กุมภาพันธ์ นับเป็นเดือนแห่งความสุขสดชื่นของใครหลายๆ คน ที่ต่างมอบกุหลาบแทนความรัก สวีทหวานในวันวาเลนไทน์ (14 กุมภาพันธ์) หลายคนจึงต่างเรียกว่า “เดือนแห่งความรัก” แต่บทรักใช่ว่าจะมีแต่ความสุขอย่างเดียวเสมอไป เพราะบางครั้งความรักก็นำพาไปพบเจอกับความพลัดพรากและลาจาก นั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอ บทรักที่แสนเศร้าจึงกลายเป็น โศกนาฏกรรมความรัก เช่นเดียวกันกับ 6 หนังรักแสนเศร้า จากบทประพันธ์ชั้นเยี่ยมของนักเขียนชั้นครู ที่ออกแบบตอนจบด้วยการจากลา สิ่งที่ไม่มีใครปรารถนาจะได้รับ ดังต่อไปนี้ครับ
โศกนาฏกรรมความรัก ข้ามผ่านด้วยยาพิษ กริชแหลมคม และความตาย
“กล่าวถึงสกุลสอง, กิติศักดิ์เสมอกัน,
อยู่รวม ณ ถิ่นบรรพะบุเรศเวโรนา,
จากโทษะเก่าแก่ทุษะใหม่ก็เกิดมา,
จนญาติวงศาคณะมิตระผิดใจ.”– โรเมโอและจูเลียต –
(สำนวนพระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
“โรเมโอและจูเลียต” ถือเป็นบทประพันธ์สุดคลาสสิคจากปลายปากกาของ วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ที่ถูกหยิบนำมาสร้างเป็นหนังและละครเวทีบ่อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก เป็นเรื่องราวความรักในความแค้นของคนสองตระกูล ในเมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี เมื่อ “โรมิโอ” หนุ่มหล่อแห่งตระกูลมอนตะคิว มาพบรักกับ “จูเลียต” หญิงสาวแสนสวยแห่งตระกูลคาปูเล็ต แต่ความโกรธแค้นและชิงชังระหว่างคนสองตระกูลกลับกลายเป็นกำแพงสูงขวางกั้นความรัก เมื่อเขาและเธอพยามก้าวข้ามและปีนป่ายกลับต้องพบกับจุดจบอันแสนเศร้ากลายเป็น โศกนาฏกรรมความรัก บันลือโลก
ภาพยนตร์ ค.ศ.1968 / พ.ศ.2511
โรมิโอ รับบทโดย เลนนาร์ด ไวท์ทิง
จูเลียต รับบทโดย โอลิเวีย ฮัซซีย์
ภาพยนตร์ ค.ศ.1996 / พ.ศ.2539
โรมิโอ รับบทโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ
จูเลียต รับบทโดย แคลร์ เดนส์
ภาพยนตร์ ค.ศ.2013 / พ.ศ.2556
โรมิโอ รับบทโดย ดักลาส บูธ
จูเลียต รับบทโดย เฮลี่ สไตน์เฟล
โศกนาฏกรรมความรัก ท่ามกลางความมืดมิดและเหน็บหนาว
“แม้แต่รูปถ่ายสักใบของเขา ฉันก็ไม่มี แจ็คจึงเป็นเพียงแค่ตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในความทรงจำของฉันเท่านั้น”
– โรส ดอว์สัน –
หนังรักสุดคลาสสิกของวัยรุ่นยุค 90’s ที่คู่รักหลายคู่ต่างจูงมือกันไปชมกันแน่นโรงหนังตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย (ค.ศ.1997 / พ.ศ.2540) จนสร้างสถิติและประวัติศาสตร์หนังรักในยุคนั้น ด้วยการเคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์อันดับที่หนึ่งนานถึง 12 ปี ด้วยมูลค่ารวมทั่วโลกมากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ไททานิก ยังได้รับรางวัลออสการ์มากถึง 11 สาขา และรางวัลลูกโลกทองคำอีก 4 สาขา ส่งให้ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เคท วินสเลท กลายเป็นนักแสดงคู่ฮอตที่สุดในเวลานั้น อีกทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง My heart will go on ที่ร้องโดย เซลีน ดิออน ก็ดังเป็นพลุแตก และถูกนำไปเรียบเรียง ดัดแปลงใหม่ ทำออกมาขายอีกหลายเวอร์ชั่น
ไททานิก ถูกเล่าผ่านคำบอกเล่าของโรสในวัยชรา ผู้โดยสารไททานิกที่รอดชีวิตคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ในค่ำคืนที่เรือไททานิกพบกับความหายนะ เมื่อพุ่งเข้าชนภูเขาน้ำแข็ง ทุกชีวิตต่างดิ้นรนเอาตัวรอด ในที่สุดเรือไททานิกที่เคยถูกขนานนามว่า เป็นเรือที่ไม่มีวันจม ก็ดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลลึกพร้อมผู้โดยสารเกือบ 1,500 ชีวิต ในขณะที่แจ๊คและโรสหนีตายออกมาจากเรือไททานิกและกำลังลอยอยู่กลางมหาสมุทรอันหนาวเหน็บและมืดมิด
โศกนาฏกรรมความรัก ความสวยงามของเสียงดนตรีและบทลาจากที่ไม่มีหวนกลับ
“สิ่งที่ดีที่สุดที่เราได้เรียนรู้ คือการได้รัก และถูกรักตอบ”
