(ริบบิ้นสี) ทั่วโลกแทนความหมาย ไม่ต้องอธิบายเป็นคำพูด

ริบบิ้นสี ทั่วโลกแทนความหมาย ไม่ต้องอธิบายเป็นคำพูด

Ribbon หรือในภาษาไทยเรียกว่า ริบบิ้น หรือ ริบบิ้นสี นั้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้รัดเพื่อเสริมความงาม รวมไปถึงจัดระเบียบสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ทรงผม หรือแม้กระทั่งข้าวของเครื่องใช้ เมื่อนำแถบผ้าริบบิ้นมาขดเป็นริ้วรูปทรงต่างๆจะก่อให้เกิดขดริบบิ้นที่เรียกว่า โบว์ ซึ่งสามารถใช้ติดเสื้อผ้า ทรงผม ข้างของต่างๆรวมไปถึงกล่องของขวัญได้เช่นกัน

ประเพณีการติด ริบบิ้นสี เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยใดยังไม่แน่ชัด เพราะเมื่อพบอีกทีก็ปรากฏเป็นที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว และรู้หรือไม่ว่า การติดริบบิ้นแต่ละสีนั้น ก็จะแสดงออกถึงความหมายที่แตกต่างกันไป หรือแม้กระทั่งริบบิ้นสีเดียวกันแต่เมื่ออยู่คนละประเทศก็จะมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้ Favforward ได้นำความหมายของการติดริบบิ้นสีต่างๆมาฝากกัน จะเป็นอย่างไรนั้นไปชมกันเลยครับ

Ribbon

ริบบิ้นสีขาว สัญลักษณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

จุดเริ่มต้นการติดริบบิ้นสีขาว (White Ribbon) เกิดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในปี 1991 ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงอย่างโหดร้ายในเมือง Montreal จำนวน 14 คน เป็นเหตุให้นักศึกษาชายกว่าแสนคน ออกมาเรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาในการใช้ความรุนแรงกับสตรี โดยการติดริบบิ้นสีขาวไว้ที่ปกเสื้อ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงกับสตรีเพศในทุกรูปแบบ

ต่อมาในปี 1999 องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล” ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ริบบิ้นสีขาวในเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการยุติความรุนแรง โดยในปัจจุบันสามารถใช้ได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเป็นการรณรงค์การยุติความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย

Black Ribbon p02

ริบบิ้นสีเหลือง สัญลักษณ์แห่งความหวัง การรอคอย และการกลับมาพบกัน

ภายหลังจากโศกนาฏกรรมทางเรือเซวอลที่ได้คร่าชีวิตเด็กนักเรียนไปร่วมหลักร้อยในประเทศเกาหลีใต้ ทำให้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีเหลืองที่มีความหมายถึงการรอคอย ความหวัง นั้นกลับมาคุ้นตาผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง

การเริ่มใช้ริบบิ้นสีเหลือง (Yellow Ribbon) กันในหมู่สากลน่าจะมาจากอิทธิพลของบทเพลงในยุค 70s ที่มีชื่อว่า Tie a Yellow Ribbon ′Round the Ole Oak Tree ซึ่งนักแต่งเพลงชาวอเมริกันเจ้าของเพลงนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของนักโทษชายผู้หนึ่งที่กำลังจะพ้นออกโทษออกจากเรือนจำ แต่ครั้นใกล้กำหนดการจะมาถึงเขาก็ได้กังวลว่าภรรยาที่รักของเขาจะยังคงรออยู่หรือไม่

เขาจึงได้เขียนจดหมายไปหาภรรยาเพื่อเป็นการถามไถ่และถ้าหากภรรยายังคงรักและรอเขาอยู่ ให้เธอนำริบบิ้นสีเหลืองมาผูกไว้ที่ต้นโอ๊คเพื่อให้เขาเห็นได้ชัดเจน หรือถ้าไม่มีใจให้กันแล้วเขาจะได้นั่งรถผ่านเลยไปยามที่ไม่เห็นริบบิ้นบนต้นโอ๊ค ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาก็เห็นริบบิ้นสีเหลืองบนต้นโอ๊คจริงๆ

