เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ทาง Academy of Motion Picture Arts and Sciences หรือ AMPAS ผู้จัดงานประกาศรางวัล Oscar ได้ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 ซึ่งมีทั้งหมด 24 สาขารางวัล และหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม (Best Animated Film) นั่นก็คือภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง The Red Turtle
The Red Turtle : เต่าแดง, La tortue rouge เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เป็นการร่วมงานกันระหว่าง (featured film) บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์จากเยอรมนีที่ชื่อ Wild Bunch และ Studio Ghibli ภายใต้การดูแลของ Isao Takahata หนึ่งในผู้ถือก่อตั้งที่อยู่เคียงคู่กับ Hayao Miyasaki มาโดยตลอด ซึ่งทาง Wild Bunch ได้เจรจาพูดคุยเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ตั้งแต่ปี 2008 แล้วได้ทาบทามให้ Michael Dudok de Wit ผู้กำกับชาวดัทช์ ที่เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นเมื่อปี 2000 จากเรื่อง Father & Daughter มากำกับโปรเจกต์ร่วมกันนี้ โดยให้ทางฝ่ายของ Studio Ghibli นำทีมโดย Isao Tahakata (Grave of the Fireflies) รับหน้าที่ดูแลการออกแบบศิลป์ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ของทางสตูดิโล หลังจากที่ได้เคยออกมาประกาศว่าจะงดผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นไปซักระยะหนึ่ง เมื่อปี 2014 และถือเป็นครั้งแรกที่ทางสตูดิโอจะผลิตภาพยนตร์ที่ไม่ใช้ผู้กำกับที่เป็นชาวญี่ปุ่น
หนังเรื่องนี้ออกแบบตัวละครและวาดภาพทั้งหมดด้วยทีมงานคนญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีเค้าโครงของความเป็นญี่ปุ่น หรือหลงเหลือเอกลักษณ์ของความเป็น Studio Ghibli ไว้เลย ด้วยโจทย์ที่ท้าทาย และเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ Michael Dudok de Wit ที่ต้องการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ออกมาให้เป็นกลิ่นไอของตะวันตก หากแต่คงไว้ด้วยความอ่อนโยนของสี ฉาก และโทนภาพ ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของ Studio Ghibli ซึ่งตัวผู้กำกับเองก็เป็นแฟนของสตูดิโอนี้มาช้านาน ส่งผลให้แอนิเมชั่นเรื่องนี้มีตัวละครที่เหมือนกับการ์ตูนช่อง (Comic Strips) ของฝรั่ง แต่เล่าเรื่องด้วยภาพที่ดูคล้ายกับนิทานภาพสำหรับเด็ก แต่ก็แฝงไว้ด้วยเรื่องราวที่มีความหมายที่ลึกซึ้ง
The Red Turtle นั้นเริ่มเรื่องราวจากเหตุการณ์เรืออับปางของชายคนหนึ่ง ที่ตะเกียกตะกายที่จะเอาชีวิตรอดทะเล ท่ามกลางกระแสคลื่นและพายุ ก่อนที่เขาจะถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่ชายหาดของเกาะร้างแห่งหนึ่ง แล้วเขาก็พยายามที่จะมีชีวิตรอดจากการอาศัยธรรมชาติที่มีอยู่บนเกาะนั้น ซึ่งแม้ว่าเขาจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลไม้ และปลาต่างๆ แต่ในใจของเขากลับรู้สึกไม่พึงพอใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่บนเกาะนี้ และทำให้เขามีความคิดที่จะต่อแพที่ทำมาจากไม้ไผ่ แล้วออกทะเลไปเพื่อกลับไปสู่แผ่นดินที่เขาได้จากมา แต่แล้วการเดินทางของเขาก็ไม่ง่ายเช่นนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เรือแพของเขาต้องแตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงทำให้เขาท้อแท้และล้มเลิกที่จะล่องเรือออกไปจากเกาะนี้ จนกระทั้งเมื่อเขาได้พบว่า ผู้ที่ทำให้เรือแพของเขาต้องจมลงคือเจ้า “เต่าสีแดง” ปริศนา ซึ่งทำให้เขาโกรธมาก และได้ส่งผลให้เขาได้ทำเรื่องราวอันเลวร้ายลงไป
ด้วยตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เป็นหนังเงียบ จะใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพ และใช้การเคลื่อนไหวของตัวละคร ที่แฝงไปด้วยเจตนาและความตั้งใจ ที่ทำให้เราสามารถใจจดใจจ่ออยู่กับเนื้อเรื่องที่ค่อยๆเล่าได้ตลอดเวลา บวกกับความรู้สึกของการค่อยๆ ซึมซับอารมณ์ของตัวละคร ที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางผู้กำกับ Michael Dudok de Wit เอง ก็เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้น จากภาพยนตร์เงียบมาแล้วด้วยเช่นกัน เขาจึงได้ใช้การเล่าเรื่องสไตล์นี้อีกครั้งกับหนังเรื่องนี้ แล้วก็ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
แม้ว่าจะไม่มีบทสนทนาใดๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่กลับไม่มีความยากใดๆ ในการเข้าใจเนื้อเรื่อง หรือเจตนาของผู้สร้าง ที่ต้องการให้ผู้ชมได้เข้าถึงความสุขของการได้มีชีวิตอยู่ของมนุษย์คนหนึ่ง ไปพร้อมๆ กับสัจธรรมของชีวิต อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้คือตัวเต็งของออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ที่มีคู่แข่งเป็นถึงหนังฟอร์มยักษ์ของสตูดิโอดิสนีย์ถึง 2 เรื่อง (Moana และ Zootopia) ซึ่งถ้าหากว่าการประกาศรางวัลสาขานี้ ทางคณะกรรมการได้เห็นถึงความสำคัญของความงดงามแบบเรียบง่ายแล้วล่ะก็ The Red Turtle ก็ถือว่ามีแนวโน้มที่สูงมากๆ ที่จะได้รับรางวัลสาขานี้เลยทีเดียว เว้นเสียแต่ว่าทางคณะกรรมการเองก็จะเล็งเห็นว่า Kubo and the Two Strings ก็ได้ใช้เวลาและความทุ่มเทให้กับความประณีตของเทคนิคแบบ stop motion ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ หนังเรื่องนี้ พลาดโอกาสที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ไป
ความเข้าใจในชีวิต และความหมายของการได้มีชีวิตอยู่ บวกกับภาพและฉากความงดงามของธรรมชาติ ที่อาจโอบอุ้มหรือทำลายเราก็ได้ คือหัวใจสำคัญของภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ เพราะทุกๆ การกระทำหรือการเคลื่อนไหวของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเล็กๆ หรือเป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่ ต่างแฝงไปด้วยความหมายและนัยยะสำคัญทั้งนั้น จึงทำให้ The Red Turtle เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่งดงามและน่าจับตามอง อีกทั้งยังมาพร้อมกับความน่ายินดี ที่ทาง Studio Ghibli ได้กลับมาผลิตภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่งด้วย