หนังเพลงเรื่องที่สามในไตรภาค “The Red Curtain Trilogy” ของ บาซ เลอห์มานน์ ดัดแปลงจากเรื่องของ ออร์ฟิอุส และ ยูริดิซี ในตำนานเทพปกรณัมกรีก และจากอุปรากรเรื่อง La Traviata ของ จูเซปเป แวร์ดี ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 เขียนบทโดย เลอห์มานน์
มูแลงรูจ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1899 ที่โรงละครมูแลงรูจ ย่านมองมาร์ต ในกรุงปารีส ซึ่งมีจุดเด่นที่อาคารโรงละครเป็นรูปกังหันลม (ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า มูแลงส์) เล่าเรื่องผ่านการพรรณนาความรักของเขากับซาทีน หญิงงามเมืองอันเป็นที่รัก หลังจากการตายของเธอด้วยอาการป่วยเป็นวัณโรคเรื้อรังในอ้อมกอดของเขา
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลใหญ่ บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์สองสาขา จากสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย และการออกแบบฉาก และรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์ตลกและเพลง) นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (นิโคล คิดแมน) และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
นอกจากเพลง Lady Marmalade เพลงหลักที่ร้องโดย คริสติน่า อากีเลร่า, ลิล คิม, มิย่า, มิสซี เอลเลียต และพิงก์ จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากๆ ในหนังเรื่องนี้ยังมีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่อีกหนึ่งเพลง คือ Come What May ร้องโดย ยวน แมคเกรเกอร์ และ นิโคล คิดแมน นักแสดงนำของหนังเรื่องนี้นี่เอง เดิมเพลงนี้ เลอห์แมนน์ ตั้งใจจะใช้กับหนังเรื่อง โรมิโอ + จูเลียต แต่ได้นำมาใช้ใน มูแลงรูจ แทน
ข้ามกลับมาย้อนดู โศกนาฏกรรมความรัก ฉบับหนังไทยกันบ้าง เริ่มต้นด้วย…
โศกนาฏกรรมความรัก ที่ไม่อาจก้าวข้ามด้วยความต่างวัยและฐานันดร
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
– หม่อมราชวงศ์กีรติ –
นวนิยายชั้นเยี่ยมที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงามในเชิงวรรณศิลป์ ประพันธ์โดย ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เป็นเรื่องราวของความรักต่างวัย ต่างสถานะ นอกจากมีเรื่องราวที่กินใจจนเรียกน้ำตาของผู้อ่านแล้ว ภาษาที่ใช้ในเรื่องเป็นภาษาที่งดงาม มีวลีที่เป็นที่ชื่นชอบมากมาย นวนิยายเรื่องนี้เมื่อรวมเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 39 ครั้ง อีกทั้งยังได้ถูกนำไปสร้างเป็น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ รวมถึงละครเวทีในรูปแบบมิวสิคัล และถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์อีกด้วย
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2524
นพพร รับบทโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา
คุณหญิงกีรติ รับบทโดย อรัญญา นามวงษ์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2528
นพพร รับบทโดย อำพล ลำพูน
คุณหญิงกีรติ รับบทโดย นาถยา แดงบุหงา
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2544
นพพร รับบทโดย ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์
คุณหญิงกีรติ รับบทโดย คาร่า พลสิทธิ์
ละครเวที พ.ศ. 2551
นพพร รับบทโดย สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว
คุณหญิงกีรติ รับบทโดย สุธาสินี พุทธินันท์
ละครบรอดเวย์ พ.ศ. 2558
นพพร รับบทโดย สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว
คุณหญิงกีรติ รับบทโดย เซียร์รา บ็อกเกสส์
โศกนาฏกรรมความรัก มีเพียงโซ่ทอง คล้องร่างที่ไร้วิญญาณ
“เสน่หาชั่วข้ามคืน ความขมขื่นชั่วนิรันดร์”
ชั่วฟ้าดินสลาย โศกนาฏกรรมความรัก สร้างจากวรรณกรรมอมตะของ เรียมเอง (มาลัย ชูพินิจ) ถูกสร้างและออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ.2496 และในปี พ.ศ.2553 ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับและเขียบทภาพยนตร์เรื่องที่ 9 ของหม่อมน้อยในรอบ 26 ปี เวอร์ชั่นนี้โดดเด่นด้วยการออกแบบงานสร้างในรูปแบบศิลปกรรมล้านนาโบราณและเครื่องแต่งกายตามขนบธรรมเนียมล้านนา และฉากรักที่หวาบหวาม เล่นสมจริงจนได้รับเรตติ้ง น 18+ มาแล้ว
