วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดของในหลวงร. ๙ เพื่อเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก สร้างขึ้นโดยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในปี พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่เลขที่ 999 ซอยพระราม 9 ซอย 19 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคมสีมา และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษในปี พ.ศ. 2542 เป็นศูนย์รวมจิตใจกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงโปรดให้สร้างด้วยความเรียบง่าย ประหยัดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  มีชุมชนบึงพระราม ๙ เป็นสถานที่ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ทำลายสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ประกอบกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งปลายทางรับน้ำเสียได้เริ่มเสื่อมโทรมลงทุกขณะ

สวนสาธารณะ คือ ปอด และบึงพระราม ๙ คือไต ของกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตะหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำริให้ทดลองแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยวิธีเติมอากาศ ณ บริเวณบึงพระราม ๙ ในลักษณะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก และทำการทดสอบการบำบัดน้ำเน่าเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวบางส่วนให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยใช้วิธีเติมอากาศลงไปและปล่อยให้น้ำตกตะกอน แล้วจึงปรับสภาพก่อนระบายออกสู่ลำคลองตามเดิม รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำ นำน้ำสะอาดจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชะล้างทำความสะอาดคลอง และระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยอาศัยจังหวะน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ เป็นการบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง

ศูนย์รวมแห่งจิตใจ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

เมื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ตามโครงการบึงพระราม ๙ ดำเนินการไปได้ระดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๑ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงสภาพพื้นที่ และชุมชนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับโครงการบึงพระราม ๙ ดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ให้มีการจัดตั้งวัดขึ้นในที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน ๘ – ๒ – ๕๔ ไร่ และได้รับการอนุญาตให้สร้างวัดจากกรมการศาสนา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ” โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานก่อสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกขึ้น โดยมีนายจริย์ ตุลยานนท์ กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการก่อสร้างวัด ทำหน้าที่ในรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างวัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ในลักษณะวัดขนาดเล็กที่มีลักษณะเรียบง่าย ประหยัด และทันสมัย เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ และศรัทธา เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ ทั้งทางศาสนา สังคม และจริยธรรม แก่เยาวชน และประชาชนในชุมชน เพื่อขัดเกลาจิตใจของชุมชนให้มีจิตสำนึกต่อสังคมโดยส่วนรวมอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเปิดประชุมยุวพุทธิกสมาคม ครั้งที่ ๑๔ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

 “…จุดมุ่งหมายโดยตรงแท้ของศาสนาทั้งปวง และโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนามุ่งจะให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการ และแนวความคิดในศาสนธรรม และน้อมนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติด้วยตนเองตามความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีวิต คือให้เกิดความผาสุก ความร่มเย็น และความเจริญในแต่ละบุคคลในส่วนรวม และให้เกิดความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเป็นปรมัตถประโยชน์ ดังนั้นการบำรุงส่งเสริมพระศาสนาจึงควรจะได้กระทำให้ถูกเป้าหมาย…”

 

โปรดให้สร้างด้วยความเรียบง่าย และประหยัด

เบื้องต้น คณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบ ได้ออกแบบอาคารศาสนสถานในวัดแห่งนี้ และประมาณราคาการก่อสร้างอยู่ในวงเงินประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท เพื่อให้สมพระเกียรติ เมื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแบบพระอุโบสถและอาคารอื่นๆ ให้มีขนาดเล็กลงจากเดิม มีพระราชประสงค์ให้วัดเล็กๆ โบสถ์เล็กๆ มีกุฏิเล็กๆ ไม่โปรดให้สร้างวัดขนาดใหญ่ และให้ใช้งบประมาณไม่ควรเกิน ๑๐ ล้านบาท นอกจากนี้ สภาพพื้นที่ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างเป็นวัดใหญ่ ทรงเน้นว่าให้มีวัดเพื่อให้มีพระไว้สั่งสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นวัดใหญ่โต เน้นให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นสำคัญ อีกทั้งให้ยึดหลักแห่งความประหยัด เรียบง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ออกแบบที่ง่ายๆ ไม่หรูหรา ซึ่งประกอบด้วยพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระ จำนวน ๕ หลัง หอระฆัง โรงครัว อาคารสะอาด สวยงาม และบริเวณพื้นที่โดยรอบให้ปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิดทั้งไม้ป่าและพันธุ์ไม้หายากในลักษณะป่าผสมผสาน เพื่อให้เกิดร่มเงาและความร่มเย็นแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เข้ามาประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา

ในส่วนของพระอุโบสถจะเป็นลักษณะผสมผสานกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งการใช้สอยเป็นสำคัญ และเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศตั้งวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกเป็นพระอารามหลวงเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ซึ่งได้ผ่านมติของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

keyboard_arrow_up