ในอดีต “ผลงานศิลปะ” ต่างๆ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นล้วนเป็นผลงานที่เกิดมาจากเรื่องราวการสะท้อนวิถีชีวิตและกิจวัตรประจำวันของมนุษย์เป็นเสียส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากภาพเขียนผนังถ้ำจากยุคหินเก่าตอนปลายที่ได้บอกเล่าเรื่องราวความเจริญก้าวหน้าทางอารยธรรมในช่วงนั้นผ่านท่วงท่าในการล่าสัตว์ของชนเผ่า ตลอดไปจนถึงการสรรค์สร้างเครื่องมือเครื่องใช้จากการปั้นหรือแกะสลักที่เกิดจากการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกของมนุษย์ในยุคนั้นแทบทั้งสิ้น
และเพราะในปัจจุบัน “ผลงานศิลปะ” ได้กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์และความเจริญทางจิตใจของมนุษย์ อันถูกกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ จินตนาการ ค่านิยม ตลอดไปจนถึงรสนิยมความชอบส่วนบุคคลที่ได้สรรค์สร้างผลงานศิลปะให้ก่อกำเนิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะด้านทัศนศิลป์ ประติมากรรม จิตรกรรม ไปจนถึงงานด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งการเข้าเยี่ยมชมหรือเสพย์งานศิลปะแต่ละชิ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดและระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต้องเสื่อมสลายก่อนเวลาอันควร
ด้วยเหตุนี้เราจึงขอรวบรวมมารยาทและข้อควรระวังต่างๆ ในการเข้าชมงานศิลป์มาแนะนำเพื่อให้ชาว Fav Forward ได้ศึกษาและนำเป็นแนวทางไปปฏิบัติใช้ในการเข้าชมงานศิลป์อย่างถูกต้องกันครับ
สาเหตุที่หลายๆ พิพิธภัณฑ์หรือศูนย์จัดแสดงผลงานทางศิลปะมักจะขอความร่วมมือในการงดถ่ายภาพไว้เป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้เพราะส่วนประกอบบางอย่างในผลงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมที่จัดแสดงอาจมีการทำปฏิกิริยากับแสงแฟลชจนก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร เช่น “สีแดงชาด” “สีเหลืองจากตะกั่วโครเมด” จะเกิดปฏิกิริยาและมีความเข้มขึ้นเมื่อได้รับแสงเป็นระยะเวลานาน หรือแม้แต่ “สีเหลืองหรดาล” ที่จะเปลี่ยนสภาพตัวเองให้กลายเป็นผุยผง โดยไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ในหลายๆ พิพิธภัณฑ์จึงมักมีการกำหนดทิศทางและความเข้มของแสง ซึ่งก่อให้เกิดคำถามว่าทำไมพิพิธภัณฑ์มักมืดตามมา
นอกจากนี้การใช้อุปกรณ์ช่วยถ่ายภาพจำพวกขาตั้งกล้องและไม้เซลฟี่ยังถือเป็นการกระทำที่กีดขวางการสัญจรและยังเป็นการบดบังอรรถรสในการรับชมแก่ผู้เข้าชมคนอื่นๆ อีกด้วย
เช่นเดียวกับการ “งดถ่ายภาพ” ผลงานศิลปะหลายๆ ชิ้นมักติดป้าย “Don’t touch” หรือมีที่กั้นเพื่อป้องกันการสัมผัสจากผู้เข้าชม เนื่องจากส่วนประกอบบางอย่างในผลงานศิลปะอาจทำปฏิกิริยากับอุณหภูมิจากร่างกายมนุษย์ได้เช่นเดียวกับแสง ยกตัวอย่างผลงานจิตรกรรมบางชิ้นถ้าเมื่อถูกนิ้วมือสัมผัสจะทำให้ตัวกระดาษเกิดการเปลี่ยนสีหรือทำปฏิกิริยากับอุณหภูมิของร่างกายจนก่อให้เกิดรอยนิ้วมือติดอยู่บนงาน เป็นต้น
นอกจากนี้การสัมผัสโดยตรงอาจทำให้เล็บหรือฝ่ามือของเราไปขูด ขีด หรือจิ้มชิ้นงานศิลปะจนทำให้แตก หัก เป็นรอย หรือเสื่อมสลายก่อนเวลาอันควรได้ แต่ทั้งนี้ก็มีบางศิลปินที่มีวิธีการถ่ายทอดผลงานโดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสัมผัสชิ้นงานได้อย่างเสรี ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่าชิ้นงานไหนสามารถสัมผัสได้ผ่านป้าย “Please Touch” ที่จะตั้งอยู่ในบริเวณส่วนจัดแสดง
สำหรับมารยาทพื้นฐานข้อต่อมาคือการ “งดใช้เสียง” เนื่องจากหลายๆ พิพิธภัณฑ์และส่วนจัดแสดงงานศิลปะ ถือเป็นพื้นที่ส่วนรวมของผู้เข้าชมคนอื่นๆ การส่งเสียงดังหรือพูดคุยกันอาจสร้างความรบกวนให้แก่บริเวณส่วนจัดแสดงได้ นอกจากนี้การวิ่งหรือเดินโดยไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับทั้งตัวบุคคลและชิ้นงานที่จัดแสดงได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นในพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่งจึงมักกำชับให้ผู้เข้าชมที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 18 ปีต้องได้รับการดูแลจากบิดา-มารดาหรือผู้ใหญ่ไม่ให้คลาดสายตาอยู่ตลอด
