เราจะสร้างประชาธิปไตยทางดนตรี : ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ก่อตั้ง “ฟังใจ”

เราจะสร้างประชาธิปไตยทางดนตรี : ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ก่อตั้ง “ฟังใจ”

Interview : อย่างไม่อาจปฏิเสธ ทุกวันนี้มิวสิคสตรีมมิ่งคืออีกหนึ่งช่องทางการฟังเพลงของคนยุคใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตผูกติดกับสมาร์ทโฟนอย่างแนบแน่น บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติหลายรายต่างมองเห็นโอกาสทางธุรกิจตรงจุดนี้ และเดินหน้าเปิดบริการมิวสิคสตรีมมิ่งในเมืองไทยกันมากมาย

แต่อย่างที่เห็นและทราบกันดี หลายบริษัทต่างต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยเหตุผลต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น KKBox, Deezer รวมถึง LINE MUSIC เป็นต้น

น่าสนใจไม่น้อยที่ มิวสิคสตรีมมิ่งของคนไทยรายเล็กๆ อย่าง “ฟังใจ” ที่ปลุกปั้นขึ้นจากความหลงใหลในเสียงดนตรีของ ท้อป ศรัณย์ ภิญญรัตน์ กลับยังคงยืนหยัดอยู่ได้ ท่ามกลางการแข่งขันอันร้อนแรง แถมยังเหนียวแน่นไปด้วยกลุ่มผู้ฟังเพลงทางเลือก ต่อยอดไปสู่ไลน์ธุรกิจใหม่ๆ อย่าง “เห็ดสด” ไลฟ์โชว์จากกลุ่มศิลปินนอกกระแส ที่หลายวงกลายเป็นกระแสไปในที่สุด

ย้อนกลับไปช่วงปี 2014 ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มการฟังเพลงอย่างมิวสิคสตรีมมิ่งยังเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับคนไทย ยิ่งหากพูดกันบนพื้นฐานทางธุรกิจแล้วนับเป็นเรื่องอยากอยู่ไม่น้อย ในการทำให้ทั้งผู้ฟัง และค่ายเพลงเข้าใจถึงรูปแบบของมันอย่างถ่องแท้ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรฟังใจรายนี้ท้อถอย

จากชีวิตกราฟฟิค ดีไซน์เนอร์ที่นำเอาประสบการณ์ และวิธีคิด จากการทำงานที่บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในซิลิคอนวัลเลย์กลับสู่เมืองไทย ประกอบกับความหลงใหลในเสียงดนตรีที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ไอเดียการสร้างแพลตฟอร์มมิวสิคสตรีมมิ่งในรูปแบบบริษัทสตาร์ทอัพจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยทางดนตรี…

“ประชาธิปไตยทางดนตรีมันคือวิธีคิดที่ว่า ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วที่คนเราจะต้องฟังเพลงตามๆ กัน หรือมีศิลปินล้านตลับอยู่ไม่กี่คน แต่มันอาจเป็นศิลปินหมื่นตลับ แต่ว่ามีเป็นหมื่นคนก็ได้”

ผู้ก่อตั้ง Fungjai เผยถึงหมุดหมายสำคัญในการสร้างพื้นที่ทางเสียงดนตรีแห่งนี้ขึ้นมาและว่า

“คือสมัยก่อนคนที่คุมอำนาจของสื่อมีอยู่ไม่กี่เจ้า ไม่ใช่แค่ในไทยนะครับ แม้แต่ในระดับโลกก็ตาม และผู้ที่คุมสื่อนั้นเป็นคนกำหนดว่าคุณควรชอบอะไร ต้องฟังอะไร หรือคุณต้องแต่งตัวแบบไหน พอการมาถึงของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมันเลยเป็นการพลิกตรงที่ว่า เราสามารถควบคุมด้วยตัวเองได้แล้วว่าเราอยากเสพอะไร เราสามารถเลือกได้เองว่าวินาทีนี้เราจะฟังอะไร และเราก็ได้ฟังทันทีตามที่ต้องการ”