ด้วยเนื้อหาของเพลงบวกกับความหมายที่ซึ้งกินใจ ทำให้คนอเมริกายามนั้นที่อยู่ในยุคสงคราม ต่างใช้ริบบิ้นสีเหลืองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต้อนรับการกลับมาของเชลยสงครามหรือทหารที่ต้องพลัดถิ่นจากบ้านไปนานๆ จวบจนถึงปัจจุบันที่ริบบิ้นสีเหลืองได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง การรอคอย และการกลับมาพบกัน

Black Ribbon p03

ริบบิ้นสีดำ สัญลักษณ์แห่งความอาลัย การไว้ทุกข์ และระลึกถึง

ริบบิ้นสีดำ (Mourning Ribbon) นั้น มักใช้ในกรณีการไว้อาลัยหรือไว้ทุกข์ให้กับการสูญเสีย โดยนิยมติดไว้บริเวณแขนข้างซ้ายเหนือศอกขึ้นไป

Black Ribbon p04

ริบบิ้นสีแดง สัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี หลายๆคนคงรู้กันดีว่าเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) และในทางสากลนั้นได้กำหนดให้ริบบิ้นแดง (Red Ribbon)  เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ป่วยเอชไอวีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันผู้คนทั้งหลาย

โดยสาเหตุที่เลือกใช้สีแดงนั้น มาจากการที่สีแดงสามารถเป็นสัญลักษณ์แทนได้ทั้ง เลือด และ ความรัก ซึ่งเปรียบเสมือนกับความรักความห่วงใยของผู้คนในสังคมต่อโรคเอดส์ได้เป็นอย่างดี

Black Ribbon p05

ริบบิ้นสีชมพู สัญลักษณ์ของการรณรงค์มะเร็งเต้านม

เอเวอร์ลิน ลอเดอร์ แห่ง เอสเต ลอเดอร์ แบรนด์เครื่องสำอางค์ชื่อดังระดับโลก ที่ได้ต่อสู้กับโรคร้ายนี้ด้วยตัวเอง จนเมื่อปี 2535 เธอได้ร่วมสร้างสรรค์ริบบิ้นสีชมพู (Pink Ribbon)  ขึ้นมาจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์มะเร็งเต้านมไปทั่วโลกนั่นเอง

Black Ribbon p06

ริบบิ้นสีน้ำเงิน สัญลักษณ์ของความเป็นเลิศ ดีเยี่ยม

ฝรั่งในแถบยุโรปนิยมใช้ริบบิ้นสีน้ำเงิน (Blue Ribbon) เพื่อสื่อถึงของที่มีคุณภาพเยี่ยม หรือของที่ชนะเลิศจากการประกวด จะเรียกว่าผลงานชิ้นโบน้ำเงิน ดังเช่นเพลง Rednecks White Socks and Blue Ribbon Beer

ส่วนในประเทศไทยนั้น นิยมใช้ริบบิ้นสีแดงมาตั้งแต่รัชกาล 4 โดยใช้ครั้งแรกในการประกวดเครื่องโต๊ะจีนของบรรดาบุคคลร่ำรวย ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า “แพรแดง” เพราะทำจากผ้าแพรสีแดง และเมื่อรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมามากๆจึงกลายเป็นโบแดง ที่แสดงถึงความสุดยอด ชั้นหนึ่ง ดังเช่น ผลงานชิ้นโบแดง นั่นเอง


ขอบคุณเนื้อหาประกอบจาก : www2.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9560000142682 , www.pantip.com/topic/35290195 , www.thairath.co.th/content/217909

เรื่องโดย : Nomad609

ภาพประกอบ : Pinterest

keyboard_arrow_up