BAB 2018
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นของงานศิลปะล้วนมีที่มาจากความเชื่อและความศรัทธาเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากการค้นพบภาพวาดผนังถ้ำหรืองานประติมากรรมในสมัยก่อนที่มักจะมีความเชื่อทางด้านพิธีกรรมมาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น จวบจนความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นได้แปรเปลี่ยนเป็นความเชื่อทางด้านศาสนา “งานศิลปะ” จึงเข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดความเชื่อและความศรัทธาจนก่อให้เกิดผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ศาสนาไปโดยปริยาย
ล่าสุดกับ “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB2018) เทศกาลงานศิลปะระดับโลก ซึ่งในปีนี้ได้แวะเวียนมาจัดแสดงที่ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยได้รวบรวมเอาผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งของจากศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติกว่า 70 ชีวิตมาจัดแสดง ณ สถานที่สำคัญต่างๆ ในบ้านเรากว่า 20 จุด ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 กันแบบยาวๆ
ทั้งนี้สถานที่ที่จัดแสดงผลงานศิลปะก็มีตั้งแต่ใจกลางห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ย่านชุมชน ตลอดไปจนถึง “วัด” ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วทั้งโลก โดยวันนี้เราจึงไม่พลาดที่จะขอพาเพื่อนๆ ชาว Fav Forward ไปชมผลงานศิลปะสุดสร้างสรรค์จากงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกนำมาจัดแสดงภายในวัดกันครับ
เริ่มต้นสถานที่จัดแสดงผลงานที่แรกกันด้วย “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “วัดโพธิ์” โดยวัดโพธิ์นี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นวัดที่มีความงดงามและคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของประเทศ จึงทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่างอยากที่จะมาสัมผัสความงดงามนี้ด้วยตนเองกันดูสักครั้ง
จุดเด่นที่สำคัญๆ ของวัดโพธิ์จะมีตั้งแต่….
“วิหารพระพุทธไสยาส” ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู” มีลักษณะเป็นพระนอนยาว 46 เมตรสูง 15 เมตร (ทำให้เรียกติดปากกันว่า พระนอนวัดโพธิ์) พระบาทแต่ละข้างจะกว้าง 1.5 เมตร ยาว 5 เมตร ภายในประดับด้วยลวดลายมุกและภาพมงคล 108 ประการ
“พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล” นั้นมีลักษณะเป็นมหาเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่ 4 องค์ มีพระนามแตกต่างกันไปจากการพระราชทานพระนามขององค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่ “พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ” (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1) “พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิธาน” (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2) “พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร” (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3) และ “พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย” (พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4)
เมื่อพูดถึงวัดโพธิ์นอกจากความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว หลายๆ คนย่อมนึกถึงความโด่งดังของศิลปะการแพทย์แผนโบราณที่ส่งต่อมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนก่อให้เกิดเป็นภูมิปัญญาประจำชาติ ทั้งนี้ “รูปปั้นฤๅษีดัดตน” นั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อแสดงออกถึงศิลปะการแพทย์แผนโบราณในท่วงท่าต่างๆ กว่า 80 ท่า (ปัจจุบันเหลือรูปปั้นอยู่ 24 ท่า)
“ยักษ์วัดโพธิ์” ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของวัดที่มีชื่อเสียงไปทั่วทั้งโลก โดยยักษ์วัดโพธิ์มีลักษณะเป็นรูปปั้นคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์มีสีกายทั้งแดงและเขียว ตั้งอยู่บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป
