สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง

ในความทรงจำของวรรณคดีไทยสำหรับคุณ เราเชื่อว่าคุณคงมีแต่ความรู้สึกเบื่อแฝงอยู่ใช่ไหม เพราะเราเองก็มีความทรงจำแบบนั้นเช่นกัน แต่เมื่อได้ลองหยิบหนังสือ “สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง” ขึ้นมา ความเบื่อที่เราเคยจำได้กลับค่อยๆ หายไปและแทนที่ด้วยความตื่นเต้นที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า ‘วรรณคดีไทย’ ก็สนุกเหมือนกันนะ

ต้นกำเนิดของความสนุกคงต้องขอปรบมือให้กับ “ครูทอม คำไทย” หรือคุณจักรกฤต โยมพะยอม ซึ่งเขาได้มาสร้างความสนุกฝากไว้ในหนังสือที่เราถืออยู่นี้ สำหรับสุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยองเป็นหนังสือเล่มแรกของครูทอม ที่มาไขความเข้าใจผิดและเรื่องราวที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่และพระอภัยมณีให้เราได้รู้จริง ผ่านการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย ผนวกกับภาษาที่เป็นกันเอง จึงไม่แปลกที่หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือวรรณคดีที่ให้ความสนุกจนวางไม่ลง และที่สำคัญครูทอมยังมีหลักฐานมาอ้างอิงจนเราแย้งไม่ออกอีกด้วย โดยมีรางวัล ‘แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่’ มาการันตี!

ความสนุกที่ว่านี้เราอยากให้คุณลองไปสัมผัสด้วยตัวเองบนหน้ากระดาษมากกว่า แต่เราก็กลัวว่าคุณจะไม่เชื่อ เราจึงขอหยิบยกเรื่องลับที่คุณยังไม่เคยรู้หรือเข้าใจผิดของสุนทรภู่จากหนังสือเล่มนี้มาฝาก เพื่อเป็นออร์เดิร์ฟก่อนที่คุณจะไปทานจานหลักกัน!

01. สุนทรภู่ไม่ใช่คนระยอง

เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าใจผิด คิดว่าสุนทรภู่เป็นคนระยอง แต่แท้จริงแล้วกวีเอกของสยามท่านนี้เป็นคนกรุงเทพมหานคร โดยครูทอมได้บอกไว้ว่า “สุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329… โดยถือกำเนิดขึ้นบริเวณวังหลัง ฝั่งธน ย่านบางกอกน้อย ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่ที่โกโบริหมดลมหายใจในอ้อมกอดของอังศุมาลิน” (หน้า 18) แค่สถานที่เกิดก็ถือได้ว่ากวีเอกของเราเป็นคนกรุงเทพแล้ว นี่ยังไม่นับรวมสถานที่เรียน ที่ทำงาน และที่เสียชีวิต ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครทั้งนั้น

02. เกาะแก้วพิสดารไม่ใช่เกาะเสม็ด

เมื่อหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าสุนทรภู่เป็นคนระยอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะเข้าใจว่าเกาะแก้วพิสดารคือเกาะเสม็ด แต่แท้จริงแล้ว “…เกาะแก้วพิสดารไม่ใช่เกาะเสม็ด แถมยังอยู่คนละฝั่งมหาสมุทรอีกต่างหาก” (หน้า 125) ซึ่งครูทอมได้บอกไว้อีกว่า “เกาะแก้วพิสดารอยู่ตรงกลางน่านน้ำระหว่างเมืองลังกากับเมืองผลึก …เมื่อผลึกอยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองลังกา เราก็พอจะตีความได้ว่าเมืองผลึกก็คือ ‘เมืองถลาง’ หรือเมืองภูเก็ตนั่นเองครับ” (หน้า 128) ประโยคที่เรายกมานี้อาจทำให้ใครหลายคงเกิดอาการงง ฉะนั้นเราขอแนะนำให้คุณอ่านแบบเต็มๆ ได้ในหน้าหนังสือ

