The Ratchaprasong ART MAZE เทศกาลศิลปะใจกลางกรุงเทพมหานคร

The Ratchaprasong ART MAZE at Ratchaprasong Sky Walk เทศกาลศิลปะใจกลางเมือง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วย สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) ร่วมเปิดความยิ่งใหญ่ของแคมเปญ “Thailand Art Walk” ใจกลางกรุงเทพมหานคร ประเดิมงานแรกด้วยเทศกาลศิลปะ The Ratchaprasong ART MAZE at Ratchaprasong Sky Walk เต็มอิ่มกับผลงานศิลปะร่วมสมัยเชิงแนวคิดจาก 6 ศิลปินชั้นนำ ที่มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ สู่การตีความหมายครั้งใหม่ท่ามกลางบริบทของมหานคร ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Urban By Nature – เมื่อธรรมชาติมาสร้างสรรค์งานศิลปะ” เนรมิตพื้นที่ตลอดเส้นทางเดินลอยฟ้า “ราชประสงค์ สกายวอล์ค” ให้กลายเป็นทางเดินแห่งสายศิลป์ขนาดใหญ่ เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวร่วมตีความหมายและแลกเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อธรรมชาติและเมืองกรุง ตั้งแต่วันนี้ – 13 พฤศจิกายน 2559

โดยผลงานศิลปะเชิงแนวคิดทั้ง 6 ผลงาน ตลอดเส้นทาง “ราชประสงค์ สกายวอล์ค” ประกอบไปด้วย

The Long Way Home

The Long Way Home; A Parallel Universe โดยมนตรี เติมสมบัติ

แนวคิดและแรงบันดาลใจ

มนตรีนำประสบการณ์จากการเดินทางด้วยรถไฟขนส่งมวลชนในต่างแดน ทั้งในถิ่นเมืองที่ศิวิไลซ์และทุรกันดารมาเป็นต้นทางการเดินทางบนโลกคู่ขนานในการริเริ่มผลงานศิลปะ โดยอาศัยกระบวนการสร้างผลงานครั้งนี้ ในช่วงเวลาที่เขากลับไปสัมผัสกับชีวิตผู้คนและสังคมที่บ้านเกิดของเขาเองที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ตรงใจกลางบนแผนที่ของประเทศไทย ทั้งยังเคยถูกกล่าวขานถึงความงดงามทางธรรมชาติ งานหัตถกรรมไม้ไผ่ ผ้าไหมลวดลายวิจิตร และนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ สังคมและวัฒนธรรมที่นั่นมีความผูกพันกับธรรมชาติที่ได้มอบวิถีการดำรงชีวิตแก่พวกเขา

เมื่อกาลเวลาได้เปลี่ยนผ่าน ทรัพยากรทางธรรมชาติและมนุษย์ได้ถูกแปรสภาพเพื่อป้อนระบบการผลิตขนาดใหญ่ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมได้ขับเคลื่อนรุนแรงขึ้นและส่งผลต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัจเจกชนคนรุ่นหลังจึงต้องแสวงหาโอกาสใหม่ในเมืองใหญ่ที่มีความหลากหลายกว่าท้องถิ่นที่ยังทุรกันดาร เพื่อสานต่อดุลยภาพชีวิตของตน สังคมและวิถีแห่งบรรพชนเท่าที่จะเป็นไปได้

งานศิลปะจัดวางของมนตรีได้ช่างฝีมือรูปแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นมาช่วยลงมือทำขึ้นจากไม้ไผ่ซึ่งปลูกขึ้นบนที่ดินของครอบครับของเขาเอง เพื่ออุปมาถึงยานพาหนะที่จะนำพาพวกเขากลับมาร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมทางวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ในท้องถิ่น และด้วยทุกวิถีทางที่ทุกคนจะสามารถร่วมกันสร้างจากทุกสิ่งที่พวกเขายังคงมีเหลืออยู่ที่นั่น แม้ว่าความเป็นจริงมันยังไม่พอเพียงเลยก็ตามรูปทรงของรถไฟแห่งยุคอนาคตถูกดัดแปลงให้ดูคล้ายกับรูปแบบการขนส่งอันล้ำยุคเพื่อสื่อถึง            การเชื่อมโยงพื้นที่และเวลาที่  ขาดหายไประหว่างอาณาบริเวณของชัยภูมิกับส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย

Paradox Legendary

Paradox Legendary โดยเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

แนวคิดและแรงบันดาลใจ

เรืองศักดิ์ได้เก็บรวบรวมเนื้อดินจากพื้นที่ต่างๆหลายแห่งทั่วประเทศไทย เนรมิตเป็นประติมากรรมที่ตั้งสูงชะลูดจนดูคลอนแคลน เพื่อสะกิดให้ระลึกถึงดุลยภาพทางธรรมชาติอันแสนเปราะบาง ซึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนมีบทบาทในการทำให้ดุลยภาพนี้ดำรงอยู่ต่อไป

แนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประเพณีในการทำพิธีต่างๆที่เกี่ยวกับดินและความอุดมสมบรูณ์ พิธีนี้ยังคงมีปรากฏอยู่ อีกทั้งความเชื่อเรื่องเนื้อดินศักดิ์สิทธิ์ยังเห็นได้ชัดผ่านเครื่องรางของชาวพุทธและพิธีกรรมต่างๆ ที่ถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง สิ่งเหล่านี้มิได้มีความหมายเพียงในเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังเป็นรากฐานอารายธรรมอีกด้วย เนื้อดินอันอุดมสมบูรณ์ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเกษตรซึ่งกำลังถูกคุกคามโดยความตะกละตะกลามของลัทธิบริโภคนิยมสมัยใหม่ที่เสือกไสให้เราใช้สารเคมีอย่างพร่ำเพรื่อเพื่อเติมความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดิน แต่มันกลับทำลายผืนดินลงทีละน้อยๆ จนจะไม่เหลือความสมบูรณ์ไว้ให้คนรุ่นหลังอีกต่อไป

