MUSIC SLICE : Paradox 20 ฤดูร้อน 20 ฤดูฝน

Paradox กลับมาเล่นใหญ่ อัลบั้มใหม่จัดเต็ม 52 เพลง

MUSIC SLICE : Paradox 20 ฤดูร้อน 20 ฤดูฝน
MUSIC SLICE : Paradox 20 ฤดูร้อน 20 ฤดูฝน

Paradox ผ่านร้อน ผ่านฝนมา กว่า 20 ปี กลับมาคราวนี้ มีอะไรสนุกๆ รออยู่

จากประสบการณ์การทำงานของผม ทุกครั้งก่อนที่ Paradox (วงพาราด็อกซ์) จะขึ้น ไม่ว่าคอนเสิร์ตเล็กหรือใหญ่ นอกเหนือไปจากสมาชิกคนอื่นๆ ของวงที่มีมากมายแล้ว ภาพที่เห็นจนชินตาก็คือ ภาพของ พี่ต้า พี่บิ๊ก พี่สอง พี่โจอี้ สมาชิกหลักของวง บรรจงเซ็นลายเซ็นด้วยปากกามาร์กเกอร์ลงบนของที่จะเอามาแจกทีละชิ้นๆ ซึ่งแต่ละครั้งที่โชว์ ของที่เอามาแจกมีมากกว่า 40 – 100 ชิ้น และไม่ว่าจะเป็น ลูกโป่ง หรือพวกของเล่นต่างๆ ทุกชิ้นล้วนมีลายเซ็นของสมาชิกในวงพาราด็อกซ์ทั้งสิ้น นับว่าเป็นภาพที่แปลกประหลาดและทำให้รู้สึกประทับใจอย่างบอกไม่ถูก นอกเหนือไปจากนี้วงพาราด็อกซ์ยังมีสไตล์การแสดงสดที่แปลก แหวกแนว และไม่เหมือนใคร ที่ผสมปนเประหว่างความสนุกและความบ้าคลั่ง นอกเหนือไปจากนั้นทุกๆ ที่ ที่วงพาราด็อกซ์ไปจะมีกลุ่มแฟนเพลงที่เหนียวแน่นไปรอชมการแสดงเสมอและเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

MUSIC SLICE : Paradox 20 ฤดูร้อน 20 ฤดูฝน

รู้หรือไม่? ก่อนจะมาใช้ชื่อวงว่า Paradox พวกเขาเคยตั้งชื่อวงว่า  ”หอยจ้อ” มาก่อน

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ วงพาราด็อกซ์ เริ่มทำสตูดิโออัลบั้ม และมากกว่านั้นหากจะนับตั้งแต่ก่อตั้งวง (ชื่อวงในตอนแรกของพาราด็อกซ์คือวง หอยจ้อ) สไตล์เพลงของ วงพาราด็อกซ์ มีความชัดเจนเสมอ คือมีทั้ง ความป๊อป และความไม่เหมือนใคร ผสมผสานกันอยู่ในนั้น จากอัลบั้มแรก Lunatic Planet (พ.ศ. 2539) ที่ออกภายใต้สังกัด Intern Sky Records ก่อนจะมาออกสตูดิโออัลบั้มอีกทีภายใต้สังกัดของ Genie Records อัลบั้ม Summer (พ.ศ.2543) ซึ่งถือว่าเป็นอัลบั้มที่ทำให้คนจำนวนมากได้รู้จักกับ วงพาราด็อกซ์ ด้วยเพลงอย่าง น้องเปิ้ล และ ฤดูร้อน ทั้ง 2 เพลงนี้ทำให้ วงพาราด็อกซ์ กลายเป็นวงดนตรียอดนิยมตั้งแต่ตอนนั้น

MUSIC SLICE : Paradox 20 ฤดูร้อน 20 ฤดูฝน

จากทั้งหมด 6 สตูดิโออัลบั้ม 5 อัลบั้มรวมฮิต และ 3 อัลบั้มใต้ดิน วงพาราด็อกซ์ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 20 ของการทำงาน

ห่างหายจากการออกอัลบั้มไป 5 ปี พอกลับมาคราวนี้จึงประกาศว่าจะออกอัลบั้มที่มีทั้งหมด 52 เพลง และจะทำออกมาเป็น 3 ซีดีพร้อมของแถมต่างๆ เสมือนเป็นการย้ำว่า ความบ้าของพาราด็อกซ์นั้น ยังคงมีล้นเหลือตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ โดยเมื่อวานนี้ (วันที่ 14 กันยายน) วงพาราด็อกซ์ ได้ปล่อยเพลง ฤดูฝน” ออกมา โดยมีที่มาว่าเพลงๆ นี้คือ ภาคต่อของเพลง ฤดูร้อน” ที่ทำให้แฟนเพลงหลายๆ คนได้รู้จักกับพวกเขา โดยตัวเพลงได้ทำ MV ออกมาเป็น 2 เวอร์ชั่น โดยใช้ชื่อว่า ฤดูฝน (ของเขา) และ ฤดูฝน (ของเธอ) ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่แปลกมากในยุคที่ศิลปินส่วนใหญ่ต้องการรวมรวมยอดวิวไว้ให้ได้มากที่สุดในคลิปวิดีโอเดียว

