น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

น้อยหน่า – สุริยา อุทัยรัศมี || นักเขียนการ์ตูน ขายฝันเป็น “บางเวลา” ถ้าเรื่องฮาๆ ตามอ่านได้ที่ “ขายหัวเราะ”

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี
น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

WHO # FAV talk with น้อยหน่า – สุริยา อุทัยรัศมี : ชายหนุ่มที่กล้าท้าฝัน เริ่มต้นที่ความแตกต่างของความฝัน สุดท้ายก็เดินมาตามทางเดียวกัน คือ ทางแห่งความสุข…ของตัวเอง

 

น้อยหน่า – สุริยา อุทัยรัศมี นักเขียนการ์ตูน ทำงานประจำ แต่ไม่ได้นั่งประจำอยู่ที่กอง บก. เขากลับใช้เวลาว่างจากการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ชื่อ “บางเวลา กาแฟและแกลเลอรี่” อยู่ที่เมืองจันท์ เพื่อคิด gag และเขียนการ์ตูนส่งต้นฉบับเพื่อตอบโจทย์ความสุขของตัวเอง

วันนี้เราจะพาทุกคนไปค้นหาคำตอบ ที่มาที่ไปของการมาเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับหนังสืออารมณ์ดีในตำนานอย่าง “ขายหัวเราะ” พร้อมฟังความคิด การใช้ชีวิต และการตัดสินใจกลับมาเปิดร้านคาเฟ่เล็กๆ ที่บ้านเกิด

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

พี่น้อยหน่าเล่าที่มาของการมาเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ “ขายหัวเราะ” ให้เราฟังหน่อยครับ

เริ่มจากที่พี่ทำหนังสือทำมือแล้วไปขายตามงาน มันฮิตอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นก็เขียนการ์ตูนอยู่แล้วที่ วิบูลย์กิจ เป็นการ์ตูนเรื่องยาว อย่าง “แก๊งซ่าคาถาแสบ” หรือ “Sea World อภินิหารสุดขอบโลก” เป็นการ์ตูนไทยรายสัปดาห์แทรกกับการ์ตูนญี่ปุ่น แล้วก็มีพี่ที่รู้จักกันย้ายไปทำที่ บรรลือสาส์น พอดีกับเค้ากำลังหาคนไปออกแบบลายกระเป่าผ้า พี่เค้าก็นึกถึงเรา ก็ชวนไปออกแบบ ทำจนจบโปรเจค ต่อมามีงานสัปดาห์หนังสือ เค้าอยากทำหนังสือทำมือเพื่อถวายสมเด็จพระเทพฯ เค้าเห็นเราทำหนังสือทำมืออยู่ เค้าก็เรียกเราเข้าไปทำ

ระหว่างนั้นเราก็ได้ไปเจอพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เขียนให้ที่นั่นอยู่ เราก็เห็นเค้าทำงาน ก็เอ๊ะ! เค้าคิดงานกันได้ไงทุกอาทิตย์ เรากลับมามองตัวเองว่า กว่าจะคิด gag ได้สักหนึ่งหน้า ก็ใช้เวลานานเลยนะ ดูท่าจะยาก

แล้วก็คิดย้อนกลับไปสมัย ม.ต้น ก็คิดจริงจังอยากจะเขียนมาก คือคิดไว้ว่า จบ ม.ต้น อยากจะเรียนช่างศิลป์ที่กรุงเทพฯ (บ้านเกิดของพี่น้อยหน่าอยู่ที่ จ.จันทบุรี) แต่ติดเรื่องเงิน เราต้องหางานทำไปด้วย ตอนนั้นก็ยังเด็กๆ ก็คิดว่า เราเขียนได้นี่หว่า ก็ลองสมัคร เผื่อเราจะได้หาเงินเรียนไปด้วย ปรากฏว่า ตอนนั้นเค้าตอบกลับมาว่า ลายเส้นได้ แต่ gag ไม่ได้ ประมาณนั้น ก็เลยยังไม่มีโอกาสไปเรียนช่างศิลป์ที่กรุงเทพฯ ก็ต้องเรียนอยู่ที่จันท์ ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าจังหวะมันเหมาะสม เราคงได้กลับมาเจอกันอีกนะ จนวันที่เราได้เข้าไปปุ๊บ ก็ลองเขียนดูใหม่ละกัน

