รวม 48 บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พ่อแต่ง…ให้ฟัง
อย่างที่ทราบกันดีว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ของราษฎรชาวไทยนั้นทรงมีพระราชอัจฉริยภาพในด้านต่างๆอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ด้านดนตรี กีฬา ภาษา พระพุทธศาสนา และวิชาการ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ…
วันนี้ Favforward ได้รวบรวม บทเพลงพระราชนิพนธ์ อันเกิดจากพระอัจฉริยะภาพด้านดนตรีของพระองค์บางส่วนมาฝากกัน ซึ่งบางเพลงนั้นหลายๆคนอาจเคยได้ยินอยู่เป็นประจำแต่ไม่รู้ว่านั่นคือเพลงในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็เป็นได้ จะมีเพลงไหนบ้างนั้นไปชมกันเลยครับ
1.แสงเทียน (Candlelight Blues)
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2498 ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราชได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น ต่อมาได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ.2490 และใน พ.ศ.2496 นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
2.ยามเย็น (Love At Sundown)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำร้องสมบูรณ์ ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลง ในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใส เหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที
3.สายฝน (Falling Rain)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้ มีลีลานุ่มนวลอ่อนหวาน บรรเลงครั้งแรกในงานรื่นเริงของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยอีกเพลงหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
4.ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็กพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ขึ้น และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วยแก้ไข แล้วพระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489
5.ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกวาระหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 20 พรรษา ใน พ.ศ. 2490 ข้าราชการ นักเรียน และคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2490 มาตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีด้วย ในงานมีการขายลอตเตอรี่สำหรับช่วยคนจน นอกจากการออกลอตเตอรี่แล้ว มีการทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M. Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทายต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ วงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า “คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรีต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว” ในงานไม่มีผู้ทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว
สำหรับคำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร. ประเสริฐจึงใส่คำร้องภาษาไทยที่มีความหมายออกมาคนละแบบ
6.ดวงใจกับความรัก (Never Mind the H.M. Blues)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2490 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น (วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2490) หลังจากได้เสวยพระกระยาหารและนักดนตรีได้รับประทานอาหารแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และพระราชทานชื่อว่า Never Mind the H.M. Blues เป็นการตอบปริศนาคำทายที่ว่า H.M. แปลว่าอะไร
7.มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2491 ชื่อ ราชวัลลภ และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้อง ในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “มาร์ชราวัลลภ” (Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. 2495
8.อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย
9.เทวาพาคู่ฝัน (Dream Of Love Dream of You)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับ ณ เมืองดาโวส์เช่นกัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย
10.คำหวาน (Sweet Words)
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 10 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระ เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย
11.มหาจุฬาลงกรณ์
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 11 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ที่ใช้ Pentatonic Scale คือ 5 เสียง แทน Scale แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale)
ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้ขอพระราชทานเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์นี้ให้ไปใส่คำร้องเอง ท่านผู้หญิง สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และนายสุพร ผลชีวิน จึงได้ประพันธ์คำร้องถวาย
ต่อมาใน พ.ศ. 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์มาแต่งเป็นแนวไทย นายเทวาประสิทธิ์รับพระราชทานมาทำและบรรเลงถวายด้วยวงปี่พาทย์ถึงสองครั้ง
ภายหลังเมื่อนายเทวาประสิทธิ์ไปเสนอในชมรมดนตรีสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้นำเพลงพระราชนิพนธ์นี้มาปรับปรุง เป็นเพลงโหมโรง สำหรับใช้โหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของชมรม อาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระ เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย
12.แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 12 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2492 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า จักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย
13.พรปีใหม่
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่’ และทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรี นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495
14.รักคืนเรือน (Love Over Again)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 14 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495
15.ยามค่ำ (Twilight)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 15 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แล้วได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495
16.ยิ้มสู้ (Smiles)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 16 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญ และให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอดในพระบรม ราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2495 ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์ในปีต่อมา
17.มาร์ชธงไชยเฉลิมพล
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 17 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญ ธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ
18.เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 18 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ได้พระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2497 ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย
19.ลมหนาว (Love in Spring)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 19 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และได้พระราชทานเพลงนี้ออกบรรเลงครั้งแรกในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย
20.ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 20 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2497 เพื่อเป็นเพลงประจำวงดนตรี “ลายคราม” โดยบรรเลง ทุกคราวที่ทรงดนตรีกับวงลายคราม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นนักดนตรีคนหนึ่ง ของวงลายคราม แต่งคำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ได้พระราชทานออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.