ผลงานจาก บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกจัดแสดงใน วัดโพธิ์ จะมีทั้งสิ้น 6 ชิ้นงานได้แก่
Paths of Faith (Thailand)
Artists: จิตต์สิงห์ สมบุญ (Jising Somboon)
“Paths of Faith” เป็นคอลเล็คชั่นเสื้อคลุมสีขาวที่ปักคำว่า “ศรัทธา” ในภาษาไทย อังกฤษ และจีนไว้กลางหลัง ซึ่งถูกจัดวางไว้ให้เหล่านักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม วิหารพระพุทธไสยาส ได้สวมใส่เข้าไปในพื้นที่
Zuo You He Che (China, France)
Artists: หวง หย่ง ผิง (Huang Yong Ping)
เป็นที่รู้กันดีว่าผลงานส่วนใหญ่ของ หวง หย่ง ผิง จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเชิงวัฒธรรมของจีนลงไปในชิ้นงาน ไม่เว้นแม้แต่ “Zuo You He Che” ประติมากรรมสัตว์ในจินตนาการที่คาบม้วนตำรายารักษาโรคไว้ในปาก สื่อถึงปัญญา ศรัทธาและการเยียวยารักษา ล้วนเป็นหนทางสู่ความสุขสงบของในทั้งศาสนาพุทธและปรัชญาจีนทั้งสิ้น
Knowledge in your Hands, Eyes and Minds (Thailand)
Artists: ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ (Phaptawan Suwannakudt)
“Knowledge in your Hands, Eyes and Minds” มีลักษณะเป็นชุดผลงานศิลปะสื่อผสม (มีทั้งภาพ กลิ่น เสียง) ตั้งอยู่ในกุฏิบริเวณสระจระเข้ของวัดโพธิ์ เนื้อหาบอกเล่าความสัมพันธ์กันของภูมิปัญญาด้านต่างๆ ทั้งทางการแพทย์ งานออกแบบ วรรณกรรม บทประพันธ์ การนวดสมุนไพร โหราศาสตร์ ไปจนถึงการสนทนากับอาสะสงฆ์อันเป็นการสื่อสารกับคนตายและโลกหลังความตาย
Sediments of Migration (Thailand)
Artists: ปานพรรณ ยอดมณี (Pannaphan Yodmanee)
“Sediments of Migration” เป็นงานจิตรกรรมลอยตัวที่ถูกวางเข้าคู่กับรูปปั้นฤาษีดัดตนและตุ๊กตาอับเฉาบริเวณเขามอในวัดโพธิ์ ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนฝาผนังในวัดแห่งนี้ โดยจะถ่ายทอดภาพการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างสยามและจีน การเดินทางแสวงบุญ ความแตกต่างด้านศรัทธา และชาติพันธุ์
A Shadow of Giving (Thailand)
Artists: ธวัชชัย พันธ์สวัสดิ์ (Tawatchai Puntusawasdi)
“A Shadow of Giving” เป็นประติมากรรมเชิงทดลองที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนฝาผนังสองมิติในโรงทาน ที่เป็นสัญลักษณ์ของการมอบให้ ความไม่เห็นแก่ตัว และ ความเคารพ สำหรับศิลปิน ความเที่ยงตรงของมาตรวัด และหลักทางคณิตศาสตร์เป็นหนทางสู่ความสุข
Tha Tien (Thailand)
Artists: สาครินทร์ เครืออ่อน (Sakarin Krue-on)
“Tha Tien” คือภาพยนตร์เงียบประกอบเสียงดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนต์ “ท่าเตียน” (2516) โดย สมโพธิ แสงเดือนฉาย ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องระหว่างยักษ์กับนักรบโดยมีวัดโพธิ์กับวัดอรุณเป็นฉากหลัง เมื่อตกลงกันไม่ได้ การโต้เถียงก็นำไปสู่การต่อสู้ที่ทำให้ท่าเรือวัดโพธิ์พังราบเป็นหน้ากลอง (จัดแสดงในช่วง 16 – 20 ตุลาคม 2561 และ 22 – 24 พฤศจิกายน 2561 ที่วัดโพธิ์และวัดอรุณ)
เมื่อข้ามฟากจากบริเวณท่าเตียนอันเป็นที่ตั้งของวัดโพธิ์ไปยังท่าเรือวัดอรุณเราก็จะได้พบกับ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “วัดแจ้ง” และ “วัดอรุณ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่เดิมวัดอรุณนั้นถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยามีชื่อว่า “วัดมะกอก” ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “วัดแจ้ง” พร้อมขยายเขตพระราชฐานของตัวพระราชวังจนทำให้วัดแจ้งกลายเป็นวัดภายในพระราชวังเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ จวบจนมีการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์และอัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถพร้อมกับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”
จุดเด่นที่สำคัญๆ ของวัดอรุณจะมีตั้งแต่….
