บางครั้งการปรับเปลี่ยนมุมมองอะไรบางอย่างก็อาจทำให้เราได้ตกผลึกและมองเห็นสิ่งต่างๆ ในมุมมองที่แปลกตาไปจากเดิม ไม่เว้นแม้แต่งานศิลป์จาก “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB 2018) ที่ในบางชิ้นก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสและดื่มด่ำกับผลงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ วันนี้เราจึงไม่พลาดที่จะรวบรวมผลงานต่างๆ เหล่านั้นมาให้ชาว Fav Forward ได้เสพย์กันแบบอิ่มจุใจกันไปเลยครับ
เริ่มต้นกันที่ย่านใจกลางเมืองอย่าง “สยาม” อันเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ โดยผลงานศิลปะจากเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ที่สามารถเข้าไปชมในยามค่ำคืนได้ในบริเวณนี้จะอยู่ที่ “ห้าง CentralWorld” และ “One Bangkok” (โครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งอนาคต วัน แบงค็อก) อันอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกันเท่าใดนัก
หากจะเอ่ยชื่อศิลปินที่มีผลงานสุดโดดเด่น เชื่อว่าหนึ่งในนั้นคงต้องมีชื่อของ “Yayoi Kusama” เจ้าแม่ลายจุดแห่งโลกศิลปะร่วมสมัยผู้สร้างสรรค์ผลงานลายจุดที่มีตั้งแต่จิตกรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวางไปจนถึงภาพยนตร์
ซึ่งล่าสุดกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ที่เธอได้นำผลงาน “14 Pumpkins” ประติมากรรมฟักทองยักษ์ลายจุดชิ้นใหญ่ยักษ์มาจัดแสดงอยู่ในห้างสรรพสินค้าอันเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางการช็อปปิ้งอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ ก็สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจด้วยการเนรมิตพื้นที่ภายในห้างให้เต็มไปด้วยลายจุดจากผลงานป็อปอาร์ตสุดตระการตาชิ้นนี้
“Happy Happy Project: Fruit Tree” คือผลงานสุดโดดเด่นของศิลปินร่วมสมัยชั้นนำชาวเกาหลีใต้ที่นามว่า “Choi Jeong Hwa” โดยผลงานต่างๆ ที่เขาได้สรรสร้างค์ขึ้นล้วนมีแรงบันดาลใจมาจากวัตถุในชีวิตประจำวันและนำวัสดุรีไซเคิลมาร้อยเรียงจนเกิดเป็นผลงานศิลปะที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าทึ่ง
ไม่เว้นแม้แต่ “Happy Happy Project” หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ว่าด้วยเรื่องของโลกแห่งความสุขอันฉาบฉวยและขัดแย้งในตนเอง ซึ่งภายในโปรเจ็กต์นี้จะประกอบไปด้วยผลงานศิลปะจัดแสดงที่เป็นวัตถุเป่าลมขนาดใหญ่ เช่น “Fruit Tree” ต้นไม้ยักษ์ที่ช่วยนำความสุขและรอยยิ้มมาให้แก่ผู้พบเห็นแม้เป็นเพียงช่วงระยะเวลานึงก็ตาม
“Happy Happy Project: Breathing Flower” หนึ่งในผลงานสุดสร้างสรรค์จากโปรเจ็กต์ “Happy Happy Project” ที่คงคอนเซปต์ช่วยนำพารอยยิ้มและความสุขมาให้แก่ผู้เห็นผ่านดอกไม้ยักษ์เป่าลมขนาดใหญ่ที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
“Happy Happy Project: Love Me Pig” อีกหนึ่งผลงานในโปรเจ็กต์ “Happy Happy Project” ที่ช่วยเรียกรอยยิ้มและความสุขให้แก่ผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดีผ่านตุ๊กตาเป่าลมรูปหมูมีปีกตัวยักษ์ที่มีสีสันสดใสและยื่นตระหง่านอยู่ในโครงการ “One Bangkok” เพื่อรอคอยให้ผู้คนได้มาเยี่ยมชม
“Canan” คือศิลปินผู้เรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี เธอเชื่อในพลังการขับเคลื่อนของสังคมและใช้เรือนร่างของผู้หญิงเพื่อถ่ายทอดผลงานทั้งในผลงานสื่อผสม หัตถกรรม จิตรกรรม วิดีโออาร์ต ตลอดไปจนถึงผลงานศิลปะจัดวาง
ล่าสุดกับ “Animal Kingdom” ศิลปะจัดวางตามแนวคิดจักรวาลวิทยาของวัฒนธรรมอาหรับและเปอร์เซียที่เกิดจากการผสมผสานวัสดุอย่างเลื่อม ผ้า ไฟเบอร์ และเชือกเข้าไว้ด้วยกัน โดยผลงานชิ้นนี้จะสื่อถึงความเป็นแดนสวรรค์ที่เต็มไปด้วยสรรพสัตว์ในเทพนิยายอย่าง นกฟินิกซ์ มังกร งู ฯลฯ ตลอดไปจนถึงสัตว์ประหลาด (ญิน) อันเป็นความเชื่อส่วนตัวของศิลปินที่เกี่ยวกับสัตว์ประหลาดเหนือธรรมชาติ
“เจริญกรุง” ถือเป็นอีกย่านที่แม้จะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันบริเวณเจริญกรุงก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตน สังเกตได้จากบรรดาอาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่มีการอนุรักษ์เอาไว้ จึงทำให้ย่านนี้กลายเป็นอีกหนึ่งย่านที่เหล่าศิลปินและคนรักศิลปะชื่นชอบ
โดยผลงานศิลปะจาก Bangkok Art Biennale 2018 ที่สามารถเข้าไปชมในยามค่ำคืนได้ในบริเวณนี้จะอยู่ที่ “โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล” และ “อาคารอีสต์ เอเชียติก” นั่นเอง
