5 ร้าน กระเป๋าผู้ชาย ในกรุงเทพฯ คุ้มเงิน คุ้มค่า น่าซื้อ

5 ร้าน กระเป๋าผู้ชาย ในกรุงเทพฯ คุ้มเงิน คุ้มค่า น่าซื้อ

ถ้าพูดถึงกระเป๋าติดตัวดีๆ สักใบสำหรับผู้ชาย หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว ขอแค่ใส่ของได้ สะพายไปไหนต่อไหนได้ จุของได้มากเป็นพอ แต่ใครว่ากระเป๋าเป็นแค่เรื่องที่ผู้หญิงใส่ใจ ผู้ชายอย่างเราก็ต้องการกระเป๋าดีๆ สักใบเช่นกัน และนี่คือ 5 ร้านกระเป๋าผู้ชายในกรุงเทพฯ ที่เราอยากแนะนำให้คุณไปซื้อมาใช้ รับรองไม่ผิดหวัง

  1. FREITAG

แบรนด์จากสวิสเซอร์แลนด์ แบรนด์นี้อาจจะไม่ใช้แบรนด์ mass ที่เห็นคนใช้เกลื่อนกล่านในตลาด หลายคนอาจมองว่าคนเล่น FREITAG คืออีกกลุ่มคนที่มีรสนิยมต่างออกไป แต่ถ้าคุณได้รู้ว่า FREITAG นั้นเป็นกระเป๋าที่ทนแค่ไหน คุณอาจจะสนใจมากขึ้น ความพิเศษคือทุกใบจะมีชิ้นเดียวในโลก และนับเป็นเวลากว่า 24 ปี ที่ FREITAG เริ่มต้นผลิตกระเป๋าจากวัสดุใช้แล้วไม่ว่าจะเป็นผ้าคลุมรถบรรทุก ยางในล้อจักรยาน และสายคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อนำมาแปรสภาพเป็นกระเป๋าที่มีเพียงใบเดียวในโลก ซึ่งในปัจจุบันทางแบรนด์มีกระเป๋าให้เลือกมากกว่า 70 รูปแบบ และยังคงพัฒนารูปแบบการใช้งานกระเป๋ามาให้เหมาะกับประเภทของคนด้วย ไม่ว่าจะเป็น Tote bag, messenger bag หรือแม้กระทั่งกระเป๋าสำหรับนักเดินทาง

พิกัด: FREITAG Store Bangkok by PRONTO สยามสแควร์ ซอย 7

  1. PORTER

คนไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้จักแบรนด์นี้ แต่ถ้ามีโอกาสสักครั้งไปเยือนญี่ปุ่น คุณจะต้องสะดุดตากับเจ้าแบรนด์นี้ไม่มากก็น้อย เพราะมันไม่ได้มีขายเฉพาะในห้าง แม้แต่ตามถนนหนทางแหล่งช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว เราก็แทบจะเห็นวางจำหน่ายเต็มไปหมด รวมถึงมักจะเห็นหนุ่มๆญี่ปุ่นใช้กระเป๋า PORTER อยู่แทบทุกมุมเมือง “PORTER” เป็นแบรนด์กระเป๋าเก่าแก่ที่มีอายุถึง 80 ปี กลายเป็นแบรนด์กระเป๋าสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น จนถึงนักธุรกิจ ทุกคนมักจะมีกระเป๋า PORTER สำหรับใช้งาน โดยเฉพาะในยุคแห่งสตรีทแฟชั่นที่ต้องการความคล่องตัว ทำให้กระเป๋า PORTER ยิ่งได้รับความนิยม จากแฟชั่นนิสต้ารุ่นใหม่ๆ ด้วยคุณภาพการตัดเย็บ วัสดุที่ใช้ การออกแบบที่ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองการใช้งานจริง จึงทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน

ถ้าจะให้เล่าตำนานอันเก่าแก่ของกระเป๋าแบรนด์นี้ ย้อนกลับไปที่ปี 1935 ที่บริษัท Yoshida  ต้องการผลิตกระเป๋าที่มีคุณภาพสูง high quality “Japan Made”และผลิตด้วยฝีมือของช่างญี่ปุ่นขนานแท้ทุกใบ โดยคำว่า PORTER มาจาก พนักงานที่ถือกระเป๋าในโรงแรม แน่นอนว่าเมื่อผลิตในญี่ปุ่น ราคาของกระเป๋าจึงมีราคาค่อนข้างสูง แต่รับรองว่าทนใช้ได้นาน

พิกัด: ชั้น G/F สยามดิสคัฟเวอรี่

 