“ประชาธิปไตยทางดนตรีมันคือวิธีคิดที่ว่า ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วที่คนเราจะต้องฟังเพลงตามๆ กัน หรือมีศิลปินล้านตลับอยู่ไม่กี่คน แต่มันอาจเป็นศิลปินหมื่นตลับ แต่ว่ามีเป็นหมื่นคนก็ได้”

ในอีกมุมหนึ่งหลายคนมองว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีมิวสิคสตรีมมิ่งที่มาพร้อมความสะดวกสบายต่างๆ ต้องแลกมากับความฉาบฉวยของคนฟังหรือไม่?
“ผมมองว่าเป็นเรื่องของแต่ละคนนะครับ เค้าอยากจะฟังละเอียดหรือเปล่า เพราะถ้าอยากฟังแบบละเอียดมิวสิคสตรีมมิ่งก็ไม่ได้ห้ามคนฟังแบบนั้นนะครับ ส่วนตัวผมมองว่ามิวสิคสตรีมมิ่งมันดีกว่าวีดีโอสตรีมมิ่งอย่างยูทูปในแง่ที่ว่าบางทีเราค้นพบศิลปินที่เราชอบโปรแกรมมันอาจจะสุ่มมาให้เจอเพลงนี้เราก็กดเข้าไปในชื่อศิลปินมันก็จะปรากฏผลงานเพลงจากศิลปินคนนี้ขึ้นมาทั้งหมด แล้วถ้าเราอยากรู้จักเค้า เราก็ตามไล่ฟังได้เลยทีละเพลง ซึ่งจะได้ทำความรู้จักกับศิลปินคนนั้นอย่างละเอียดมากขึ้น ตามอัลบั้ม ตามแทร็คลิสต์ ซึ่งบนวีดีโอสตรีมมิ่งมันไม่ได้มีแบบนี้ ส่วนเรื่องฉาบฉวยหรือไม่นั้นส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับคนฟังมากกว่า”

อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว หากมองถึงธุรกิจมิวสิคสตรีมมิ่งรายใหญ่ต่างๆ ก็จะเห็นผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Joox Music Apple Music รวมถึง True Music ที่ต่างมีจำนวน Content มหาศาล และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากซึ่งแน่นอน หากวัดกันที่ขนาดความใหญ่ทางธุรกิจแล้ว ฟังใจ คงไม่อาจไปเทียบกับผู้เล่นรายอื่นๆ ที่มีอยู่ได้ ถ้าเช่นนั้นจุดยืนของฟังใจคือะไร
“เราไม่ได้มองว่าฟังใจเป็นมิวสิคสตรีมมิ่งบนพื้นฐานของการทำธุรกิจอยู่แล้ว เราพยายามสร้างคอมมูนิตี้ระหว่างคนทำเพลงกับผู้ฟัง แน่นอนแหล่ะเราก็อยากให้มีคนโหลดแอพเราเยอะๆ มาฟังเพลงของเราเยอะๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีบิ๊กเพลย์เยอร์จริงๆ และเราไม่สามารถไปแข่งกับเขาได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้ไปมองความสำเร็จ ในแง่ของธุรกิจเป็นหลัก เรามุ่งสร้างพื้นที่ที่ทำให้ศิลปินได้มาเจอกันในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเรายังมี Business อื่นๆ อีกเช่น ออนไลน์แม็กกาซีน คอนเสิร์ต และงานสัมมนาต่างๆ”

นั่นคืออีกหนึ่งเหตุผลในการเกิดขึ้นของ “ฟังใจเห็ดสด”
“ความจริงแล้วการจัดเห็ดสดครั้งแรกจุดมุ่งหมายของมันก็ไม่ใช่เรื่องเงินนะครับ เราคิดคล้ายๆ กับตอนเปิดตัวฟังใจใหม่ๆ ที่อยากให้ศิลปินกับคนฟังได้มีพื้นมาพบกัน อย่างวงดนตรีเล็กๆ ที่มีฝีมือพอไปอยู่ตามเฟสติวัลใหญ่ๆ เค้ามักจะถูกจัดให้ไปอยู่ตามเวทีเล็กๆ ซึ่งเราอยากให้พวกเค้าได้มาอยู่ในบริบทที่ได้แสดงศักยภาพออกมาจริงๆ”