แนวการเขียนการ์ตูนเรื่องยาว กับการ์ตูนแนว gag มีความยากง่ายแตกต่างกันอย่างไร

การ์ตูนเรื่องยาว คือเราจะคิดประเด็นที่จะเขียนก่อน เรานำเสนอเรื่องได้ สิบห้าหน้า ยี่สิบหน้า หรือมากกว่านั้น แต่ถ้าเขียนแนว gag เนี่ย หนึ่งเรื่อง หนึ่งประเด็น มันคือหนึ่งหน้า แนวนี้เรื่องวาดมันจะไม่ยาก เพราะรายละเอียดมันไม่เยอะ แต่คิดเยอะ แต่ถ้าเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเนี่ย มันวาดยาก เพราะบางครั้งเราต้องเขียนฉากซ้ำๆ กัน ตัวละครซ้ำๆ กันเยอะ แต่ด้วยเรื่องแต่ละตอนมันมีประเด็นแค่นิดเดียว แต่เราเขียนได้เป็นยี่สิบหน้า

ช่วงนั้นก็นึกถึงวัยเด็กที่เราเคยสมัคร เมื่อเรามาอยู่ใกล้ บก. แล้ว ก็ลองสเก็ตเป็น gag แล้งส่งไปดู ตอนนั้นก็สเก็ตส่งไปประมาณ 5-6 หน้าได้มั้งครับ ปรากฏว่า เฮ้ย! ผ่านว่ะ (ยิ้มภูมิใจ) ตอนนั้นเราก็ยังไม่เชี่ยวชาญการเขียนแนว gag สักเท่าไหร่ มันก็ออกมาไม่ค่อยดีนักนะครับ มันเลยกลายเป็นความท้าทาย ความตื่นเต้น อีกครั้ง

มันเหมือนสมัยเด็กๆ ที่เราเคยเขียนแล้วได้ลงหนังสือสักหน้าหนึ่ง เราก็ดีใจ เอาไปโชว์เค้าไปทั่วสามบ้านแปดบ้านแล้ว (หัวเราะ) แต่พอมาเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพ มันก็เฉยๆ ไปแล้ว ความรู้สึกตื่นเต้นมันไม่ค่อยมี แต่พอเราเจอเด็กๆ ที่เค้าอยากเขียน มันเหมือนเรามองเห็นตัวเองในวัยเด็ก ที่เรารู้สึกตื่นเต้นดีใจที่ได้เห็นผลงานตัวเอง แต่ทำไมเรารู้สึกเฉยๆ ไปแล้ว แต่พอได้มีโอกาสกลับมาเขียนการ์ตูนแนว gag ก็ทำให้ความรู้สึกตอนเด็กๆ กลับมาอีกครั้ง

ตอนนั้นก็รู้นะว่ายังเขียนไม่ดีหรอก แต่มันก็ตื่นเต้นที่จะคอยหนังสือเล่มนั้นออก เพื่อที่จะดูหนึ่งหน้าที่เราเขียนได้ลงหนังสือ หลังจากนั้นเราก็อยากจะพัฒนางานเขียนของเราไปเรื่อยๆ ก็เขียนส่งไปเรื่อยๆ เค้าก็เลือกงานเราไปลงเรื่อยๆ จนได้เป็นนักเขียนประจำครับ

ต้องอธิบายแบบนี้ก่อนว่า ลักษณะงานที่ผมทำคือเป็นนักเขียนการ์ตูนอิสระ แต่เขียนส่งเป็นประจำ เลยเรียกว่าเป็นนักเขียนประจำครับ นักเขียนการ์ตูน มันไม่ได้เงินเหมือนพนักงานประจำนะครับ คือ เราทำแค่ไหน เราก็ได้เงินเท่านั้นครับ พอเขียนส่งเป็นประจำ ทุกอาทิตย์ คนก็จะจำงานเขียนของเราได้

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

พี่น้อยหน่าเคยเป็นนักเขียนแบบเป็นพนักงานประจำมาก่อนหรือเปล่าครับ

ไม่เคยเลยครับ แต่เขียนงานให้กับสองที่คือ เขียนการ์ตูนเรื่องยาวที่ วิบูลย์กิจ แล้วก็เขียน gag ที่ ขายหัวเราะ ตอนหลังเริ่มเขียนไม่ไหว ก็เลือกทำแค่ที่เดียว ที่ขายหัวเราะครับ

