ทว่า Operation Avalanche คือการตีแผ่ความจริง การเหยีบบดวงจันทร์ ก็คือการจัดฉาก
Operation Avalanche เป็นภาพยนตร์แนว mockumentary (สารคดีปลอม) ที่เล่นกับจุดบอดของ ภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ ขององค์การ NASA โดยนำข้อกังขาที่หลายคนสงสัยว่า ภารกิจนี้คือการจัดฉาก มาโยงกับเนื้อเรื่องให้กลายเป็นเรื่องจริง อีกทั้งยังมีการพาดพิงถึงผู้กำกับ Stanley Kubrick ที่เป็นผู้บุกเบิกจินตนาการเรื่อง อวกาศ ผ่านภาพยนตร์ 2001 : A Space Odyssey (1968) ในสมัยนั้น ซึ่งถ้าหากใครเป็นแฟนภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะรู้ดีว่า ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวผู้กำกับ (Kubrick) ได้มีนักวิทยาศาสตร์จาก NASA มาเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลทางอวกาศด้วย 2 คน และ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นำเอาความจริงเหล่านี้มาโยงเข้าด้วยกัน
“หนึ่งก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง หนึ่งก้าวกระโดดของมวลมนุษยชาติ” – นีล อาร์มสตรอง
จุดปักหมุดและเส้นเวลาของภารกิจเหยียบดวงจันทร์เกิดขึ้นจริง เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน จริงหรือ ?
ว่ากันว่ายุค 90’s นั้น ถือว่าเป็นยุคที่ดีต่อการใช้ชีวิตที่สุด เพราะหลายสิ่งหลายอย่างได้พัฒนาไปถึงจุดที่พอดีของมัน ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ วีดีโอเกมส์ การเริ่มต้นของยุคอินเตอร์เน็ต และวิทยาการต่างๆ ที่ล้วนเดินหน้าไปสู่จุดที่กำลังดี ไม่ล้าสมัยจนเกินไป และไม่นำสมัยจนไม่เหลืออะไรให้พัฒนาต่อ แต่ถ้าจะให้พูดถึงยุคสมัยที่เหมาะแก่การนำมาถ่ายทอดเรื่องราวและเรื่องเล่าให้คนรุ่นหลังได้ฟังแล้วนั้น ก็คงจะเป็นช่วงปลายยุค 60 เข้าสู่ยุค 70 มากกว่า นั่นก็เพราะว่าช่วงปลายยุค 1960 และต้นยุค 1970 นั้น เป็นยุคที่มนุษย์กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงเวลาฟื้นตัวหลังจากสงครามโลกได้สิ้นสุดลง หรือการกำเนิดบุปผาชนที่ฝันถึงการเรียกร้องสันติภาพ และผลพวงจากการแก่งแย่งกันเป็นขั้วอำนาจระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ สหภาพโซเวียต ใน สงครามเย็น ที่นำพาไปสู่การแข่งขันในการเดินทางสู่อวกาศ
นับหลายร้อยหลายพันปี ที่ดวงดาวบนท้องฟ้าคือ ปริศนาสำหรับมนุษย์ จนกระทั่งสหภาพโซเวียตได้ปล่อยจรวด Sputnik I ขึ้นสู่อวกาศในปี 1957 และตามด้วยการส่ง ยูริ กาการิน นักบินอวกาศคนแรกขึ้นไปสู่วงโคจรนอกโลกในปี 1961 ทำให้สหภาพโซเวียตได้กลายเป็นอันดับ 1 ของผู้นำด้านการท่องอวกาศ และส่งผลให้ชาติมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ต้องเสียหน้า กลายเป็นประเทศที่วิ่งตามหลัง และหนทางเดียวที่จะแซงหน้าสหภาพโซเวียตในตอนนั้นได้ก็คือ “การลงจอดบนดวงจันทร์” และนั่นก็เป็นจุดปักหมุดของเส้นเวลาที่ภาพยนตร์เรื่อง Operation Avalanche ได้เริ่มต้นขึ้น
“Operation Avalanche” ตีแผ่เบื้องหลังของปฏิบัติการภารกิจเหยียบดวงจันทร์
Matt Johnson แสดงเป็นตัวละครที่ใช้ชื่อของเขาเอง อีกทั้งยังเขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เองอีกด้วย เขารับบทเป็นเจ้าหน้าที่ CIA ที่ได้รับคำสั่งให้แทรกซึมตัวเข้ามาในองค์การ NASA ด้วยการปลอมเป็นทีมงานถ่ายภาพยนตร์สารคดี ร่วมกับ Owen Williams ที่แสดงเป็นเจ้าหน้าที่ CIA อีกคนหนึ่ง ที่ใช้ชื่อจริงของตัวเองในหนังด้วยเช่นกัน ทั้ง 2 คน (บวกอีก 1 ตากล้อง) ได้รับคำสั่งให้คอยรายงานความเคลื่อนไหวของโครงการ Apollo 11 ที่มีเป้าหมายในการลงจอดบนดวงจันทร์ แต่แล้วทั้งคู่ก็ได้พลิกผัน กลายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของปฏิบัติการภารกิจทั้งหมด ภายใต้ชื่อว่า “Operation Avalanche”
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าผ่านการถ่ายทำแบบ hand-held (ถือกล้องตามตัวละคร) ในลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นการถ่ายด้วยกล้องฟิลม์ (ตามยุคสมัย) กับการสอดแทรกอารมณ์ขันของ สถานการณ์ทางการเมืองในตอนนั้น บวกกับมุขตลกเฉพาะทางที่น่าจะมีแค่แฟนบอยของ Stanley Kubrick เท่านั้นที่จะเข้าใจ ทำให้หนังเรื่องนี้อาจเป็นหนังที่ขำยากไปซักนิดสำหรับ คนที่ไม่คลั่งไคล้อวกาศ และ Stanley Kubrick
แต่ถ้าหากมองในมุมของงบประมาณในการสร้างที่ไม่มากนัก และการเขียนบทของ Matt Johnson และ Josh Boles ที่ถือว่ายังใหม่ในวงการภาพยนตร์ ก็จะพบว่า “Operation Avalanche” เป็นหนังฟอร์มเล็กที่แฝงอะไรไว้มากมาย นอกเหนือไปจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้เปิดตัวฉายในงานเทศกาลหนัง Sundance Film Festival และได้รับกระแสวิจารณ์โดยรวมในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีอีกด้วย
Operation Avalanche อาจทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นความสำเร็จที่ไม่คาดคิดของพวกเขา ไม่ต่างอะไรกับ นีล อาร์มสตรอง ที่เขาเองก็ไม่เคยคาดคิดว่า เขาจะได้ไปเหยียบบนดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน
Photo : nangdee.com, vulture.com