เมื่องานศิลป์ทำได้มากกว่า “ใช้ตาดู” รวม Activities สุดคูลจากงาน BAB 2018

เมื่องานศิลป์ทำได้มากกว่า “ใช้ตาดู” รวม Activities สุดคูลจากงาน BAB 2018  

“ดูแต่ตา มืออย่าต้อง ของจะเสีย” คำสุภาษิตไทยที่เราควรจดจำไว้ให้แม่น แต่อาจใช้ไม่ได้กับงานศิลป์ที่เรากำลังจะพาไปชมใน  “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” งานศิลปะที่คุณต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งการเดิน ดมกลิ่นหรือสัมผัส เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องราวและแรงบันดาลใจที่ศิลปินได้ถ่ายทอดไว้ในชิ้นงานอย่างถึงแก่นแท้

Tape Bangkok 2018

Artist: Numen For Use Design Collective

Location: ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

คุณเคยกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นหรือไม่ ถ้าปลายทางอุโมงค์คือความว่างเปล่าที่เราไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรข้างหน้า คุณจะกล้าเดินเข้าไปไหม? ที่สำคัญอุโมงค์แห่งนี้เต็มไปด้วยความเปราะบาง และคุณต้องเดินอย่างระมัดระวังให้มากที่สุด

เรากำลังจะพาคุณไปพบกับผลงาน Tape Bangkok 2018 ประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ทำขึ้นจากเทปที่ติดจากผนังจรดพื้น ถูกนำมาติดตั้งไว้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร การเดินเข้าไปในอุโมงค์คล้ายรังไหมจะกระตุ้นให้คุณได้สัมผัสกับแสง เสียง สัมผัสและกลิ่น เป็นประสบการณ์ของการเดินทางค้นหาตัวตนและการเกิดใหม่  โดยผลงานชิ้นนี้ของ  Numen For Use Design Collective คือโปรเจคการรวมตัวกันของศิลปินและนักออกแบบ ประกอบไปด้วย Sven Jonke, Christoph Katzler และ Nikola Radeljkovic ผลงานของพวกเขามักจะทดลองกับพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยวัสดุชิ้นเล็ก อาทิ เทปกาว กระจก หรืออลูมิเนียม เป็นต้น

WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND?

Artist: นีโน่ สาระบุตร (Nino Sarabutra)

Location: วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

“ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต คุณจะทำความดีอะไรทิ้งไว้บนโลกใบนี้” เรื่องจริงที่เราอาจยังไม่เคยวางแผนชีวิตไว้ หรือถ้ามีคนถามว่า ถ้าพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตคุณจะทำอะไร? เราเชื่อว่าคนมากกว่า 90% ต้องตอบว่าใช้เวลาอยู่กับคนรักให้นานที่สุด จะมีใครบ้างที่ย้อนคิดว่าเราควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ในทุกลมหายใจทำดีเพื่อโลกจะดีกว่าไหม?

“WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND?” เป็นการโปรยเซรามิกหัวกะโหลกเนื้อขาวไม่เคลือบกว่า 125,000 ชิ้นบนทางเดินรอบเจดีย์องค์ประธานของวัด แต่ละชิ้นมีขนาดแตกต่างกัน เพื่อสร้างสรรค์ให้กลายเป็นพื้นที่ที่จะกระตุ้นให้ผู้คนได้ใช้ฝ่าเท้าสัมผัสลงบนความเปราะบางของมันอย่างระมัดระวัง และทุกย่างก้าวที่คุณเดินคือความตายที่คุณจะต้องมีสติ และหยั่งรู้ในทุกจังหวะการเดิน พึงระลึกไว้เสมอในการกำหนดลมหายใจ ว่าคุณจะทำความดีให้เกิดขึ้นในทุกวันได้อย่างไรบ้าง…

Paths of Faith

“ทางศรัทธา พ.ศ. 2561

Artist: จิตต์สิงห์ สมบุญ (Jising Somboon)

Location: วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

เราได้ยินชื่อจิตต์สิงห์มานานมากแล้วในวงการแฟชั่น ความแตกต่างและฉีกกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ นั่นคือเอกลักษณ์ที่สะท้อนผลงานของเขาออกมาได้อย่างงดงาม จิตต์สิงห์ มีความสามารถในการผสมผสานระหว่างงานศิลปะและการออกแบบแฟชั่นได้อย่างลงตัว ซึ่งนอกจากงานออกแบบแล้ว เขายังทำงานจิตรกรรมและประติมากรรมควบคู่ไปด้วย