“พระปรางค์วัดอรุณ” เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทย ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รอง 4 ปรางค์ มีลักษณะเป็นองค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ และเบญจรงค์ลวดลายสวยงามจากจีน มีงานสถาปัตยกรรมกินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑประดับโดยรอบ นอกจากนี้พระปรางค์วัดอรุณยังถูกบูรณขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 2 จากเดิมสูงเพียง 16 เมตรกลายเป็น 81.85 เมตร จึงทำให้ประปรางค์วัดอรุณกลายเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในโลกไปโดยปริยาย
“ยักษ์วัดแจ้ง” ถือเป็นหนึ่งในรูปปั้นที่มีชื่อเสียงไม่แพ้ “ยักษ์วัดโพธิ์” โดยยักษ์วัดแจ้งจะมีลักษณะเป็นงานประติมากรรมยักษ์จากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์อย่าง “ยักษ์ทศกัณฐ์” (สีเขียว) และ “ยักษ์สหัสเดชะ” (สีขาว) ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสียืนตระหง่านเฝ้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ
ผลงานจาก บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกจัดแสดงใน วัดอรุณ จะมีทั้งสิ้น 2 ชิ้นงานได้แก่
Across the Universe and Beyond (Thailand)
Artists: สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ (Sanitas Pradittasnee)
“Across the Universe and Beyond” เป็นการนำคติที่ถูกหลงลืมของเขามอให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านการออกแบบพื้นที่และแสงจะทำให้ผู้ชมได้เพ่งอยู่กับตัวเองขณะก้าวเข้าไปในพื้นที่ และในชั่วขณะของความคงอยู่ ความไม่จีรังยั่งยืน และความว่างเปล่า งานศิลปะจัดวางชิ้นนี้จะเตือนใจให้เราตระหนักถึงตัวตนของเราว่าเราเป็นเพียงแค่อนุภาคในจักรวาลอันกว้างใหญ่
Giant Twins (Thailand)
Artists: คมกฤษ เทพเทียน (Komkrit Tepthian)
ด้วยแรงบันดาลใจจากรูปปั้นหินนักรบจีนโบราณและทวยเทพลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่จีนส่งมาให้สยาม งานศิลปะ “Giant Twins” ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จึงเป็นส่วนผสมระหว่างจีนกับสยาม ผ่านการดัดแปลงตำนานของฝาแฝดสยามอินจัน ด้วยการนำเอารูปร่างมหึมาของยักษาและลักษณะของนักรบจีนมาควบรวม เพื่อเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ไทย-จีน
หมายเหตุ: ผลงานยักษ์แฝดและครุฑวัดอรุณของศิลปิน จำเป็นต้องย้ายและจัดเก็บโดยทางวัดต้องใช้พื้นที่ในการจัดงาน “กฐินพระราชทาน” ผลงานจะกลับมาติดตั้งใหม่หลังวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561
ถัดจากวัดอรุณไปทางสะพานพระพุทธยอดฟ้าก็จะเป็น “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายที่มีการจัดแสดงผลงานไว้ภายใน โดยวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2371 จาก “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์” (ดิศ บุนนาค) เพื่อถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 3) ซึ่งทรงพระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” หรือเรียกกันสั้นๆ ในท้องถิ่นว่า “วัดรั้วเหล็ก”
จุดเด่นที่สำคัญๆ ของวัดวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารจะมีตั้งแต่….
“วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์” มีลักษณะเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบทรงไทยกว้าง 16.99 เมตร ยาว 20.19 เมตร ภายในแบ่งออกเป็นวิหาร 5 ห้อง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย นามว่า “พระพุทธนาค” ซึ่งเป็นประพุทธรูปโบราณคู่กับ “พระศรีศากยมุนี” พระประธานในวิหารของวัดสุทัศนเทพวราราม
“พระบรมธาตุมหาเจดีย์” มีลักษณะเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลมสูง 60.525 เมตร วัดความกว้างของฐานล่างได้ 162 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร สร้างขึ้นโดย “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์” และเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้พระบรมธาตุมหาเจดีย์จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ภายใน
