กระเป๋านักเรียนใบโตกับการเดินทางแสนห่างไกลที่อยู่ของเด็กๆ ในประเทศแอฟริกากลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ บริษัท Startup “Rethaka” ริเริ่มความคิดเพิ่มโอกาสเข้าถึงพลังงานสำหรับชุมชนที่ห่างไกลมากขึ้น ผนวกกับเป็นการส่งเสริมอุปกรณ์เพื่อการศึกษาให้กับเด็กๆ ด้วยกระเป๋ารีไซเคิลที่พ่วงด้วยการฝังแผงโซล่าเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กภายใต้สินค้าที่ชื่อว่า “Repurpose”
ให้เด็กๆ สะพายกระเป๋าแผงโซล่าไปพร้อมๆ กับการเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์จากกระเป๋ารีไซเคิลที่ทำจากถุงซื้อของทั่วไป ถักทอเป็นเนื้อผ้าเส้นใยพลาสติก จากนั้นนำแผงโซล่าเซลล์ติดตั้งบริเวณกระเป๋าด้านหน้าส่วนบน พลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บได้ขณะเดินทางไป-กลับโรงเรียนสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าให้ความสว่างสูงสุดที่ 12 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กๆได้ทบทวนบทเรียนในยามค่ำคืนโดยไม่ต้องใช้น้ำมันก๊าด พร้อมเพิ่มความปลอดภัยด้วยแผ่นสะท้อนแสงช่วยให้เด็กปลอดภัยขณะเดินบนท้องถนนในช่วงเช้ามืด ที่สำคัญไม่ว่าฝนจะตกมากน้อยแค่ไหน กระเป๋าใบนี้สามารถกันน้ำปกป้องหนังสือที่อยู่ด้านในได้ นอกจากนี้ยังสร้างรายได้เสริมให้กับชาวพื้นเมืองเพราะทุกชิ้นของกระบวนการผลิตกระเป๋าใบนี้เป็นกระเป๋าทำมือจากคนในชุมชน
ไม่เพียงแต่ “Rethaka” จะเป็นผู้สนับสนุนหลัก บริษัทยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาบริจาคในนามบริษัทหรือส่วนบุคคลก็ได้ โดยจัดหาโรงเรียนที่ขาดแคลนด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนโดยเฉพาะกับนักเรียนที่เดินทางไกลมาเรียนหนังสือ แล้วจับคู่โรงเรียนกับผู้สนับสนุน จากนั้นทีมงานจะจัดงานมอบกระเป๋าโซล่าเซลล์เพื่อให้ผู้สนับสนุนมอบ Repurpose Schoolbags โดยตรงกับนักเรียน
และนี่คืออีกหนึ่งแนวคิดในการใช้ความคิดสร้างสรรค์บวกนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเด็กในประเทศแอฟริกา แนวคิดดีๆที่แสดงให้เห็นว่า งานออกแบบสามารถเข้าไปแก้ปัญหาพร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้