ซึ่งใน “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB2018) จิตต์สิงห์ได้นำผลงานที่ชื่อ Paths of Faith (2018) คอลเล็คชั่นเสื้อคลุมสีขาวที่ปักคำว่า “ศรัทธา” ในภาษาไทย อังกฤษ และจีนไว้กลางหลัง และมีช่องสำหรับเก็บใส่รองเท้าถูกเย็บติดกับตัวเสื้อ โดยที่คุณไม่ต้องถือหรือถอดไว้ด้านนอกให้เกะกะสายตา ถูกจัดวางไว้ให้เหล่านักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม วิหารพระพุทธไสยาส ได้สวมใส่เข้าไปในพื้นที่ การเดินเวียนรอบพระพุทธรูป พระนอนขนาดใหญ่ผู้สถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ คลอด้วยเสียงเหรียญที่ตกกระทบกับบาตร Paths of Faith (2018) จะกลายมาเป็นงานศิลป์ที่ถูกจัดแสดงไว้ตลอด 4 เดือนให้คุณได้มีส่วนร่วมแห่ง “ศรัทธา” ครั้งนี้

Standing Structures for Human Use (2017)

Artist: MARINA ABRAMOVIĆ

Location: BAB BOX @ One Bangkok

งานศิลปะชิ้นนี้ถ้าคุณไม่เข้าไปมีส่วนร่วมจะไม่มีวันเข้าใจว่า เสาไม้ และ ผลึกคริสตัลมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ผลงานชิ้นล่าสุดของ มารีนา อบราโมวิช คือศิลปินที่ทำงานศิลปะสื่อแสดงสด และศิลปะเชิงแนวคิดในวัย 71 ปี ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้ ศิลปะที่ว่าด้วยการสื่อสารผ่านร่างกาย ซึ่งประติมากรรมเรืองแสงนี้กำลังจะมาช่วยรักษาบาดแผลและเยียวยาจิตใจให้เราทุกคน โดยวิธีการโต้ตอบกับมันคือให้ยืนคนละข้าง แล้วสื่อสารผ่านผลึกด้วยความ เงียบ นิ่ง มารีน่าเชื่อว่าถ้าจิตเรานิ่งพอ มันจะสามารถส่งพลังถึงกันได้ถ้าใครอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรสามารถไปชมได้ที่ BAB BOX @ One Bangkok

ความน่าสนใจของงาน มารีนา อบราโมวิช คือการแสดงเจตนารมณ์ภายใต้รูปแบบเพอร์ฟอร์มเล่นกับสภาวะของร่างกายและจิตวิญญาณมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธอนั้นมีหลายชิ้นงาน และชิ้นที่น่าสนใจหนึ่งในนั้นคือ Rhythm 10 (1973)

Rythm 10 คืองานแสดงเดี่ยวชิ้นแรกของเธอ ด้วยการเล่นเกมมีด หรือกล่าวคือการกางมือออกแล้วเอามีดแทงอย่างรวดเร็วตามช่องว่างระหว่างนิ้ว ขณะที่เล่นก็อัดเสียงจังหวะการปักมีดไปด้วย

เธอเตรียมมีดไว้ 20 เล่ม ทุกครั้งที่พลาดแทงโดนมือตัวเองมีดจะถูกเปลี่ยน พอครบ 20 เล่ม เธอก็เปิดเสียงที่อัดไว้และพยายามเล่นเกมส์นี้อีกครั้งให้ตรงตามจังหวะของเสียงเดิม (หลอนมั้ยล่ะ)

มารินาบอกว่าเธอไม่ได้อยากตายหรือบ้า ถึงแม้ว่างานเธอจะดูเสี่ยงชีวิตในหลายชิ้นก็ตาม แต่สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือการดูว่าพลังของร่างกายจะไปไกลได้แค่ไหนกัน ซึ่งที่สุดแล้วเธอค้นพบว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับร่างกาย แต่คือเรื่องของจิตใจ ที่จะทำให้เราพ้นขีดจำกัดต่างๆ ไปได้ และสำหรับเธอการขึ้นแสดงต่อหน้าผู้ชมคือการผลักขอบเขตของตัวเองให้สามารถทำในสิ่งที่ปกติทำไม่ได้นั่นเอง

The Check Point’2018

Artist: Nge Lay (เง เลย์)

