ศิลปะที่ไม่ได้อยู่แค่บนกระดาษหรือผืนผ้าใบ…แต่กลับมาสร้างสรรค์ลวดลายบนสนีกเกอร์ โดยคุณอาร์ต-นรินทร์ ทองคำฟู
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะได้เป็น 1 ใน 15 อันดับจากร้านคัสตอมทั่วโลก ด้วยฝีมืออันประณีต ความละเมียดละไม ของคุณอาร์ต- นรินทร์ ทองคำฟู จากความฝันที่อยากจะเป็นอาร์ตติสแต่ต้องผันตัวไปตามกาลเวลา จากเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่มองเห็นการคัสตอมรองเท้าเป็นอาชีพสุดท้าย กลับกลายเป็นงานที่สร้างชื่อหลอมลวมสนีกเกอร์ แฟชั่น และงานคัสตอมเข้าไว้ด้วยกัน
วันนี้เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับนักคัสตอมสนีกเกอร์ เจ้าของร้าน What’s Shop ย่านแบริ่ง ผู้สร้างผลงานผ่านมุมมองที่หลากหลายและพัฒนาวงการคัสตอมอย่างไม่หยุดนิ่ง
- จุดเริ่มต้นของการคัสตอมรองเท้า
ผมเรียนจิตกรรมจากวิทยาเขตเพาะช่างครับ เรียนจบก็ไปเป็นครูอยู่พักใหญ่ๆ จากนั้นก็มาเป็นครีเอทีพต่อ แต่อาจจะเป็นเพราะความโชคดีด้วยส่วนหนึ่งคือรุ่นพี่เรียกไปช่วยงานทำให้ได้เจอทั้งอาร์ตติส รวมถึงคนเพ้นท์รองเท้าจากทั่วโลก และอีกหนึ่งความโชคดีคือได้เจอเพื่อนที่เป็นเจ้าของงาน (จากเมื่อก่อนไม่รู้จักกัน ตอนนี้เป็นเพื่อนกันแล้ว) เขาเห็นว่าเราถือกระดาษวาดรูปก็เข้ามาถามเราว่าเป็นอาร์ตติสใช่ไหม? ตอนนั้นก็ตอบไปแบบขำๆ ว่ากำลังเรียนอยู่ครับ เขาก็เลยส่งรองเท้ามาให้คู่นึงให้เพ้นท์นั่นแหละครับเพราะเห็นว่าเราถือกระดาษวาดรูปแสดงว่าเราต้องวาดรูปเป็น (หัวเราะ)
- รองเท้าคู่แรกที่คัสตอมคือ
คู่แรกที่เริ่มเขียนรองเท้าคือ Converse ครับ ตอนนั้นลายปลาคาร์พฮิตมากก็เริ่มคู่แรกด้วยลายนี้เลย
- อาชีพนี้เป็นความฝันมาตั้งแต่เด็กๆ เลยไหม
ไม่เลยครับ อาชีพนี้เป็นอาชีพสุดท้ายที่คิดด้วยเพราะส่วนตัวถ้าคนที่เรียนจบจิตรกรรมแรกๆ ก็อยากเป็นอาร์ตติสด้วยกันทั้งนั้น อยากมีรางวัล อยากเป็นศิลปินแห่งชาติหรืออะไรก็ตาม ซึ่งต้องเริ่มจากการอยู่แกลลอรี่ก่อน หลังจากนั้นก็เกิดวิกฤตที่แกลลอรี่ปิดตัวไปเยอะมากจนศิลปินแทบจะไม่มีทียืนกันเลย ผมก็คิดว่าจะทำยังไงดีเพราะกลายเป็นว่าตอนนี้ทุกคนแย่งงานกันไปหมด เลยเปลี่ยนมาเพ้นท์รองเท้าเลยแล้วกันเอาอะไรที่มันใกล้ตัวไว้ก่อน
ตอนเขียนรองเท้าแรกๆ ผมเหมือนคนเก็บกฏครับ ไม่กล้าเขียนเยอะ เขียนแค่ลายกราฟฟิก ลายเส้นธรรมดาๆ แต่เราก็จำเป็นต้องสร้างความแตกต่างจึงฉีดกฎนั้นออกมา เริ่มเขียนงานตามกระแสภาพยนตร์บ้าง เขียนเป็นรูปคนบ้าง พอปล่อยออกไปเรื่อยๆ คนก็เริ่มฮือฮามากขึ้นครับ
- อยู่ในวงการคัสตอมรองเท้ามากี่ปีแล้ว
ตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 8-9 ปีแล้ว จากตอนแรกที่มีแค่งานเขียนลาย ลงสี ธรรมดา ก็เริ่มมีการเปลี่ยนวัสดุ ใช้วัสดุแปลกๆ รวมถึงเริ่มมีการรื้อรองเท้าออกมาทั้งคู่แล้วประกอบใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์มากในตอนนั้น มันทำให้ผมรู้จักกับร้านคัสตอมทั่วโลก เริ่มไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเขาบ้าง เพราะในช่วงแรกๆ บ้านเรายังไม่ยอมรับงานคัสตอมมากเท่าไหร่ จะมีก็เฉพาะกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