21.Oh I say
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 21 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย
22.Can’t You Ever See
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 22 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานรื่นเริง ประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์ นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย
23.Lay Kram Goes Dixie
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 23 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 พระราชทานให้วงดนตรีลายครามโดยเฉพาะ เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีเนื้อร้อง วงดนตรีลายครามนำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. โดยวงดนตรีลายครามเป็นวงดนตรีแจ๊สส่วนพระองค์วงแรก ที่ทรงตั้งขึ้นหลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร แล้วใน พ.ศ. 2494
24.ค่ำแล้ว (Lullaby)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 24 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา และท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย
มีเรื่องเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไว้ในอ้อมพระกรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทรงอิเล็คโทนเพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby แล้วสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยก็หลับไป
25.สายลม (I Think of You)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 25 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2500 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2500
26.ไกลกังวล (When)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 26 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ในพ.ศ. 2500 เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรี ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2500
ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยคือ นายวิชัย โกกิลกนิษฐ ต่อมาใน พ.ศ. 2506 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นาย Rual Maglapus อดีตสมาชิกวุฒิสภาของประเทศฟิลิปปินส์ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ใน พ.ศ. 2514 บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย “เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย” เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย
27.แสงเดือน (Magic Beams)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 27 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2501 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพลงพระราชนิพนธ์นี้มีลีลาชดช้อย อ่อนหวาน สง่างาม เหมาะสำหรับประกอบการเต้นบัลเล่ต์ จึงได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ต่อมาได้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501
28.ฝัน (Somewhere Somehow)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 28 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และนายศรีศักดิ์ พิจิตรวรการ ประพันธ์คำร้อง “ฝัน” ได้ พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมี่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และพระราชทานให้บรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สถานที่เดียวกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502
ต่อมาใน พ.ศ. 2509 เมื่อสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเริ่มเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ทรงประทับ พระราชหฤทัยในความงามของอุทยานดอกไม้นานาพรรณและภูมิทัศน์โดยรอบ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองเพลงนี้ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้อง “เพลินภูพิงค์” ขึ้นอีกคำร้องหนึ่ง
29.มาร์ชราชนาวิกโยธิน
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 29 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 แล้วพระราชทานแก่กรมนาวิกโยธินตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานจาก พลเรือตรี สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บังคับบัญชากรมนาวิกโยธินขณะนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีประจำกองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกา
นำออกบรรเลงครั้งแรก ณ สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ในงานแสดงของราชนาวีไทย-นาวิกโยธินอเมริกัน เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิ “มหิดล” ในโอกาสที่นาวิกโยธินอเมริกันประจำกองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนประเทศไทย สำหรับคำร้องภาษาไทย พลเรือโท จตุรงค์ พันธุ์คงชื่น และพลเรือโท สุมิตร ชื่นมนุษย์ (ขณะดำรงยศเป็น เรือเอก) ได้ร่วมกันแต่งถวายเพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้องภาษาอังกฤษ
30.ภิรมย์รัก (A Love Story)
เพลงพระราชนิพนธ์ชุด “Kinari” ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ประกอบการแสดงระบำบัลเลต์ชุด “มโนห์รา” ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุด โปรดเกล้าฯให้วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลงประกอบ การแสดงบัลเลต์ชุดมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วย พระองค์เอง เพลงพระราชนิพนธ์ชุดนี้ประกอบด้วย
A Love Story เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 30 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า จักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ “A Love Story” และพลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันทน์ ประพันธ์คำร้อง ภาษาไทย “ภิรมย์รัก”
Nature Waltz เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 31 , The Hunter เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 32 และ Kinari Waltz เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 33
เพลงพระราชนิพนธ์ชุด “Kinari” นี้ ยังได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “Blue Day” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 มาบรรเลงร่วมด้วย
31.Nature Waltz
รวมอยู่ในเพลงพระราชนิพนธ์ชุด “Kinari” ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ประกอบการแสดงระบำบัลเลต์ชุด “มโนห์รา”
32.The Hunter
เพลงพระราชนิพนธ์ชุด “Kinari” ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ประกอบการแสดงระบำบัลเลต์ชุด “มโนห์รา”
33.Kinari Waltz
เพลงพระราชนิพนธ์ชุด “Kinari” ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ประกอบการแสดงระบำบัลเลต์ชุด “มโนห์รา”
34.แผ่นดินของเรา (Alexandra)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ตามทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ 16 ห้องเพลง นำออกบรรเลงครั้งแรก ณ ศาลาผกาภิรมย์ สวนจิตรลดา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2502
