How to คืนชีพให้สนีกเกอร์ อาจจะไม่เหมือนใหม่ แต่สะอาดขึ้นแน่นอน

How to คืนชีพให้สนีกเกอร์
อาจจะไม่เหมือนใหม่ แต่สะอาดขึ้นแน่นอน

การทำความสะอาดสนีกเกอร์ดูเป็นเรื่องง่ายๆ หลายคนคิดว่าแค่ซักกับน้ำยาซักผ้าแล้วตากให้แห้งก็ใช้ได้แล้ว แต่เดี๋ยวก่อน!! ไม่ใช่สนีกเกอร์ทุกคู่ที่สามารถทำความสะอาดได้แบบที่เราเข้าใจ เพราะสนีกเกอร์หลายคู่ต้องการการทำความสะอาดแบบพิเศษ วันนี้เราจึงมีไกด์การทำความสะอาดมาฝากกัน

สนีกเกอร์หนัง

หลายคนมักคิดว่าสนีกเกอร์หนังต้องทำความสะอาดยาก แต่จริงๆ แล้วสนีกเกอร์หนังทำความสะอาดง่ายกว่าที่คิด เพียงแต่ต้องการความพิถีพิถันกว่าสนีกเกอร์ทั่วไปเท่านั้นเอง โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่นำมาทำความสะอาด อย่างแปรงขัด หรือผ้าที่มีเนื้อหยาบอาจทำให้สนีกเกอร์เกิดรอยได้

ส่วนวิธีการทำความสะอาดคือถอดเชือกรองเท้า และพื้นด้านในออกมาแยกทำความสะอาด ส่วน upper หรือบริเวณอื่นๆ ใช้ผ้าขนหนูเนื้อละเอียดชุบน้ำหมาดเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีครบเปื้อน ส่วนพื้นรองเท้าสามารถใช้แปรงขัดได้ เพียงแต่ต้องระวังอยากให้โดนหนังโดยตรง เมื่อเสร็จแล้วผึ่งลมให้แห้ง แต่ไม่ควรนำไปตากแดด

สนีกเกอร์ผ้าถักหรือตาข่าย

สนีกเกอร์ผ้าถักหรือตาข่าย ส่วนใหญ่มักเป็นรองเท้าวิ่ง อย่างแบรนด์ Nike, Adidas ฯลฯ ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองเท้าเบา แต่สนีกเกอร์ประเภทนี้มักทำความสะอาดยาก เพราะผ้าที่เกิดจากการถักหรือผ้าตาข่ายมักมีร่องหลุมที่ทำให้คราบสกปรกเข้าไปฝังลึก แถมเวลาทำความสะอาดยังต้องเบามืออีกด้วย เพราะผ้าพวกนี้จะมีความเปราะบาง ดังนั้นการทำความสะอาดสนีกเกอร์ผ้าถักและตาข่ายจึงต้องระมัดระวัง

แต่ทั้งกนี้สำหรับการทำความสะอาดสนีกเกอร์ประเภทนี้เราสามารถใช้แปรงทำความสะอาดได้ โดยเทน้ำยาใส่แปรง จุ่มน้ำพอหมาด แต่ไม่ควรเปียกจนเกินไป แล้วขัดทำความสะอาด ส่วนการล้างฟองแนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดออกแทนการล้างด้วยน้ำโดยตรง ที่สำคัญคือการผึ่งให้แห้งควรหลีกเลี่ยงการโดนแดดตรงๆ

สนีกเกอร์ผ้าแคนวาส (Canvas)

สนีกเกอร์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นสนีกเกอร์แฟชั่นที่นิยมใส่ประจำวัน อย่างรองเท้าแบรนด์ Converse หรือ Vans นั่นเอง หลายคนคิดว่าผ้าแคนวาสเป็นรองเท้าที่ทำความสะอาดง่ายที่สุด แต่แท้จริงแล้วสนีกเกอร์ประเภทนี้เป็นผ้าที่ทำความสะอาดยากที่สุดก็ว่าได้ เพราะผ้าแคนวาสเป็นผ้าที่มีความหนาและแข็ง เมื่อมีคราบสกปรกจึงติดแน่นนั่นเอง