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2496
ส่างหม่อง รับบทโดย ชลิต สุขเสวี
ยุพดี รับบทโดย ไสลทิพย์ ตาปนานนท์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2498
ส่างหม่อง รับบทโดย ชนะ ศรีอุบล
ยุพดี รับบทโดย งามตา ศุภพงษ์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2523
ส่างหม่อง รับบทโดย วิฑูรย์ กรุณา
ยุพดี รับบทโดย ธิติมา สังขพิทักษ์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2553
ส่างหม่อง รับบทโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม
ยุพดี รับบทโดย เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์
โศกนาฏกรรมความรัก เสียงหวอ ลูกระเบิด และทิฐิที่ได้พรากคนรักไปชั่วชีวิต
“คุณมีเหตุผลของคุณ ผมมีหัวใจของผมก็พอแล้ว…ฮิเดโกะ”
– โกโบริ –
ปิดท้ายด้วยนวนิยายอันทรงคุณค่าจากปลายปากกาของนักเขียนชั้นครูอย่าง ทมยันตี (คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์) ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านฉากหลังของพื้นที่ในย่านบางกอกน้อย
คู่กรรม ได้ถูกนำไปสร้างทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละครเวที มากที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย สำหรับละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2533 (ช่อง 7) นับเป็นเวอร์ชั่นที่สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งสูงสุดอันดับหนึ่งของเมืองไทยตลอดกาล (เรตติ้ง 40) โดยได้รับรางวัลทั้งเมขลาและโทรทัศน์ทองคำในปีเดียวกัน นำแสดงโดย ซุปเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของไทยอย่าง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ และ กวาง กมลชนก (โกมลฐิติ) เขมะโยธิน ส่วนภาพยนตร์ เวอร์ชั่นปี พ.ศ. 2531 และ 2538 ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองเช่นเดียวกัน
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2513
โกโบริ รับบทโดย มีชัย วีระไวทยะ
อังศุมาลิน รับบทโดย บุศรา นฤมิตร
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2515
โกโบริ รับบทโดย ชนะ ศรีอุบล
อังศุมาลิน รับบทโดย ดวงนภา อรรถพรพิศาล
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2516
โกโบริ รับบทโดย นาท ภูวนัย
อังศุมาลิน รับบทโดย ผาณิต กันตามระ, มร. หลิงลีจู
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2521
โกโบริ รับบทโดย นิรุตต์ ศิริจรรยา
อังศุมาลิน รับบทโดย ศันสนีย์ สมานวรวงศ์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2531
โกโบริ รับบทโดย วรุฒ วรธรรม
อังศุมาลิน รับบทโดย จินตหรา สุขพัฒน์
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2533
โกโบริ รับบทโดย ธงไชย แมคอินไตย์
อังศุมาลิน รับบทโดย กมลชนก โกมลฐิติ
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2538
โกโบริ รับบทโดย ธงไชย แมคอินไตย์
อังศุมาลิน รับบทโดย อาภาศิริ นิติพน
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2547
โกโบริ รับบทโดย ศรราม เทพพิทักษ์
อังศุมาลิน รับบทโดย พรชิตา ณ สงขลา
ละครเพลง พ.ศ. 2547
โกโบริ รับบทโดย เซกิ โอเซกิ
อังศุมาลิน รับบทโดย ธีรนัยน์ ณ หนองคาย
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2556
โกโบริ รับบทโดย สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว
อังศุมาลิน รับบทโดย หนึ่งธิดา โสภณ
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2556
โกโบริ รับบทโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ
อังศุมาลิน รับบทโดย อรเณศ ดีคาบาเลส
Story : Tanakrit C.
Photo : images,google.com
Source : wikipedia