พาหนังสือไปหาหมอกับ คุณกุ๊ก –ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล แห่ง BOOK CLINIC

คุณรู้จักอาชีพ “นักซ่อมหนังสือ” กันไหม? เชื่อว่าหลายคนคงส่ายหน้าปฏิเสธ พร้อมเกิดข้อสงสัยว่าอาชีพซ่อมหนังสือเป็นอย่างไร จริงอยู่ว่าอาชีพนี้น้อยคนนักจะรู้จัก อาจเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เริ่มจากคนรุ่นใหม่ที่หันมาอ่านหนังสือบนหน้าจอมากขึ้น หรือหนังสือที่มีราคาไม่แพง เมื่อขาดหรือเสียหายก็สามารถซื้อเล่มใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความรักในหนังสือ’ ที่มีไม่เท่ากัน เมื่อหนังสือเกิดความเสียหายหรือฉีกขาด หลายคนจึงเลือกที่จะทิ้งหนังสือ โดยมองข้ามการส่งหนังสือไปซ่อมนั่นเอง

แต่ก็มีอีกหลายคนที่มีใจรักหนังสือ แต่ไม่รู้ว่าจะส่งหนังสือที่ชำรุดไปซ่อมที่ไหน เพราะคนประกอบอาชีพนี้มีน้อยมากจนแทบไม่เป็นที่รู้จัก นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ ‘อาชีพซ่อมหนังสือ’ ที่จะมาช่วยเติมเต็มวงจรหนังสือให้สมบูรณ์ ผ่านการบอกเล่าของนักซ่อมหนังสือ คุณกุ๊ก –ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล นักซ่อมหนังสือที่มีฉายา “หมอรักษาหนังสือ” แห่ง Book Clinic

 

• พี่กุ๊กซ่อมหนังสือมานานเท่าไรแล้ว

พี่เริ่มซ่อมหนังสือมาตั้งแต่ปี 1999 ก็ประมาณ 16 – 17 ปีมาแล้ว คือเริ่มแรกพี่ทำงานร้านถ่ายเอกสาร เข้าเล่มเอกสารมาก่อน ในช่วงจังหวะที่ต้องพัฒนาธุรกิจบังเอิญมีลูกค้าเอาหนังสือมาให้ซ่อม แล้วก็รู้สึกว่าหรือเราจะซ่อมหนังสือดี เพราะพี่เย็บเล่มค่อนข้างสวย พอลูกค้าเห็นพี่เย็บเล่มสวยและเขามีหนังสือชำรุดอยู่ ลูกค้าจึงแบบเฮ้ยช่วยซ่อมให้หน่อยดิ ซึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดก็เริ่มจากตรงนี้

 

BookClinic_03

 

• อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พี่ซ่อมหนังสือมากว่าสิบปี

งานซ่อมหนังสือเนี่ย พอทำๆ แล้วมันเข้ามือ คือทำแล้วก็เออเป็นนิสัยเรานะ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ แต่หกเดือนแรกก็อยากเลิกเหมือนกัน แต่มันก็มีกำลังใจ มีงานเข้ามา มีคนเข้ามา ลูกค้าที่เข้ามาเขาก็บอกอย่าเลิกนะ ก็เป็นกำลังใจให้พี่ยังซ่อมหนังสือ และพอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่างานซ่อมหนังสือน่าสนใจน่าค้นหา

แต่แรงบันดาลใจใหญ่ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เจอหนังสือที่เขาซ่อมมาจากอังกฤษ เป็นหนังสือสมัยพระนารายณ์ เป็นหนังสือเก่าที่พิมพ์ในเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ หนังสือเล่มนั้นบรรณารักษ์ที่สยามสมาคมเอามาให้ดูแล้วบอกว่า หนังสือเล่มนี้ค่าซ่อม 600 ปอนด์ ประมาณสามหมื่นกว่าบาท ค่าซ่อมแพงกว่าตัวหนังสืออีก เราก็เลยคิดว่าเฮ้ยเขาซ่อมกันเล่มหนึ่งแพงขนาดนี้เลย เราทำยังไงถึงจะซ่อมหนังสือแบบนี้ได้บ้าง ซึ่งก็กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พี่ยังซ่อมหนังสือ