อยากรู้ว่า นักเขียนการ์ตูนแนว gag เค้ามีอารมณ์ขันเหมือนกับชื่อหนังสือรึเปล่าครับ

คนที่จะมาเขียนแนวนี้ได้ ต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ขันครับ แต่คนมีอารมณ์ขัน อาจไม่ได้เป็นคนตลกพร่ำเพรื่อ บางคนจะเห็นเพื่อนๆ หรือคนรอบข้าง ที่ตลกปล่อยมุกไปเรื่อย แต่อาจคิดเป็น gag อะไรไม่ได้ แต่กลับกันบางคนที่เราได้อ่าน gag แล้วแบบว่า โคตรตลก แม่งคิดได้ไง แต่ตัวจริงเป็นคนเงียบๆ คือเค้ามีโลกส่วนตัวที่มีอารมณ์ขัน แต่ส่วนใหญ่ที่พี่รู้จักจะเป็นคนเงียบๆ นะ (หัวเราะ)

เมื่ออาชีพนักเขียนการ์ตูนคือความฝันในวัยเด็ก แล้วความฝันนั้นก็กลายเป็นจริงแล้ว แต่เพราะอะไร พี่น้อยหน่าจึงตัดสินใจกลับมาเปิดร้านกาแฟอยู่ที่เมืองจันท์ครับ

อืม จริงๆ พี่ก็ไม่ได้อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ถาวรอยู่แล้วนะครับ ไปๆ มาๆ ขึ้นลงกรุงเทพฯ ตลอด แต่บางครั้งเราทำงานไปสักพัก แล้วเราจะชินกับสภาพแวดล้อมนั้น ความรู้สึกส่วนตัว คือ เรานั่งทำงานที่ไหนนานๆ จนเริ่มรู้สึกชินที่แล้ว ก็อยากหาที่นั่งทำงานใหม่ๆ มันเป็นความขี้เกียจของเรา แล้วก็อะไรหลายๆ อย่าง เช่น พอเราได้อยู่กับโต๊ะทำงานที่บ้าน เริ่มแรกเราอาจจะเขียนงานได้ สักพักจะเริ่มตื่นสาย พอมานั่งทำงานก็นั่งหลับที่โต๊ะ มันกลายเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน มันก็จะไม่ค่อยได้งานแล้ว มันก็ต้องย้ายไปทำงานที่อื่น

พอเป็นอย่างนั้นปุ๊บ เรามีห้องที่กรุงเทพฯ พอเราย้ายที่นั่งทำงาน เราก็จะแอคทีฟขึ้น ตื่นเช้ามาก็นั่งคิดงาน แต่พอเริ่มชินที่ ก็กลับเข้าสู่พฤติกรรมเดิม ก็เปลี่ยนกลับมาทำที่บ้าน(เมืองจันท์) ก็ไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่อยู่กรุงเทพฯ มันดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ได้เจอพวกพี่ๆ เพื่อนๆ ถ้าอยู่ใกล้กัน กลางคืนก็มารวมตัวนั่งอยู่ที่แมคโดนัลด์ นั่งคิดงานกัน บางทีเราคิดอะไรได้ เราก็มาต่อยอดกัน แต่ถ้าอยู่อย่างนั้น ชีวิตมันจะเป็นแบบ ตอนค่ำออกมานั่งคิดงาน เช้าเดินกลับห้อง นอนตอนกลางวัน เย็นตื่นนอน ตอนนั้นเราจะไม่ชินกับการเดินทางเลย ถ้าจะต้องเดินทางก็เลี่ยงไปเดินทางในช่วงเวลาคนน้อยๆ คือถ้าเราจะต้องเดินทางในช่วงเวลาคนเยอะๆ เราจะเหนื่อยมาก เฮ้ย ทำกันได้ไงอ่ะ ตื่นเช้าก็ไปยืนเบียดกัน เจอรถติดบ้าง อะไรบ้าง เราก็เคยชินกับการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เค้าไม่ทำกัน

แต่ตอนที่จะตัดสินใจกลับมาอยู่จันท์ถาวร คือ พ่อป่วยเป็นโรคไต ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน แม่ก็เกิดอุบัติเหตุในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็กลับมาดูแลทั้งพ่อ ทั้งแม่ ตอนนั้นก็รู้ตัวแล้วว่า เราไปไหนมาไหนเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ก็เริ่มหาอะไรทำ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเป็นร้านกาแฟ แต่ตั้งใจจะเปิดเป็นสตูดิโอของตัวเอง เป็นที่ทำงานของเราเฉยๆ นั่งเขียนการ์ตูนไป แล้วก็มีงานแฮนด์เมดที่เราเคยทำ ทำขายให้พอมีรายได้พอค่าเช่าที่

