4 สิ่งต้องรู้เมื่อคิดจะก้าวพ้นขีดจำกัดของร่างกายด้วยไตรกีฬา
เปลี่ยนการออกกำลังกายแบบจำเจในฟิตเนสให้ท้าทายมากขึ้นกับ “ไตรกีฬา” กีฬาที่ทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นกีฬาที่ท้าทายขีดจำกัดของตัวเองด้วยการเล่นกีฬา 3 ประเภทคือ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง แต่การจะก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายนี้เอง สิ่งสำคัญคือการเตรียมร่างกายให้พร้อม วันนี้เราจึง Checklist 4 สิ่งต้องรู้ก่อนสู้ไตรกีฬามาฝากกัน
01. ก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายด้วยพลังใจ
เพราะคนเพียงคนเดียวต้องเล่นกีฬาถึง 3 ประเภทกับระยะทางรวมกว่าร้อยกิโลเมตร ถ้าใจไม่สู้หรือถอดใจกลางคันก็คงจะพาตัวเองเข้าเส้นชัยไม่ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้กำลังใจจากคนรอบข้างก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญคือ แรงสนับสนุนจากคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ และคนใกล้ชิด
02. ฝึกซ้อมอย่างพอดี พักผ่อนให้เต็มที่ ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
กีฬาทุกชนิดต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ แต่สิ่งที่นักไตรกีฬามือใหม่ควรท่องจำและทำตามให้ขึ้นใจคือ การเว้นช่วงให้ร่างกายได้พักฟื้นตัวด้วย “การพักผ่อน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตารางการฝึกไตรกีฬา ขณะเดียวกันโปรแกรมการฝึกซ้อมก็ควรออกแบบให้เป็นแบบหนักสลับเบา เพราะต้องไม่ลืมว่าร่างกายของเรายังใหม่กับการท้าทายสมรรถภาพด้วยกีฬาสุดหินชนิดนี้ และต้องไม่ลืมที่จะดูแลร่างกายด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น “นม” ที่อุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับนักกีฬา ส่วนเทคนิคเด็ดๆ ที่นักไตรกีฬามือใหม่น่าลองนำไปฝึก ก็คือ
• ฝึก “ทรานซิชั่น” (Transition) : ช่วงทรานซิชั่นคือ ช่วงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนจากกีฬาประเภทหนึ่งไปเล่นกีฬาอีกประเภท ยิ่งเราใช้เวลาในช่วงทรานซิชั่นน้อยเท่าไรก็ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขันมากเท่านั้น ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นการเพิ่มการฝึกทรานซิชั่นเข้าไปในตารางการฝึกด้วย เช่น การฝึกจัดวางอุปกรณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการวางจักรยานโดยหันหัวไปยังทิศที่ต้องออกตัว การวางหมวกกันน็อคให้เห็นชัดเจน หรือการวางรองเท้าวิ่งไว้ฝั่งเดียวกับจักรยาน ฯลฯ จุดเล็กๆ เหล่านี้เป็นเทคนิคที่นักไตรกีฬามืออาชีพใช้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกทำให้คล่องและราบรื่นก็จะช่วยสร้างความได้เปรียบในเรื่องของเวลาได้ไม่น้อย
• การฝึกแบบ “บริค เทรนนิ่ง” (Brick Training) : คือการฝึกกีฬา 2 ประเภทต่อเนื่องกัน เพื่อทำให้กล้ามเนื้อเกิดความเคยชิน เพราะการแข่งกีฬาแต่ละประเภทจะใช้กล้ามเนื้อคนละส่วนกัน หากฝึกกีฬาแต่ละประเภทแยกกัน เมื่อถึงช่วงการแข่งขันจริงอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ เพราะร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน รูปแบบการฝึก Brick Training ที่นิยมทำกันคือ ฝึกปั่นจักรยานแล้วต่อด้วยการวิ่ง
03. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ใช้ทุกอย่างให้เคยชิน
อุปกรณ์สำคัญที่นักไตรกีฬาทุกคนควรเตรียมให้พร้อมในระหว่างการแข่งขันคือ แว่นตาว่ายน้ำที่ปรับสายให้พร้อมใช้ หมวกว่ายน้ำ หมวกกันน็อค รองเท้าสำหรับปั่นจักรยาน ขณะเดียวกันก็ต้องเช็คลมยาง ระบบเกียร์ และเบรกของจักรยานให้เรียบร้อย ส่วนรองเท้าวิ่งก็ต้องเหมาะกับรูปเท้าของตัวเอง ซึ่งอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้แข่งควรเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกซ้อมเป็นประจำ เพราะการใช้อุปกรณ์ใหม่ในวันแข่ง ร่างกายอาจจะไม่เคยชิน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการแข่งของเราได้ อย่างเช่น รองเท้าวิ่งคู่ใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
04. ระวังเรื่อง “ตะคริว” ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
“ตะคริว” เป็นอาการบาดเจ็บที่นักไตรกีฬาเจอบ่อยที่สุดในระหว่างการแข่งขัน เพื่อป้องกันการเป็นตะคริวระหว่างการแข่งขัน ก่อนเริ่มแข่งควรวอร์มร่างกายและยืดกล้ามเนื้อให้พร้อม ระหว่างการแข่งควรจิบน้ำและเกลือแร่อยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่นเสมอ แต่ถ้าหากเกิดอาการตะคริวในระหว่างการแข่ง วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือ ให้ยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที ทำซ้ำๆ ประมาณ 2-3 ครั้ง จนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคลายตัว จึงค่อยกลับมาแข่งขันต่อด้วยจังหวะเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อปรับสภาพ ทั้งนี้หลังเข้าเส้นชัยแล้วก็ต้องอย่าลืมคูลดาวน์ (Cool Down) ร่างกายด้วย
หลังจากที่ได้สัมผัสกับความท้าทายที่ทรหดตลอดการแข่งขันแล้ว เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรจะทำให้หัวใจของคุณเต้นแรงได้เท่ากับ “ความภาคภูมิใจ” ที่ได้เอาชนะใจของตัวเองในการก้าวข้ามขีดจำกัด จนสามารถพาตัวเองก้าวเข้าสู่เส้นชัยพร้อมกับเพื่อนๆ อีกนับพันคน รวมไปถึงมิตรภาพจากเหล่านักไตรกีฬาที่คอยเชียร์และให้กำลังใจกันตลอดการแข่งขัน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ที่ไม่ว่าจะมีเงินมากแค่ไหนก็หาซื้อไม่ได้อย่างแน่นอน
SEE MORE…
http://www.favforward.com/8692/goodlife/triathlon-tips/