เทคนิครับมือ ‘ภาษี’ อย่างชาญฉลาด

หลังจากพ้นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนสุขสันช่วงปีใหม่ไปแล้ว อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่ต้องมารับมือหลังจากนี้คือ “ภาษี” ที่เราต้องมาจัดการอย่างเป็นจริงจังหลังจากนี้ จริงอยู่ที่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลใจดีให้เราลดหน่อยภาษีได้ด้วยโครงการช็อปช่วยชาติก็ตาม แต่นั่นก็มีวงเงินจำกัดและยิ่งเป็นหนุ่มๆ ด้วยแล้ว คงไม่ใช่ขาช็อปเหมือนสาวๆ

เพราะจะให้ซื้อกองทุนลดหย่อนตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว หรือจะช็อปช่วยชาติก็ช้าไป วันนี้เราจึงไม่รอช้ารีบมองหาคำแนะนำในการลดหย่อนภาษีมาฝากคุณผู้อ่านกัน …แม้ว่าเทคนิคนี้อาจใช้ไม่ทันปีนี้ แต่ทันปีหน้าอย่างแน่นอน

• วางแผนภาษีกันตั้งแต่ต้นปี

หลายๆ คนมักย่ามใจว่ายังไม่ถึงสิ้นปี ค่อยวางแผนเรื่องภาษีกันตอนปลายดีก็ได้ ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดที่ไม่ค่อยจะดีนัก นั่นเป็นเพราะใครๆ ก็คิดแบบนี้ ทำให้ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี กองทุนต่างๆ ที่มีส่วนช่วยลดหย่อนภาษีมักจะมีคิวที่ยาวเหยียด จนเราอาจจะซื้อไม่ทัน อีกทั้งการเหมาซื้อกองทุนแบบก้อนเดียวก็ทำให้เราเสียผลประโยชน์หลายๆ อย่างได้อีกด้วย ยกตัวอย่าง กองทุนร่วมที่เราแนะนำให้คุณทยอยค่อยๆ ซื้อกันทีละเดือนดีกว่าเอาเงินก้อนไปทุ่มซื้อตอนปลายปี ซึ่งจะทำให้เราประหยัดต้นทุนได้มากกว่า และเราต้องไม่ปวดหัวกับการแย่งคิวซื้อกองทุนอีกด้วย

• กองทุนยอดนิยมที่ช่วยลดหย่อนภาษี

RMF : คือเงินกองทุนที่ให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีบำนาญ ได้มีโอกาสสะสมเงินของของตัวเองเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยกรมสรรพกรให้สิทธินำยอดเงินที่ลงทุนใน RMF นำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ แต่กองทุนนี้เราจำเป็นต้องลงทุนทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี ไปจนถึงอายุ 55 ปี

LTF : กองทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนตลาดทุนของประเทศ โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท LTF เป็นกองทุนที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นกองทุนที่มีระยะไม่ยาว เพียง 7 ปีปฎิทินเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องลงทุนทุกปีอีกด้วย ขณะเดียวกันกองทุนนี้ก็มีความเสี่ยงเพราะ LTF เป็นการลงทุนในหุ้นสามัญเป็นหลัก ดังนั้นเราควรจัดการความเสี่ยงของการลงทุนไว้ให้ดี

Did you know?

เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี แต่ก็เป็นเกร็ดความรู้ที่เราอยากบอกคุณผู้อ่าน นั่นก็คือการลงทุนด้วยเงินเก็บ คุณรู้หรือไม่ว่าการฝากเงินเก็บแม้เราจะได้ดอกเบี้ย แต่เราก็ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยด้วย แต่ใช่ว่าเราต้องเสียภาษีทุกครั้งไป เพราะมี 5 แหล่งเงินออมที่ไม่เสียภาษี นั่นคือ

  1. เงินฝากประเภทเผื่อเรียกของธนาคารออมสินและของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
  2. เงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ
  3. เงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่มีดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท
  4. เงินฝากประจำรายเดือนที่บังคับฝากติดต่อกัน 2 ปี และฝากเงินแต่ละครั้งไม่เกิน 25,000 บาท หรือรวมทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท
  5. เงินฝากประจำสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ เงินฝากประจำที่มีระยะตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยได้รับดอกเบี้ยจากการฝากตั้งแต่ 30,000 บาทต่อปี และผู้ฝากต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป
keyboard_arrow_up