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

แล้วร้านกาแฟเริ่มต้นมาทำได้อย่างไรครับ

พี่เป็นคนชอบกินกาแฟอยู่แล้วครับ กาแฟสดก็ทำกินเอง เริ่มดริปแบบฟิวเตอร์ ไม่ได้ทำตามทฤษฎีการชงสักเท่าไหร่ จนใช้ ม็อคค่า พ็อด ต้ม จนอยากซื้อเครื่องชงมาชงเองเลย แต่ราคาเครื่องมันก็แพงใช่มั้ยครับ ก็เปิดเป็นร้านกาแฟเลยก็ได้ ปกติชงกินเองอยู่กับบ้าน กินคนเดียวไม่ไหว ก็เอาไปให้เพื่อนบ้านกิน แล้วก็นั่งฝึกทำลาเต้อาร์ตเองอยู่กับบ้าน

แล้วตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าจะเปิดร้านกาแฟ ก็อยากจะเปิดแถวบ้านเก่าที่เคยอยู่ตอนเด็กๆ ก็คือ ชุมชนเก่าย่านริมน้ำ พอดีกับจังหวะเราผ่านไปแถวนั้น แล้วเค้าติดประกาศให้เช่าพอดี ก็ลองถามเค้าดู ตอนแรกจะมีตู้กดน้ำปาเข้าไปเกือบครึ่งหน้าร้านแล้ว เราก็ลังเลอยู่ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เหมือนไม่ได้จริงจังเลยโน๊ะ (หัวเราะ) เราก็โยนให้เป็นภาระของเจ้าของบ้านว่า ถ้าเอาตู้กดน้ำออก เราจะเช่า ตอนนั้นเราก็คิดว่า เค้าคงไม่เอาออกหรอก ปรากฏว่าเค้าเอาออกให้ แล้วเราก็รับปากเค้าไว้แล้วว่าจะเช่า ก็เอาวะ เช่าก็เช่า…ก็ได้วะ (หัวเราะ) พอเช่าแล้วก็ต้องทำ ทำก็ทำ (หัวเราะ)

แต่ด้วยเครื่องชงที่ซื้อมาเนี่ย มันเป็นเครื่องชงแบบคันโยก รองรับสูงสุดก็ได้แค่ สามสิบ สี่สิบแก้ว ต่อวัน เพราะไม่ได้คิดว่ามันจะขายดี ด้วยความที่เราไม่มีความรู้เรื่องขายของเลย มีลูกค้ามาก็ชง ไม่มีก็นั่งวาดการ์ตูน แต่พอเอาเข้าจริง มันไม่ใช่ ต่อให้ลูกค้ากินเสร็จแล้ว เราก็ต้องเก็บโต๊ะ เก็บล้าง คิดเงิน เสิร์ฟ มันมีรายละเอียดเยอะแยะเลย ไม่ได้มีเวลาว่างมานั่งวาดหรอก ชีวิตมันไม่เหมือนในละคร ที่ชีวิตดูชิลเนอะ ช่วงเปิดร้านแรกๆ แทบไม่ได้เขียนเลย สามสี่เดือนไม่ได้ส่งงานเลย

ร้านนี้เปิดได้นานเท่าไหร่แล้วครับ

ประมาณปีกว่าได้แล้วครับ พี่เปิดร้านนี้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ครับ

ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ เป็นอย่างไรบ้างครับ

ช่วงนั้นยุ่งมาก คนเยอะมาก งานเขียนก็แทบไม่ได้ส่งเลย จนคนที่เค้ารู้จักเอาไปพูดว่า คนที่เคยเขียนอยู่ “ขายหัวเราะ” จริงๆ เรายังเขียนอยู่ครับ แต่ไม่มีเวลาเขียนส่ง (หัวเราะ)

พอร้านกาแฟเริ่มอยู่ตัว ก็เริ่มส่งงาน แต่ก็ไม่ได้ส่งเยอะเหมือนแต่ก่อนที่หนึ่งอาทิตย์ ส่งงานได้สิบ ยี่สิบหน้า ตอนนี้หนึ่งเดือน ส่งงานได้สิบหน้าก็เก่งแล้ว (หัวเราะ) พอเราเก็บร้านเสร็จ กลับบ้านเราก็เหนื่อยแล้ว จากที่ทำงานจนถึงเช้าได้ เราก็นั่งหลับคาโต๊ะ คือพยามพาตัวเองไปถึงโต๊ะทำงาน แล้วก็หลับ (หัวเราะร่า) แต่ช่วงนี้พยามคิดงานให้ได้วันละหน้า สองหน้า กลางคืนก็เขียนงานก่อนจะหลับ ตอนที่เรากำลังมีสติอยู่ พยามจะทำให้ได้อยู่ ไม่อยากให้มันขาดช่วง

