แบบนี้มีด้วยเหรอ? 9 กีฬาแปลกๆที่เคยใช้แข่งในซีเกมส์มาแล้ว

แบบนี้มีด้วยเหรอ? 9 กีฬาแปลกๆที่เคยใช้แข่งใน ซีเกมส์ มาแล้ว

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับมหกรรมกีฬาของชาวอาเซียนอย่าง “ ซีเกมส์ 2017 ” ที่ในปีนี้จัดขึ้นที่ “กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย” โดยเจ้าเหรียญทองครั้งนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “มาเลเซีย” ประเทศเจ้าภาพที่มีจำนวนเหรียญทองทิ้งห่าง “ไทย” กว่าหนึ่งเท่าตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งหนึ่งที่ตามมาคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับตัวเจ้าภาพในครั้งนี้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของการแข่งขัน…

และอย่างที่รู้ๆกันดีว่าในบางปีของกีฬาซีเกมส์มักจะมีชนิดกีฬาใหม่ๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการชิงเหรียญทองให้กับประเทศเจ้าภาพอยู่เสมอ วันนี้เราจึงได้นำกีฬาแปลกๆที่เคยใช้แข่งขันในซีเกมส์มาแล้วบางส่วนมาฝากกันครับ

Vovinam

“โววีนัม” คือ ศิลปะป้องกันตัวของประเทศเวียดนาม ถูกบรรจุในซีเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 2009 (เวียดนามเป็นเจ้าภาพ) ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1938 ภายใต้อิทธิพลจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมายาวนาน โววีนัมจึงเป็นการนำเอาศาสตร์การป้องกันตัวหลายๆแขนงของเอเชียมาผสมผสานให้มีความสมดุลในการต่อสู้และป้องกันตัว เช่นเดียวกันกับวูซู

Pencak Silat

“ปันจักสีลัต” คือ ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเท้าเปล่าของชาวมลายูแถบ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทยบางส่วน ด้วยความที่มีศิลปะเข้ามาผสมผสาน ปันจักสีลัตจึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีท่วงท่าที่สวยงามจนสามารถแบ่งการแข่งขันออกเป็น “ประเภทการต่อสู้” และ “ประเภทศิลปะ” (ซีเกมส์ครั้งที่ 13-18) ก่อนที่จะแตกแขนงออกมาเป็น 4 ประเภทการแข่งขันในปัจจุบัน

Arnis

“อาร์นิส” เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวฟิลิปปินส์ และถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในซีเกมส์ครั้งที่ 22 ที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ จุดเด่นของศิลปะการป้องตัวชนิดนี้คือสามารถหยิบยกเอาของใกล้ๆตัวมาผสมผสานกับท่วงท่าในการใช้ต่อสู้และป้องกันตัวได้

Tarung Derajat

“ตารุง เดราจัต” เป็นหนึ่งในกีฬาสาธิตของการแข่งขันซีเกมส์เมื่อปี 2011 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ โดยตารุง เดราจัตนั้นถือเป็นศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวยอดนิยมของชาวชวาตะวันตกอย่างอินโดนีเซียเป็นอย่างมากจนถือได้ว่าแทบจะเป็นกีฬาประจำชาติเลยทีเดียว

สำหรับหลักการของตารุง เดราจัต จะเป็นการใช้อาวุธ 3 อย่างคือ เตะ หมัด ถีบ เพื่อต่อสู้และป้องกันตัว ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เมื่อยามถูกรุมทำร้ายได้เป็นอย่างดี

Lawn Bowls

“ลอนโบวล์ส” ถูกบรรจุลงในซีเกมส์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999 (ซีเกมส์ครั้งที่ 20) ซึ่งบรูไนเป็นเจ้าภาพในขณะนั้น โดยกีฬาลอนโบวล์สนั้นเป็นการผสมผสานระหว่าง “เปตอง” และ “โบลว์ลิ่ง” มีจุดเริ่มต้นมาจากสหราชอาณาจักรและแพร่หลายไปยังประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมในลำดับต่อมา

Paragliding

“พาราไกลดิ้ง” หรือ “ร่มร่อน” นั้น ถูกเพิ่มเข้ามาเมื่อซีเกมส์ครั้งที่ 26 ครั้งที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ โดยกีฬาร่มร่อนถือเป็นกีฬาการบินชนิดหนึ่งที่มีความเสี่ยงและการเล่นที่ยากอยู่พอสมควร เนื่องจากต้องการพื้นที่เฉพาะอย่างเช่นบนภูเขาสูง ในประเทศไทยเองก็มีการเล่นกีฬานี้อยู่เช่นเดียวกันแต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรเนื่องจากข้อจำกัดข้างต้นที่กล่าวมา

Kenpo/Kempo

“เคนโป” หรือ “เคมโป” นั้นก็ถูกเพิ่มเข้ามาเมื่อตอนซีเกมส์ครั้งที่ 26 เช่นกัน โดยกีฬาชนิดนี้นั้นมีอิทธิพลมาจากศิลปะการต่อสู้ของประเทศญี่ปุ่นแต่ได้รับความนิยมในแถบ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน นับแค่ในอินโดนีเซียเองก็มีคนเล่นเคมโปกว่า 4แสนคนแล้ว การออกอาวุธของกีฬาชนิดนี้จะใช้การเตะ ต่อย ทุ่ม บิด ล็อก ซึ่งเป็นการผสมผสานศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวอย่าง เทควันโด ยูโด และคาราเต้ เข้าไว้ด้วยกัน

Bridge

“ไพ่บริดจ์” เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ถูกนำมาใช้ในการแข่งขันซีเกมส์ โดยใช้การแข่งขันแบบ Contract Bridge ซึ่งเป็นการประมูล (Auction) และ การรวบตอง (Trick Taking) การแข่งขันไพ่บริดจ์นั้นถือว่าต้องใช้สมาธิและทักษะในการคิดวิเคราะห์ระดับสูง ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยชนะเหรียญทองในประเภททีมชายจากกีฬานี้มาแล้วในปี 2554

Chinlone

“ชินลง” , “ชินโลน” หรือ “ตะกร้อชินลง” นับเป็นกีฬาประจำชาติของประเทศพม่า และถูกนำมาบรรจุในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 27 ที่มีพม่าเป็นเจ้าภาพ โดยชินลงนั้นเป็นกีฬาที่มีการผสมผสานศิลปะการเต้นรำและตัวกีฬาเข้าไว้ด้วยกัน มีลักษณะการเล่นที่ยืนล้อมกันเป็นวงกลมและมีผู้เล่นอยู่ตรงกลางที่จะคอยแสดงทักษะท่วงท่าอันสวยงามในการเลี้ยงลูก

อนึ่งประเทศมาเลเซียเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์มาแล้วถึง 6 ครั้งด้วยกัน (1965, 1971, 1977, 1989, 2001 และ 2017)


ข้อมูลประกอบ: www.th.wikipedia.org/wiki/ซีเกมส์_2017

เรื่องโดย: Nomad609

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.