03. สุนทรภู่แต่งแฟนฟิกอิเหนา

ไม่รู้ว่าเรื่องนี้คุณจะรู้อยู่แล้วหรือเปล่า แต่สำหรับเราถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งแต่เดิมอิเหนาเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วสุนทรภู่ก็นำมาแต่งเติมเสริมใหม่เป็น “นิราศอิเหนา” โดยสาเหตุมาจาก “…เนื้อเรื่องส่วนที่อิเหนาต้องออกเดินทางร่อนเร่พเนจรตามหาตัวนางบุษบานี่แหละครับ สุนทรภู่คงเห็นว่าน่าสนใจ น่าเอามาเล่นได้หลากหลายดีก็เลยนำมาแต่งเสริมจินตนาการต่อไปเป็นนิราศอิเหนา” (หน้า 106) เรื่องแฟนฟิกอีเหนานี้ยังแสดงให้เห็นว่าการแต่งแฟนฟิกไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันแต่มีมาแต่อดีตอีกด้วย

04. นิราศภูเขาทอง ไม่ได้ไปภูเขาทอง

อย่างที่ทราบๆ กันอยู่แล้วว่านิราศคือเรื่องที่แต่งขึ้นระหว่างการเดินทาง ดังนั้นความยาวสั้นของนิราศจะขึ้นอยู่กับระยะทางที่เดินทางด้วย แม้นิราศภูเขาทองจะเป็นนิราศเรื่องสั้นที่สุดของสุนทรภู่ แต่ก็มีความยาว 176 คำกลอน โดยนิราศเรื่องนี้ครูทอมได้กล่าวไว้ว่า “…ถ้าสุนทรภู่เดินทางไปเจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศนี่น่ะเดินไปก็ได้ คงแต่งกลอนได้แค่ 2-3 บทเท่านั้น” (หน้า 90) ดังนั้นภูเขาทองที่สุนทรภู่กล่าวในนิราศนี้คือ วัดภูเขาทอง จ.อยุธยาต่างหาก

05. ด่าอย่างกวีเอก

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ชวนให้เราตื่นตะลึงกับความสามารถของสุนทรภู่คือ กวีเอกท่านนี้สามารถตอบโต้คนที่มาพูดจาดูถูกความสามารถของท่านด้วยการด่าอย่างมีศิลปะ เพิ่มความล้ำสมัยด้วยการใช้คำผวนอีกด้วย ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าการผวนคำมีมาแต่อดีต โดยครูทอมได้ยกตัวอย่างกลอนตอบโต้ที่เป็นคำผวนของสุนทรภู่ให้เราได้เปิดหูเปิดตากันไว้ในหน้า 47 พร้อมยังช่วยผวนคำให้เราสามารถอ่านง่ายๆ อีกด้วย

           เฉน็งไอมาเวิ่งเว้า    วู่กา
รูกับกาวเมิงแต่ยา              มู่ไร้
ปิดเซ็นจะมู่ซ่า                   เคราทู่
เฉะแต่จะตอบให้               ชีพม้วยมังระณอ

เมื่อผวนแล้วจะได้ว่า…

         ไฉนเอ็งมาเวิ่งเว้า    ว่ากู
ราวกับกูมาแต่เยิง            ไม่รู้
เป็นศิษย์จะมาสู้               ครูเฒ่า
ชอบแต่จะเตะให้              ชีพม้วยมรณัง

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องลับที่เราไม่เคยรู้อีกมากมายที่ครูทอมได้เสนอไว้บนหน้าหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนางระเวงได้ต้นแบบมาจากพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ในบทจุดกำเนิดนางระเวง, นางเงือกไม่ได้เป็นครึ่งคนครึ่งปลา แต่นางเงือกมีสองขากับหนึ่งหาง ในบทรักวุ่นวายของเจ้าชายนักดนตรี, สุนทรภู่มีส่วนช่วยแต่งเรื่องรามเกียรติ์ ในบทฝากไว้ในรามเกียรติ์ เป็นต้น …ทั้งหมดนี้คุณสามารถไปไขความลับกันได้ในหนังสือ “สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง”

หนังสือ : สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง
โดย : ครูทอม คำไทย
สำนักพิมพ์ : a book
ราคา : 255 บาท

SHOP NOW : www.godaypoets.com/sunthornphu

 

Story : Taliw
Photo : Sroisuwan.T
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.