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

พี่น้อยหน่าเริ่มเขียนการ์ตูนแบบจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

วิบูลย์กิจ เริ่มเขียนปี 2544 ส่วนเขียนให้ขายหัวเราะ เริ่มต้นปี 2551 ปีนี้ก็ครบสิบปีแล้ว ตอนนั้นเรียนจบ ปวส. ตอนอายุยี่สิบ ทำงานประจำอยู่แปบนึงแล้วก็ไปทำงานอยู่เชียงใหม่ประมาณสองปี แล้วก็กลับมาทำงานเขียนที่วิบูลย์กิจตอนอายุยี่สิบสี่ครับ

ที่บอกว่า ไปทำงานอยู่เขียงใหม่ นี่ไปทำอะไรครับ

คือพี่เรียนจบทางด้านก่อสร้าง ก็ไปเป็นช่างโยธาของ อบต. ที่นี้ตอนเราไปทำที่นั่น เราไปด้วยอุดมการณ์เต็มเปี่ยมว่า อยากไปพัฒนาชนบท ทำถนน ทำอะไรให้เค้า แต่อุดมการณ์มันเยอะไป พอไปเจอความเป็นจริงที่ว่า เราตัวคนเดียว เราทำไม่ได้ แล้วคนอื่นไม่เอากับเราด้วย (หัวเราะ) สังคมไทยมันมีการหักเปอร์เซ็นต์ ตอดนิด กินหน่อย เราก็ เฮ้ย! ทำไมต้องทำอย่างนั้น แต่เราจะไปขวางเค้า เราก็ทำไม่ได้ คือถ้าเราไปขวางเค้า เราก็แปลกปลอม แต่ถ้าเราทำไปตามเค้า วันหนึ่งเราก็จะถูกกลืน ก็เลยไม่เอาดีกว่า เลยตัดสินใจออกจากตรงนั้น

จังหวะนั้นพอดีกับที่น้องสาวเราต้องไปเรียนที่ต่างจังหวัด แม่ไม่มีคนอยู่ด้วย ก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน แต่จะกลับมาทำอะไรล่ะ ก็มานั่งเขียนการ์ตูนละกัน เขียนเสร็จเราก็ไปสมัครที่ วิบูลย์กิจ แล้วเค้าเอา ก็เลยได้งานที่นั่น

สมัยนั้นมีที่ไหนสอนเกี่ยวกับงานเขียนบ้างครับ

ก็มีที่เพาะช่าง แล้วก็วิทยาลัยช่างศิลป์ แต่พอเราไม่ได้ไปเรียน เราก็เรียนช่างก่อสร้างที่ วิทยาลัยเทคนิค จันทบุรี ครับ ซึ่งก็มีวิชาเขียนแบบ มีวาดเส้น มีสอนสีน้ำ วาดพวกบ้าน เราก็เอามาประยุกต์ใช้ แล้วก็ครูพักลักจำมาเรื่อยๆ ถ้าเอาตามทฤษฏี มันก็ไม่เป๊ะหรอก แต่เราใช้ความรู้สึกส่วนตัวมองว่า แบบนี้มันสวยนะ อันนี้มันดี

เรียกว่า พรสวรรค์ หรือเปล่าครับ

ไม่อยากเรียกเลย (หัวเราะ) อย่างคนที่เรียนโดยตรงมา สอนทฤษฏีเด็ก มันก็โอเค เด็กๆ ก็จะได้ดี แต่ให้เราไปสอนเนี่ย เด็กก็จำอะไรผิดๆ บางทีเรารู้แต่ว่ามันดีนะ แต่เราก็บอกไม่ได้ว่า มันดียังไง

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

เห็นว่า พี่น้อยหน่าเปิดเพจ “โรงบ่มฝัน” เป็นบล็อกของตัวเองด้วย
https://www.facebook.com/rongbomfun/

ใช่ครับ มันจะมีช่วงหนึ่งที่เค้าฮิตเขียนบล็อกกัน เราเองก็อยากเขียนงานที่เป็นอีกแนวหนึ่ง อย่างขายหัวเราะมันก็ขำๆ เป็น gag ใช่ป่ะครับ ซึ่งคนเราก็ไม่ได้ขำตลอดเวลา เราก็อยากเขียนอะไรที่เป็นอารมณ์ ความรู้สึก หม่นๆ บ้าง เศร้าๆ บ้าง หรือปลอบคนบ้าง

