Fintech

Fintech บุกไทย คนรุ่นใหม่ควรจับตามอง กระแสร้อนแรง การเปลี่ยนแปลงอยู่ใกล้ตัว

Fintech
Fintech

The Stories เพราะโลกนี้ยังมีเรื่องเล่า : Fintech = Finance + Technology

Fintech กลายเป็นกระแสร้อนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเรา แต่เมื่อมันเกิดแล้ว เราควรก้าวต่อไปอย่างไร เรื่องนี้ต่างหากที่คนรุ่นใหม่ควรจับตามองมากที่สุด

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วงการธุรกิจเทคโนโลยีและการเงิน เคยตื่นตัวครั้งใหญ่กับการเกิดใหม่ของ ฟินเทค พอเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้าย ฟินเทค ก็กลับมาสร้างกระแสร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อซีพีเตรียมจับมือกับอาลีบาบา พร้อมเดินเครื่องลุยฟินเทคอย่างเต็มที่ในประเทศไทย … หมากเกมนี้เราจะเดินต่อไปอย่างไร?

Fintech

กระแส ฟินเทค กลับมาสร้างความตื่นตัวให้คนไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท Ant Financial Services Group หนึ่งในผู้นำการให้บริการทางการเงินดิจิทัลระดับโลก ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท Ascend Money กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทยและอาเซียน ฟังชื่อบริษัทแล้วอาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าเราบอกว่า บริษัท Ant Financial Services Group เป็นบริษัทลูกในเครือ Alibaba Group ของ แจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองจีน และ บริษัท Ascend Money อยู่ใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP กลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยของ เจ้าสัวซีพี (ธนินท์ เจียรวนนท์) ล่ะ พอเดาเกมออกไหมครับว่า พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในเมืองไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด

Fintech

ย้อนกลับมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ฟินเทค กันอีกสักนิด หลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร และมีผลต่อการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างไร ตามอ่านต่อกันครับ

Fintech มาจากคำว่า Financial Technology หมายถึง เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงระบบการสื่อสารออนไลน์ กับระบบการดำเนินการทางธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน เข้าไว้ด้วยกัน ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวใช่ไหมครับ แต่ถ้าลองคิดง่ายๆ ว่า ในอนาคต เราอาจต้องเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ แทนการเดินเข้าธนาคารเพื่อฝากถอนเงิน หรือ กู้เงินแบบ peer to peer ได้ทางสมาร์ทโฟน แล้วเดินไปจ่ายดอกเบี้ยได้ที่ร้านสะดวกซื้อ ระบบ One Bill จะถูกนำมาใช้อย่างเบ็ดเสร็จ บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ รวมไปถึง ค่าเทอม จะรวมเหลือบิลเดียวแล้วไปจ่ายที่ช็อปมือถือ และการซื้อของผ่านเว็บขายสินค้าออนไลน์จะใช้ระบบขนส่งของร้านสะดวกซื้อแทนการทำโลจิสติกส์ผ่านไปรษณีย์ เป็นต้น คราวนี้พอเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า จากเรื่องที่ฟังดูไกลตัว กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่แนบชิดแทบแยกจากกันไม่ได้

Fintech

มองย้อนดูในบ้านเรา ฟินเทค ได้เกิดขึ้นแล้วในวงการหุ้น เราเริ่มใช้ระบบ Streaming ในการซื้อขายหุ้น แทนการซื้อขายในห้องค้ามากขึ้น รวมไปถึงระบบ Crowd Funding ที่ระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งหลายคนคงคุ้นชินกับคำนี้และมองเห็นผ่านตามาบ้างตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เชื่อได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ วงการอุตสาหกรรมทางการเงินในบ้านเรา จะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่ว่าจะเกิดช้าหรือเร็วเท่านั้น

หลังจากทำความเข้าใจคร่าวๆ เกี่ยวกับ ฟินเทค กันพอหอมปากหอมแล้ว เรามาดูถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอันใกล้และผลกระทบจากการเข้ามาแทนที่ของ ฟินเทค กันบ้าง

อย่างที่เล่าข้อดีให้ฟังไปแล้ว งานนี้ผู้ใช้บริการจะเกิดความสะดวกสบายในการใช้จ่ายเงิน ไม่ต้องเสียเวลาในระบบ One Bill แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเงินโดยตรงและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างหากที่อาจจะเจ็บตัว งานนี้ยักษ์ก็หงายตึงได้ ถ้าไม่ทันเกมในสนามนี้  บอกเลย

เริ่มจากระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ที่มี VISA ครองบัลลังก์อยู่ ก็เริ่มมีคู่แข่ง Startup เกิดใหม่มากมาย อย่าง Bitcoins ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่ามาก หลายค่ายในต่างประเทศก็เริ่มทยอยใช้กันแล้ว งานนี้ VISA ก็หนาวๆ ร้อนๆ อยู่เหมือนกัน เรามาจับตามองกันต่อไปละกันว่า VISA จะแก้เกมนี้ยังไง ที่เรายกตัวอย่างเรื่อง บัตรเครดิต เพราะมันคือเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนได้หยิบจับและใช้จ่ายเงินบัตรเครดิตกันมาก และบางคนก็ใช้จ่ายมากกว่าเงินเดือนด้วยซ้ำไป

Fintech

กลับมาดูตลาดบ้านเรากันบ้าง ลองนึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าค่ายยักษ์ใหญ่หันมาลงสนาม ฟินเทค อย่างที่ อาลีบาบา จับมือกับ ซีพี ดังที่กล่าวไปแล้ว การกวาดครองตลาดกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความลำบากมาตกหนักอยู่ที่ Fintech Startup รายใหม่ และตามมาดูกันว่า นักรบค่ายไหนจะหาญกล้ามาสู้ศึก ฟินเทค กับสองค่ายนี้ นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบของการพัฒนาธุรกิจ SMEs รายย่อยอื่นๆ ที่ต้องผวาหนักเมื่อรู้ข่าวถึง การลงทุนร่วมของ อาลีบาบา และ ซีพี

เราเพียงแต่หวังว่า ค่ายยักษ์ใหญ่จะเปิดทางให้ ฟินเทค รายอื่นได้เข้ามาทำตลาดบ้าง รวมไปถึงภาครัฐและกฎหมายที่จะเข้ามาดูแล เพื่อให้การแข่งขันในสนามนี้เกิดขึ้นจริง และทำให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไปอีกมาก ฝากด้วยนะครับ

Fintech


Photo : pixabay, commons.wikimedia.org

keyboard_arrow_up