 

• นอกจากซ่อมหนังสือใหม่ๆ แล้ว ตอนนี้พี่กุ๊กรับซ่อมหนังสือเก่าด้วยไหม

มีครับ ซึ่งหนังสือเก่าที่สุดที่เคยซ่อมมาก็หนังสือสมัยปี 1800 เป็นไบเบิลของคนสิงคโปร์ ส่วนอาทิตย์ที่แล้วก็เพิ่งส่งหนังสือไบเบิลของฝรั่งที่พัทยาไปให้ เป็นหนังสือเก่าเหมือนกัน แต่ไม่เก่าเหมือนเล่มของคนสิงคโปร์ แล้วเวลาซ่อมหนังสือเก่าก็ต้องซ่อมให้เก่าเหมือนเดิม โดยหลักการซ่อมก็คือว่า เราเอาอะไรใส่เข้าไป มันต้องใกล้เคียงกับของเดิมหรือวัสดุประมาณของเดิมมากที่สุด แล้วถ้าอนาคตเมื่อมีอะไรที่ดีกว่าก็สามารถเอาที่เราใส่เข้าไปออกได้ เหมือนที่เขาซ่อมโถ ชามเขาก็จะไปเลือกหินอ่อนจากแหล่งเดิมมาซ่อมประมาณนี้แหละ

 

BookClinic_02

 

• การซ่อมหนังสือแต่ละเล่ม พี่กุ๊กมีหลักการซ่อมอย่างไร

งานซ่อมหนังสือก็คล้ายๆ กับงานช่างทั่วๆ ไปนั่นแหละ วิเคราะห์ก่อนว่ามีปัญหาอะไร แล้วค่อยๆ ถอดรื้อ แก้ไข แล้วก็ประกอบกลับไป

อย่างหนังสือที่หักกลางก็มีวิธีซ่อมอยู่ 2-3 วิธี บางทีพี่ก็ใช้เชือกเย็บเหมือนเย็บปกแข็งจากด้านใน เรียกว่าฝังเชือก มองเผินๆ ก็จะดูไม่ออก แต่ถ้าคนรู้เรื่องเย็บมันก็จะเห็นร่องรอยอยู่ พี่ก็จะรื้อกาวออกให้หมด เสร็จแล้วพี่ก็เอาเลื่อยผ่า ถ้าไม่ใช่เลื่อยก็ใช้คัตเตอร์กรีดก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องอัดตรงสันให้แน่น อาจจะใช้พวกตัวหนีบกระดาษมาช่วย เสร็จแล้วก็เอากาวอัด วิธีนี้จะทำในกรณีที่หนังสือเขาพิมพ์ชิดขอบมาก พี่ก็จะฝังเชือก และเป็นวิธีที่แข็งแรงมาก แต่ใช้เวลาทำนานหน่อย พอซ่อมเสร็จก็ต้องใส่ปกกลับให้เหมือนเดิม

 

• พี่กุ๊กไปเรียนเทคนิคหรือวิธีการซ่อมมาจากไหน

ตอนแรกพี่เย็บหนังสือที่ถ่ายเอกสาร ที่นี้พอเข้าเล่มปุ๊บพี่ก็ต้องทำปกแข็ง พี่ก็จะไปส่งให้ร้านที่รับทำวิทยานิพนธ์ทำ เราก็ไปยืนดูเขาเย็บ 2-3 ครั้ง เขาเย็บเชือกเจาะรูยังนี้เอง มันไม่น่ายากอะไร เมื่อพี่ได้ความรู้จากตรงนั้นมา พี่ก็เอามาเย็บเอง พอเย็บเป็นแล้วพี่ก็ไปยืนดูเขาทำปก ปกแข็งเขาห่อกันแบบนี้นะ เรียกว่าครูพักลักจำเอามาใช้ พอมีร้านเอง พี่ก็ต้องรื้นหนังสือออกมาซ่อมบ่อยๆ พี่ได้เห็นได้รู้ว่าเล่มนี้ใช้กระดาษอย่างนี้ กระดาษแบบนี้เป็นกระดาษไม่ค่อยดี วัสดุนี้กระดาษนี้มันพังง่าย พี่ก็เก็บความรู้พวกนี้มาทดลองทำทดลองซ่อม