“ครั้งแรกของเห็ดสดเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 วงดนตรีวงแรกที่มาเล่นเรายังจำได้ดีนั่นคือวง The Whitest Crow กับ Solitude is Bliss (วงดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟจากจ.เชียงใหม่-ผู้เขียน) ซึ่งตอนนั้นคนกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยรู้จักกัน หลังจากนั้นก็จะเป็นวงอย่าง Polycat, Electric neon lamp แล้วก็ Desktop Error ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นเบอร์ใหญ่ แล้วก็มีวง Death of a Salesman ซึ่งเค้าไม่ได้เล่นสดมาสิบกว่าปี ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราค้นพบนอกจากการเป็นพื้นที่ให้กับวงดีๆ แล้ว มันยังทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก และอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ คือการทำคอนเสิร์ตมันมีเม็ดเงินซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขายตั๋ว และสปอร์นเซอร์ชิพต่างๆ เองก็ตาม เราก็เลยมาคิดกันว่าโอเค ถ้าหากว่าการทำมิวสิคสตรีมมิ่งมันไม่ได้สร้างรายได้ให้กับเรามากนัก เราจึงเริ่มขยายไปสู่การทำอีเว้นท์มากขึ้น ซึ่งมันมีคำพูดอยู่คำหนึ่งที่ผมได้มาจากน้องแฟรงก์ (CEO ของเว็บ Lensod.com) นั่นคือว่า ประสบการณ์ดูสดมันดาวน์โหลดไม่ได้…”

จากเส้นทางที่ผ่านมาทั้งหมดจนถึงตรงจุดนี้เชื่อได้เลยว่าฟังใจต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อย่างแน่นอน เราอยากรู้เหลือเกินว่าพวกเขาฝ่าฟันกันมาได้อย่างไร จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของทีมงานที่มีกันอยู่เพียงแค่ไม่กี่คน จนทุกวันนี้สมาชิกฟังใจเพิ่มขึ้นถึงกว่า 30 คน
“ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าในการทำอะไรก็แล้วแต่มันจะต้องมีปัญหาทั้งหมด ของฟังใจเองเอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเรื่องเงินแหล่ะ เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้มีแบ็กกราวน์ที่มีทุนทรัพย์อะไรมากมาย ซึ่งช่วงแรกๆ ก็จะเหนื่อยมากเพราะผมเองก็ต้องทำงานไปด้วย แล้วก็ทำฟังใจ ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ท้อนะ แต่มันเหนื่อย แต่พอเราเห็นคนอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเรา ก็เลยบอกกับตัวเองว่าเราจะท้อไม่ได้ (นิ่งคิด..) หลายๆ คนเคยมาบอกว่าอย่าทำเลย วงการนี้มันโหดร้าย กำลังลงเหว แต่ผมบอกกับทุกคนในทีมอยู่เสมอว่าเราจะใช้วิธีการทำงานแบบปิดตาหนึ่งข้าง ปิดหูหนึ่งข้าง คือเราดู เราเห็น เราฟังคนพูด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีความเชื่ออยู่ในตัวเองเหมือนกัน อันไหนจริงเราก็เก็บไว้ เพื่อเอามาพัฒนากันต่อไป ก็ต้องขอขอบคุณทุกคนที่เชื่อในวิชั่นของเรา และทำให้ฟังใจเดินมาจนถึงตรงจุดนี้ได้…”

“ผมบอกกับทุกคนในทีมอยู่เสมอว่าเราจะใช้วิธีการทำงานแบบปิดตาหนึ่งข้าง ปิดหูหนึ่งข้าง คือเราดู เราเห็น เราฟังคนพูด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีความเชื่ออยู่ในตัวเองเหมือนกัน อันไหนจริงเราก็เก็บไว้ เพื่อเอามาพัฒนากันต่อไป”

ฟังดูแล้วคุณมีวิธีบาลานซ์ต่อสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา อยู่ตรงกลางระหว่าง งานศิลปะ กับ ธุรกิจ ได้แบบพอดีๆ อยากทราบว่าวิธีได้วิธีคิดเหล่านี้มาอย่างไร การไปทำงานที่ซิลิคอน วัลเลย์ มีส่วนหรือไม่
“ก็คงมีผล แต่ผมคิดว่าการที่เราเป็นดีไซน์เนอร์ด้วยมั้งครับ คือดีไซน์เนอร์มันเป็นศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างวิทย์กับศิลป์ เวลาเราออกแบบงาน เราเลือกใช้สีมันก็ต้องมีที่มา เรากำลังสื่อสารกับยูสเซอร์กลุ่มไหน ทำไมต้องเป็นสีนี้ ฟอนท์นี้ หรือรูปสไตล์นี้ บางทีอาจเป็นสิ่งนี้มั้งครับที่ทำให้ผมบาลานซ์ได้ เพราะมันมีทั้งเรื่องของอารมณ์ และมีเรื่องของเหตุผลเข้ามาอยู่ในความเป็นฟังใจ”

ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณให้คำนิยามของความเป็นฟังใจว่าอย่างไร
“สำหรับผมฟังใจก็เหมือนลูกคนนึง ผมเคยทำงานดีไซน์มา และหลังจากที่งานของผมถูกคลอดออกมาแล้วพอเค้าโตได้สักสองสามขวบก็จะมีคนอื่นเอาไปเลี้ยง แล้วผมก็คลอดออกมาใหม่ มันก็เป็นกระบวนการที่วนไปอย่างนี้ แต่ฟังใจคือลูกของเราที่เราคลอดมาตั้งแต่วันแรก แล้วเราก็เลี้ยงดูปูเสื่อเค้ามาซึ่งเราก็ต้องเลี้ยงให้เค้าเจริญเติบโตต่อไป มันมีความสัมพันธ์กันอยู่เพราะผมเองก็ไม่ได้เคยสร้างอะไรที่เราคิดว่าเป็นของๆ เราจริงๆ”

ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นการกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งของแผ่นเสียง ในส่วนคุณท้อปที่ทำมิวสิคสตรีมมิ่งมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
“สุดยอดครับ (ตอบสวนทันที) ผมชอบ ชอบมากเลย เอาจริงๆ นะคือเราไม่ได้มองว่าแม้เราจะทำมิวสิคสตรีมมิ่ง แต่เราไม่ได้ไปแอนตี้มีเดียอื่นๆ วันนึงถ้าคนเค้าไม่ได้ฟังสตรีมมิ่งแล้วมันก็ต้องตายไป สุดท้ายแล้วคนที่มีอำนาจมากที่สุดคือคนฟัง และผมคิดว่ามันดีด้วยครับที่ฟิซิคอลกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง ผมรู้สึกว่ามันมีนัยที่เกี่ยวกับการสะสมหรือคุณภาพของเสียง อะไรก็ตามที่ทำออกมาแล้วทำให้ศิลปินมีช่องทางในการหารายได้และการเผยแพร่ผลงานของตัวเองมันดีทั้งนั้นเลยครับ”