ในพิพิธภัณฑ์หรือส่วนจัดแสดงงานศิลปะหลายๆ แห่งมักไม่อนุญาตให้นำ “สัมภาระขนาดใหญ่” ติดตัวเข้าไปยังส่วนจัดแสดง (เช่นกระเป๋าเป้ กระเป๋าเดินทาง ถุงช็อปปิ้งขนาดใหญ่) เนื่องจากอาจเป็นการรบกวนการสัญจรของผู้เข้าชมท่านอื่น รวมไปถึงยังเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายให้กับผลงานศิลปะที่จัดแสดงอีกด้วย เช่น กระเป๋าเดินทางไหลชนผลงาน หรือสายเป้สะพายหลังไปเกี่ยวกับผลงาน เป็นต้น
“การสูบบุหรี่” “รับประทานอาหาร” หรือแม้แต่ “ดื่มเครื่องดื่ม” ใกล้กับส่วนจัดแสดงงาน ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผลงานศิลปะแทบทั้งสิ้น ดังนั้นหลายๆ พิพิธภัณฑ์จึงมักห้ามนำอาหารและของเหลวเข้าไปยังภายในพิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งเวลาที่เราไปชมผลงานศิลปะที่จัดแสดง ณ พื้นที่ภายนอก ตามมารยาทแล้วก็ไม่ควรยืนสูบบุหรี่ในบริเวณจัดแสดงงานด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะผลงานศิลปะบางชิ้นอาจต้องใช้อรรถรสในการรับชมงาน เช่นภาพจิตรกรรมที่มีขนาดใหญ่ การยืนอยู่ในระยะที่เหมาะสมเพื่อเสพย์งานศิลป์ นอกจากจะไม่เป็นการรบกวนอรรถรสในการรับชมงานศิลป์ของผู้เข้าชมท่านอื่นๆ แล้ว ยังทำให้เราได้รับสารที่ถูกส่งมาจากศิลปินได้อย่างครบถ้วน ชัดเจนมากกว่าการจ้องมองผลงานแค่เพียงจุดใดจุดหนึ่งอีกด้วย
เพราะในบางพิพิธภัณฑ์จะอนุญาตให้เข้าได้เฉพาะผู้ที่แต่งกายสุภาพ ดังนั้นหากเรามีแพลนที่จะไปเยี่ยมชมงานศิลปะหรือเข้าพิพิธภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม การแต่งกายสุภาพตามหลักสากล (เสื้อผ้ามิดชิด รองเท้าปิดส้น) จึงถือเป็นการแต่งกายที่ให้เกียรติและสามารถเข้าได้เกือบทุกสถานที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ (เช่นพิพิธภัณฑ์ในบางประเทศอาจมีการให้สตรีใช้ผ้าคลุมศีรษะก่อนเข้าชม) ที่อาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งเราควรศึกษารายละเอียดก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ
ท้ายที่สุดการอ่านป้ายประกาศหรือคู่มือก่อนเข้าชมนิทรรศการจากภัณฑารักษ์อยู่เสมอจะช่วยให้เราสามารถรับชมและดื่มด่ำไปกับงานศิลป์ได้อย่างไร้กังวล เพราะในแต่ละที่ก็ล้วนมีขนบธรรมเนียมและกฎระเบียบในการรับชมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียด ถือเป็นวิธีที่จะช่วยให้เรากลายเป็นผู้เสพย์งานศิลป์ได้อย่างมืออาชีพมากที่สุดนั่นเอง
ทั้งนี้ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) ได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ทางผู้จัดงานได้เนรมิตกรุงเทพฯของเราให้กลายเมืองศิลปะขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ เวนิส เบอร์ลิน ปารีส และสิงคโปร์ พร้อมกันนี้ยังได้คัดสรรค์ผลงานศิลป์จากเหล่าศิลปินชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 75 ชีวิตมาจัดแสดงตามจุดสำคัญต่างๆ ให้เราได้เลือกเสพย์กันภายใต้คอนเซ็ปต์ “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” ที่จะทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นแลนด์มาร์กของงานศิลปะร่วมสมัยอันโดดเด่นอย่างแท้จริง ตั้งแต่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562 นี้
Bangkok Art Biennale 2018
ชาว Fav Forward ที่สนใจงาน Bangkok Art Biennale 2018 สามารถติดตามรายละเอียดความคืบหน้าได้ผ่านทาง เว็บไซต์ Fav Forward, บ้านและสวน รวมไปถึงเว็บไซต์กลางของงานอย่าง bkkartbiennale ได้เลยครับ
#BangkokArtBiennale2018
#BAB2018
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก: