คิดถึงวิทยา

คิดถึงวิทยา (คุณ)คิดถึงอะไร

คิดถึงวิทยา
คิดถึงวิทยา

ถึงแม้หนังน้ำดี Based on true stories จากค่ายหนังอารมณ์ดี จีทีเอช จะลาโรงไปนานแล้ว แต่คำถาม “คิดถึงวิทยา…คิดถึงอะไร” ยังเป็นตะกอนนอนก้น จนเวลาผ่านไปก็เฉยๆ กับการค้นหาคำตอบนั้นซะแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ หลังอาบน้ำเสร็จในค่ำคืนที่มีฝนดาวตก จังหวะกำลังจะทิ้งตัวนอน เป็นเพราะอิทธิพลของดวงดาวหรือไร อยู่ดีดีก็มีความคิดกระตุกต่อมความอยากจะค้นหาคำตอบที่คั่งค้างอยู่ในใจ ว่าแล้วก็หยิบแผ่นดีวีดีหนังเจ้าปัญหากลับมาปัดฝุ่นเปิดดูอีกรอบ เป็นอันว่า “ความคิดถึง” กลับมาทวนคำถามเดิมอีกครั้ง

คิดถึงวิทยา

หนังเริ่มต้นเรื่องด้วยความรู้สึกเฉยๆ กับการดำเนินเรื่อง เหมือนทุกครั้งที่เปิดดูหนังเรื่องอื่นๆ เพื่อฆ่าเวลา อาศัยแค่ฟังเสียงจากหนัง แล้วนั่งดูนั่นอ่านนี่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนสลับกับการเงยหน้าดูจอทีวีเป็นระยะๆ แต่แล้วชั่วเวลาหนึ่งก็เหมือนได้รับคำตอบจากคำถามเดิมโดยไม่ตั้งใจ เมื่อตัวละครได้สื่อถึง “ความฝัน” “ค่านิยม” “อุดมการณ์” และ “ความเป็นจริง” ว่าแท้จริงแล้ว คนเราได้แต่ยึดติดใน “ความคิด” ของตัวเอง ส่วน “คิดถึงอะไร” นั้น คำตอบที่แท้จริงแล้ว สำหรับผมเอง “คิดถึงวิทยา” คือวิชาที่สอนให้เราย้อนกลับมานั่งคิดทบทวนว่า อะไรคือ “ความสุข” ที่แท้จริงในชีวิต และหนัง คิดถึงวิทยา ก็สอนให้ผมรู้ว่า เราควรเรียนรู้ที่จะมีความสุขในทุกๆ วัน มีความสุขในทุกสิ่งที่เรา “ทำ” และยอมรับในทุกสิ่งที่เรา “เป็น”

คิดถึงวิทยา

เหมือนกับ สอง ที่จับพลัดจับผลูมาเป็นครูสอนในโรงเรียนเรือนแพ เขาได้เรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวกับความเหงา ความกันดารห่างไกลเทคโนโลยี มีเพียงไดอารี่ของครูคนเก่า(ครูแอน)เป็นเพื่อน เขาต้องสวมบทบาทความเป็น ครู สอนวิชาความรู้ให้แก่ลูกชาวประมงต่างระดับชั้นเรียนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น ผ่านร้อน ผ่านหนาว และสู้กับพายุฝนที่สาดซัดเข้ามา ทั้งโรงเรียนแพและชีวิตส่วนตัวของเขา แทบพังครืน ล้มไม่เป็นท่า แต่เชื่อเถอะว่า “ฟ้าหลัง(พายุ)ฝน ย่อมสวยงามเสมอ” สุดท้ายแล้ว สอง กลับได้ค้นพบว่า “ความสุข” ของเขา คือ การเป็น “ผู้ให้” ในชีวิตจริง พร้อมที่จะพาเหล่าลูกศิษย์ไปให้ถึงฝั่งฝันและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนที่ ครูสอง-ครูแอน “ทำ” และ “เป็น”

คิดถึงวิทยา

คิดเล่นๆ ลองถามตัวคุณเองดูว่า คิดถึงวิทยา (คุณ) คิดถึงอะไร? ถ้าได้คำตอบนั้นแล้ว ขอให้คุณแบ่งปันให้คนรอบข้างได้รับรู้ด้วยละกัน

คิดถึงวิทยา

เรื่อง : The Fool
keyboard_arrow_up