มองวงการเพลงไทยโดยรวมในเวลานี้อย่างไร
“ผมว่ามันเจ๋งนะ เจ๋งมาก ใครบอกว่าวงการเพลงไทยเงียบเหงาผมเถียงเลย ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่าคนที่พูดเช่นนั้นคือใคร หากเป็นคนที่มาจากอุตสาหกรรมดนตรีในยุคที่ต้องพึ่งพาการซื้อขาย หรือลิขสิทธิ์ของสิ่งบันทึกเสียงคุณอาจจะเหนื่อย คุณอาจจะรู้สึกว่ามันขาลง เพราะคนฟังเค้าไม่ซื้อแล้ว ไม่ซื้อซีดีแล้ว ไม่ดาวน์โหลด แต่ถ้ามองกลับกันตรงที่ว่าเพลงที่ดีมีหน้าที่เชื่อมโยงศิลปินกับผู้ฟัง ทำให้เค้าคอนเนคท์กัน และเมื่อคอนเนคชั่นตรงนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ความเป็นแฟนมันก็จะเกิดขึ้น มูลค่าของดนตรีมันก็จะเกิดขึ้นตามมา มันเป็นเรื่องของแบรนด์ดิ้งของศิลปิน ถ้าคุณชอบเค้าเค้าเล่นสดคุณก็อยากไปดู เค้าขายหมวกคุณก็อยากซื้อ เค้าขายซีดีคุณก็อาจอยากซื้อแต่คุณเก็บแผ่นไว้ เพราะทุกวันนี้เกิดพฤติกรรมอย่างนี้ขึ้นมากเลยที่แบบว่าซื้อซีดีมาเก็บไว้เป็นกอง คือคุณซื้อเพราะคุณรักเค้า เราอยากสนับสนุน เพราะเราชอบเพลง”

สุดท้ายอยากให้ฝากถึงคนที่กำลังมีความคิดอยากทำธุรกิจบางอย่างเป็นของตัวเอง
“(นิ่งคิด…) ช่วงนี้มักจะมีสื่อหรือคอนเทนต์ออกมาค่อนข้างเยอะทำนองว่า เฮ้ย..! ทุกคน จงออกนอกกรอบ ลาออกจากงาน ทำธุรกิจรวยทางลัด ฯลฯ ผมก็แบบ อืมมมมีแต่พูดกันในแง่อัพไซด์ แต่ไม่ได้พูดถึงในแง่ของดาวน์ไซด์เลยว่ะ ไม่มีใครบอกเลยว่าถ้าออกไปทำสิ่งเหล่านี้แล้วมันเกิดไม่ประสบความสำเร็จล่ะ? มันมีผลกระทบแง่ลบเยอะนะ (เว้ย)…ไม่ใช่แบบว่าจะขายฝันกันอย่างเดียว…”

“อย่างหนึ่งที่ผมจะบอกก็คือ จะทำอะไรทำได้หมด แล้วตัวเราควรจะแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองฝัน และอยากจะทำ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่คุณควรทำเป็นสิ่งแรกคือต้องประเมินก่อนว่าศักยภาพคุณคืออะไร ความสามารถคุณคืออะไร การเงินล่ะ คุณมีภาระอะไรหรือเปล่า ไม่ใช่ว่ากำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ โทรศัพท์ยังผ่อนอยู่เลยแล้ว เฮ้ย กูลาออก ไปใช้ชีวิต ไปทำตามความฝัน อ้าว แล้วหนี้เหล่านั้นล่ะ พ่อแม่คุณรับผิดชอบเหรอ โอเคถ้าคุณมั่นใจว่าคุณแสวงหาเจอแล้วว่าจะทำธุรกิจสักอย่าง แล้วต้องไปกู้เงินมาหลายๆ ล้าน แล้วถ้ามันไม่สำเร็จ แผนบีคืออะไร คุณทำให้คนที่อยู่ข้างหลังคุณเดือนร้อนหรือเปล่า ถ้าเจ็บคนเดียวมันก็ไม่เป็นไร ชีวิตคุณ คุณก็ลุยเลย”

ภาพ / คลิป โดย : Kabepastic

 

Interview : Design for life : ออกแบบ ชุติมณฑน์

Interview : บู้ Slur & Rompboy – Passion คือแสงไฟนำทางให้เรา

คำให้การจากไบเกอร์สาวกับการขับมอเตอร์ไซค์บนเส้นทางในฝัน “หิมาลัย”

 

keyboard_arrow_up