ทำไมถึงใช้ตัวการ์ตูนผู้หญิงมาเป็นตัวละครดำเนินเรื่องครับ

อืม เขียนถนัดกว่าผู้ชายมั้ง (หัวเราะ) แต่จะเป็นตัวละครที่ไม่ค่อยมีอารมณ์ จะเป็นหน้าเฉยๆ แต่ถ้าดูภาพโดยรวมก็จะเข้าใจความรู้สึก บางทีตัวละครจะแต้มอยู่จุดเล็กๆ ของบรรยากาศแบบนี้ ในเมือง ในป่า ที่จะบอกความรู้สึกบางอย่าง

มีชื่อตัวละครมั้ยครับ

ไม่มีเลย พี่เป็นคนที่ไม่ชอบตั้งชื่อตัวละคร (หัวเราะ)

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

แล้วชื่อบล็อก “โรงบ่มฝัน” มันมีที่มาจากไหนครับ

“โรงบ่มฝัน” มันมีที่มาจากตอนทำงานที่เชียงใหม่นั่นแหละ ตอนนั้นพี่ไปอยู่แถวชายแดนไทยติดกับพม่า ก็ได้เห็นหมู่บ้านของชาวปะหล่อง (ชนกลุ่มน้อย หนึ่งใน 56 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน อาศัยอยู่ในประเทศพม่า และประเทศไทยบริเวณชายแดน ใกล้ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่)

ตอนนั้นเราเห็นโรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้กับหมู่บ้าน จริงๆ แล้ว อย่าเรียกว่า โรงเรียนเลยดีกว่า มันเป็นอาคารไม้ พื้นเป็นดินลูกรัง มีครูผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยสอนพูด อ่าน เขียนภาษาไทยให้ชาวปะหล่อง ตอนนั้นห้องพักครูก็กั้นด้วยไม้ไผ่เป็นซี่ๆ เค้าก็ขอให้เราช่วยสร้างอาคารให้มันแข็งแรงหน่อย เพราะมันไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ห้องน้ำมันก็ดูไม่เป็นส่วนตัว เหมือนมีคนมองเราตลอดเวลา แล้วตัวอาคารก็ตั้งโดดเดี่ยวแยกจากหมู่บ้าน ดูยังไงมันก็ไม่ปลอดภัย จนบางทีครูก็ต้องเข้าไปนอนในหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านช่วยดูให้ เค้าก็ขอให้เราไปช่วยสร้างอาคาร แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ เค้าก็ไม่อนุมัติงบประมาณให้สร้าง ตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจโลกหรอกว่า ทำไมคุณภาพชีวิตมันต่างกัน เห็นแล้วน้ำตาจะไหล (ยิ้มฝืนๆ)

นอกจากนั้น ก็จะมีคนเข้าเมืองผิดกฎหมายบ้าง แล้วเราเจอเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่พ่อลักลอบเข้ามา เวลาขึ้นดอย ไปทำถนน เด็กคนนี้ก็จะขอตามไปด้วย เราก็ให้ซ้อนมอไซต์ไป บางทีก็ซื้อขนมให้กิน เค้าก็ดีใจแล้ว ตอนนั้นก็มีคนบอกว่า พาเด็กไปไหนต้องระวังนะ ถ้าเจอตรวจ ทั้งเด็กทั้งเราจะมีปัญหา เด็กอาจจะถูกส่งกลับประเทศ

เราก็ เฮ้ย! เรารู้สึกว่า เด็กมันคือความใส แต่ทำไมต้องเจอเรื่องแบบนี้ โอกาสก็ไม่มี ด้วยความเป็นเด็ก เค้าไม่รู้หรอกว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ เด็กๆ มันก็มีสิ่งที่อยากทำ แต่บางครั้งเราก็เจอผู้ใหญ่ไปตัดโอกาสพวกเค้า อย่างเช่น เด็กอยากเป็นนักบินอวกาศ อยากขับจรวด ผู้ใหญ่ก็บอกว่า ไอ้เด็กคนนี้มันเป็นไม่ได้หรอก เราแค่คิดว่า เด็กมีฝัน ก็ปล่อยให้เค้าฝันไปก่อน พอเค้าโต เค้าก็รู้เองว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ เราควรเป็นคนประคับประคองพวกเขาไป ไม่ใช่ว่าไปตัดโอกาสพวกเขา เลยเกิดเป็นชื่อ “โรงบ่มฝัน” ขึ้นมา

