#SaveHakeem เรื่องที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับบาห์เรน สะท้อนวัฒนธรรมการใช้ชีวิต และผู้คนในสังคม
จากสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของไทย ในกระแสเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายฮาคีม อาลี โมฮัมเม็ด อาลี อัลโอไรบี หรือ ฮาคีม อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน หลังจาก ถูกตม. จับกุมตัวขณะเดินทางจากประเทศออสเตรเลีย เข้ามายังประเทศไทยที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เมื่อเดือนพ.ย.2561 เนื่องจาก “ฮาคีม” ถูกดำเนินคดีในประเทศบาห์เรน ฐานทำลายทรัพย์สิน จากการสร้างความเสียหายต่อสถานีตำรวจในประเทศบาห์เรน ทั้งๆ ที่เขายืนยันว่าในเวลานั้นเขากำลังแข่งขันฟุตบอลอยู่ต่างประเทศและมีการถ่ายทอดสดตลอดเกม รวมถึงมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า เขาอยู่ภายในสนามฟุตบอลไม่ได้รวมกลุ่มในการกระทำผิดเหล่านั้นด้วย รวมถึงในปี 2560 ฮาคีม ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย และได้เล่นฟุตบอลอาชีพที่สโมสรฟุตบอลพาสโคเวลเอฟซี เมืองเมลเบิร์น ทางการบาห์เรน ไม่สามารถทำอะไร ฮาคีม ได้ เนื่องจากเขาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย จนกระทั่งเขาเดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองไทย บาห์เรนกลับส่งคำร้องขอให้ส่ง ฮาคีม เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ #SaveHakeem และ #BoycottThailand
บาห์เรน เป็นประเทศเกาะในอ่าวเปอร์เซีย โดยมีสะพานเชื่อมต่อกับซาอุดิอาระเบียที่อยู่ห่างจากเกาะประมาณ 28 กิโลเมตร คือ สะพานคิงฟะฮัด บาห์เรนถือเป็นประเทศแรกในอ่าวอาหรับที่ขุดพบน้ำมันดิบ ใน พ.ศ. 2475 และมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันขึ้น ในอีกมุมมองหนึ่งนอกจากเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ในฤดูร้อนจะมีอุณหภูมิสูงถึง 49 องศา เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีความสวยงามระดับหนึ่ง ช่วงเดือนถือศีลอด ที่นี่ค่อนข้างจะเคร่งครัดเรื่องการแต่งกายเป็นพิเศษต้องค่อนข้างมิดชิด ไม่ใส่กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น แม้ว่าราจะไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามก็ตาม รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ ก็เป็นเรื่องต้องห้าม
บาห์เรนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2545 ซึ่งจัดทำขึ้นสำหรับการเลือกตั้งรัฐสภาและให้สิทธิสตรีในการออกเสียงลงคะแนน ชาวยิวในบาห์เรนเป็นหนึ่งในชุมชนชาวยิวที่เล็กที่สุดในโลกและครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิวมากถึง 1,500 คน
ความสัมพันธ์ของไทยกับบาห์เรน
ไทยและบาห์เรนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2520 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด บาห์เรนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมไทยสู่ประเทศในตะวันออกกลางในหลายมิติ ความสัมพันธ์ทางการเมืองไทย-บาห์เรนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ภายหลังการเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ในปี 2547 และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศทั้งสองเป็น ประจำ สถานเอกอัครราชทูตบาห์เรน ณ กรุงปักกิ่ง เคยมีอาณาเขตครอบคลุมประเทศไทย ต่อมา รัฐบาลบาห์เรนได้ขอความเห็นชอบเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นสถานเอกอัครราชทูตเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้บาห์เรนยังสนับสนุนและเป็นสื่อกลางในการแก้ไขภาพลักษณ์ของไทยใน ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ในเวทีองค์การประชุมอิสลาม เพื่อให้ไทยได้ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง
ข้อตกลงกับไทยที่ลงนามแล้ว และมีผลใช้บังคับแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อน
- ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ฉบับ ปี 2523
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเชิงพาณิชย์
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกองเงินลงทุนในประเทศไทย
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์กลางการค้าและการกระจายสินค้าในบาห์เรน
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-บาห์เรน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบาห์เรน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและบาห์เรน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้า
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซ
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข
- ความตกลงจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมไทย-บาห์เรน
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยและคลังสำรองอาหารในบาห์เรน
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร
- พิธีสารความร่วมมือระหว่างสภาผู้แทนราษฎร (Protocol on Cooperation)
- พิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อน
นอกจากนี้บาห์เรนยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัอเมริกาและสหราชอาณาจักร บาห์เรนเป็นที่ตั้งกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกา (Fifth Fleet) บาห์เรนสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการส่งกองกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน และได้รับสถานะ Major Non NATO Ally (MNNA) ในปี 2545 และบาห์เรนยังเป็นประเทศแรกในตะวันออกกลางที่เจรจา จัดทำ FTA กับสหรัฐอเมริกาเป็นผลสำเร็จ
แต่อย่างไรก็ตามจากกรณีที่เกิดขึ้นของฮาคีม มีกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนยืนยันว่ามีการทรมานนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบาห์เรนเมื่อปี 2554 จริง ส่วนไทยนั้นแม้ไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ แต่หลายครั้งกลับต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองของต่างประเทศซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
เรื่องนี้อาจยังไม่จบลงง่ายๆ รัฐบาลไทยอาจต้องคิดให้รอบคอบและมองรอบด้านถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทางระยะยาวเช่นกัน