Godzilla สัตว์ประหลาดร่างยักษ์ ถือกำเนิด เพื่อทำลายล้างที่คาดเดาไม่ได้ เปรียบเสมือนกับ อานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์ ที่สร้างความเสียหายให้กับ มวลมนุษยชาติ
ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ของ Godzilla นั้น ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ pop culture ญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์และบาดแผลที่เกิดจากมันนั้นก็ยังคงอยู่
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1945 ประเทศญี่ปุ่นถูกอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูก ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้บ้านเมืองพังพินาศ และมีคนตายมากกว่า 1 แสนคน ส่งผลให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ต่อสงคราม และเป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 บนคาบสมุทรแปซิฟิก หลงเหลือไว้ให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับบทเรียนและเรียนรู้บาดแผลจากการทำลายล้างของอาวุธปรมาณู
หลังสงครามจบ ประเทศญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงกับอเมริกาที่จะไม่มีกองทัพหรือกองกำลังทหารใดๆ อีกต่อไป โดยจะมีกองทัพอเมริกามาสร้างฐานทัพปักหลักในประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวประเทศญี่ปุ่นเองก็มีได้แค่เพียงกองกำลังตำรวจ และกองกำลังป้องกันตนเอง ที่มีไว้เพียงเพื่อรักษาความสงบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ต้นกำเนิด “ก๊อดซิลล่า” บนจอภาพยนตร์
การที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ต้องมาสนใจในเรื่องของกองกำลังทหารอีกต่อไป ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูประเทศและพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาได้หลงลืมความสูญเสียและความเจ็บปวดจากสงครามที่ผ่านมานั้น และอีก 9 ปีต่อมา ภาพลักษณ์ของ “ก๊อดซิลล่า” บนจอภาพยนตร์จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
ในปี 1954 ภาพยนตร์เรื่อง “ก๊อดซิลล่า” ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีภาพลักษณ์ของ ก๊อดซิลล่า เป็นสัตว์ประหลาดร่างยักษ์ ที่เกิดมาจากผลกระทบของการทดลองนิวเคลียร์ ลักษณะคล้ายไดโนเสาร์ที่ยืน 2 ขา ที่ขึ้นมาจากทะเลเพื่อ ทำลายบ้านเมือง ความยิ่งใหญ่ของ ก๊อดซิลล่า ที่มาพร้อมกับพลังทำลายล้างที่คาดเดาไม่ได้ เปรียบเสมือนกับอานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์ ที่สร้างความเสียหายให้กับมวลมนุษย์
“ก๊อดซิลล่า” ไม่ใช่ภาพยนตร์สัตว์ประหลาดเรื่องแรกของญี่ปุ่นหรือของโลก เพราะภาพยนตร์สัตว์ประหลาดเรื่องแรกของโลกจริงๆ แล้ว คือภาพยนตร์เรื่อง King Kong ของอเมริกาที่ทำออกมาในปี 1933 และญี่ปุ่นก็ทำ ภาพยนตร์คิงคอง ออกมาลอกเลียนแบบ โดยใช้ชื่อว่า Wasei Kingu Kongu ที่แปลว่า “คิงคองญี่ปุ่น” แถมยังมีภาคต่อเป็น “คิงคองตะลุยยุคเอโดะ” ที่ออกมาในปี 1938 อีกด้วย ทั้ง 2 เรื่องนี้ถือว่าเป็นภาพยนตร์สัตว์ประหลาดเรื่องแรกๆ และได้หายสาบสูญไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือไว้เพียงแค่ภาพถ่ายและโปสเตอร์ของหนังเท่านั้น