ตอนแรกพี่ก็ทดลองซ่อม เสร็จแล้วถ้ามันไม่เวิร์คเราก็ทำใหม่แก้ใหม่ แต่ถ้ามันโอเคแล้วก็ส่งไปให้ลูกค้า แล้วค่อยๆ ปรับนิดเปลี่ยนหน่อย อย่างพวกขอบกระดาษของปกแข็ง บางทีลูกค้าก็บอกว่าเหลือเยอะไป บางคนก็บอกว่าเหลือขอบน้อยไป เราก็ต้องมาหาระยะห่างที่พอดี

จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้พี่เป็นคนชอบหนังสือเก่า สมัยพี่ยังเด็กๆ เวลาลงป้ายรถเมล์ไหน แล้วมีแผงหนังสือที่คนเอาผ้ามาปูขาย พี่จะแวะลงทุกป้ายแล้วจะอยู่ตรงนั้นเป็นชั่วโมงเลย บางทีรถเมล์ที่เรารอมาแล้วพี่ก็ช่างมัน ปล่อยให้รถผ่านไป พี่ชอบซื้อหนังสือมาเก็บ แล้วพี่อยากเปิดร้านหนังสือเก่า ผสมกับที่พี่เรียนช่างมา เป็นช่างไม้ ซึ่งพี่เคยทำอยู่โรงงานทำเก้าอี้มาก่อน ก็เลยมีทักษะเรื่องช่างอยู่บ้าง

 

 

 

• มีหนังสือที่พี่กุ๊กซ่อมมาแล้วลูกค้าชมและพี่เองก็ประทับใจไหม

เราจะไม่ค่อยฟังว่าลูกค้าชมนะ พี่จะดูปฏิกิริยาเขามากกว่า พี่ดูสีหน้า ท่าทางเขาตอนได้รับ แล้วเราก็จะรู้ว่าเขาน่าจะชอบแล้วแหละ

ส่วนหนังสือที่ประทับใจ ตอนนี้มีอยู่ 2 เล่ม เป็นของคนฝรั่ง แบบว่ามันไม่น่าจะมาถึงเราได้ มีของคนอังกฤษอีกคนหนึ่ง คนนี้เขามาเที่ยวภูเก็ตทุกปี เขาก็แวะมาทิ้งหนังสือไว้แล้วก็ไปเที่ยวภูเก็ต เป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำอาหารในอินเดีย เล่มนี้ซ่อมง่าย แต่ก็คิดเขาไม่กี่บาท อีกเล่มเป็นไบเบิลของคนสิงคโปร์ เขาส่งมาให้เพื่อน แล้วเพื่อนเขาก็เอามาให้พี่ซ่อม เดือนหน้าเขามาเมืองไทยค่อยมาเอาคืน เป็นไบเบิลประจำบ้าน แต่เล่มนี้ค่าซ่อมค่อนข้างแพง

 

• แล้วมีหนังสือเคสไหนที่ซ่อมไม่ได้ไหม

มีส่งหนังสือคืนเหมือนกันนะ เพราะมันจะไม่คุ้มกับค่าซ่อม หนังสือบางเล่มคิดค่าซ่อม 500 สู้ไหม บางทีเขาก็โอ้ย ไม่ไหวก็ต้องคืนไป อย่างหนังสือเก่าเล่มนี้ที่ปลวกกิน พี่ยังคิดอยู่เลยว่าจะซ่อมยังไงดี โดยมากหนังสือที่เนื้อในโดนปลวกกิน พี่ก็จะใช้กระดาษสาเสริมให้เต็มแผ่น แต่ก็ต้องมาถามเจ้าของงานก่อนว่าคุ้มไหมถ้าคิดราคา 1,000 อะไรแบบนี้

