รู้จัก “ลมหนาว” ที่กำลังจะพัดมาดีพอหรือยัง

The Stories เพราะโลกนี้ยังมีเรื่องเล่า : ลมหนาว

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน หลายคนคงตั้งหน้าตั้งตาคอยลมเย็นๆ ให้พัดพาความร้อนกาย ร้อนใจ พร้อมร้องเพลงประจำฤดูอย่างเพลง ลมหนาว ของศิลปิน Tea for Three เพลงที่ใครหลายคนจดจำท่อนฮุกและร้องตามได้จนติดปาก

“ลมหนาวมาเมื่อใด ใจฉันคงยิ่งเหงา คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร ลมหนาวมาเมื่อใด กลัวฉันกลัวขาดใจ เพราะหัวใจที่มันอ่อนไหว ไม่เคยได้รักจากใคร…เสียที”

แหม่! จะดีกว่านี้ ถ้ามีใครสักคนมานั่งสัมผัสลมหนาวอยู่เคียงข้างกัน จริงไหม

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก ลมที่พัดในประเทศไทย กันก่อน โดยเราจะยึดตามระยะเวลาที่พัดเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

ลมหนาว1.ลมประจำเวลา

เป็นลมที่พัดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในรอบวันอย่างเด่นชัด มีความรุนแรงไม่มากนัก เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ลมเฉื่อย (Breeze)” แบ่งย่อยๆ ได้ 4 ชนิด คือ

  • ลมบก (Land Breeze) เป็นลมที่พัดตามบริเวณชายฝั่งทะเลในตอนกลางคืน โดยพัดจากชายฝั่งลงสู่ทะเล ตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนกระทั่งถึงเวลา 10.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
  • ลมทะเล (Sea Breeze) มีลักษณะเป็นลมเย็นที่พัดในตอนกลางวัน โดยพัดจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่ง ตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีกำลังแรงขึ้นในตอนบ่าย และจะสิ้นสุดลงเมื่อดวงอาทิตย์ตกประมาณเวลา 21.00 น. ลมทะเลสามารถพัดลึกเข้าไปในภาคพื้นดินห่างจากชายฝั่งราว 70 กิโลเมตร
  • ลมภูเขา (Mountain Breeze) เป็นลมเฉื่อยที่พัดตามแดนภูเขาในตอนกลางคืน โดยพัดลงมาตามลาดเขา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมีความรุนแรงกว่าลมหุบเขาที่พัดในตอนกลางวันราว 6 เท่า
  • ลมหุบเขา (Valley Breeze) เป็นลมที่พัดเย็นในตอนกลางวัน และช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าว ลมหุบเขาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ลมพัดขึ้นลาดเขา”

ลมหนาว2.ลมประจำฤดูกาล

เป็นลมที่พัดเด่นชัดในช่วงฤดูใดฤดูหนึ่งในรอบปี ซึ่งลมประจำฤดูที่พัดอยู่ในประเทศไทย คือ ลมมรสุม มีอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศในประเทศไทยมาก แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

  • ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ลมมรสุมฤดูร้อน” ถ้าเป็นสภาพอากาศเป็นตามปกติ ลมชนิดนี้จะพัดเด่นชัดมากในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เนื่องจากลมประจำฤดูชนิดนี้พัดผ่านภาคพื้นสมุทรจึงมีคุณสมบัติเป็นลมอุ่นและชุ่มชื้น ดังนั้นเมื่อประเทศไทย อยู่ภายใต้อิทธิพลของ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้สภาพลมฟ้าอากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกตลอดทั้งฤดู
  • ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมประจำฤดูที่มีช่วงระยะเวลาสั้นกว่า แต่มีความเร็วมากกว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ลมมรสุมฤดูหนาว” มีคุณสมบัติเป็นมวลอากาศเย็นและแห้ง ดังนั้นเมื่อพัดผ่านประเทศไทยจะทำให้อุณหภูมิของอากาศลดลงและ สภาพลมฟ้าอากาศทั่วไปแห้งแล้ง ลมมรสุมชนิด นี้จะเริ่มพัดอย่างเด่นชัดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าโดยทั่วไปแล้วเราจึงลมในช่วงนี้ว่า “ลมหนาว” ตามชื่อเพลงข้างต้นนั่นแหละครับ