“อุทยานเขามอ” หรือคุ้นหูกันดีในนาม “เขาเต่า” ถือเป็นภูเขาจำลองขนาดเล็กที่ก่อตั้งด้วยศิลา ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด มีบันไดขึ้นสู่ยอดเขา บนยอดเขาเป็นที่ตั้งพระสถูปหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองสำหรับบรรจุพระพุทธรูปสำคัญไว้ภายใน นอกจากนี้บริเวณสระน้ำโดยรอบยังเต็มไปด้วยเต่าและตะพาบ จนทำให้เรียกติดปากกันว่า “เขาเต่า” หรือ “ภูเขาเต่า” เป็นต้นมา
ผลงานจาก บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ถูกจัดแสดงใน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร จะมีทั้งสิ้น 6 ชิ้นงานได้แก่
Chat…Naa (Thailand)
Artists: อานนท์ นงเยาว์ (Arnont Nongyao)
ด้วยประสบการณ์ในการทำงานด้านศิลปะเสียงและภาพเคลื่อนไหวของศิลปิน จึงทำให้ “Chat…Naa” เป็นงานศิลปะเสียงจัดวาง ภาพเคลื่อนไหวทดลอง และการแสดงศิลปะเสียงทดลองที่สัมพันธ์แนบแน่นกับบริบทของคน วัตถุ สิ่งแวดล้อม และสังคมนั้นๆ
WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND? (Thailand)
Artists: นีโน่ สาระบุตร (Nino Sarabutra)
“WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND?” เป็นการโปรยเซรามิกหัวกะโหลกเนื้อขาวไม่เคลือบกว่า 125,000 ชิ้นบนทางเดินรอบเจดีย์องค์ประธานของวัด เพื่อสร้างสรรค์ให้กลายเป็นพื้นที่ที่จะกระตุ้นให้ผู้คนที่เดินบนทางนั้นได้ฉุกคิดว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต คุณจะทำความดีอะไรทิ้งไว้บนโลกใบนี้”
Zodiac Houses (Thailand)
Artists: มณเฑียร บุญมา (Montien Boonma)
“Zodiac Houses” เป็นประติมากรรมสไตล์ โกธิคสีดำที่เต็มไปด้วยการใช้สัญลักษณ์จักรราศี ที่มณเฑียรทำขึ้นมาเพื่อแสวงหาความสงบ การเกิดใหม่ และการติดต่อกับโลกหลังความตาย จะถูกนำมาตั้งในศาลาการเปรียญของวัดเพื่อเผชิญหน้ากับอาสนะสงฆ์อันเป็นการสื่อสารกับคนตายและโลกหลังความตาย
Sweet Boundary: In the Light Tube (Thailand)
Artists: กมล เผ่าสวัสดิ์ (Kamol Phaosavasdi)
ผลงานศิลปะจัดวาง “Sweet Boundary” ที่จัดแสดงที่วัดประยุรวงศาวาส มีที่มาจากการทำวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัดและพื้นที่ใกล้เคียง รั้วเหล็กที่ขึ้นรูปเป็นดาบ ธนู และหอก เป็นของนำเข้าจากอังกฤษในช่วงรัชกาลที่ 3 ที่ทางวัด แลกมาด้วยน้ำตาลในจำนวนเท่ากับน้ำหนักของรั้วเหล็กเหล่านี้ ผลงานชิ้นนี้ย้อนกลับไปพูดถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน ในช่วงที่ยังสามารถผูกขาดการค้าทางทะเลในภูมิภาค ก่อนสภาวะน้ำตาลล้นตลาดโลกและการมาถึงของชาติตะวันตก
Monuments of the Memory, the Golden Room (Italy)
Artists: เปาโล คานีวาริ (Paolo Canevari)
“Monuments of the Memory, the Golden Room” เป็นงานจิตรกรรมสีทองที่ปราศจากเนื้อหา ภายในซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ความ ทรงจำ และการสวดภาวนาของทั้งศาสนาพุทธและคริสต์ ถูกจัดแสดงอยู่ภายในศาลาการเปรียญเช่นเดียวกัน
Turtle Religion (Thailand)
Artists: กฤช งามสม (Krit Ngamsom)
“Turtle Religion” จะตั้งอยู่ที่เขามอซึ่งเป็นบริเวณบ่อน้ำที่อุดมด้วยเต่าและปลาดุก โดยจะเป็นผลงานประติมากรรมเต่าเหล็ก ที่แบกวัตถุต่างๆ ไว้บนหลัง วัตถุเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงความกลมเกลียวกันของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ ผสมปนเปกันเป็นเนื้อเดียวในพื้นที่ย่านคลองสาน
ทั้งนี้นอกจาก 3 วัดที่ได้กล่าวมาข้างต้น เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ยังได้จัดแสดงผลงานศิลปะตามจุดสำคัญๆ ที่เป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” กว่า 20 จุดไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 นี้อีกด้วย
ชาว Fav Forward ที่สนใจ “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB2018) สามารถติดตามรายละเอียดความคืบหน้าได้ผ่านทางเว็บไซต์ Fav Forward, บ้านและสวน รวมไปถึงเว็บไซต์กลางของงานอย่าง bkkartbiennale ได้เลยครับ
#BangkokArtBiennale2018
#BAB2018
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก:
เมื่องานศิลป์บุกไทยกับ 6 คนยิ่งใหญ่ที่สัมผัสได้ ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018