ในประเทศไทยของเรามีโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2432 โดยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลคนเสียจริต” สมัยนั้น การวินิจฉัยอาการป่วยทางจิตยังมีการใช้เหตุผลเหนือธรรมชาติ และการสรุปอาการป่วยว่าถูกสิงโดยผีบ้าอยู่ จึงทำให้การรักษา ยังคงเป็นวิธีการแบบโบราณอยู่ เช่น กินยาจำพวก สมุนไพรต้ม หรือยาหม้อ ยาระบาย เพื่อให้ผู้ป่วยง่วงซึม ไปจนถึงการทุบตี เพื่อให้ผู้ป่วยนั้นสงบลง ก่อนที่ต่อมาจะมีปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นแบบตะวันตก แล้วเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” โดยรูปแบบการรักษาจะดูแลโดยหมอจากประเทศอังกฤษ แล้วได้เปลี่ยนวิธี จากการล่ามโซ่หรือทุบตี ให้กลายเป็นการรักษาด้วยยา และมีการให้นอนพักผ่อนหลับนอน เพื่อศึกษาอาการป่วยอย่างตรงจุดมากขึ้น ถือว่าเป็นการปฏิวัติความรู้ทางจิตเวชศาสตร์ของประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากข้อมูลของ สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา องค์กรทางจิตเวชที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ใช้ คู่มือการวิจัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ค้นพบว่า มนุษย์เรามีอาการป่วยทางจิตมากถึง 450 ชนิด แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงอาการโรคจิตที่มีความสุขเวลาได้ขโมยของ หรือ Kleptomania เป็นอาการป่วยทางจิตเล็กๆ ที่อาจไม่ได้เป็นภัยต่อคนรอบข้างสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีอาการป่วยทางจิตอีกมากที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็น OCD หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ , Schizoaffective Disorder หรือ อารมณ์แปรปรวน รวมไปถึง Dissociative Identity Disorder (DID) หรือที่ภาษาไทยเราเรียกว่า โรคหลายบุคลิก
โรคหลายบุคลิก หรือ DID เกิดจากการสูญเสียความทรงจำ สติ หรือการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว ทำให้ตัวเองนั้นเสมือนกลายเป็นคนอื่น และมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างไปจากตัวตนของตัวเองในเวลาปกติโดยที่ไม่รู้ตัว ในบางครั้ง ผู้ป่วย 1 คนอาจมีตัวตนอื่นๆ อยู่ข้างในมากถึง 2 – 100 ตัวตน และอาจเปลี่ยนสลับตัวตนเหล่านั้น 4 – 5 ตัวตนภายในวันเดียว ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิตที่ซับซ้อน และมีคดีฆาตกรรมที่เกิดจากป่วยอาการนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว รวมไปถึงความซับซ้อนของตัวละครของ Split ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ M. Night Shyamalan ที่มีอาการซับซ้อนทางบุคลิกในแบบเดียวกัน
Split เป็นเรื่องราวของหญิงสาว 3 คนที่ถูกลักพาตัวจากลานจอดรถไปกักขังโดยชายคนหนึ่ง ก่อนที่จะพบว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลักพาตัวและการกักขังครั้งนี้นั้นมี “หลายคนในร่างเดียว” นำแสดงโดย James McAvoy (X-Men : First Class , Days of Future Pass และ Apocalypse) รับบทเป็น ชาย 23 บุคลิก ภายใต้การเขียนบทและการกำกับของ M. Night Shyamalan (After Earth , The Visit) ที่ยังคงเล่นกับสไตล์การเล่าเรื่องที่ลึกลับ น่าค้นหา แล้วค่อยๆ ชักนำอารมณ์ของคนดูไปสู่การลุ้นระทึก ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปิด มีการใช้พื้นในเนื้อเรื่องอย่างจำกัด ทำให้ Split เป็นภาพยนตร์ที่ยังคงความรู้สึกเดิมๆ ในสไตล์ของเขาไว้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ใช่ภาพยนตร์แนว horror , thriller ในสภาพแวดล้อมปิดที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับ 10 Cloverfield Lane ที่เพิ่งฉายไปเมื่อปีที่แล้ว และถึงแม้ว่า James McAvoy จะพยายามแสดงได้อย่างเต็มที่แล้ว เท่าที่บทบาทของเขาจะทำได้แล้ว ตัวภาพยนตร์กลับพยายามที่จะเล่าถึงความเข้าใจต่ออาการ “หลายบุคลิก” ของตัวละครจนมากเกินไป จนทำให้การดำเนินของเนื้อเรื่องนั้น ดูยืดยาวและยืดเยื้อ จนทำให้คนดูสูญเสีย mood&tone ของเนื้อเรื่องที่ปูทางไว้ในตอนแรก อีกทั้งตัวหนังน่าจะเน้นไปที่ความซับซ้อน หรือความน่ากลัวของตัวละครบางตัวที่ซ่อนอยู่เสียมากกว่า
สุดท้ายแล้ว ด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเป็นของ M. Night Shyamalan ที่มีความเป็นหนังคัลท์ในระดับหนึ่ง โดยรวมแล้วจึงยังสามารถดึงดูดแฟนๆ และคนดูไว้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในตัวหนังยังมีการพาดพิงถึงจักรวาลของภาพยนตร์ของเขาเอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นฉากที่ค่อนข้างเกินความคาดเดาของคนดู และสร้างความสะใจให้กับแฟนๆ ของ M. Night ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว และไม่ว่าการพาดพิงในภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีการนำไปสู่ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ ไปหรือไม่นั้น แฟนๆ ของ M. Night คงรู้ดีว่า แค่นี้ก็ถือว่าดีเกินพอแล้ว และอย่าไปคาดหวังอะไรกับเขาเลย เพราะเท่าที่ผ่านมา ผู้กำกับคนนี้เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้จริงๆ
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ในจิตใจของเรา จะมีความซับซ้อนของบุคลิก หรืออาการป่วยทางจิตต่างๆ ซ่อนอยู่หรือไม่ เพราะว่าความผิดปกติเหล่านี้ มันเป็นความผิดพลาดที่ก่อขึ้นภายใน และตัวเราเองก็ไม่สามารถรู้ตัวหรือสังเกตเองได้จากการใช้ชีวิตประจำวันปกติ ซึ่งถ้าหากว่าเรานั้นมีอาการป่วยอยู่จริง กว่าที่เราจะรู้ว่าภายในจิตใจเรานั้นมีความไม่ปกติแฝงอยู่ อาการเหล่านั้นก็คงได้สร้างปัญหาให้กับเราหรือคนรอบข้างไปมากแล้ว และเมื่อถึงขั้นนั้น เราก็คงต้องถูกส่งตัวเข้าไปบำบัดหรือรักษาก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมานั่งกังวลกับปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น ในเมื่อโลกของเราทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากที่จะมานั่งแยกแยะว่า “ใครบ้า” หรือ “ใครไม่บ้า” … อยู่แล้ว ในเมื่อสังคมมันบิดเบี้ยวไปพร้อมกับตรรกะทางความคิดที่เละเทะมั่วซั่วไปหมด ดังนั้นสิ่งที่เรานั้นทำได้ก็คือ การตั้งสติไว้ว่าจะ คิดดี ทำดี และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แล้วถ้าเกิดว่าวันหนึ่งวันไหน ระบบสมองของเราเกิดมีอันเป็นไป และมีความผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อนั้นเราค่อยหาวิธีในการแก้ปัญหากันใหม่ เพราะชีวิตคนเรามันก็เท่านี้ เครียดมากไปก็มีแต่จะทำให้เป็นบ้าเร็วมากยิ่งขึ้นเท่านั้น