Location: ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ศิลปะจัดวางที่คุณอาจหยุดยืนมอง ก่อนจะเดินผ่านไปและไม่ได้ทำความเข้าใจกับมัน หากดูผิวเผิน เหมือนกับการนำผ้าหลากสีหลากลวดลายมาร้อยเรียงต่อกัน เป็นงานศิลปะที่งดงาม แต่ทว่าผลงานที่ชื่อ The Check Point ต้องการจะสื่อประเด็นเรื่องผู้หญิงทั้งร่างกายและจิตใจ มนุษย์ทุกคน ทั้งนักบุญ อัศวิน นักปรัชญาหรือคนบาปทั้งหลายล้วนแล้วแต่เกิดผ่านช่องคลอดมารดาทั้งสิ้น เง เลย์ตั้งคำถามว่าเหตุใดหลายๆ สังคมหรือความเชื่อ จึงยังคงมองผู้หญิงว่าเป็นตัวแทนความอ่อนแอและปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม แม้ว่าประเด็นสิทธิความเสมอภาคจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้นำ Longyi(s) ผ้าที่ทั้ง 8 ชาติพันธุ์ในเมียนมานิยมนำมาเย็บเป็นกระโปรง มาตัดเย็บเป็นรูปทรงที่คล้ายช่องคลอด การจะเข้าถึงจุดร่วมของผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงแต่ใช้ความกล้าเดินลอดผ้าไป แต่คุณต้องอินและเชื่อในสิ่งสมมุตนี้เสมือนจริงด้วยเช่นกัน เง เลย์กล่าวว่า “ฉันสร้างงานชิ้นนี้ด้วยความรู้สึกทั้งพอใจและไม่พอใจ ภูมิใจและเศร้าใจที่เป็นผู้หญิงในเวลาเดียวกัน ฉันต้องการให้ผู้ชม เดินผ่านประตูนี้และสัมผัสว่านี่ไม่ใช่สิ่งสกปรก หรือทำให้สถานะของคุณตกต่ำ แต่คือคุณค่าที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นแม่ ธรรมชาติ และผืนแผ่นดิน”

 

Shelter 2018

Artist: Marc Schmitz (มาร์ก ชมิทซ์)

Location: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

กำบังในที่สาธารณะเพื่อให้เราหลุดจากความวุ่นวายสักพักมาสู่พื้นที่ความสงบ เป็นประติมากรรมเฉพาะพื้นที่ที่ศิลปินทำขึ้นเพื่อกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ สำหรับศิลปิน พื้นที่ว่างเปล่าสามารถมอบประสบการณ์ที่เราหาไม่ได้ในการใช้ชีวิตในเมือง เป็นที่กำบังให้เราพ้นจากความเสื่อมโทรมความวุ่นวาย และจิตใจที่หม่นหมอง มองขึ้นไปบนฟ้า และหยุดการทำร้ายซึ่งกันและกันไว้สักพัก งานศิลปะชิ้นนี้ถูกจัดวางไว้ใจกลางกลุงเทพฯ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่ที่มีผู้คนขวักไขว่และรถลาหนาแน่น ถ้าคุณได้ลองเข้าไปในผลงานชิ้นนี้ คุณอาจจะพบความสงบและว่างเปล่า ตัดขาดจากผู้คนรอบตัวและทำให้คุณพบความคิดที่สร้างสรรค์ใหม่เมื่อเดินออกมาอีกครั้ง

Across the Universe and Beyond 

Artist: สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ (Sanitas Pradittasnee)

Locationวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

เป็นการนำคติที่ถูกหลงลืมของเขามอให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านการออกแบบพื้นที่และแสงจะทำให้ผู้ชมได้เพ่งอยู่กับตัวเองขณะก้าวเข้าไปในพื้นที่ และในชั่วขณะของความคงอยู่ ความไม่จีรังยั่งยืน และความว่างเปล่า งานศิลปะจัดวางชิ้นนี้จะเตือนใจให้เราตระหนักถึงตัวตนของเราว่าเราเป็นเพียงแค่อนุภาคในจักรวาลอันกว้างใหญ่

นอกจากผลงานศิลปะที่เราชวนคุณไปชมในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018)  ในข้างต้น คุณยังสามารถแวะชมผลงานศิลปะที่อาจยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนได้อีกหลายจุดทั่วเมืองและริมแม่น้ำ ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถานที่สำคัญ 20 แห่งในกรุงเทพมหานคร

เทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018
เทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018
keyboard_arrow_up