Land of Heaven

Land of Heaven โดยนรเศรษฐ์ ไวศยกุล

แนวคิดและแรงบันดาลใจ

นรเศรษฐ์นำเสนอกล่องไม้ขนาดยักษ์ให้คนสามารถเดินเข้าไปข้างในเพื่อชมแบบจำลองภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ ของประเทศไทย การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เมืองไทยได้มานั้นมีต้นทุนเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม งานศิลปะจัดวางชิ้นนี้นำเสนอภูมิทัศน์ทางธรรมชาติตามที่เคยเป็น ก่อนที่จะมีการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์และการพัฒนาประเทศอย่างขะมักเขม้นในประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศแบบพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนความเป็นอดีต เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เกิดความรับผิดชอบในการอนุรักษ์เพื่อชีวิตในวันข้างหน้า

On Human Nature

On Human Nature   โดยหริธร อัครพัฒน์

แนวคิดและแรงบันดาลใจ

หริธรมุ่งปลดปล่อยศิลปะของเขาออกจากหน้ากากแห่งการเสแสร้ง ซึ่งเป็นสิ่งร่วมสมัยใน โลกบริโภคนิยม ที่ซึ่ง                    ทุกๆ สิ่งล้วนถูกสร้างขึ้นเป็นภาพลักษณ์ผ่านการประจันหน้ากับงานประติมากรรมปูนปลาสเตอร์ขนาดใหญ่ รูปทรงดิบหยาบของศีรษะที่คล้ายมนุษย์เหล่านี้เป็นเหมือนคำร้องถึงปัจจุบันและอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริง ซึ่งนำมาตั้งไว้เพื่อปลุกมนุษย์ให้ตื่นขึ้นจากภาพมายาอัน “น่าตื่นตาตื่นใจ” ที่ถูกป้อนอยู่เป็นนิจในสังคมบริโภคนิยม เขาตั้งใจเน้นสิ่งที่ประกอบเป็นธาตุแท้ของมนุษยชาติ โดยใช้รูปทรงเพื่อสร้างความหนักอึ้งทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมิเพียงกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงสัมผัสทั้งหกเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงความหวัง ความกลัว และความรู้สึกนึกคิดภายในใจของผู้คนทั่วไปอีกด้วย

Fractal Flowers

Fractal Flowers โดยโซฟี สุมาลี อารียา

แนวคิดและแรงบันดาลใจ

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่โซฟีนำเสนอผลงานในรูปแบบศิลปะจัดวางด้วยการสร้างสรรค์ทุ่งดอกไม้ที่ดูแปลกตาแขวนห้อยไว้ด้านบน และให้อารมณ์สุนทรี เธอใช้เทคนิคในการลงสีเป็นรูปทรงสาทิสรูป (Fractal Paint) บนแผ่นอะคริลิกโปร่งใสรูปทรงกลม แต่ละชิ้นมีความเฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน โดยศิลปินเป็นผู้ลงมือวาดขึ้นด้วยมืออย่างตั้งอกตั้งใจ ทว่าทุกชิ้นยังทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของการจัดวางโดยรวม กล่าวคือ แต่ละชิ้นเปรียบเหมือนโลกอันเป็นเอกเทศที่หมายให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ใหญ่กว่า โซฟีใช้ศิลปะเชิงกวีสร้างอุปลักษณ์สื่อแทนชีวิตเพื่อส่งสารแห่งความหวังและความกลมกลืนผ่านทุ่งดอกไม้นี้

Six Dancers

Six Dancers / นักเต้นรำหกคน โดยสาครินทร์ เครืออ่อน

แนวคิดและแรงบันดาลใจ

ผลงานประติมากรรมจากกระดาษเหลือใช้ (Paper Mache) เป็นรูปกลุ่มสตรีกำลังเต้นรำ เรียงแถว (line dance) แบบที่เคยเป็นที่นิยมในอดีต  รูปปั้นกระดาษสีสันฉูดฉาดที่ยืนนิ่งท่ามกลางพื้นที่ย่านธุรกิจอันพลุกพล่าน พื้นที่ที่สำนึกเรื่องชุมชนค่อยๆเลือนหายและถูกแทนที่ด้วยวิถีชีวิตที่รีบเร่งแข่งขัน สาครินทร์มีเจตนาตั้งคำถามถึงการพัฒนาเมืองใหญ่กับการเปิดพื้นที่ให้แก่กันและกันนั้นสำคัญเพียงใด สาครินทร์นำโครงการนี้เข้าสู่ชุมชนดั้งเดิมด้วยการทำงานร่วมกันกับกลุ่มเยาวชนอาสาสมัคร จากชุมชนวัดคูหาสวรรค์ ย่านภาษีเจริญฝั่งธนบุรี

ชาว Favforward สามารถดื่มด่ำกับศิลปะร่วมสมัยเชิงแนวคิดที่จะกระตุ้นให้ร่วมตีความหมาย พร้อมเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อธรรมชาติไปพร้อมกัน กับเทศกาลอาร์ตธีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของย่านราชประสงค์ ในงาน “เดอะ ราชประสงค์ อาร์ต เมซ แอท ราชประสงค์ สกายวอล์ค” ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายนศกนี้ สามารถค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับแคมเปญเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/weloveratchaprasong


เรียบเรียงโดย : Nomad609

keyboard_arrow_up