คลิกชม MV ฤดูฝน (ของเขา)

ฤดูฝน เล่าเรื่องต่อจาก ฤดูร้อน ด้วยแนวเพลงที่แตกต่าง

ฤดูฝน เป็นเพลงแรกของอัลบั้ม Before Sunrise After Sunset” มีสไตล์เพลงที่เป็น pop rock ช้าๆ ที่ผสมความเป็นเรโทรและซาวนด์สังเคราะห์ลงไปในเพลง ซึ่งสไตล์เพลงแบบนี้อาจไม่ใหม่มาก หากเปรียบเทียบกับเพลงของ Polycat ที่ทำออกมาในช่วงระยะหลังๆ แต่สิ่งที่เด่นที่สุดของเพลง ก็คงจะเป็นตัวเนื้อหาและการร้องของ พี่ต้า ที่ฟังแล้วมีเสน่ห์โดนใจอย่างมาก และทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเพลงของคนที่กำลังอยู่ในห้วงของความรักในฤดูฝนจริงๆ จุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเพลงๆ นี้ก็คือ แม้ว่า พาราด็อกซ์ จะยึดเอาเพลง ฤดูฝน นี้ ด้วยการเล่าเรื่องต่อจากเพลง ฤดูร้อน ซึ่งเป็นเพลงที่ดังมากของวง แต่ พาราด็อกซ์ เองก็ไม่ได้มีความกังวลที่จะต้องยึดสไตล์เพลงหรือกลิ่นอายเพลงเดิมไว้เลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เพราะทุกวันศิลปินหลายคน(และหลายวง) มักกังวลว่าการทำเพลงที่แตกต่างจากเดิม จะทำให้เสียกลุ่มคนฟังเดิมที่ชื่นชอบผลงานของตน เราจึงมักเห็นเพลงที่ 2 ของวงใหม่ๆ (หรือวงเก่าๆ) ที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่การกล้าที่จะทำอะไรที่ใหม่และแตกต่างของ พาราด็อกซ์ ถือว่าเป็นสิ่งที่หายากมากในวงการเพลงในปัจจุบัน และนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดาของวงพาราด็อกซ์อยู่แล้ว

คลิกชม MV ฤดูฝน (ของเธอ)

วงพาราดอกซ์ กลับมาคราวนี้ หวังกลับสร้างคุณค่าให้ผลงาน และดึงความศรัทธาให้วงการเพลงไทย

อัลบั้ม “Before Sunrise After Sunset” นั้น ได้กำหนดไว้ว่าจะทำออกมาเพียง 3,500 ก็อปปี้ ซึ่งก็ถือว่าไม่มากไม่น้อยสำหรับยุคนี้ และได้กำหนดราคาไว้แค่ 599 บาทเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าไม่แพงมาก หากมองว่า อัลบั้มนี้ มีทั้งหมด 3 ซีดี และมีเพลงทั้งหมด 52 เพลง ซึ่งสามารถรับประกันได้ว่าเพลงทั้งหมดใน 3 ซีดีของ วงพาราด็อกซ์ จะเต็มไปด้วยสีสันและสิ่งที่เกินความคาดหมายแน่นอน และถือว่านี่คือผลงานน่าสะสมของวงที่มีประวัติทางดนตรีมายาวนาน พร้อมกับของแถมต่างๆ ที่ทางวงและค่ายพยายามจะมอบให้ ดังนั้นการที่ทางค่ายตั้งราคาไว้ที่ครึ่งพันนิดๆ จึงสามารถเห็นได้ชัดว่าทางศิลปินและค่ายตั้งใจที่จะให้แฟนเพลงมีอัลบั้มนี้เก็บไว้ มากกว่าจะขายเพื่อหวังผลกำไร เพราะทุกวันนี้เราต่างก็รู้ดีว่าคนไทยเรานั้น ชอบที่จะฟังเพลงด้วยการคลิกฟังฟรีๆ มากกว่าการที่จะต้องมาลงทุนซื้อมาเก็บไว้ โดยไม่รู้ว่าจะแกะออกมาใส่เครื่องเล่นซีดีฟังเมื่อไหร่

ถือว่า นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายของวง เพราะ Paradox กล้าที่จะทำให้แฟนเพลงเห็นคุณค่าของการเก็บรักษาผลงานที่ตั้งใจฟัง และไม่แน่ว่านี่อาจเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนเพลงที่ดี ที่จะทำให้อนาคตของวงการเพลงไทยพัฒนาก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้ในอนาคต


Photo : แฟนเพจ พาราด็อกซ์

keyboard_arrow_up