 

• ตอนนี้ที่คนหันมาอ่าน e-book มากขึ้น มีผลกระทบกับพี่ไหม

พี่ว่าพี่จะอยู่สบายเลยล่ะ เพราะพอถึงจุดคนไปใช้ e-book คนก็เริ่มเก็บหนังสือและหนังสือจะพิมพ์ออกมาน้อย อาจจะพิมพ์เหลือ1,000 หรือ 500 เล่มต่อปก พอหนังสือพิมพ์ออกมาน้อย หนังสือจะมีค่า ลองนึกถึงหนังสือที่พิมพ์มาช่วง 10-20ปีที่ผ่านมา ถ้าเก็บอีกหน่อยก็จะกลายเป็นหนังสือที่เขาเก็บกันไม่รู้เท่าไหร่ พอหนังสือชำรุด เขาก็ต้องมองหาคนซ่อม เพราะหนังสือเล่มนั้นไม่มีขายแล้ว

 

BookClinic_11

 

 

 

• ตอนที่พี่กุ๊กหันมายึดอาชีพซ่อมหนังสือ พี่มีช่วงเวลายากลำบากหรือท้อบ้างไหม

มีนะ ตอนแรกเงินไม่เยอะ แล้วเราก็ไม่กล้าคิดราคาแพง สมัยนั้นซ่อมหนังสือเล่มละ 25 บาทแค่นั้นแหละ แต่ช่วงหลังจากนั้นก็เริ่มมีห้องสมุดติดต่อมา แล้วเราก็เข้าไปเอาหนังสือ100-200 เล่มมาซ่อม ตอนนั้นตั้งเป้าซ่อมหนังสือไว้กับห้องสมุดของโรงเรียนนานาชาติซึ่งพี่ไปดีลเอง ไปถึงก็คือเอานามบัตรไปให้เขา แล้วเอาหนังสือเขามา 2-3 เล่ม เอามาซ่อมให้ดูเป็นตัวอย่าง

แต่จริงๆ แล้วพี่เห็นงานซ่อมหนังสือเป็นโอกาสมากกว่า แต่ตอนนั้นงานอาจไม่ได้ดั่งใจ แล้วก็มีปัญหาหลายเรื่องเข้ามาซ้อนๆ กัน คือพี่ไม่มีปัญหาเรื่องงาน แต่มีปัญหาเรื่องอื่นมากกว่า เพราะถ้าเราตั้งใจทำงานจริงๆ งานก็พอไปได้ มันอาจไม่ได้ขนาดแย่มากมาย แค่มีเงินไม่มาก อย่างเครื่องไม้เครื่องมือพวกนี้ สองปีแรกพี่ไม่มีเครื่องมืออะไรก็ลำบากเหมือนกัน เวลาเราเข้าเล่มเสร็จแล้วต้องตัดขอบ ก็จะเอาไปให้ร้านถ่ายเอกสารเจียรให้เล่มละ 10 บาท 5 บาท ตอนหลังพอมีเครื่องมือเองก็สะดวกขึ้น

 

• แล้วตอนนี้รายได้จากการซ่อมหนังสือเป็นอย่างไร

ต้องบอกก่อนว่างานซ่อมหนังสือเป็นตลาดขนาดเล็กนะ เป็นงานที่ไม่มีคนทำ มันเป็นงานที่ niche market มากๆ ที่เมืองนอกเขาทำกันแพงนะ จุดสูงสุดของอาชีพนี้คือไปซ่อมเอกสารในวาติกัน นึกออกไหมว่าหนังสือมีอายุหลายร้อยปีหลายพันปี คือถ้าเราทอดไก่ขายก็ดูทั่วไปใช่ไหม แต่ถ้าเป็นไก่ kfc มันก็อีกอย่างหนึ่ง คืออาชีพทุกอาชีพมันจะมี Level ของมันเอง