“Lost Dog” หรือ “หมาหลง” เป็นผลงานประติมากรรมจากฝีมือของ “Aurèle Ricard” ศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศส ผู้ใช้ผลงานทางศิลปะเป็นเครื่องสะท้อนถึงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ประชากรโลกมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดขึ้น ผลงานล่าสุดของเขาที่โด่งดังก็เช่น “LostDog CO2” ประติมากรรมรูปสุนัขขนาดใหญ่ที่ทำจากพืชที่มีส่วนช่วยในการลดมลพิษทางอากาศ เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์ตระหนักถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฝีมือของตนเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุดกับ “Lost Dog” ประติมากรรมสุนัขความสูงกว่า 5.9 เมตรที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าทางเข้าของ “โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล” ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ที่ Aurele ต้องการสื่อว่าสุนัขตัวนี้กำลังมองหาเส้นทางที่นำไปสู่ความสุขท่ามกลางโลกที่วุ่นวายด้วยฝีมือของมนุษย์ นั่นเอง
Credit Pic: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
“Zero” ประติมากรรมอันน่าขบคิดของคู่หูศิลปินที่ขึ้นชื่อทางด้านเทคนิคศิลปะจัดวางอย่าง “Micheal Elmgreen” และ “Ingar Dragset” ผู้ฝากผลงานไว้กับเทศกาลศิลปะทั่วโลกมาแล้วตั้งแต่ Venice Biennale, Berlin Biennale ไปจนถึง Gwangju Biennale
ล่าสุดกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ที่สองคู่หูได้เลือกพื้นที่หน้าอาคาร “อีสต์ เอเชียติก” เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานล่าสุดอย่าง “Zero” สระว่ายน้ำแสตนเลสสตีลตั้งฉากความสูงกว่า 8 เมตรที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับเลขศูนย์ที่ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างแหล่งน้ำสายใหญ่ของกรุงเทพฯอย่าง “แม่น้ำเจ้าพระยา” กับ “ทะเลนอร์ดิก” อันเป็นพื้นที่ที่อยู่ในบ้านเกิดของพวกเขา
นอกจากนี้ยังมีผลงานบางส่วนจาก Bangkok Art Biennale 2018 ที่ถูกจัดแสดงอยู่ภายในวัดด้วย อาทิ
“Turtle Religion” หรือ “เต่าเขามอ” ประติมากรรมสื่อผสมจากฝีมือของศิลปินไทยอย่างคุณ “กฤช งามสม” ที่มักนำความทรงจำในวัยเด็กเข้ามาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ในการตีความและพลิกกลับความหมายให้วัตถุธรรมดาๆ ดูน่าสนใจขึ้นมา
โดย “เต่าเขามอ” จะเป็นประติมากรรมสื่อผสมที่ตั้งอยู่ใน “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” ตรงบริเวณ “เขามอ” ที่เป็นแหล่งอุดมไปด้วยเต่าและปลาดุกอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ทั้งนี้เต่าเหล็กแต่ละตัวที่จัดแสดงจะแบกวัตถุขนาดแตกต่างกันไว้บนหลังเพื่อสื่อให้เห็นถึงความกลมเกลียวของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ผสมปนเปจนเป็นเนื้อเดียวกันในย่านนี้
“ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต คุณจะทำความดีอะไรทิ้งไว้บนโลกใบนี้” ข้อความชวนให้ฉุกคิดจาก “What Will You Leave Behind?” ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ของศิลปินไทยมากความสามารถ “นีโน่ สุวรรณี” ที่เป็นการนำกระดูกเซรามิกชิ้นเล็กๆ กว่า 100,000 ชิ้นมาโปรยลงบนทางเดินรอบๆ พระบรมธาตุมหาเจดีย์เพื่อให้ผู้คนที่เข้าชมผลงานได้ฉุกคิดอะไรบางอย่างจากการสัมผัสความเปราะบางของมันด้วยฝ่าเท้า
“Across the Universe and Beyond” เป็นการนำคติที่ถูกหลงลืมของเขามอให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านการออกแบบพื้นที่และแสงจะทำให้ผู้ชมได้เพ่งอยู่กับตัวเองขณะก้าวเข้าไปในพื้นที่ และในชั่วขณะของความคงอยู่ ความไม่จีรังยั่งยืน และความว่างเปล่า งานศิลปะจัดวางชิ้นนี้จะเตือนใจให้เราตระหนักถึงตัวตนของเราว่าเราเป็นเพียงแค่อนุภาคในจักรวาลอันกว้างใหญ่
ชาว Fav Forward ที่สนใจ “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB 2018) สามารถติดตามรายละเอียดความคืบหน้าได้ผ่านทางเว็บไซต์ Fav Forward, บ้านและสวน รวมไปถึงเว็บไซต์กลางของงานอย่าง www.bkkartbiennale.com ได้เลยครับ
#BangkokArtBiennale2018
#BAB2018
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก:
เมื่องานศิลป์บุกไทยกับ 6 คนยิ่งใหญ่ที่สัมผัสได้ ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018
6 คาเฟ่ดีไซน์เก๋ ให้เราแวะพัก หลังชมงาน BAB 2018 ณ โซนแม่น้ำเจ้าพระยา