- แรงบันดาลใจในการคัสตอมรองเท้าแต่ละคู่มาจากไหน
เกิดจากความคิดร่วมของเรากับลูกค้ามากกว่า เราคิดคนเดียวไม่ได้ ต้องดูถึงความต้องการเป็นหลักว่าสามารถตอบสนองเขาได้ไหม ได้มากแค่ไหน หลังจากคุยกันเสร็จก็จะมาใส่ไอเดียในผลงานได้อย่างเต็มที่
- เห็นว่านอกจากผ้าใบแล้ว ยังมีการเพ้นท์บนหนังรวมถึงการเปลี่ยนวัสดุด้วย มีวัสดุอะไรบ้าง
อย่างช่วงนี้ที่กำลังเป็นกระแสอยู่น่าจะเป็นลายผ้าไหม ด้ายปัก อะไรที่เน้นความเป็นไทยหน่อย แต่นอกจากนั้นก็ยังมีหนังงู หนังปลาฉลาม หนังคางคก หนังปลานิล และปลาทะเลครับ ซึ่งจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนวัสดุก็มาจากการที่ผมรื้อรองเท้ามาหลายๆ คู่และเห็นว่าวัสดุบางอย่างมันใช้แทนกันได้ครับ (หัวเราะ)
- รองเท้ารุ่นไหนที่นิยมนำมาคัสตอมกันมากที่สุด
ขึ้นอยู่กับกระแสของแต่ละช่วงเลยครับ ถ้าเป็นช่วงที่ Jordan Nike ดังจะเป็นรุ่นนั้น ช่วงไหน รุ่นไหนกำลังฮิตกำลังโดนก็มาหมด ถ้าปีที่ผ่านมาให้หลัง Adidas กินขาด Nike แทบจะเหลือเฉพาะกลุ่มแต่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ ยังล้มกันไม่ได้
- คิดว่าตอนนี้สนีกเกอร์รุ่นไหนที่กำลังน่าจับตามอง
สำหรับผมเมื่อก่อนไม่ชอบเลยคือ NMD แต่ตอนนี้รักมาก (หัวเราะ) ผมถอดประกอบรองเท้ามาหลายรุ่นก็จะเห็นว่าแต่ละรุ่นมีลักษณะคล้ายๆ กับรถยนต์หนึ่งคัน แต่ NMD มันเหมือนกับเอาถุงเท้ามาติดพื้นแล้วก็ใส่เลยซึ่งผมไม่ชอบ แต่พอมาเปิดใจดูแนวคิดมันก็เริ่มเจ๋งนะ เอาโฟม เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ พื้นที่มีการยึดเกาะดี ใยผ้า ความเบาเหมือนกับไม่ได้ใส่รองเท้า ลองเปิดใจนึกถึงกระบวนการคัสตอมซะเลย ยิ่งพอเข้ามารู้จักกับการใช้วัสดุอื่นๆ ก็เลยเริ่มรัก เริ่มสนุก จึงตาม NMD ถึงทุกวันนี้ รวมถึง Adidas Yeezy นี่แหละที่กำลังน่าจับตามองโดยเฉพาะเวลามีศิลปินมาคอลแลบยิ่งน่าสนจับตามองขึ้นเป็นเท่าตัว
“หลายคนชอบตั้งคำถามกับผมว่ารองเท้าแพงๆ ใส่แล้วมันเหาะได้หรอ แต่ถ้าลองมานั่งคิดดีๆ เขาให้คุณค่ากับการครีเอทมากกว่าซึ่งการครีเอทของแต่ละรุ่นยากนะ กระบวนการซับซ้อน ทำมันจริงๆ ไม่ง่ายเลย แต่ละคู่มีกิมมิคและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ กว่าจะมาใช้งานได้จริงมันยากมาก แม้แต่คนที่คัสตอมอย่างผมก็ต้องคิดตามด้วย”
- หัวใจสำคัญของการคัสตอมรองเท้าคืออะไร
การคัสตอมรองเท้าก็เหมือนการเพิ่มคุณค่าของสิ่งๆ นั่นแหละครับ ยิ่งใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป ใส่ไอเดียลงไป สนีกเกอร์ก็จะเพิ่มมูลค่าไปด้วยตัวของมันเอง อย่างช่วงนี้ผมก็เริ่มจะใช้ลายไทยอย่างผ้าไหมเข้ามาคัสตอมมากขึ้นเพื่อถึงแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยด้วย แต่ต้องตัดลวดลายที่เกี่ยวกับความเชื่อออกไปเพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากสำหรับคนไทยครับ
- จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีงานคัสตอมออกมาเยอะ คิดว่าจุดเด่นของเราอยู่ที่ตรงไหน
ความละเอียดอ่อนครับ อย่างกลุ่มที่เป็นนักสะสมจะเข้าใจเลยว่างานคัสตอมต้องประณีตมากแค่ไหน อย่างรองเท้าราคาแพงๆ ที่ไม่ได้เดินเข้าไปในช็อปก็ซื้อได้ ถ้าทำงานเสียล่ะ ทำงานพังล่ะ การแก้งานยากกว่าการทำงานในทุกๆ ขั้นตอนเลยครับ ซึ่งก่อนที่จะคัสตอมรองเท้าแต่ละคู่ก็ต้องรู้จักวิธีที่จะถนอมรองเท้าด้วย ต้องทำทุกงานด้วยความรัดกุมและคุ้มค่ามากที่สุด
- คู่ไหนที่ทำนานที่สุด
ถ้านับแล้วจนถึงตอนนี้ก็ 2 ปีแล้วครับ (หัวเราะ) ที่นานเพราะเป็นคู่ที่รวบรวม 29 คู่ ให้มาอยู่ในคู่เดียว มันยากนะ 29 รุ่น เอาเอกลักษณ์ทั้งหมดมารวมกัน ต้องหาอุปกรณ์มาเปลี่ยนใหม่บ้าง ทำขึ้นมาเองบ้าง บางอย่างก็ต้องเพิ่งเครื่องมือจากต่างประเทศเลยทำให้ล่าช้า อีกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วยบางทีติดกาวไม่ได้เพราะอากาศชื้น งานแฮนเมดพวกนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือแสงแดดครับ
- ผลงานชิ้นไหนที่ภูมิใจมากที่สุด หรือชิ้นไหนที่ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น
น่าจะเป็น Air Jordan XI Supreme X Line Thai คู่นี้ทำให้คนรู้จักมากขึ้นเลยครับ และเป็นคู่ที่ถูกจัดอันดับด้วย โดยกลุ่มPaintorthread เป็นกลุ่มที่แลกเปลี่ยนผลงานกันโดยในกลุ่มจะมีเพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น ใครไม่เก่ง ไม่เจ๋งจริงออกไป ใครไม่ใช่นักคัสตอมไม่ให้เข้าตรวจงานกันก่อน เข้มงวดมาก ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้จัดอันดับด้วยการโหวตนะครับ อาจจะเป็นเพราะความโชคดีของผมอีกแล้ว (หัวเราะ) ปกติถ้ามีคนมาสั่งงานผมก็จะนัดรับที่ร้านตามเวลา แต่ครั้งนี้ลูกค้ามาก่อนเวลามานั่งดู มาเห็นว่าทำจริง พอส่งงานไปปุ๊บ รู้อีกทีชื่อของร้าน ผลงานของร้านก็ได้เข้าไปอยู่ในเว็บไซต์ละครับ เขาจัดให้เป็น 15 ร้านของโลกที่คุณต้องมาซึ่งเราเป็นคนไทยร้านเดียวที่อยู่ในนั้น
- มองอนาคตของการคัสตอมรองเท้าไว้ยังไง
จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น สนุกมากขึ้นเพราะมันตอบสนองความต้องการของคน แน่นอนว่าความต้องการนี้มันแสดงตัวตน และความโดดเด่นได้เยอะ เคยมีคนถามนะ คัมตอมไปเพื่ออะไร!! แต่พอมาได้คำตอบมันคือเรื่องจริงถ้าเราให้คุณค่ากับงาน ให้คุณค่ากับความคิดและการครีเอทมันคือหัวใจของงานคัสตอม อาจจะด้วยอิทธิพลของศิลปิน ดารา ทำให้มันเฟื่องฟูขึ้นเยอะมาก แฟชั่นที่แข่งขันกันเองจนมันกลายเป็นอะไรที่ยั่งยืนในระยะยาว แล้วที่ชอบมากที่สุดคือมันไม่เคยหยุดนิ่ง ไปได้เรื่อยๆ ตามอายุ งานคัสตอมมันก็จะเปลี่ยนไปตลอดทำให้เราสนุกกับมันมากขึ้น มีโจทย์มาท้าทายเรา ยิ่งเปลี่ยนวัสดุได้ยิ่งสนุก ตอนนี้ก็ยังไม่หยุดแล้วก็ต้องพัฒนางานให้ดีและคุ้มค่ามากที่สุด
Story : Babiw
Photo : อรรณพ อาจหาญ