อให้ได้เค้กเนื้อนุ่มอร่อยถูกปากคนไทย โดยเราได้ลิ้มลองเค้กผัก 3 เมนู พร้อมมาแนะนำคุณผู้อ่าน เริ่มจาก…

Patisserie Potager Bangkok
Red Capsicum Cheesecake (165 บาท)

Red Capsicum Cheesecake (165 บาท) ซีสเค้กพริกหยวกที่มาในสีส้มขาวน่าทาน คุณกุ๊กเล่าว่าซีสเค้กพริกหยวกเป็นเพียงเมนูเดียวในร้านที่คุณกุ๊กยอมให้มีกลิ่นผัก ถึงแม้จะมีกลิ่นพริกหยวก แต่กลับเป็นซีสเค้กที่ให้รสชาติกลมกล่อมระหว่างพริกหยวกกับซีสเค้กได้อย่างไม่น่าเชื่อ คุณกุ๊กยังเล่าให้เล่าฟังอีกว่าเมนูนี้ถึงแม้จะไม่ใช่เมนูซิกเนเจอร์ของร้าน แต่กลับเป็นเมนูที่เด็กๆ ชื่นชอบเป็นพิเศษ โดยเด็กๆ ให้เหตุผลว่าซีสเค้กพริกหยวกมีรสชาติเหมือนพิซซ่า …แต่จะเหมือนพิซซ่าหรือไม่ คงต้องให้คุณผู้อ่านไปชิมด้วยตัวเอง

Patisserie Potager Bangkok
Yardlong Been Cake (165 บาท)

ต่อกันด้วย Yardlong Been Cake (165 บาท) หรือเค้กถั่วฝักยาวเป็นอีกเมนูเค้กผักที่ชวนติดใจ เพราะชิ้นเค้กที่แม้จะสอดไส้ครีมซีสถั่วฝักยาว แต่กลับแทบไม่ได้กลิ่นหรือรสของถั่วฝักยาวเลย ผนวกกับแป้งเค้กที่นุ่มละมุนลิ้นและความหวานที่พอเหมาะ ทำให้สปัจน์เค้กถั่วฝักยาวชิ้นนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเมนูน่าลิ้มลองที่เราไม่อยากให้คุณผู้อ่านพลาด

Patisserie Potager Bangkok
Bitter Melon Mousse (145 บาท)

นอกจากเค้กผักแล้ว ที่นี่ยังเมนูขนมหวานอย่างมูสมาเสิร์ฟด้วย ซึ่งครั้งนี้เราขอให้คนไม่ชอบมะระมาท้าชิมมูสมะระของที่นี่ แล้วคุณอาจเปลี่ยนความคิดเรื่องความขมของมะระไปเลยก็ได้ เพราะ Bitter Melon Mousse (145 บาท) หรือมูสมะระเมนูนี้ไม่เจือความขมของมะระ แต่เป็นมูสมะระที่ให้รสชาติหวานลิ้น แล้วยังสัมผัสได้ถึงความเป็นมะระอีกด้วย ส่วนเมนูซิกเนเจอร์ของร้านต้องยกให้กับ Green Shortcake ซึ่งมีส่วนประกอบของตำลึงเป็นวัตถุดิบหลัก ด้านบนวางมะเขือเทศราชินีผลแดงกรอบเสมือนเชอรี่บนหน้าเค้ก เมนูนี้จึงมีชื่อภาษาไทยว่าเค้กตำลึงมะเขือเทศนั่นเอง

ขอส่งท้ายร้าน Patisserie Potager Bangkok กันด้วยบรรยากาศและไอเดียการแต่งร้าน ซึ่งทันทีที่ก้าวเข้าร้านจะสะดุดตากับเครื่องมือการเกษตรที่วางตกแต่งอยู่มากมาย พอเราถามคุณกุ๊กไก่ก็ได้คำตอบว่า ร้านนี้แต่งในคอนเซ็ปต์ Green House เพื่อเชื่อมโยงกับกับเมนูเค้กผักออร์แกนิกของร้าน เปรียบเสมือนร้านแห่งนี้เป็นเรือนกระจกที่ปลูกผักออร์แกนิกแล้วนำผลผลิตที่ได้มาแปลงเป็นเค้กผักให้เราได้ลิ้มลอง และสอดคล้องกับชื่อร้านที่มีความหมายว่า “สวนผัก” นั่นเอง

 

Address : 111/1 ทองหล่อ 5 ซ.สุขุมวิท 55 กทม
GPS : 13.7286705,100.5779832
Time : เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 10.30 – 20.30 น.
Phone : 095-962-0324
Facebook : www.facebook.com/potagerbangkok
Web : www.potagerbkk.com

Story : Taliw
Photo : Wara Suttiwan
keyboard_arrow_up