ลมหนาว3.ลมประจำถิ่น หรือ ลมแปดทิศ

ลมประจำถิ่นที่พัดอยู่ในประเทศไทย หรือชาวบ้านเรียกกันว่า ลมแปดทิศ นั้นมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามพื้นถิ่นดังนี้

  • ลมตะเภา เอ๊ะ! ลมชนิดนี้เกี่ยวอะไรกับ อู่ตะเภา หรือเปล่า ตามมาอ่านกันต่อเลย ลมตะเภา เป็นลมเย็นชนิดหนึ่งที่พัดจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่งจากทิศใต้ ในช่วงวันที่ 1 เมษายน ไปจนถึง 15 พฤษภาคม รวม 45 วัน โดยจะเริ่มพัดในราวเวลา 11.00 น. และพัดแรงขึ้น จะลดลงในราวเวลา 23.00 น. จนถึงเวลา 24.00 น. ลมชนิดนี้จะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองตกในภาคกลาง จากการที่ลมนี้พัดจากอ่าวไทยเข้าสู่ชายฝั่ง จึ่งช่วยพาเรือสำเภาที่มาค้าขายในประเทศไทยเข้าเทียบท่าเรือ บริเวณก้นอ่าวไทย ชาวบ้านจึงเรียกลมนี้ว่า “ลมตะเภา” หรือ “ลมพัทยา” ซึ่งพัดเด่นชัดมากในแถบชายฝั่งแห่งนี้
  • ลมสลาตัน พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงวันที่ 16 พฤษภาคม ไปจนถึง 30 มิถุนายน รวม 46 วัน
  • ลมตะวันตก พัดมาจากทิศตะวันตก ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม ไปจนถึง 15 สิงหาคม รวม 46 วัน
  • ลมพัดหลวง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลมตะโก้ พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม ไปจนถึง 30 กันยายน รวม 46 วัน
  • ลมอุตรา พัดมาจากทิศเหนือ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม ไปจนถึง 15 พฤศจิกายน รวม 46 วัน โดยจะพัดเป็นครั้งคราว ทำให้เกิดฝนตกฟ้าคะนอง อากาศแปรปรวนหลายวัน
  • ลมว่าว เป็นลมเย็นที่พัดลงมาตามลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นลมที่พัดนำลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 16 พฤศจิกายน ไปจนถึง 31 ธันวาคม รวม 46 วัน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับ ระยะที่ข้าวเบากำลังออกรวง ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า “ลมข้าวเบา” หรือ “ลมโยกข้าวเบา”
  • ลมตะวันออก พัดมาจากทิศตะวันออก ในช่วงวันที่ 1 มกราคม ไปจนถึง 15 กุมภาพันธ์ รวม 46 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ลมแรงพัดเข้าจังหวัดปัตตานี ตรงกับช่วงเทศกาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คนเฒ่าคนแก่ชาวปัตตานีจึงเรียกลมชนิดนี้ว่า “ลมเจ้าแม่”
  • ลมหัวเขา หรือ ลมพัทยา พัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมร้อนและชุ่มชื้น โดยเริ่มพัดในช่วงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ไปจนถึง 31 มีนาคม รวม 44 วัน

คราวนี้ทุกคนคงได้คำตอบแล้วว่า ลมแต่ละชนิดนั้นมีที่มาอย่างไร และครั้งต่อไป เมื่อใดก็ตามที่ลมเย็นพัดมา ทุกคนคงเรียกชื่อลมชนิดนั้นได้ถูกต้องแล้วนะครับ


Source : ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน

Photo : pixabay

keyboard_arrow_up