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

เคยคิดจะรวบรวมทำเป็นหนังสือภาพบ้างมั้ยครับ

เคยมีคนมาชวนทำเหมือนกันนะครับ แต่ด้วยความที่พี่เป็นคนไม่มีระเบียบวินัยอะไรเลย (หัวเราะ) แล้วพี่ก็รู้สึกว่า ถ้าจะทำอะไร เราต้องทำให้เสร็จก่อน ถ้าเรายังทำไม่ได้ เราก็ยังไม่อยากรับปากใคร และด้วยระบบการทำหนังสือ เค้าจะต้องวางแผนว่า ช่วงนี้จะต้องทำเล่มนี้ อย่างช่วงสัปดาห์หนังสือ จะต้องออกเล่มแล้ว แต่เรายังทำไม่เสร็จ หรือต้องเร่งงาน เราก็ไม่อยากเร่ง เราไม่อยากให้หนังสือถูกบีบด้วยงานสัปดาห์หนังสือ คือ เรามองว่า ถ้ายืดเวลาออกไปอีกนิดนึง จะได้งานที่ดีขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่งคือ งานของเรามันถูกเขียนขึ้นด้วยความรู้สึก บางทีจะบังคับให้หนึ่งเดือนเขียนได้เท่านั้น เท่านี้ มันก็เป็นไปไม่ได้ พี่จึงอยากเขียนสะสมไปเรื่อยๆ จนมันได้ถึงจะรวมเล่ม

ถ้าเปลี่ยนโจทย์มาทำเป็นหนังสือการกุศลเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ล่ะ พอจะมีโอกาสมั้ยครับ

ก็มีนะ (หัวเราะ) แต่ก็อาจจะออกมาในรูปแบบหนังสือทำมือ คือถ้าเราไม่ชอบระบบการทำหนังสือที่จำกัดช่วงเวลา หนังสือทำมือก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี อีกอย่างถ้าเราเข้าระบบการทำหนังสือ ต้นทุนมันจะสูง เราก็เข้าใจดี เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สำนักพิมพ์อยู่ได้ ทั้งเงินเดือน ค่ากระดาษ หรือค่าพิมพ์ แต่ถ้าเราทำเอง เราก็ไม่อยากทำหนังสือแพงๆ หรือให้คนที่อยากอ่าน เอาไปอ่านก่อนด้วยซ้ำ ให้เค้าประเมินคุณค่าด้วยตัวเอง คือถ้าชอบค่อยกลับมาจ่ายเงินตามคุณค่าที่เค้ารู้สึก สมมติต้นทุน 100 บาท แต่คุณค่าที่เค้ารู้สึกอาจจะแค่ 50 บาท เราก็เอาแค่นั้นพอ คือมันจะขาดทุนด้วยค่าพิมพ์ ก็ไม่เป็นไร แล้วแต่คนจะเห็นค่าของมัน หรือบางทีคนที่เคยผ่านประสบการณ์ไม่ดีมา แล้วเค้าได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้ เค้าก็อาจจะให้คุณค่ามากกว่านั้น ก็เลยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าได้ทำก็คงสนุกดีนะ แต่อาจจะโดนหมั่นไส้ (หัวเราะ)

เคยมีคนเดินมาบอกว่าพี่ “ติสเกิน” มั้ยครับ

ก็มีนะ (หัวเราะ) แต่เราก็มีความคิดของเราเอง คิดเล่นๆ นะ ถ้าพี่ทำหนังสือขึ้นมา 100 เล่ม ส่งไปให้คนที่อยากอ่าน ถ้าชอบก็โอนเงินกลับมาเท่าไหร่ก็ได้ ตามที่เค้าอยากให้ ถ้าไม่ชอบก็ส่งกลับหรือไม่ส่งกลับก็ได้ อย่างน้อยมันก็ประเมินออกมาได้ว่า เฉลี่ยแล้วมูลค่าหนังสือเล่มนี้มันอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วค่อยมาขายหน้าร้านตามมูลค่าที่มันควรจะเป็น ราคานั้นมันอาจจะขาดทุนก็ได้ อาจจะกำไรก็ได้ แต่มันไม่ได้ถูกกำหนดด้วยต้นทุน ด้วยค่าพิมพ์ ด้วยค่ากระดาษ อะไรแบบนี้ สิ่งนี้คือสิ่งที่พี่อยากทำครับ

ฟังดูสนุกดีนะครับ ว่าแต่เราจะได้เห็นเมื่อไหร่

ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ (หัวเราะ) อย่างที่บอก พี่เป็นคนที่ไม่มีระเบียบสักเท่าไหร่ (หัวเราะร่วน)

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

กลับมาคุยถึงร้านกาแฟกันบ้าง อยากให้พี่น้อยหน่าเล่าที่มาของชื่อร้าน ว่าทำไมถึงตั้งชื่อว่า “บางเวลา”