ต่อมาใน พ.ศ. 2516 สมเด็จพระนาง เจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระราชดำริว่า ท่วงทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra ไพเราะ และน่าจะใส่ คำร้องภาษาไทยได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์ คำร้องภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นว่า เพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra นี้มีเพียง 17 ห้องเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมโดยมีท่อนกลาง และท่อนท้าย จนครบ 32 ห้องเพลง
35.พระมหามงคล
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 35 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่นายเอื้อ สุนทรสนาน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ให้เป็นเพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในโอกาสที่ก่อตั้งมาครบ 20 ปี นายเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงจึงได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเพลงว่า “พระมหามงคล” และได้อัญเชิญมาบรรเลงนำประจำวงสุนทราภรณ์มาจนทุกวันนี้ เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้อง
36.ยูงทอง
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2505 ได้ทรงดนตรีทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ให้ อาจารย์ นักศึกษา ข้าราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฟังครั้งแรก ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2505 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” ที่มี คำร้องสมบูรณ์ เพื่อเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 และได้ทรงปลูกต้นหางนกยูง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ระลึกอีก 5 ต้น
37.ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 37 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย
38.เตือนใจ (Old Fashioned Melody)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 38 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษใน พ.ศ. 2508 ต่อมาใน พ.ศ. 2510 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์ คำร้องภาษาไทยถวาย
39.ไร้เดือน (No Moon)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 39 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย ชื่อ “ไร้จันทร์” ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวายชื่อ “ไร้เดือน”
40.เกาะในฝัน (Dream Island)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 40 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย
41.แว่ว (ECHO)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย เพลงนี้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ 1 ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2509
42.เกษตรศาสตร์
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 42 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2509 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องถวาย และพระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำออก บรรเลงครั้งแรกในวันทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารเย็นแก่ อาจารย์ ข้าราชการ นิสิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย
43.ความฝันอันสูงสุด
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เล่าไว้ในหนังสือ “ภิรมย์รัตน์” ว่า เมื่อตามเสด็จฯไปอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ
“ข้าพเจ้าค่อย ๆ คิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน 5 บท
ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทาน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะ บ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ
ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ดังที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์รู้จักกันแพร่หลายทุกวันนี้ นับเป็น เพลงพระราชนิพนธ์แรกที่ได้ทรงจากคำร้อง
44.เราสู้
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ 4 บท ใน พ.ศ. 2516 คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติ บัญญัติ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอล เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย
เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง “เราสู้” ก็ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตี บรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไป แก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัยนับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ที่ทรงจากคำร้อง
45.เรา – เหล่าราบ 21
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 45 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2519 เพลงนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้พันตำรวจโท วัลลภ จันทร์แสงศรี (ขณะมียศเป็นร้อยตำรวจโท) แต่เนื้อเพลงให้แก่กรมทหารราบ 21 แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพระราชทานนับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ที่ทรงจากคำร้อง
46.BLUES FOR UTHIT
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 46 ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรี วงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2522 และได้พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2522
47.รัก
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 47 ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงสำหรับกลอน สุภาพ 3 บท ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลงนี้ให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์บรรเลงทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ต่อมา เมื่อทรงแก้ไขแล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ในงานพระราชทานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2538 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แจกคำร้อง เพลงพระราชนิพนธ์ “รัก” แก่แขกผู้ได้รับเชิญทุกโต๊ะไว้ล่วงหน้า
ต่อมาก็เชิญแขกผู้ได้รับเชิญ อาทิ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และนายทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นไปร้องเพลงพระราชนิพนธ์บนเวที ทีละโต๊ะจนทั่วถ้วน โดยทรงบรรเลงดนตรีนำด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกอากาศทาง สถานี จ.ส.100 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2538
48.เมนูไข่
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 48 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เมื่อพระราชทานเป็น ของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์
ด้วยทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัย ให้ทรงพระราชนิพนธ์ กอปรกับทรงพบโคลงสี่ “เมนูไข่” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2518 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์นำออกบรรเลงและขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : web.ku.ac.th
เรียบเรียงโดย : Nomad609
ภาพประกอบ : bloggang.com