ส่วนรายได้ 5-7 ปีหลังมานี้ก็ดีนะ พี่มีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ก็แค่แบบฮ่องกง และมีเงินเหลือเก็บนะ แต่ก็ต้องบอกว่า 5 ปีแรกที่ทำมันก็ไม่ได้อยู่ง่าย มันก็ต้องฝ่าฟัน หนังสือเล่มหนึ่งคิดค่าซ่อมไม่แพงหรอก ประมาณ 200 – 300 บาทแล้วแต่เคส ตอนแรกๆ พี่ก็ต้องทำงานสองอย่าง ซ่อมหนังสือด้วยรับห่อปกหนังสือด้วย

 

 

• ชื่อ ‘Book Clinic’ มีที่มาที่ไปอย่างไร

ชื่อบุ๊กคลีนิกนี้เป็นเรื่องฟลุ๊คมาก คือพี่ให้เพื่อนออกแบบจะทำเคาน์เตอร์ซ่อมหนังสือไปวางไว้ที่เซ็นทรัล พี่ไปขอให้เพื่อนออกแบบให้หน่อย เพื่อนก็เขียนแบบให้ เสร็จปุ๊บเขาก็เขียนชื่อร้านมาให้ว่า Book Clinic แล้วพี่ก็รู้สึกว่า เฮ้ยเอาชื่อนี้แหละ แต่พอไปเสนอกับเซ็นทรัล เขาก็แบบคุณจะทำอะไรไม่เห็นจะรู้จัก พี่เลยไม่มีร้านในเซ็นทรัล แต่ถ้าได้อยู่ในห้างฯ เราก็คงไม่มีค่าเช่าเหมือนกัน ชื่อนี้ก็เลยเหมือนชื่อแบรนด์ เป็นชื่อร้านไปเลย

 

• พี่กุ๊กวางแผนอนาคตของ Book Clinic ไว้อย่างไร

ตอนนี้พี่จึงเป้าว่าจะซ่อมหนังสือเก่า แต่ในระหว่างนี้พี่ก็ทำงานซ่อมหนังสือใหม่สลับกับซ่อมหนังสือเก่า หนังสือเก่าก็อาจจะประมาณ10-20 เปอร์เซ็นต์ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณเรื่อยๆ เพราะคิดว่าในอนาคตจะทำงานซ่อมหนังสือเก่ามากกว่า และพี่คิดว่าจะเปิดสอนซ่อมหนังสือด้วย แต่ต้องหลังจากที่พี่ไปเรียนซ่อมหนังสือจากเมืองนอกกลับมาก่อนนะ เพราะงานซ่อมหนังสือเป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครทำ มันหายไป มันใช้เวลาคือกว่าจะซ่อมได้ซ่อมเป็น บางคนเข้ามาทำจริงๆ มาเจอฝุ่นก็ไม่ไหวไม่ทำแล้ว

 

BookClinic_10

 

เรียกได้ว่ากว่าคุณกุ๊ก – ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล จะขึ้นมายืนบนจุดที่ได้รับฉายาว่า ‘หมอรักษาหนังสือ’ และยึดอาชีพนักซ่อมหนังสือที่คนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักมากว่าสิบปี ต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างเทคนิคในการซ่อมหนังสือจนกลายเป็นนักซ่อมหนังสือมืออาชีพที่มีลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศมากมาย และสามารถก้าวยืนอย่างมั่นคงได้อย่างทุกวันนี้

 

Workplace : 6/58 โชคชัย 4 ซอย 22 (ข้างธนาคารกรุงไทย) ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230
Home Office : 36/309 หมู่บ้านจันทิมาธานี ซอย 4 ถนนกาญจนาภิเษก ต.บางรักพัฒนา บางบัวทอง นนทบุรี
Phone : 089-106-9201, 090-980-2715 และ 090-980-2878
Facebook : www.facebook.com/bookclinic
Web : book-bookclinic.blogspot.com
E-mail : [email protected]

 

Story : Taliw
Photographer : Wara
keyboard_arrow_up