  1. Container

เราเห็นแบรนด์ต่างชาติเข้ามาทำกำไรในประเทศก็มาก แต่แบรนด์นี้คุณจะไม่รู้จักไม่ได้ “CONTAINER” แบรนด์เครื่องหนังสัญชาติไทย ก่อตั้งในพ.ศ. 2553 โดยได้รับแรงบันดาลใจในการผลิตจากเส้นสายที่เรียบง่ายของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นและงานดีไซน์จากแสกนดิเนเวีย โดยเน้นความละเอียดของงานฝีมือ ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดในการทำกระเป๋าแต่ละใบ เช่นหนังฟอกฝาดจากโรงฟอกหนังในอิตาลี ผ้าแคนวาสจากญี่ปุ่นและในประเทศ ประกอบกับช่างผลิตมีประสบการณ์ด้านเครื่องหนังมายาวนาน จึงไม่แปลกใจเลยที่คุณภาพจะดีกว่าหรือเทียบเท่าแบรนด์ชั้นนำได้ CONTAINER ตอบโจทย์ชายหนุ่มที่นิยมแฟชั่น ชอบใช้ของไม่ตกซีซั่น และอินเทรนด์ตลอดเวลา ที่สำคัญเน้นลูกค้ากลุ่มผู้ชายโดยเฉพาะ แน่นอนว่าช่องใส่ของด้านในกระเป๋ายังถูกออกแบบมาเพื่อเสียบปากกา เก็บของหรือซ่อนเงินก็ยังได้

พิกัด:

ชั้น 3 The Selected, สยาม เซ็นเตอร์

ชั้น 5 Zen Department Store at The Central World

ชั้น 2  The Emporium, สุขุมวิท

Lapas

  1. LAPAS

แบรนด์กระเป๋าหนังชั้นเลิศสำหรับผู้ชายระดับพรีเมี่ยม ถือเป็นกระเป๋าขนาดกลางที่ไม่ธรรมดาก่อตั้งเมื่อต้นปี 2014 โดยนำไปร่วมจัดแสดงไกลถึงสัปดาห์แฟชั่นในกรุงปารีส ทั้งหมดนี้ต้องยกเครดิตให้ ลภัส เมฆรักษาวนิช ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ สิ่งที่ทำให้ Lapas แตกต่างจากแบรนด์อื่นก็คือ การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ รวมถึงขั้นตอนการผลิต ที่มีโรงงานเป็นของตัวเอง จึงเป็นข้อได้เปรียบในการทดลองและคิดค้นพัฒนาวิธีการผลิตกระเป๋าจากวัสดุที่แตกต่างกัน โดยมีกลุ่มลูกค้าคือผู้ชายที่รักคุณภาพและใส่ใจในภาพลักษณ์ ด้วยลักษณะของลภัสมีความหลากหลายผสมกัน ทั้งความเป็นวิศวะ อินทีเรียร์ แฟชั่น ทำให้กระเป๋ามีส่วนที่ไม่เหมือนกระเป๋าปกติซะทีเดียว พยายามทดลองทำอะไรใหม่ๆ พยายามหาอะไรใหม่ๆ มาเติมให้กับโรงงานผลิตของที่ไม่เหมือนทั่วไปขึ้นมา จนได้เป็นกระเป๋าสุด Unique เทียบเท่ากับแบรนด์ชั้นนำได้

พิกัด : ชั้น 2 สยามพารากอน

mcm

  •    MCM

เราเห็นดาราเกาหลีใช้เยอะมาก แต่ไม่จำเป็นหนิว่าคุณต้องเป็นติ่งเกาหลีก็ใช้มันได้ เพราะความไม่ธรรมดาของแบรนด์ที่ชื่อว่า MCM หรือมีชื่อจริงว่า Mode Creation Munich ก่อตั้งโดย Michael Cromer จากเมืองมิวนิกของประเทศเยอรมันเมื่อปี 1975  ในตอนแรกมีชื่อว่า Michael Cromer Munich โลโก้ของแบรนด์เป็นสัญลักษณ์ของกรีกที่หมายถึงชัยชนะและความสำเร็จ แต่ต่อมาได้ย้ายสำนักงานไปยังเมืองซูริกประเทศสวิส ซึ่งเน้นการผลิตสินค้าเครื่องหนังในระดับ Hi-End เรียกได้ว่าเป็น Crafts luxury leather goods

ต่อมาในปี 1994 ได้ถูกซื้อกิจการโดย Sung-Joo Kim ที่เป็นคนเกาหลี ซึ่งมาอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท Sungjoo Design และในปี 2005 ก็ได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Mode Creation Munich ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน แบรนด์นี้ไม่เพียงแต่มีแค่กระเป๋าหรือเป้สะพายหลัง แต่ก็ยังมี เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนังหลากหลายชนิดให้ได้เลือก ลายที่อยู่บนแผ่นหนังของ MCM จะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง รวมถึง Logo ที่ถูกสกรีนอยู่บนแผ่นหนังนั้นจะเรียบ และฝังอยู่ในแผ่นหนังราวกับเป็นเนื้อเดียวกัน นอกจากนี้ stud หรือหมุดของ MCM จะมีปลายที่แหลมกว่าของลอกเลียนแบบ รวมถึงงานเดินด้ายและข้อต่อส่วนอื่น ดังนั้นก่อนที่เราจะเสียเงินซื้อ อย่าลืมเช็คให้ดีในกรณีฝากหิ้ว แต่ถ้าอยากได้ของแท้ราคาย่อมเยาว์ไปที่นี่

พิกัด: ชั้น M สยามพารากอน

keyboard_arrow_up