จากวันนั้นมา 62 ปี ก๊อดซิลล่า ถูกทำออกมาเป็นภาพยนตร์ทั้งหมด 30 เรื่อง ในจำนวนนั้นมีการถูกนำมาทำใหม่โดย อเมริกา 2 ครั้ง คือ ในปี 1998 โดย Roland Emmerich (ผู้กำกับ ID4) และในปี 2014 โดย Gareth Edwards (ผู้กำกำกับ Rogue One : A Star Wars Story ที่กำลังจะฉายปลายปี)
ตลอดระยะเวลา 62 ปี ภาพลักษณ์ของ “ก๊อดซิลล่า” แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้รูปลักษณ์จะแปรเลี่ยน หรือ ถูกดัดแปลงไปบ้าง แต่ตัวตนของมันก็ยังคงเป็น สัตว์ประหลาดร่างยักษ์ ที่เกิดมาเพื่อทำลายล้างเหมือนเดิม และมนุษย์ก็มีหน้าที่หวั่นกลัวและรับมือความเสียหายที่เกิดจากมัน ทำให้ “ก๊อดซิลล่า” เป็นเพียงตัวละครสมมุติในภาพยนตร์ ที่มาพร้อมกับหายนะที่ยากจะรับมือได้ในความเป็นจริง
จนกระทั้งบริษัท Toho ได้นำมันกลับมาปัดฝุ่น และทำมันขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า Shin Godzilla
การกลับมาของ “ก๊อดซิลล่า”
Shin Godzilla เป็นการนำ ก๊อดซิลล่า ปี 1954 กลับมาเล่าใหม่ในสไตล์ของยุคปัจจุบัน ผ่านการเล่าเรื่องโดย Hideaki Anno (ผู้กำกับการ์ตูน Evangelion) และ Shinji Higuchi (ผู้กำกับ Attack on Titan 1 – 2) ซึ่งถือว่าเป็น กุญแจสำคัญ ที่ทำให้ภาพยนตรเรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์ ก๊อดซิลล่า ที่เคยทำมา 30 เรื่องก่อนหน้านี้ การเล่าเรื่องของ Anno ไม่ได้เน้นการเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของ ก๊อดซิลล่า แต่กลับเล่าถึงวิธีการของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ต้องรับมือกับ ก๊อดซิลล่า ขนาดมหึมาที่เกิดขึ้นมาจาก ผลกระทบของ นิวเคลียร์ ด้วยการแก้ปัญหาบนรากฐานของ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดเสน่ห์ใหม่ของภาพยนตร์สัตว์ประหลาดที่ไม่เคยมีมากก่อน ด้วยพื้นฐานที่โครงเรื่อง Evangelion ที่ Anno กำกับนั้น เป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ต้องต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว ที่ใช้การเล่าเรื่องแบบ sci-fi ด้วยข้อมูลของวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง ทำให้ Shin Godzilla กลายเป็นหนังจริงจังที่แฝงตลกร้ายของมนุษยชาติอยู่ บวกกับการกำกับร่วมของ Shinji Higuchi ที่เชี่ยวชาญเรื่อง Visual Effect จึงได้ความลงตัวในเรื่องของภาพ และเพิ่มความลงตัวให้กับหนังเรื่องนี้
ตลอดระยะเวลา 62 ปีที่มนุษย์เราต้องรับมือกับ ก๊อดซิลล่า คงไม่ต่างอะไรกับระยะเวลา 71 ปีที่เรายังคงต้องหวั่นกลัวและหาวิธีรับมือกับ อาวุธนิวเคลียร์ ที่ครอบครองโดย ประเทศมหาอำนาจ ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ของก๊อดซิลล่านั้น ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ pop culture ญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ความน่ากลัวของ อาวุธนิวเคลียร์ และบาดแผลที่เกิดจากมันนั้นก็ยังคงอยู่ และถ้าหากว่าเราไม่สามารถที่จะหาวิธีจัดการหรือรับมือกับมันได้ อาวุธนิวเคลียร์ก็คงไม่ต่างอะไรจาก ก๊อดซิลล่า ที่พร้อมที่จะทำลายชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ต่อไปเรื่อยๆ จนไปถึง 10 ปี หรืออีก 100 ปีในอนาคต
Photo : Sahamongkol