เวลาที่เขียนบทความหรือเขียนประกอบภาพวาด มันจะมีการบรรยายด้วยคำที่ไม่ฟันธงตามกรอบความคิดของเรา อย่างคำว่า “บางครั้ง” “บางหน” “บางคน” หรือ “บางเวลา” พอฟังแล้วเรารู้สึกว่า มันเหลือที่ว่างให้เราได้คิดต่อ งานของพี่จะไม่ใช่งานสอนคน แต่เป็นงานที่คนได้ดูแล้วคิดได้เอง คือเลี่ยงจะชี้นำอะไร จึงกลายเป็นเป็นที่มาของร้านนี้ว่า “บางเวลา”

ในร้านเราจะมี กาแฟ ขนม หนังสือ ภาพวาด โปสการ์ด ของทำมือ เพราะพี่รู้สึกว่า “บางเวลา” เราก็อยากอยู่กับ “บางสิ่ง” เราไม่ได้อยากอยู่กับสิ่งหนึ่งตลอดเวลา บางเวลาเราอยากเขียนโปสการ์ด เราก็มาหมกมุ่นอยู่กับโปสการ์ด บางเวลาเราอยากอยู่กับหนังสือ เราก็มานั่งอ่านหนังสือในร้าน อีกอย่างเราก็อยากจะเปิดร้านแค่ “บางเวลา” ก็ได้ ถ้าถึงจุดที่เราไม่สนุกกับสิ่งนี้แล้ว เราก็อาจปิดร้านไปเลยก็ได้ (หัวเราะ)

“บางเวลา” เดินทางมาปีกว่าๆ แล้ว พี่น้อยหน่ามีโปรเจคอะไรที่อยากจะทำต่อบ้างครับ

หนังสือครับ ยังไงเราก็ยังอยากทำ หนังสือ มันคือสิ่งที่เราอยากจะเขียน เราคงเขียนไปจนแก่ มันคือประสบการณ์ของเรา แต่ละปีมันจะมีอะไรเข้ามาหาเราเรื่อยๆ มันไม่น่าจะจบง่ายๆ มันอาจจบตอนเราแก่ก็ได้ แต่เราต้องทำตั้งแต่วันนี้

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี

อยากให้พี่น้อยหน่าฝากอะไรถึงคนที่เค้าอยากทำอะไรที่เค้าอยากทำ แต่ยังติดปัญหาหลายๆ อย่าง เราจะหลุดออกจากปัญหานั้นได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอยากจะทำสิ่งใดแล้ว เราต้องหาเวลา หาโอกาสทำ เพราะเราไม่อยากเป็นคนแก่ที่พอนั่งมองย้อนกลับมาในวัยที่เราทำได้แล้วถามตัวเองว่า “ถ้าวันนั้นเราทำ วันนี้จะเป็นอย่างไร?” เพราะพี่เคยเจอหลายคนที่มีอายุแล้ว แล้วมีความรู้สึกแบบนั้น

พี่อยากให้น้องๆ ได้ลองทำดู ถึงทำแล้วล้มเหลว เราก็รู้แล้วว่า มันล้มเหลว เราก็มุ่งไปทำสิ่งอื่นแทน แต่ถ้าทำแล้วมันได้ เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งอื่น ยิ่งเป็นวัยรุ่นเนี่ย มันมีโอกาสลองถูกลองผิดได้เยอะ ยิ่งตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว ไม่มีความรับผิดชอบสูง ก็ลองลุยเลย พอเราแก่ตัวไป เราจะได้รู้สึกว่า เราได้ทำมันแล้ว ถึงแม้ว่าทำไม่ได้ ก็ยังดีกว่าเราไม่ได้ทำ

มีบางคนที่กลัวการล้มเหลว จึงไม่กล้าทำ แต่พอเวลาผ่านไป คนเรามักย้อนกลับมาคิดว่า “ถ้าเราได้ทำ มันต้องทำได้แน่ แต่เราไม่ทำมันเอง” เราเองจะได้ไม่ต้องสงสัยตัวเองว่า ทำได้ หรือไม่ได้ กันแน่

คำเดียวที่อยากบอกคือ “ต้องกล้าที่จะทำ”

น้อยหน่า - สุริยา อุทัยรัศมี


Interview : ธนกฤต ชัยสุวรรณถาวร

Photo : The Fool

Location : บางเวลา กาแฟและแกลเลอรี่ จ.จันทบุรี

keyboard_arrow_up