เกิดมาเพื่อเป็นช้างเผือกคู่บารมีในรัชกาลที่ 9

ในขณะที่นำคุณพระจากสวนสัตว์ดุสิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งเพียงแต่มีถนนคั่นอยู่สายเดียวนั้น คุณพระก็อาละวาดอย่างหนัก ไม่ยอมออกเดิน เอางวงยึดต้นไม้จนต้นไม้ล้ม จนแทบจะหมดปัญญาเจ้าหน้าที่

กว่าจะนำคุณพระจากเขาดินไปถึงประตูสวนจิตรลดา ซึ่งมองเห็นกันแค่นั้น ก็กินเวลาหลายชั่วโมง ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากถือปลายเชือกที่ผูกไว้กับขาคุณพระทั้งสี่ขา คอยลากคอยดึง และดูเหมือนจะต้องใช้รถแทรกเตอร์เข้าช่วยขนาบข้าง เสี่ยงอันตรายกันมากอยู่ แต่ในที่สุดก็นำคุณพระไปยังประตูพระราชวังได้

พอได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปทันที จากความดุร้ายก็กลายเป็นความสงบเสงี่ยม เดินอย่างเรียบร้อยไปสู่โรงช้างต้น และเข้าอยู่อย่างสงบเรื่อยมา

คำบันทึกจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2519

maxresBdENPr9lAU

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เข้ามาเป็นสัตว์ทรงเลี้ยงได้อย่างไร

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สีกายดังดอกกมุท หรือบัวสายแดง ได้รับพระราชทานนามเต็มว่า

พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวมนาถบารมี

ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์

สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ์ประสิทธิ์

รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า ฯ

เป็นช้างพลายเผือกโท เกิดในป่าเขตจังหวัดกระบี่ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2494 ถูกคล้องได้ที่ บ้านหนองจูด ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่เมื่อ พ.ศ. 2499 โดยนายแปลก ฟุ้งเฟื่องและนายปลื้ม สุทธิเกิด(หมอเฒ่า)  เป็นลูกช้างติดแม่อยู่ในโขลงช้างป่า พร้อมกับช้างอื่นๆ อีก 5 เชือกคือ พังสาคร พลายทอง พังเพียร พังวิไล และพังน้อย โดยในตอนนั้นพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ได้ชื่อว่า “พลายแก้ว”  มีความสูง 1.60 เมตร เมื่อพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ)ได้ตรวจสอบคชลักษณ์แล้วพบว่าเป็นช้างสำคัญ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

พลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยได้นำช้างพลายแก้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เติบโตขึ้นโดยการดูแลขององค์การสวนสัตว์ ที่สวนสัตว์ดุสิต และมีอาการดุร้ายมากขึ้นจนควาญช้างควบคุมไม่ได้ จึงต้องจับยืนมัดขาทั้งสี่ไว้กับเสา เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไป จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมีพระราชเสาวณีย์ โปรดเกล้าฯ ให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เข้าไปยืนโรงในโรงช้างต้น ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานซึ่งอยู่ตรงกันข้ามถนน เมื่อ พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้บันทึกไว้ว่า

แม้เพียงถนนบล็อกเดียว แต่การนำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เดินไปนั้นเป็นไปได้ยากมาก แต่พอได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปทันที จากความดุร้ายก็กลายเป็นความสงบเสงี่ยม เดินอย่างเรียบร้อยไปสู่โรงช้างต้น และเข้าอยู่อย่างสงบเรื่อยมา

ปัจจุบันพระเศวตอดุลยเดชพาหนได้ล้มลงแล้วในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล หัวหิน

ตามโบราณนั้น ราชประเพณีช้างเผือกและช้างที่มีคชลักษณ์ถือเป็นช้างแก้วคู่พระบารมี เจ้าของจะถวายแก่พระมหากษัตริย์ โดยตำราพระคชศาสตร์นั้นมีกำหนดลักษณะสำคัญ 7 ประการของช้างมงคลดังนี้

  1. ตาขาว
  2. เพดานปากขาว
  3. เล็บขาว
  4. ขนขาว
  5. พื้นหนังขาวหรือสีอ่อนๆ ออกแดงคล้ายหม้อใหม่
  6. ขนหางยาว
  7. อัณฑโกสขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่

ช้างตัวใดมีลักษณะครบ 7 ข้อจะเรียกว่า “ช้างสำคัญ” ช้างเผือกถือเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติประดับบารมีของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีผู้มาถวายช้างเผือกพระมหากษัตริย์จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามเป็น “พระยาช้างต้น” หรือ “นางพระยาช้างต้น” เชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดมีช้างเผือกมากจะถือว่ามีพระบุญญาบารมีมาก และช้างเผือกคู่บารมีในรัชกาลที่ 9 มีช้างเผือกทั้งหมด 10 เชือกดังนี้

พระเศวตอดุลยเดชพาหน • พระเศวตวรรัตนกรี • พระเศวตสุรคชาธารฯ • พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ • พระเศวตสุทธวิลาศฯ • พระวิมลรัตนกิริณีฯ • พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ • พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ • พระเทพวัชรกิริณีฯ • พระบรมนขทัศฯ

keyboard_arrow_up