กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ

“กัญชา” เสรีภาพที่ถูกเบลอ รอจนถึงวันที่เมืองไทยจะแก้กฎหมาย

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ
กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ
The Stories เพราะโลกนี้ยังมีเรื่องเล่า : กัญชา คือ ยาเสพติด?

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นอกจากเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ประชาชนใน 5 รัฐต้องเตรียมตัวลงคะแนนเสียงกันด้วยว่า จะให้การค้าและเสพ กัญชา เป็นสิ่งถูกกฎหมายหรือไม่

“กัญชา” คือภาษาทางการ แต่ชาวบ้านเรียกเล่นๆ ว่า ปุ๊น หรือ เนื้อ เรานำใบแห้งมามวนยาพร้อมยาสูบใช้สูบเหมือนบุหรี่ แต่ใครขืนสูบให้เห็นจะถูกตราหน้าอย่างอารมณ์ดีว่า “ตาเยิ้ม” ซึ่งไม่ได้หมายถึง ญาติข้างแม่แต่อย่างใด แต่สูบไปสักพัก ตาจะเริ่ม เยิ้ม อารมณ์จะดีเป็นพิเศษ ต่างหาก ดีไม่ดี “ตาเยิ้ม” อาจถูกจับเข้าคุกไปนอนเล่นในตารางก็เป็นได้

สำหรับประเทศไทยนั้น กัญชายังถูกจับขังรวมในฐานะเป็น ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครองและยังไม่อนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์แต่อย่างใด

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสารสกัดในกัญชาและกลไกการออกฤทธิ์ต่อร่างกายเพื่อเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ จนนำไปสู่การเรียกร้อง สิทธิการนำไปใช้ในวงการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ

ไทม์ไลน์ของกัญชา

มองย้อนอดีตกลับไป คนไทยนั้นเสพกัญชาได้อย่างอิสระมายาวนานนับร้อยปี โดยในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม นอกจากการสูบเพื่อการหย่อนใจแล้ว คนไทยยังนำใบกัญชามาปรุงอาหารเพื่อช่วยให้การรับรู้รสชาติอาหารดีขึ้นอีกด้วย

แต่แล้วกัญชาก็กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเสพ ขาย ซื้อ ปลูก หรือครอบครอง โดยเริ่มจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา สร้างไทม์ไลน์ใหม่ในการควบคุมกัญชา โดยจุดเริ่มต้นอยู่ในทศวรรษ 1970 ทางการอเมริกาแข็งขันอย่างมากในการปราบปราม หลังจากที่การเสพกัญชาได้กลายเป็นแฟชั่นในหมู่ชาวฮิปปี้และคนรุ่นใหม่ และต่อมาประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มกำหนดบทกฎหมายว่า กัญชาเป็นยาเสพติด ที่มีโทษอาญา นับแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่พอมาถึงทศวรรษ 1980 กระแสความคิด ต่อต้านกัญชาในอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆ เริ่มพลิกกลับ เพราะมีงานวิจัยทางการแพทย์พบประโยชน์ของกัญชา ที่สามารถช่วยลดความเจ็บปวด หรือสร้างความผ่อนคลายให้แก่คนไข้ได้เป็นอย่างดี แถมราคาถูกอีกต่างหาก

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ

แท้จริงแล้ว กัญชาอุทิศตนเป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่แรก

“กัญชา” ใช่ว่าจะเป็นยาเสพติดให้โทษอย่างเดียว ข้อดีนั้นก็ยังมีอยู่เยอะ โดยเฉพาะในวงการแพทย์ แต่เก่าก่อนกัญชาเคยเข้าวังอังกฤษ ถวายตัวเป็นยารักษาโรค มานานแล้ว กล่าวกันว่า (ใครกล่าว อ่อ วิกิพีเดียกล่าวไว้) สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ทรงเคยใช้สารสกัดจากกัญชารักษาพระอาการปวดก่อนมีประจำเดือน

นอกจากนี้ สารสกัดของกัญชายังนำมาใช้เป็นยารักษาโรคอีกหลายอย่าง เช่น ใช้บรรเทาอาการผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ทั้งดีและราคาถูก ซึ่งออกฤทธิ์ลดการอาเจียนระหว่างการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด รวมไปถึงใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคต่างๆ เช่น ลดการปวดอักเสบในโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย และลดการปวดและเกร็งที่เป็นผลมาจากเส้นประสาทถูกทำลาย นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาลดความดันในนัยน์ตาของคนที่เป็นต้อหิน และใช้กระตุ้นความอยากอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ และมีสรรพคุณทางยาอีกมากมาย

สำหรับตำรับยาไทยนั้นจะใช้เมล็ดกินเป็นยาแก้กระหายน้ำ ยาชูกำลัง ช่วยเจริญอาหาร ส่วนตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เมล็ดกัญชาจำนวน 3 เมล็ด นำมาผสมกับพริกไทย 3 ผล บดให้เป็นผง ใช้ผสมกับน้ำกินทุกคืนเป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรี ส่วนต้นกัญชา นำมาต้มเป็นตัวยาช่วยแก้ประจำเดือนไม่ปกติของสตรี และยาแก้กล้ามเนื้อกระตุก และใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน

นอกจากจะให้คุณทางยารักษาโรคได้มากมายแล้ว ยังให้โทษมหันต์ด้วย ในกรณีที่รับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน มีอาการหวาดกลัว ตาลาย ชักและหมดสติ สำหรับผู้ชายหากรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้น้ำกามเคลื่อนหรือเกิดกำหนัดนั่นแหละ คราวนี้ก็อาจไปก่อคดีข่มขืน ถือว่าเป็นอันตรายต่อสังคมด้วย

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ

ต่างคนต่างคิด … ฟังความหลายมุม กัญชาในสังคมไทย

ถ้าพูดถึง กัญชาในแง่มุมอื่นนอกจากคนจะใช้นำมามวนสูบเพื่อคลายเครียดและเป็นยารักษาโรคแล้ว เปลือกลำต้นเรานำมาปั่นผ้า ทอเป็นหมวกหรือกระเป๋า ที่ขายกันตามตลาดนัดจตุจักร ตรอกข้าวสาร หรือตลาดขายของแฮนด์เมดอื่นๆ ทั่วประเทศ สร้างมูลค่าให้กับกัญชาในอีกทางหนึ่ง

ครั้งหนึ่งกัญชาถูกหยิบมานำมาถ่ายทอดเป็นเพลงโดยวงคาราบาว โดยใช้ชื่อเพลงเป็นชื่อเดียวกันนี้ บอกถึงอันตรายที่ถึงแม้จะทำให้มีความสุข ร่าเริงได้ในช่วงแรก แต่เมื่อเสพมากเข้าๆ จะค่อยๆ เซื่องซึม เห็นภาพหลอน และหูแว่ว จนกลายเป็นคนประสาทหลอนในที่สุด ทำให้กัญชากลายเป็น ภาพสัญลักษณ์เชิงลบ และผิดศีลธรรม

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ

และเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558 แฟนเพจ “กัญชาชน” และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกันจัดงาน 1st Annual Thailand 420 หรือ งานวันกัญชาโลก ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยในเชิงวิชาการเกี่ยวกับกัญชา ในหัวข้อ “ความเป็นไปได้ในการลดทอนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: ศึกษากรณีกัญชา” โดยมีวิทยากรที่เป็นนักวิชาการชั้นนำของประเทศไทยในหลากหลายสาขาอาชีพ รวมถึงบุคคลที่พร้อมเผยตัวว่าเป็นผู้ใช้กัญชาและทำงานกับยาเสพติดในหลากหลายด้านมาร่วมพูดคุย

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ

กัญชาในยุคเรียกร้องสิทธิ

ปัจจุบันหลายประเทศหันมาทำความเข้าใจถึง คุณประโยชน์และโทษของกัญชากันเสียใหม่ รวมถึงมองในหลายบริบทและหลากมุมมองมากขึ้น อย่างเช่น ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ได้มองในบริบทสังคมถึง สิทธิและเสรีภาพ ได้ประกาศให้ 25 รัฐ สามารถนำมาใช้ในวงการแพทย์อย่างถูกกฎหมายใน และ 4 ใน 25 รัฐ นั้น สามารถให้สูบเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยในปี 2014 รัฐโคโลราโดสร้างประวัติศาสตร์โลกเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาและแห่งแรกของโลก ที่ประชาชนสามารถเสพกัญชาจากการซื้อหรือปลูกเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราจะเห็น “ตาเยิ้ม” พี้กัญชาได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังเกิดธุรกิจใหม่ “กัญชากระป๋อง” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในอเมริกาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ

แต่ในทางกลับกันก็ยังมีผู้นำอีกหลายรัฐยังคงไม่เห็นด้วย ถึงแม้กัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้อย่างมหาศาลในช่วงเวลานี้ แต่ก็ปล่อยเวลาให้ รัฐโคโลราโด เป็นหนูทดลอง ดูถึงผลกระทบทางด้านสังคมในอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นอกจากจะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งสำคัญของสหรัฐอเมริกาแล้ว ประชาชนใน 5 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา แมสซาชูเซตส์ เมน และเนวาดา จะต้องลงคะแนนเสียงกันด้วยว่า จะให้การค้าและเสพกัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็จะเท่ากับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายสนับสนุนที่รณรงค์กันมานานนับหลายสิบปี และอาจยังจะส่งแรงให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎหมายในระดับประเทศอีกด้วย

คุยกันมาถึงตรงนี้ ผมเองก็ยังมองไม่เห็นถึงบทสรุปว่า จะมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาในเมืองไทยเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ ในสังคมไทยยังคงตราหน้าคนพี้กัญชาว่าเป็น “ไอ้ขี้ยา” และเชื่อว่า “ตาเยิ้ม” ยังอยู่คู่กับเมืองไทยไปอีกนาน

กัญชา เสรีภาพที่ถูกเบลอ


Photo : pixabay, กัญชาชน

Source :

keyboard_arrow_up