การดูแลรักษาและทำความสะอาดของสนีกเกอร์แคนวาสคือต้องทำความสะอาดทันทีเมื่อรองเท้าเลอะ ไม่ควรปล่อยให้คราบแห้งติดรองเท้า เพราะจะขจัดคราบยาก (มาก) ส่วนการทำความสะอาดก็คล้ายกับสนีกเกอร์ผ้าถักหรือตาข่าย คือใช้แปรงขนนุ่มที่ผสมน้ำยาลงไป จุ่มน้ำให้หมาดพอเหมาะ แล้วขัดบริเวณที่สกปรก แล้วค่อยล้างออกด้วยผ้าแทนการโดนน้ำตรงๆ ถ้าหากคราบติดแน่น เราสามารถใช้แปรงขัดซ้ำๆ จนกว่าคราบจะจางได้ หลังจากนั้นก็ผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆ จนกว่าจะแห้งสนิท

คืนชีพให้สนีกเกอร์ฉบับรวบลัด (และข้อควรระวังที่เราอาจมองข้าม)

  • เลือกใช้นำยาทำความสะอาดสำหรับสนีกเกอร์โดยเฉพาะ แต่หากไม่มีจริงๆ สามารถใช้น้ำยาซักผ้าสูตรน้ำ (ไม่แนะนำให้เป็นผงซักฟอก)
  • แปรงที่ใช้ควรเป็นแปรงขนนุ่ม อย่างแปรงสีฟันก็ได้ ส่วนผ้าทำความสะอาดอาจเป็นผ้าขนหนูที่เราใช้เช็ดตัวเช็ดหน้าก็ได้เช่นกัน
  • ไม่แนะนำให้เทน้ำยาสัมผัสสนีกเกอร์โดยตรง แต่ควรผสมกับน้ำในกะละมังก่อนนำมาสัมผัสรองเท้า หรือเทใส่แปรงแล้วจุ่มน้ำพอหมาด
  • สามารถนำสนีกเกอร์จุ่มน้ำได้ แต่ต้องเป็นการจุ่มแล้วนำสนีกเกอร์ขึ้นมาเลย ไม่ควรแช่ทิ้งไว้ และการทำความสะอาดแต่ละครั้งควรถอดเชือกรองเท้า รวมทั้งที่รองพื้นด้านในออกด้วย เพื่อนำมาทำความสะอาดแบบแยก
  • พื้นรองเท้าส่วนที่สัมผัสกับพื้นถนน โดยเฉพาะรองเท้าวิ่งที่พื้นรองเท้ามักเป็นยางที่มีความยืดหยุ่น ทำให้เศษหินเข้าไปติดได้ง่าย ระหว่างทำความสะอาดให้หาอะไรมาเขี่ยเศษหินออกด้วย
  • การผึ่งให้แห้ง ไม่แนะนำให้นำสนีกเกอร์ไปตากแดดโดยตรง แต่ควรเป็นการตากลม อาจเปิดพัดลมคอยพัดให้แห้ง หรือถ้าตากแดดต้องเป็นแดดอ่อนๆ เท่านั้น และต้องแน่ใจก่อนว่าสนีกเกอร์แห้งสนิทจริงๆ ก่อนจะนำมาสวมอีกครั้ง
  • หลังจากทำความสะอาดภายนอกแล้ว อย่าลืมทำความสะอาดภายใน โดยเฉพาะเรื่องกลิ่น ที่เราสามารถดับได้ด้วยสเปรย์ดับกลิ่น และควรป้องกันด้วยการสวมถุงเท้าที่มีเทคโนโลยีซับเหงื่อ เพื่อลดปัญหากลิ่นเท้า
keyboard_arrow_up