ความเชื่อเรื่องพญานาค

นาคี 2 กับความเชื่อเรื่องพญานาคในสังคมไทย

ความเชื่อเรื่องพญานาค
ความเชื่อเรื่องพญานาค

นาคี 2 กับ ความเชื่อเรื่องพญานาค ในสังคมไทย

เข้าโรงฉายวันนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับภาพยนตร์ไทยที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ความเชื่อเรื่องพญานาค อย่าง “นาคี 2” ที่ครั้งนี้ได้คู่พระ-นางอันดับหนึ่งในยุคนี้อย่าง “ณเดชน์ คูกิมิยะ” และ “ญาญ่า อุรัสยา สเปอร์บันด์” ที่ทั้งสองต่างเคยฝากฝีไม้ลายมือบนแผ่นฟิล์มกันมาบ้าง แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองจะได้โคจรมาปะทะฝีมือภายในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน

 

ความเชื่อเรื่องพญานาค

ละครเรื่อง นาคี

โดยจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่อง “นาคี 2” ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของละครเรื่อง “นาคี” ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ครั้งนั้นได้พระ-นางอย่าง “แต้ว ณฐพร” และ “เคน ภูภูมิ” วาดลวดลายกลายเป็นเจ้าแม่นาคีและคุณทศพลจนฮอตฮิตติดลมบน ซึ่งนอกจากกระแสของละครจะแรงจนทำเรตติ้งขึ้นหิ้งเป็นอันดับหนึ่งของช่อง 3 ภายในปีนั้นแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่ใช้ถ่ายทำละครอย่าง จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม” , “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ไปจนถึงสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพญานาคและเมืองบาดาลอย่าง “คำชะโนด” ก็ต่างคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและผู้คนที่ศรัทธาในเรื่องของพญานาคแทบทั้งสิ้น (คลิ้กอ่าน: สวมมาดเป็นคุณทศพลแล้วไปตามหาคำแก้วที่บ้านดอนไม้ป่า ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม กันเถอะ)

15 ค่ำ เดือน 11

ภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “พญานาค” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในสื่อบันเทิง ก่อนหน้านี้ก็เคยมีภาพยนตร์ที่หยิบยกเอาความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับพญานาคในภาคอีสานอย่าง “15 ค่ำ เดือน 11” มาตีแผ่เป็นเรื่องราวจนทำให้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างการเกิดบั้งไฟพญานาคจนทำให้นักท่องเที่ยวเรือนหมื่นต่างแห่ไปชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้จนแน่นขนัดริมฝั่งลำน้ำโขง

กาษา นาคา

ละครเรื่อง กาษา นาคา

แม้แต่แวดวงฝั่งโทรทัศน์ที่ก่อนจะโด่งดังด้วย “นาคี” ตำนานความเชื่อพญานาคยังเคยถูกสร้างมาเป็นละครดังนับครั้งไม่ถ้วน เริ่มตั้งแต่ “กาษา นาคา” ที่หยิบเอาตำนานความชิงชังกันของพญานาคและพญาครุฑมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวความรักข้ามภพชาติ “มณีสวาท” “แม่โขง” ไปจนถึง “นาคราช” ละครที่สร้างมาจากบทประพันธุ์ของนักเขียนชั้นครูอย่าง “แก้วเก้า” ก็ล้วนได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากผู้ชมแทบทั้งสิ้น

ความเชื่อเรื่องพญานาค

ทั้งนี้สาเหตุที่ความเชื่อเรื่องพญานาคถูกหยิบยกเอามาทำเป็นละครหรือภาพยนตร์อย่างบ่อยครั้ง เนื่องจากพญานาคต่างมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในแถบบ้านเราตั้งแต่ทางด้านความเชื่อ เช่น พญานาคถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุน้ำและความอุดมสมบูรณ์สามารถดลบันดาลให้เกิดฝนตกได้ ซึ่งตามตำราโบราณจึงได้เรียกความเชื่อในเรื่องของการดลบันดาลฝนนี้ว่า “นาคให้น้ำ” โดยในแต่ละปีนักษัตรจะมีจำนวนนาคที่ให้น้ำแตกต่างกันออกไป (นาคให้น้ำ 1 ตัว น้ำดินจะอุดมสมบูรณ์มากที่สุด แต่ถ้าให้น้ำมากถึง 7 ตัวส่วนใหญ่จะแห้งแล้ง)

บั้งไฟพญานาค ถ่ายจากมุมสูง

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ กับการถ่ายภาพบั้งไฟพญานาคจากมุมสูงได้ด้วยโดรน ผลที่ได้จะเป็นอย่างไรไปดูกันหรือรับชมที่ความละเอียด 1080p ได้ทางนี้ครับ https://youtu.be/LwZKkalswDI

Posted by พิสูจน์บั้งไฟพญานาค on Sunday, October 23, 2016

และจากความเชื่อที่ว่าพื้นที่บริเวณแม่น้ำโขงล้วนเกิดขึ้นจากการแถตัวของพญานาค โดยในเบื้องล่างของแม่น้ำจะมีเมืองบาดาล (มีพญานาคเป็นผู้ปกครอง) เมื่อใกล้จะถึงช่วงวันออกพรรษา เหล่าพญานาคในเมืองบาดาลนี้ต่างพ่นลูกไฟเพื่อเป็นการถวายความยินดีต่อการเสด็จกลับมาจากจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราเรียกกันติดปากว่า “ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค” คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดลูกไฟลอยผุดขึ้นมาจากผิวน้ำในแถบแม่น้ำโขงช่วงใกล้ออกพรรษาของทุกปี

ความเชื่อเรื่องพญานาค

พระพุทธรูปปางนาคปรก

หรือแม้แต่ในตำนานพระพุทธศาสนา ภายหลังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว พระองค์จึงได้เสด็จออกเผยแผ่พระธรรมเทศนาไปยังดินแดนต่างๆ จวบจนพระองค์ได้นั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 วันใต้ร่ม มุจลินท์ ที่เต็มไปด้วยฝนตกและลมหนาว พญานาคนามว่ามุจลินท์จึงเข้ามาขดรอบพระวรกายและแผ่พังพานเพื่อปกป้องพระองค์ด้วยความศรัทธา จนก่อให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกและสัญลักษณ์เกี่ยวกับพญานาคตามหน้าโบสถ์ หรือบันไดวัด(นาคสะดุ้ง)ต่างๆ ตามมา

การออกแบบหลังคาและมุงกระเบื้องคล้ายเกล็ดของงูในวัด

และเพราะผู้คนต่างยึดว่าพญานาคคือสิ่งสูงส่ง จึงทำให้ผลงานทางศิลปะในแถบบ้านเราไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรือ สถาปัตยกรรมที่สำคัญๆ เพื่อสถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ล้วนมีพญานาคเป็นองค์ประกอบเพื่อแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่นั่นเอง

แม่น้ำโขง

เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของคติ ความเชื่อ และเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติเพียงเท่านั้น แต่ความศรัทธาในพญานาคถือเป็นการส่งต่อทางวัฒนธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน และถึงแม้บางสิ่งจะถูกลดทอนความเชื่อให้เบาบางลงด้วยข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปตามยุคสมัย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเชื่อทางด้านพญานาคยังคงมีมนตร์ขลังและหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมบางอย่างให้ยังคงอยู่ในบ้านเราสืบไป


เรื่องโดย: Nomad609

ภาพประกอบ: Major Cineplex

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สวมมาดเป็นคุณทศพลแล้วไปตามหาคำแก้วที่บ้านดอนไม้ป่า ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม กันเถอะ

keyboard_arrow_up